ทำไมผู้นำอังกฤษลดโทน ‘นโยบายรักษ์โลก’ ?
ดร.บุญธรรม รจิตภิญโญเลิศ
[email protected]
หากใครติดตามข่าวด้านนโยบายพลังงานของรัฐบาลอังกฤษในสัปดาห์นี้ น่าจะรู้สึกงุนงงกับข่าวที่ออกมาในช่วงนี้ เริ่มจากการที่รัฐบาลอังกฤษอนุมัติใบอนุญาตขุดเจาะน้ำมันหลายจุดในทะเลเหนือ จากนั้น มีข่าวว่าลดผลประโยชน์ด้านภาษีต่อบริษัทที่จะทำการติดตั้งอุปกรณ์ Carbon Capture and Storage (CCS) รวมถึงนายกรัฐมนตรีอังกฤษ รึซิ ซูนัค มีแผนจะยกเลิกบริเวณที่เรียกว่า Anti-Car หรือเขตปลอดการใช้รถยนต์เพื่อลดมลภาวะ คำถามคือเพราะเหตุใดซูนัคจึงได้ลดความสำคัญของ ‘นโยบายรักษ์โลก’ ในช่วงเวลานี้ ที่น่าจะเหลือเวลาอีกกว่า 1 ปี ก็จะมีการเลือกตั้งใหญ่ในอังกฤษ?
ก่อนอื่นจะขอเท้าความเดิมก่อนว่า พรรคแรงงาน ภายใต้การนำของเคียร์ สไตเมอร์ มีนโยบายที่เน้นการใช้จ่ายภาครัฐโดยเก็บภาษีเพิ่ม รวมถึงภาษีเกี่ยวกับด้านพลังงานสีเขียว โดยผู้ว่าฯกรุงลอนดอน ซาดิค ข่าน ได้เสนอการให้ชาวลอนดอนจ่าย Ulrez Tax วันละประมาณ 12.5 ปอนด์ หากขับรถที่ไม่ผ่านเกณฑ์ด้านมลภาวะเข้าในบางพื้นที่ของลอนดอน ซึ่งแม้ว่าจากผลโพลล่าสุด พบว่า พรรคแรงงานมีคะแนนนำพรรคอนุรักษนิยมถึงกว่า 20% ทว่า เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน พรรคแรงงานแพ้การเลือกตั้งท้องถิ่นเขต Uxbridge ที่อยู่ในตอนเหนือของลอนดอน ซึ่งเป็นเขตเดิมของบอริส จอห์นสัน โดยสาเหตุหลักเนื่องจาก Ulrez Tax ในเขตเลือกตั้งนี้ โดยพรรคแรงงานชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ในเขตเลือกตั้งที่เหลืออีก 2-3 เขต
ตรงนี้ เลยทำให้รัฐบาลของซูนัคได้ปรับกลยุทธ์ในการหาเสียงของพรรคอนุรักษนิยมเกี่ยวกับด้านพลังงาน Net Zero โดยที่ยังคงมีวัตถุประสงค์ที่จะทำให้เข้าสู่ Net Zero ภายในปี 2050 ทว่าวิธีการในปัจจุบัน จะมีความยืดหยุ่นต่อมาตรการแนวรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของใบอนุญาตขุดเจาะน้ำมันหลายจุดในทะเลเหนือ การลดผลประโยชน์ด้านภาษีต่อบริษัทที่ติดตั้งอุปกรณ์ Carbon Capture and Storage (CCS) รวมถึงการจะยกเลิกนโยบาย Anti-Car โดยซูนัคกล่าวว่าการเข้าสู่ Net Zero ไม่จำเป็นต้องยอมลดการใช้พลังงาน Fossil มากเกินไปในปัจจุบัน โดยเน้นว่าจะไม่มีนโยบายเก็บ Ulrez Tax ตรงนี้ ซูนัคเปลี่ยนกลยุทธ์นโยบายใหม่เพื่อสู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ในปีหน้า ดังนี้
ก่อนอื่นคงต้องยอมรับว่าหากซูนัคชูนโยบายเศรษฐกิจมาสู้กับพรรคแรงงานในช่วงนี้ น่าจะถือว่าเสียเปรียบมากทั้งจากเงินเฟ้ออังกฤษที่แซงเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ จนขึ้นสูงเป็นอันดับ 1 หรือจะเป็นระดับผลิตภาพของเศรษฐกิจอังกฤษที่ลดลงต่ำสุดในรอบเกือบ 40 ปี โดย 4 เซกเตอร์ซึ่งเป็นจุดแข็งของอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็น Green Investment, Creative Industry, Life Sciences และ Financial Services ล้วนแล้วแต่ยังไม่โดดเด่นในรัฐบาลยุคพรรคอนุรักษนิยมที่บริหารประเทศมา 4 สมัยติดต่อกัน รวมถึงอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยังดูต่ำกว่าประเทศหลักอื่นๆ อีกด้วย
แล้วกลยุทธ์ที่น่าจะมีโอกาสได้ผลมากที่สุดในการเลือกตั้งครั้งนี้ของซูนัค เห็นทีจะต้องเป็นการสร้างภาพลักษณ์ของพรรคแรงงานว่าเป็นพวกที่คลั่งการทำให้อังกฤษเป็น Green Country โดยที่ชนชั้นกลางและล่างต้องจ่ายค่าใช้จ่ายที่สูงในการเปลี่ยนให้มีสถานะดังกล่าว อาทิ Ulrez Tax นอกจากนี้ ยังสร้างภาพลักษณ์ของพรรคแรงงานว่ามีแนวคิดออกเป็นเสรีนิยมที่มีแนวคิดแบบชนชั้นบน หรือ Elite ซึ่งไม่ได้เห็นใจคนหาเช้ากินค่ำ โดยเน้นแนวทางการให้เปิดให้คนต่างชาติเข้ามาทำงานและเปิดกว้างต่อความหลากหลายต่างๆ ในประเด็นสังคม หรือที่เรียกกันว่า Blob
อีกทั้งยังชูภาพลักษณ์ของพรรคอนุรักษนิยมว่าเป็นรัฐบาลที่จับต้องได้และมีความเป็นแบบที่ชาวบ้านสามารถใช้ทำงานแบบเน้นช่วยเหลือให้ทำมาหากินได้ หรือที่เรียกกว่า ‘ใจถึง พึ่งได้’
ผมมีข้อสังเกตส่วนตัวในประเด็นนี้อยู่ 2ข้อ คือ
1.ต้องยอมรับว่าซูนัคไม่ได้มีบุคลิกแบบที่จะเน้นช่วยเหลือชาวบ้านแบบใจถึงพึ่งได้ โดยซูนัคออกจะเป็นนักการเมืองแนวบุ๋นที่เก่งด้านเชิงตัวเลขและออกจะสำอางสไตล์ลูกเศรษฐีมากกว่า ทำให้การเล่นบทแบบนี้ น่าจะไม่ใช่ทางถนัดของซูนัค ซึ่งตอนนี้เขาก็พยายามจะทำตามกลยุทธ์นี้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการโดยสารฮอลิคอปเตอร์ส่วนตัวไปสกอตแลนด์ หรือ การเปลี่ยนบุคลิกให้ออกแนวสำอางน้อยลงก็ตามที
2. กลยุทธ์แบบนี้ อาจจะกลับมาเป็นบูมเมอแรงกลับมาส่งผลเชิงลบต่อพรรคอนุรักษนิยมเอง ซึ่งการที่ยอมให้มีการใช้พลังงาน fossil มากขึ้น แม้จะยังคาดว่าจะเข้าสู่ Net Zero ภายในปี 2050 ทำให้อาจจะถูกตอกกลับว่า ‘พูดอย่างทำอย่าง’ หรือ hypocrite จากพรรคแรงงาน ซึ่งต้องบอกว่าโอกาสที่ซูนัคและพรรคอนุรักษนิยมจะกลับมาชนะพรรคแรงงานในปีหน้าไม่ได้สูงมาก หากพิจารณาจากสิ่งที่เป็นอยู่ในขณะนี้