“10 ข้อคิดสำหรับนักลงทุน" หลังประชุมเฟดแจ็คสันโฮล
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
b[email protected]
“10 ข้อคิดสำหรับนักลงทุน" หลังประชุมเฟดแจ็คสันโฮล
บทความนี้ จะขอสรุปประเด็นหลักที่นักลงทุนควรต้องทราบ ภายหลังที่เจย์ พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด กล่าวสุนทรพจน์สำคัญแห่งปี 2023 ในการประชุมนายธนาคารกลางชั้นนำของโลกที่แจ็คสันโฮล รัฐไวโอมิ่ง สหรัฐอเมริกา เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดังนี้
1. ยังไม่ต้องกังวลว่าเฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมวันที่ 19-20 กันยายนนี้ เพราะพาวเวลเน้นว่าแม้ว่าจะต้องทำให้นโยบายการเงินตึงตัวขึ้น ก็จะทำแบบระมัดระวัง ซึ่งหมายความว่าการประชุมเฟดในครั้งถัดไปน่าจะมีโอกาสสูงที่จะยังไม่ขึ้นดอกเบี้ย
2. ความกังวลของพาวเวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะเติบโตด้วยความร้อนแรงเกินไปนั้น ทำให้เฟดพยายามที่จะหาทางทำให้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอลงในช่วงนี้ เพื่อที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อสามารถลดลงต่อจากระดับนี้ได้ โดยมาตรการเศรษฐกิจอื่นๆที่มิได้ใช้อัตราดอกเบี้ย หรือ Macroprudential มีโอกาสถูกนำมาใช้โดยเฟดเพื่อลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจสหรัฐลงมา
3. หลังจบการประชุมแจ็คสันโฮล หลายฝ่ายมองว่ามีโอกาสสูงพอสมควรที่เฟดน่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ด้วยขนาด 0.25% ทว่าช่วงเวลาเวลาที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยนั้น ส่วนใหญ่คาดกันว่าจะเป็นช่วงก่อนสิ้นปีนี้ หรือต้นปีหน้า
4. โอกาสที่สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวจนถึงขั้นเศรษฐกิจถดถอยในอนาคต มีสูงกว่าสถานการณ์ที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐจะกลับมาพุ่งขึ้นเหมือนกับช่วงปีที่แล้ว เนื่องจากเฟดย้ำเสมอว่ายอมที่จะขึ้นดอกเบี้ยสูงเกินระดับที่เหมาะสมแล้วทำให้สหรัฐเกิดสถานการณ์เศรษฐกิจชะลอตัวหรือถึงขั้นถดถอย มากกว่าที่จะเกิดสถานการณ์ซึ่งเฟดขึ้นดอกเบี้ยด้วยขนาดที่น้อยเกินไป จนวิกฤตเงินเฟ้อกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐอีกครั้ง
5. โอกาสที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายก่อนสิ้นไตรมาส 1 ปีหน้า ณ วันนี้ ถือว่ามีโอกาสน้อยมาก โดยพาวเวลน่าจะไม่เสี่ยงให้อัตราเงินเฟ้อสหรัฐกลับมาพุ่งขึ้น กลับมาเหมือนกับที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐสูงขึ้นในระดับที่เกือบแตะเลข 2 หลักเมื่อปีที่แล้วอีกครั้ง
6. ด้วยความที่เจย์ พาวเวล ไม่อยากเป็นอาเธอร์ เบิรน์ส อดีตประธานเฟดที่ล้มเหลว ในการเอาชนะเงินเฟ้อในทศวรรษ 70 ทว่าอยากเป็นพอล โวลก์เกอร์ อดีตประธานเฟดที่ประสบความสำเร็จในการเอาชนะเงินเฟ้อในช่วงทศวรรษ 70 ต่อ 80 จึงอาจทำให้เศรษฐกิจสหรัฐจำเป็นต้องชะลอลงค่อนข้างมากในที่สุด สำหรับวิกฤตในรอบนี้
7. โอกาสที่จะเห็นอัตราการเติบโตจีดีพีสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุด ในช่วงกลางปีนี้ไปแล้ว ถือว่ามีอยู่สูงระดับหนึ่ง เนื่องจากการบริโภคของชาวสหรัฐที่ร้อนแรงในตอนนี้มีแววจะแผ่วลงในช่วงถัดไป เนื่องจากเงินเก็บของชาวสหรัฐในช่วงโควิดที่แจกโดยรัฐบาลน่าจะร่อยหรอลงมากแล้วในตอนนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีลดลงไปจนใกล้หมดในช่วงต้นปีหน้า
8. แทบไม่มีทางที่จะเห็นเฟดขยับอัตราเงินเฟ้อเป้าหมายจากร้อยละ 2 ในขณะนี้ เป็นระดับที่สูงกว่านี้ อย่างน้อยในช่วงปีนี้ เนื่องจากเท่ากับเป็นการลดความน่าเชื่อถือของเฟดเอง ซึ่งถือว่าจะเป็นต้องมีให้มากเข้าไว้ เพื่อต่อสู้จนเอาชนะเงินเฟ้อให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
9.การลงทุนในหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐ แม้จะมีโอกาสกำไรสูงจากเทคโนโลยี Artificial Intelligence ซึ่งจะเป็นตัว Catalyst ที่สำคัญในรอบนี้ ทว่าอาจจะดูมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงจากการที่เฟดอาจจะยังจะขึ้นดอกเบี้ยอีกอย่างน้อย 1 ครั้งในอนาคตอันใกล้ ซึ่งจะทำให้อัตราคิดลดที่ใช้ในการนำมูลค่ากระแสของเงินในอนาคตกลับมาในปัจจุบันเพื่อใช้คำนวณหามูลค่าหุ้นเทคโนโลยีสหรัฐมีค่าสูงขึ้น นั่นจะทำให้มูลค่าหุ้นในรูปแบบของ Present Value หรือราคาหุ้นน่าจะลดลง
10.อัตราดอกเบี้ยพันธบัตรสหรัฐมีโอกาสที่จะมีระดับที่สูงขึ้นจากจุดนี้ เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโครงการลงทุนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงานทางเลือก รวมถึงการใช้จ่ายของผู้ที่เกษียณซึ่งเป็นรุ่น Baby Boomer ของสหรัฐ เริ่มที่จะมีสูงขึ้น อีกทั้งระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจสหรัฐสูงขึ้นจากเทคโนโลยี Artificial Intelligence ส่งผลให้ระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีโอกาสสูงขึ้นอีก ในขณะที่มูลค่าการออมซึ่งเป็นแหล่งเงินในการFunding ไม่ได้เพิ่มขึ้นที่จะสามารถตามได้ทัน จึงมีโอกาสทำให้อัตราดอกเบี้ยระยะยาวสหรัฐมีโอกาสสูงขึ้นจากจุด ณ ตรงนี้