กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน ปรับซัพพลายเชนอย่างไรในภาวะวิกฤต โดย PWC .

โดย
PWC .

:PWC
.

ปรับซัพพลายเชนอย่างไรในภาวะวิกฤต

โดย นิพันธ์ ศรีสุขุมบวรชัย
หัวหน้าสายงาน Clients and Markets และหุ้นส่วนสายงานภาษีและกฎหมาย
บริษัท PwC ประเทศไทย

    ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้พัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยกลุ่มชนชั้นกลางที่มีกำลังซื้อได้เพิ่มจำนวนเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจซัพพลายเชนในภูมิภาคนี้เติบโตตามไปด้วย นอกจากนี้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาแรงงานที่มีทักษะ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ล้วนทำให้นักลงทุนต่างสนใจเข้ามาขยายฐานการผลิตและสร้างเครือข่ายซัพพลายเชนในภูมิภาคนี้กันมากขึ้น

 

    อย่างไรก็ดี ธุรกิจซัพพลายเชนทั่วโลกยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านทั้งความตึงเครียดทางภูมิศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ และที่สำคัญ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เข้ามาสร้างความเสียหายต่อระบบซัพพลายเชนตั้งแต่ปลายปี 2562 และส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักไปแทบจะโดยปริยาย

    จากบทเรียนในครั้งนี้ ทำให้ธุรกิจในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมต้องหันกลับมาปรับเปลี่ยนการจัดการห่วงโซ่การผลิตจากเดิมที่อาจกระจายอยู่ทั่วโลก มาเป็นห่วงโซ่การผลิตในระดับภูมิภาค เพื่อเพิ่มความคล่องตัวและสร้างความยืดหยุ่นให้กับระบบซัพพลายเชนของตน ซึ่งรายงาน ‘Building rebalanced and resilient supply chains’1 ของ PwC Asia Pacific ได้นำเสนอ 3 แนวทางสำคัญในการปรับโครงสร้างธุรกิจซัพพลายเชนเพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในช่วงสถานการณ์โควิด ดังต่อไปนี้

 

    1. นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารระบบซัพพลายเชน การเชื่อมต่อระบบดิจิทัลจะช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นองค์รวมของระบบซัพพลายเชน ทำให้สามารถตรวจหาความผิดปกติ และเห็นถึงปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไขเร็วขึ้น เพราะผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายสามารถรับทราบข้อมูล โต้ตอบ และหาแนวทางแก้ไขในเรื่องเดียวกันได้แบบเรียลไทม์ ทำให้โอกาสของการเกิดความเสี่ยงจากการเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันลดน้อยลง หรือหากเกิดปัญหาขึ้นอีก ก็สามารถแก้ไขได้ง่ายขึ้น 

    ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทผู้ผลิตอาหารและเครื่องดื่มรายใหญ่ของโลกแห่งหนึ่ง นำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาติดตามและตรวจสอบสินค้าเพื่อแก้ปัญหาของเน่าเสียแบบเรียลไทม์ ตั้งแต่ยังเป็นวัตถุดิบจนไปถึงกระบวนการผลิตและการวางสินค้า2  นี่แสดงให้เห็นว่า การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้จะช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้กับระบบซัพพลายเชนได้

 

    2. กำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกคู่ค้าหรือซัพพลายเออร์เพิ่ม ในยามปกติ ธุรกิจจะเลือกซัพพลายเออร์โดยพิจารณาจากต้นทุนและคุณภาพเป็นหลัก แต่เมื่อเกิดวิกฤตโควิด-19 ขึ้น จึงทำให้เครือข่ายซัพพลายเออร์ในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบพร้อม ๆ กัน และซัพพลายเชนเกิดการหยุดชะงัก ดังนั้น ธุรกิจควรต้องเพิ่มเกณฑ์ในการคัดเลือกซัพพลายเออร์ โดยอาจพิจารณา 2 ปัจจัยควบคู่ไปด้วย  

    ได้แก่ ศักยภาพของซัพพลายเออร์ เช่น ความสามารถในการเสนอแนวทางแก้ปัญหาได้ตรงประเด็น และ ความน่าเชื่อถือ เช่น ตรวจสอบประวัติย้อนหลังเพื่อประเมินความเสี่ยง เป็นต้น ทั้งนี้ การเลือกซัพพลายเออร์ที่มีศักยภาพและความน่าเชื่อถือ จะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างราบรื่น เพราะจะมั่นใจได้ว่า จะสามารถตอบสนองความต้องการของตลาด และกระจายสินค้าได้ทันตามกำหนด

 

    3. มองหาฐานการผลิตใหม่ที่มีความเหมาะสม โดยผู้ประกอบการต้องพิจารณาจาก 2 องค์ประกอบหลักได้แก่ การตรวจสอบความพร้อมของฐานการผลิตใหม่ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน สิ่งแวดล้อม แรงงาน และระเบียบข้อบังคับในการลงทุนสร้างฐานการผลิตในประเทศนั้น ๆ  และการส่งเสริมความร่วมมือกันในระดับท้องถิ่น เช่น หน่วยงานภาครัฐ ผู้รับช่วงผลิต พันธมิตรทางธุรกิจ และแรงงาน รวมไปจนถึงค่าแรงท้องถิ่น เป็นต้น 

    ซึ่งการพิจารณาถึงปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้การขยายเครือข่ายซัพพลายเชนของธุรกิจสามารถเดินหน้าได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะตกอยู่ในภาวะวิกฤต โดยเอเชียแปซิฟิก ถือเป็นภูมิภาคที่มีความพร้อมในหลาย ๆ ด้าน เพราะจะเห็นได้ว่าบริษัทขนาดใหญ่ของโลกหลายรายมีการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคนี้อย่างไม่ขาดสาย โดยล่าสุด บริษัทผู้ผลิตซีพียูรายใหญ่ของสหรัฐอเมริกา ได้ทุ่มเงินกว่า 475 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.43 หมื่นล้านบาท) ในการสร้างโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรม Saigon Hi-Tech Park ในประเทศเวียดนาม3  

 

    ทั้ง 3 แนวทางที่ผมได้กล่าวไปข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับโครงสร้างซัพพลายเชนให้มีความยืดหยุ่นและมีความคล่องตัวมากขึ้นผ่านการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยบริหารระบบในภาพรวม อีกทั้งต้องพิจารณาคู่ค้า หรือซัพพลายเออร์ที่ทำธุรกิจด้วยว่า มีศักยภาพและมีความน่าเชื่อถือเพียงพอหรือไม่ และสุดท้ายเลือกฐานการผลิตที่มีความพร้อม 

    ซึ่งผมมองว่า ทั้งหมดคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ท่านสามารถบริหารจัดการซัพพลายเชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าเดิม และยังช่วยลดผลกระทบ หากธุรกิจต้องเจอกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันอีกในครั้งหน้า
 







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh