‘ไทย’ : หนึ่งในประเทศ Breakdown ของโลก?
ดร. บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
จากที่ผมได้โพสต์ข้อความว่า “ไทย เป็นหนึ่งในห้าประเทศ Breakdown ของโลก จากที่เคยเป็นประเทศโมเดลตัวอย่างในช่วงก่อนหน้า จากมุมมองของ รูเชอร์ ชาร์มา อดีตนักวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนฝั่งตลาดเกิดใหม่ของ Morgan Stanley” ไว้ทางเพจ MacroView
ปรากฏว่ามีผู้สนใจเรื่องราวนี้ค่อนข้างมาก จึงขอนำมุมมองของชาร์มา มาถ่ายทอดพร้อมกับความเห็นส่วนตัวของผมในบทความนี้
โดยมี 5 ประเทศที่ถือว่าเป็นประเทศ Breakdown ของโลก จากที่เคยเป็นประเทศโมเดลตัวอย่างในอดีตที่ผ่านมา อันประกอบด้วย
1. แคนาดา: ถือว่าแสดงผลงานได้ดีในช่วงวิกฤตซับไพร์มปี 2008 ทว่านโยบายเศรษฐกิจเริ่มจะออกทะเลหลังจากนั้น เมื่อโลกได้ก้าวเข้าสู่เทคโนโลยีใหม่ๆ ทว่าแคนาดายังคงโฟกัสอยู่ที่สินค้าโภคภัณฑ์เหมือนเดิม โดยนับตั้งแต่ปี 2020 อัตราส่วนจีดีพีต่อประชากรของแคนาดาหดตัว 0.4% ซึ่งแย่ที่สุดสำหรับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วใน Top 50 โดยการลงทุนใหม่ๆ และการเติบโตของตำแหน่งงานใหม่ๆ มาจากฝั่งรัฐบาลเป็นหลัก
โดยธุรกิจเอกชนมีแต่แนวอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งไม่ได้ช่วยเพิ่มระดับผลิตภาพหรือ Productivity รวมถึงเพิ่มความมั่งคั่งให้กับเศรษฐกิจประเทศมากสักเท่าไหร่ จึงทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีปัญญาซื้อบ้านเป็นของตนเอง เนื่องจากแคนาดามีตลาดบ้านที่มีราคาสูงสุดแห่งหนึ่งของโลก หากจะนึกถึงหุ้นแนวเทคโนโลยีของแคนาดา ที่พอนึกออกเห็นจะเป็นหุ้น Shopify ที่เป็น Online Store ซึ่งเป็นบริษัท Tech หนึ่งเดียวของบริษัท Top 10 ของแคนาดา ทว่าราคาหุ้นได้ลดลงถึงราวครึ่งหนึ่งจากเมื่อปี 2021
ซึ่งผมมองว่าแคนาดาค่อนข้างจะเดินตามสหรัฐในทางการเมืองและเศรษฐกิจมากจนเกินไป รวมถึงรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมาดูจะไม่ได้กล้าเปิดโอกาสการลงทุนใหม่ๆ ยังคงมีความอนุรักษนิยมในการพัฒนาเศรษฐกิจให้เป็นแบบเดิมมากกว่าที่จะพัฒนาเทคโนโลยีให้เป็นจุดเด่นของตนเอง
2. ชิลี: ประเทศมีความได้เปรียบในแง่ของทรัพยากรธรรมชาติด้านเหมืองแร่โดยเฉพาะอย่างยิ่งทองแดง
ชิลี ซึ่งครั้งหนึ่งในทศวรรษที่ 1990 ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นเสือตัวที่ 6 ต่อจากประเทศที่เป็นดาวเด่นในทวีปเอเชียตะวันออกในช่วงนั้น ได้กลายเป็นประเทศที่เน้นพึ่งพาส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์อย่างทองแดงเป็นหลัก
โดยอุตสาหกรรมด้านการผลิตไม่ได้มีการเติบโตส่วนหนึ่งเนื่องจากความอืดอาดของระบบราชการในการอนุญาตให้เม็ดเงินการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาในประเทศ รวมถึงมีความไม่สงบจากการประท้วงตามท้องถนน เนื่องจากระบบการจัดเก็บภาษีที่ยังล้าหลังมาก และประเด็นความขัดแย้งทางการเมืองว่าด้วยการแก้รัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งมีความเท่าเทียมกันให้กับชาวชิลีทุกคน สำหรับชิลี ผมมองว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารเมื่อ 2 ปีก่อน เป็นคนรุ่นใหม่ที่อาจจะขาดประสบการณ์ในการบริหารประเทศจริง ซึ่งหากสามารถปรับกระบวนทัศน์การทำงานเสียใหม่ให้ดีขึ้น ก็น่าจะทำให้ชิลีซึ่งมีเหมืองแร่ที่อุดมสมบูรณ์มากและระบบเศรษฐกิจในภาพรวมที่ค่อนข้างทรงดี ให้กลับมาค่อยๆ โดดเด่นขึ้นได้ในอนาคต
3. เยอรมัน: โดยความเห็นของชาร์มาดูออกจะมองเศรษฐกิจเยอรมันในแง่ร้ายมาก ว่าเปลี่ยนจากดาวรุ่งเป็นดาวร่วงแบบดรามาที่สุด โดยเยอรมันซึ่งมีการรับมือกับสถานการณ์โควิดช่วงเริ่มใหม่ๆ ได้ดี กลับค่อยๆ มีผลงานทางเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลงมาก จากการพึ่งพาการส่งออกจากจีนมากจนเกินไป รวมถึงพึ่งพาการนำเข้าพลังงานจากรัสเซียค่อนข้างมาก โดยภาคการลงทุนไม่ได้สร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจเลยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รวมถึงอัตราผลิตภาพก็ลดลงถึง 5% ต่อปี ทำให้เกิดข้อกังขาต่อแนวทาง Mittelsland หรือเครือข่ายของภาคโรงงานการผลิตที่เป็นเครื่องจักรแห่งการเติบโตของเศรษฐกิจเยอรมัน ว่ายังมีอยู่จริงหรือไม่
4. แอฟริกาใต้: ประเทศที่ครั้งหนึ่งเป็นสมาชิกประเทศสุดท้ายของกลุ่ม BRICS เมื่อปี 2010 อันประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย และจีน โดยเป็นประเทศที่สินค้าโภคภัณฑ์บูมมากในช่วงนั้น จนกระทั่งซบเซาในเวลาต่อมา โดยตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ถูกปกครองโดยรัฐบาลของพรรค ANC ซึ่งในปัจจุบัน ประเทศมีอัตราการว่างงานของคนรุ่นใหม่ถึง 50% การลงทุนที่ซบเซา และพลังงานไฟฟ้าที่มีการนำส่งมาสู่ภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือนที่มีการขัดข้องโดยตลอด โดยIMF ได้คาดการณ์อัตราการเติบโตของจีดีพีต่อประชากรจะติดลบในช่วงระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นประเทศเดียวในกลุ่มประเทศ Top 50 ผมมองว่าการเลือกตั้งใหญ่ในเดือนหน้าน่าจะทำให้พรรค ANC เป็นฝ่ายค้านและอาจจะนำการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ มาสู่เศรษฐกิจของแอฟริกาใต้
5. ไทย: ทางชาร์มาให้ความเห็นว่า จากในอดีต ที่ไทยเคยเป็น “เสือแห่งเอเชีย” ก่อนที่หนี้ภาคเอกชนที่มากมายเกินตัวได้นำไทยเข้าสู่วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997
โดยในปัจจุบัน ได้กลายเป็นประเทศเดียวในกลุ่มอดีตเสือทางเศรษฐกิจแห่งเอเชียตะวันออกที่อัตราการเติบโตของจีดีพีต่อประชากรติดลบในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รวมถึงมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูงสุดแห่งหนึ่งของโลก โดย 79% ของคนจนอาศัยอยู่ในต่างจังหวัด นอกจากนี้ ยังมีการถกเถียงกันระหว่างชนชั้น elite ในเมืองหลวง กับคนจนในต่างจังหวัดที่อยู่ห่างไกลว่าจะแบ่งเค้กทางเศรษฐกิจกันอย่างไรดี แทนที่จะพยายามขยายก้อนเค้กทางเศรษฐกิจให้ใหญ่ขึ้น โดยแม้ว่าไทยจะพยายามเปลี่ยน position ของประเทศจากการเป็นเพียงเส้นทางผ่านของสินค้าระหว่างประเทศให้กลายเป็นศูนย์กลางแห่งการผลิตสินค้า ทว่าด้วยอัตราการเติบโตของระดับผลิตภาพที่ชะงักงัน ทำให้ค่อยๆ สูญเสียความเป็นศูนย์กลางการผลิตให้กับเวียดนาม
ผมมองว่าในส่วนของความขัดแย้งระหว่างคนกรุงกันคนต่างจังหวัดที่ชาร์มากล่าวถึงน่าจะไม่ได้มีมากมายอย่างที่ให้ความเห็นไว้ ทว่าในความเห็นส่วนของการเป็นศูนย์กลางแห่งการผลิตสินค้า เหมือนว่ามีส่วนที่เป็นจริงอยู่ในระดับหนึ่งเช่นกัน อย่างไรก็ดี เรายังมีภาคท่องเที่ยวที่ติด Top 5 ของโลก รวมถึง Soft Power ต่างๆ ที่เป็นจุดแข็งของประเทศด้วย