efinancethai

กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน Decentralized Finance(DeFi) หรือจะสิ้นยุค Bank โดย คุณวรพจน์ ธาราศิริสกุล

โดย
คุณวรพจน์ ธาราศิริสกุล

:CTO บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด
.

Decentralized Finance(DeFi) หรือจะสิ้นยุค Bank

Decentralized Finance (DeFi) หรือจะสิ้นยุค Bank


 

สวัสดีครับ วันนี้อยากจะพูดถึง Decentralized Finance (DeFi) ที่เป็นหนึ่งใน Top 5 Blockchain Trend 2020 ที่เขียนถึงบทความที่แล้ว และมีคำถามเข้ามาหลายคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ เลยอยากลงรายละเอียดเพิ่มเติมเรื่องนี้อีกนิดสำหรับคนที่สนใจกับนวัตกรรมใหม่ที่แม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ก็มีแนวโน้มหลายๆ อย่างที่บอกว่า DeFi คือแนวโน้มสำคัญสำหรับวงการเงินของโลก

ก่อนจะเข้าเรื่องนี้ อยากเล่าถึงปัญหาของระบบการเงินในปัจจุบัน ซึ่งเป็นระบบที่ใช้มานานและพบว่ามีความกังวลในหลายๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงินระหว่างประเทศที่ใช้เวลานานและมีค่าธรรมเนียมที่สูง การกู้ยืมเงินที่จำกัดเฉพาะกลุ่มคน หรือการจัดการข้อมูลที่ยังเป็นแบบรวมศูนย์ มีความเสี่ยงจากการถูก Hack ที่ยังพบเจอเป็นปกติในหลายๆ ที่ทั่วโลก รวมไปถึงต้นทุนการจัดการที่ค่อนข้างสูง ทำให้ไม่สามารถให้บริการกับคนทุกคนได้หมด ทำให้ยังมีคนอีกหลายล้านคนทั่วโลกที่ยังไม่สามารถเข้าไม่ถึงการบริการทางการเงินได้อย่างที่ควรจะเป็น

 

DeFi หรือ Decentralized Finance

"DeFi หรือ Decentralized Finance เป็นคำเรียกระบบการให้บริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่เชื่อว่าจะมาแก้ปัญหาระบบการเงินในปัจจุบัน"

โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาช่วยในเรื่องการทำงานต่างๆ ในด้านการเงิน โดยเฉพาะการส่งผ่านมูลค่าได้บนระบบอินเตอร์เน็ต มีการใช้ความสามารถของสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) ที่สามารถกำหนดกฎเกณฑ์ไว้ได้ล่วงหน้า มีการทำงานบนบล็อกเชนแบบสาธารณะ (Public Blockchain) ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ และไม่จำเป็นต้องมีคนกลางหรือพนักงานมาจัดการ

เมื่อไม่มีคนกลางแอปพลิเคชั่นบน DeFi จึงทำให้ลูกค้าสามารถควบคุมเงินตัวเองได้อย่างเต็มที่ ไม่มีคนกลางมาคอยตรวจสอบหรือตัดสิน ทุกการตัดสินใจขึ้นอยู่กับลูกค้าและเงื่อนไขที่กำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว เหล่านี้เป็นจุดสำคัญที่สามารถทำให้แอปพลิเคชั่นบน DeFi นำเสนอสินค้าทางการเงินได้ในราคาที่ถูกลงและตรงไปที่ลูกค้าได้ทันที

ยิ่งไปกว่านั้นการบริการบนเทคโนโลยีบล็อกเชน ยังสามารถดำเนินการได้ตลอดเวลาแบบ 24/7 และสามารถทำงานได้ทันทีทั่วโลกที่เป็น Open Finance หรือการเงินระบบเปิดแบบไร้พรมแดนจริงๆ

โดยสรุปแล้วเราสามารถแบ่งประโยชน์หลักๆ ของ DeFi ในการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนออกเป็นเป็น 3 เรื่อง คือ การกระจายศูนย์ (Decentralozed) เป็นระบบเปิด (Permissionless) และโปร่งใส (Transparent)

 

1.การกระจายศูนย์ (Decentralized)

บล็อกเชน คือระบบกระจายศูนย์ที่ปลอดภัยไม่เก็บข้อมูลไว้ที่เดียว ปลอดภัยจากการแก้ไขข้อมูล ระบบมีปัญหา และที่สำคัญคือไม่มีคนใดคนหนึ่งเป็นเจ้าของเหรือมีอำนาจเบ็ดเสร็จเพียงคนเดียว

2.ระบบเปิด (Permissionless)

บล็อกเชน เป็นระบบเปิดที่อนุญาตให้คนมาเข้าร่วมและเข้าถึงบร้การได้ผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนของโลก เพียงแค่มีอินเทอร์เน็ตเท่านั้น

3.ความโปร่งใส (Transparent)

บล็อกเชน เป็นระบบที่โปร่งใส เพราะว่าทุกๆ ธุรกรรมจะถูกจัดเก็บโดยไม่สามารถแก้ไขได้ และสามารถตรวจสอบได้

จากประโยชน์ที่กล่าวมา จึงไม่น่าแปลกใจที่ในปัจจุบัน ไม่เพียงแต่ Startup ใหม่ๆ ที่สนใจในเทคโนโลยีบล็อกเชน บริษัทเกี่ยวกับการเงินทั่วโลกก็ได้มีการค้นคว้าและพัฒนาเพื่อสามารถนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ ออกมาตลอดเวลาโดยมีเป้าหมายเดียวกันคือให้บริการกับลูกค้าได้ดีขึ้น ในต้นทุนที่ถูกลง


DeFi Used Case

ปัจจุบันมีแอปพลิเคชั่นแบบ DeFi ขึ้นมามากมายหลากหลายรูปแบบ วันนี้อยากจะยกสัก 3 ระบบที่เริ่มมีการใช้จริงๆ แล้วในตลาดโลก คือ

(1) ระบบการกู้ยืมเงินแบบ P2P

(2) ระบบเหรียญดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ หรือ Stable Coin

(3) ตลาดกลางการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Exchange)


ระบบการกู้ยืมแบบ P2P

ระบบการกู้ยืมเงินในปัจจุบันตามปกติจะจำกัดอยู่ที่ธนาคารเป็นหลัก ผู้ที่มีเครดิตที่ดี ซึ่งหมายถึงมีรายได้ที่แน่นอน มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน หรือมีกิจการที่มั่นคงเท่านั้นจึงจะสามารถทำการกู้เงินจากธนาคารได้ ซึ่งสำหรับคนที่ไม่มีเครดิตนั้น จะไม่สามารถทำการกู้ได้เลย และนี่เป็นปัญหาหลักของหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงเมืองไทย ที่คนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงบริการส่วนนี้ได้ ต้องไปใช้เงินกู้นอกระบบที่ดอกเบี้ยสูงมาก ก่อให้เกิดปัญหามากมายตามมา

ด้วย DeFi เรื่องการกู้ยืมจะเปลี่ยนไป ระบบการกู้ยืมเงินของ DeFi เป็นระบบกู้ยืมเงินแบบเปิด (Open Lending Protocol) ที่ปกติแล้วธนาคารจะเป็นคนรับฝากเงิน และกำหนดเรื่องดอกเบี้ยกู้ยืมตามแต่ละเคส แต่ระบบการกู้ยืมแบบเปิดที่กล่าวถึงนี้ ส่วนใหญ่จะทำงานอยู่บน Public Blockchain ที่มีความโปร่งใส โดยมีข้อแตกต่างจากระบบธนาคารในหลายๆ เรื่องโดยเฉพาะด้านความเร็ว อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่า และการเข้าถึงได้ทุกคน ตามรายละเอียดดังนี้

  1. ผู้กู้และผู้ให้กู้สามารถทำงานแบบกันได้โดยตรงแบบ P2P ผ่านการใช้งานของ Digital Asset บนบล็อกเชน

  2. ผู้กู้และผู้ให้กู้ตัดสินใจเรื่องความเสี่ยงได้ด้วยตัวเอง และการไม่มีตัวกลางของบล็อกเชนก็จะทำให้ได้อัตราดอกเบี้ยที่ดีกว่าทำผ่านธนาคารในปัจจุบัน

  3. สามารถใช้ Digital Asset มาค้ำประกันเงินกู้ได้ จึงมีความเสี่ยงน้อยมาก เพราะผู้กู้จะต้องนำหลักทรัพย์หรือคริปโตเคอเรนซีมาค้ำประกัน และได้เงินกู้ในจำนวนที่ต่ำกว่าสิ่งที่นำมาค้ำ

  4. ใช้ Smart Contract เป็นคนกำหนดเงื่อนไขล่วงหน้าทั้งหมด ตั้งแต่เวลาในการกู้ยืม อัตราดอกเบี้ย

  5. การโอนและจ่ายเงินสามารถทำงานได้ทันทีแบบอัตโนมัติ

  6. และที่สำคัญคือไม่มีการเช็คเครดิตใดๆ นั่นหมายถึงทุกคนสามารถเข้ามาใช้งานได้

ปัจจุบันได้มีหลายบริษัทที่ได้สร้างระบบ DeFi ที่ทำการกู้ยืมแบบ Open Lending Protocol อยู่ในตลาด เช่น MakerDAO, Dharma และ BlockFip โดย MakerDAO ถือเป็นเจ้าตลาดที่เริ่มเรื่องนี้มาเป็นเจ้าแรกๆ

การเติบโตของ Defi ในส่วนของการกู้ยืมนั้น สามารถดูได้จากคริปโตเคอเรนซีที่ถูกล็อคไว้เพื่อนำมาค้ำประกัน ซึ่งในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา มีจำนวนมากถึง 996.4 ล้านดอลล่าสหรัฐ (ข้อมูลจาก https://defipulse.com/) และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปเรื่อยๆ ซึ่งถึงแม้จะเป็นตัวเลขไม่มากเมื่อเทียบกับภาพใหญ่ของวงการเงินระดับโลก แต่ก็ทำให้เราเริ่มเห็นแนวโน้มสำคัญกับธุรกิจการเงินรูปแบบใหม่ที่จะมาแทนรูปแบบที่เราเคยชินในอนาคตอันใกล้


 

Stable Coin

จากคริปโตเคอเรนซีที่มีราคาผันผวนตามความต้องการของตลาด ซึ่งเมื่อนำมาใช้งานจริงก็พบว่าราคาที่ผันผวนอย่างมาก ทำให้การใช้งานจริงในบางเรื่องมีความเสี่ยงกับมูลค่าที่สามารถเปลี่ยนแปลงอย่างมากในเวลาอันสั้น ซึ่งมีผลทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความกังวล และไม่กล้าเข้ามาสู่โลกของคริปโตเคอเรนซีหรือสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างจริงจัง


ระบบเหรียญดิจิทัลที่มีมูลค่าคงที่ หรือ Stable Coin จึงถูกคิดขึ้น โดยตั้งใจให้สามารถคงมูลค่าได้คงที่ตลอดเวลาหรือเปลี่ยนแปลงน้อยมากๆ และไม่เปลี่ยนไปตามความต้องการของตลาด ซึ่งส่วนมากจะผูกอยู่กับสินทรัพย์ที่มีความคงที่ เช่น ทอง น้ำมัน หรือสกุลเงินตราปกติที่อยู่ในตลาดโลก ซึ่งในเบื้องต้นนั้น Stable Coin ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่พักเงินของนักลงทุนในคริปโตเคอเรนซีที่ต้องการจะเลี่ยงความเสี่ยงของเหรืยญอื่นที่ผันผวนในบางช่วงเวลา แต่ในปัจจุบันได้ถูกนำมาใช้ในกิจกรรมของแอปพลิเคชั่นต่างๆ มากมาย

 

ในปัจจุบันได้มี Stable Coin ถูกสร้างออกมาหลายร้อยหรียญแล้ว ปัจจุบันเราสามารถแบ่ง Stable Coin ออกได้เป็น 2 ประเภท คือ

ประเภทที่ 1 คือ Fiat-Collateralized คือเหรียญ Stable Coin ที่ผูกกับเงินตราประเทศต่างๆ เช่น Tether,USDT,TrueUSD รวมไปถึงเหรียญ Libra ของกลุ่มเฟซบุ๊ก

ประเภทที่ 2 คือ Crypto-collateralized คือ เหรียญ Stable Coin ที่ผูกกับเงินคริปโต ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ Smart Contract เป็นกลไกในการออกเหรียญ เช่น เหรียญ Dai $1 จะต้องมี Ether จำนวน $1.50 ถูกล็อคไว้โดย Smart Contract ของ MakerDAO เพื่อเป็นหลักประกัน เป็นต้น ทำให้เหรียญประเภทนี้มีความโปร่งใส และถูกนำไปใช้ในหลายๆ แอปพลิเคชั่น


Stable Coin แต่ละเหรียญก็จะมีจุดหมายการใช้งาน รวมถึงวิธีการรักษาราคาแตกต่างกันไป และก็มีความเสี่ยงแตกต่างกันไปในตัวเช่นกัน เพราะฉะนั้นการเลือกใช้ Stable Coin แต่ละประเภท จึงควรต้องศึกษาและเข้าใจที่มาที่ไปของแต่ละเหรียญอย่างดี ก่อนที่จะตัดสินใจนำมาใช้งาน ในปัจจุบัน Stable Coin เป็นอีกหนึ่งกลไกสำคัญในโลกของ DeFi ที่จะสามารถทำให้เกิดธุรกรรมทางการเงินได้บนบล็อกเชนได้จริง


 

Decentralized Marketplace

อีกหนึ่ง DeFi ที่น่าสนใจ คือ Decentralized Marketplace ซึ่งเป็นตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset Exchange) ในอีกรูปแบบที่ไม่เหมือนกับที่เรารู้จักทั่วไป เช่น Bitkub, Satang หรือ Binance ที่ยังคงอาศัยคนกลางในการเก็บและส่งต่อสินทรัพย์ดิจิทัล

แต่ Decentralized Marketplace จะเป็นที่ที่คนสามารถแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล กันได้โดยตรงโดยผ่านเทคโนโลยีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น Smart Contract หรือ Atomic Swap ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยีระดับสูงในการแลกเปลี่ยนเหรียญต่างชนิดกันในระยะเวลาที่สั้นและถูกต้อง

ข้อดีของตลาดแลกเปลี่ยนประเภทนี้ คือ บางตลาดไม่จำเป็นต้องมีการยืนยันตัวตนใดๆ เป็นอุปสงค์และอุปทานอย่างแท้จริง และเนื่่องจากไม่มีคนกลางและการดูแลรักษาต่ำกว่าแบบปกติมาก จึงทำให้ค่าธรรมเนียมในการโอนต่ำกว่าแบบปกติค่อนข้างมาก ในปัจจุบันได้มี Decentralized Matketplace เกิดขึ้นแล้วหลายที่ ยกตัวอย่างเช่น IDEX, Kyber, Ox


แม้ว่าตลาด Decentralized Matketplace ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังมีจำนวนการใช้งานไม่มาก แต่ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะมองข้ามไปไม่ได้ เพราะในอนาคตที่ทุกอย่างสามารถ Tokenized ได้มากขึ้น ตลาดแบบ Decentralized Matketplace จะเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญที่ขาดไม่ได้


 

อนาคตของ DeFi

ยังมีบริการหรือสินค้าทางการเงินอีกมากมายที่กำลังพัฒนาในโลกของ DeFi คริปโตเคอเรนซีและบล็อกเชนจะไม่ใช่เป็นเพียงแค่ตัวแทนเงินหรือมูลค่าเท่านั้น แต่จะมาด้วยบริการทางการเงินหลากหลายรูปแบบ ซึ่งแม้ว่าส่วนใหญ่ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังจำกัดอยู่ในโลกของคนที่สนใจในเรื่องของคริปโตเคอเรนซีและศึกษาถึงวิธีใช้งานอย่างละเอียดเท่านั้น ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงและอุปสรรคอีกมากที่จะทำให้บริการทางเงินเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้กับคนทั่วไปได้จริงๆ

แต่ด้วยประโยชน์ที่เห็นอย่างเด่นชัด ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาหลายๆ ปัญหาของโลกการเงินในปัจจุบันได้ และกลุ่มคนในวงการการเงินและเทคโนโลยีทั่วโลกที่ปัจจุบันทุ่มเทอย่างจริงจังในการพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมทางการเงินใหม่ๆ บน DeFi ออกมา ทำให้ปี 2020 จะเป็นอีกหนึ่งปีที่น่าตื่นเต้นอย่างแน่นอน เทคโนโลยีจะทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปเร็วขึ้นเรื่อยๆ อย่างที่เราไม่เคยคิดมาก่อน


 

รอติดตามชมอย่างตื่นเต้นได้เลยครับ!

-------------------------

Reference:

https://www.forbes.com/sites/ilkerkoksal/2019/09/29/the-shift-toward-decentralized-finance-why-are-financial-firms-turning-to-crypto/#134f13376392

https://www.binance.vision/glossary/defi

https://101blockchains.com/decentralized-finance-defi/

https://www.binance.vision/blockchain/the-complete-beginners-guide-to-decentralized-finance-defi

https://medium.com/@philippsandner/decentralized-finance-defi-what-do-you-need-to-know-9cd5e8c2a48

https://blockgeeks.com/guides/demystifying-defi-ultimate-guide/

https://cryptonews.com/news/decentralized-finance-defi-explained-5134.htm

https://yos.io/2019/12/08/decentralized-finance-explained/







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh