กุนซือโลกการเงิน


กุนซือโลกการเงิน เปรียบเทียบ ICO / STO / IEO กันแบบชัดชัด! โดย คุณวรพจน์ ธาราศิริสกุล

โดย
คุณวรพจน์ ธาราศิริสกุล

:CTO บริษัท เจเวนเจอร์ส จำกัด
.

เปรียบเทียบ ICO / STO / IEO กันแบบชัดชัด!

 

ข่าวที่สร้างความฮือฮาให้กับวงการคริปโตเคอเรนซีเมืองไทย เมื่อเดือนที่ผ่านมา (นอกเหนือจากข่าว BX)  คือ การที่บริษัท Start up ด้านบล็อกเชนของคนไทย "Band Protocol" ได้เข้าระดมทุน IEO

 
  
"Band Protocol" นับเป็น "บริษัทแรกของคนไทย" ที่ได้ไประดมทุน IEO ระดับ 10 ล้านเหรียญสหรัฐบนเว็บเทรดอันดับหนึ่งของโลกอย่าง "Binance Launchpad" และช่วย "จุดพลุ" กระแส IEO ได้ดีพอสมควร


  
หลายคนอาจสงสัย การระดมทุนแบบ IEO มันคืออะไร? ต่างกับการทำ ICO มั๊ย? ยังมีคนลงทุนอยู่อีกเหรอ..เคยได้ยินว่าเปลี่ยนเป็น  STO แล้วนิ หรือแม้กระทั่ง อะไรคือการลงทุนบนคริปโตเคอร์เรนซี 


  
บทความนี้จะไขทุกข้อสงสัย เราจะมาคุยกันถึง "วิวัฒนาการ" ของการระดมทุนในตลาดคริปโต มันอาจจะยาวสักหน่อย แต่ถ้าอ่านจนจบมั่นใจว่า ท่านจะเห็นถึงความแตกต่างของ ICO/STO/IEO ชัดเจนมากขึ้นครับ! 

 

ICO คืออะไร?


 
การระดมทุนบนโทเคนดิจิทัล หรือที่ถูกเรียกกันว่า ICO (Initial Coin Offerring) เป็นการระดมทุนในโครงการ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของบริษัทที่ใช้การออกโทเคนดิจิทัล (Token Digital) มาเสนอขายให้กับนักลงทุนที่สนใจ และอยากลงทุนในโครงการนั้นๆ ซึ่งนักลงทุนแทนที่จะได้หุ้นหรือส่วนแบ่งรายได้เหมือนกับการลงทุนชนิดอื่นๆ  แต่จะได้สิทธิบางอย่างในการใช้โทเคนที่ได้รับนั้นๆ บนระบบที่ถูกสร้างขึ้นเป็นการตอบแทน 

 

    • ICO ถูกริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2013

 

ICO ถูกริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2013 กับเคสของ Mastercoin แต่มาเริ่มมีคนรู้จักกับโครงการ Ethereum ในปี 2014 ซึ่งตอนนั้นสามารถระดมทุนได้ 3,700 บิทคอยน์ในเวลาเพียง 12 ชั่วโมง ซึ่งเปรียบได้กับเงินประมาณ 2.3 ล้านเหรียญ US ในเวลานั้น ซึ่งปัจจุบันถือเป็นเหรียญที่มูลค่าสูงสุดอันดับ 2 ของโลกรองจากบิตคอยน์ และ ICO ได้มาโด่งดังสุดๆ ในช่วงปลายปี 2017 ที่มีโครงการมานำเสนอและผู้ลงทุนได้กำไรเป็นกอบเป็นกำหลายบริษัท


 
การระดมทุน ICO ถือเป็นการระดมทุนที่ได้รับความนิยมในหมู่ Start up เพราะการสร้างโทเคนดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนนั้น สามารถทำได้ด้วยความรวดเร็ว มีความน่าเชื่อถือ ลงทุนแล้วได้รับเหรียญในทันทีผ่านทาง Smart Contract ที่ตรวจสอบได้ ที่สำคัญคือ มีมูลค่าทันทีสามารถนำไปขายหรือแลกเปลี่ยนกับโทเคนดิจิทัลอื่นๆ หรือเป็นเงินสดในตลาดรองได้ 

 

    • ICO ที่สามารถระดมทุนได้มากที่สุดในโลก คือ EOS 

 

จากข้อดีเหล่านี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการระดมทุนแบบอื่นๆ ถือเป็นการระดมทุนที่ใช้ทุนและเวลาน้อยกว่ามาก จึงทำให้เกิดการระดมทุนรูปแบบของ ICO มากมายทั่วโลกกว่าหลายพันโครงการ โดย ICO ที่สามารถระดมทุนได้มากที่สุดในโลก คือ EOS ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่รองรับการสร้างแอปพลิเคชั่นบนบล็อกเชน โดยสามารถระดมทุนได้สูงถึง 4,200 ล้านเหรียญ US ในปี 2018 ซึ่งแสดงถึงความนิยมอย่างมากมายของ ICO ในช่วงเวลานั้น 

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากความง่ายในการขอระดมทุน และมีหลายโครงการมากมายที่ไม่ประสบความสำเร็จในแง่ชองการทำกำไร การเข้าตลาดรองเพื่อซื้อขาย หรือแม้แต่แง่ของการทำระบบตามที่บอกว่าจะทำ ทำให้ความนิยมในการลงทุน ICO เริ่มลดลงอย่างรวดเร็ว หลังจากช่วงปี 2018

 

STO คืออะไร? 

 

    • กำจัดจุดอ่อน ICO

 

จากจุดด้อยจุดหนึ่งของ ICO ที่ไม่มีการรองรับส่วนแบ่งรายได้ หรือ ได้รับการแบ่งหุ้นที่สามารถช่วยยืนยันความสำเร็จ จึงมีการระดมทุนอีกรูปแบบขึ้นมาที่เรียกว่า Security Token Offering (STO) ซึ่งเป็นการเสนอขายหลักทรัพย์ ในรูปแบบโทเคนดิจิทัล ซึ่งโทเคนดิจิทัลที่ได้มาจะเป็นตัวแทนของหลักทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น หุ้น, ทุน, หรือส่วนแบ่งกำไร ซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้มากกว่า ICO ปกติ 

 

ดังนั้น โทเคนดิจิทัลของ STO จึงเป็นเหมือนสัญญาทางการเงิน อีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง เพียงแต่ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในกระบวนการให้เกิดขึ้นได้ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถระดมทุนได้อย่างรวดเร็ว ด้วยต้นทุนที่ต่ำและสามารถทำได้อย่างไร้พรมแดน 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อออกตัวว่าเป็นหลักทรัพย์ ในทางกฏหมายการออกและเสนอขายจึงต้องทำผ่านกฎหมายหลักทรัพย์เหมือนกรณีปกติ ซึ่งจะแตกต่างกันไป ตามเกณฑ์กำกับดูแลกฏหมายของแต่ละประเทศ 

 

ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา การออก STO จะต้องทำตามกฎหมายหลักทรัพย์ในส่วนของ Regulation D Regulation A+ และ Regulation S ซึ่งมีหลายข้อบังคับ เช่น ผู้ลงทุนใน STO จะต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่ (Accredited Investor) ที่สามารถลงทุนและรับความเสี่ยงได้เท่านั้น 

 

หรือที่สหภาพยุโรป ก็มีกำหนดว่าสำหรับ Security Offering สามารถมีผู้ลงทุน ได้ไม่เกิน 150 คน และต้องลงทุนอย่างน้อยรายละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านยูโรเท่านั้น เป็นต้น (Europe Union Art. 4(1)(44))

 

สำหรับประเทศไทย ดังที่ได้กล่าวไว้ในบทความที่แล้ว (BX.in.th ปิดตัว!) เราได้มีพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งได้ระบุถึง โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (Investment Token) ที่สามารถสร้างเพื่อกำหนดสิทธิของบุคคล ในการเข้าร่วมลงทุนในโครงการหรือกิจกรรม เช่น สิทธิจากส่วนแบ่งรายได้ หรือผลกำไรจากการลงทุน 

 

    • แจ้งเกิดในไทยหรือไม่ขึ้นกับหน่วยงานกำกับ

 

ดังนั้น การเติบโตของ STO ว่าจะมาแทน ICO ได้หรือไม่ ยังคงขึ้นอยู่กับการกำกับดูแลของหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องในแต่ละประเทศ ที่จะต้องกำหนดทิศทางที่ชัดเจน รวมถึงแก้กฎหมายบางส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการรองรับการทำธุรกรรมในรูปแบบอิเล็คทรอนิกส์ได้ทั้งกระบวนการได้จริง 

 

การระดมทุนแบบ STO ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน จึงยังเป็นการระดมทุนแบบเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ซึ่งหลายๆ ประเทศกำลังพัฒนาด้านนี้เพื่อให้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและรองรับการกำกับดูแลเพื่อผู้ลงทุนได้อย่างดีที่สุด

 

IEO คืออะไร?

 

ระหว่างการพัฒนาของการระดมทุนแบบ STO ที่ยังต้องใช้เวลา ในปีที่ผ่านมาได้มีการระดมทุนแบบใหม่กำเนิดขึ้นมา โดยต่อยอดจากการระดมทุนแบบ ICO โดยเรียกว่า Initial Exchage Offering (IEO) ซึ่งเป็นการระดมทุนโทเคนดิจิทัลบนแพลตฟอร์มของเว็บเทรดคริปโตนั่นเอง 

 

IEO ก็ได้ช่วยลดขอเสียของ ICO ไปได้หลายส่วน  เช่น ความสะดวกในการลงทุน โดยผู้ลงทุนเพียงต้องสมัครเว็บเทรดนั้นๆไว้ ก็สามารถเข้าร่วมการลงทุนได้ทันที ไม่ต้องทำการยืนยันตัวตนใหม่ รูปแบบนี้ช่วยประหยัดให้กับผู้ระดมทุนได้เช่นกัน โดยไม่ต้องไปหาลูกค้าและทำการยืนยันตัวตนใหม่อีกครั้ง 

 

นอกจากนี้ สามารถเทรดได้ทันทีบน Exchange หลังจากการซื้อขาย ซึ่งเป็นข้อแตกต่างชัดเจนระหว่าง ICO และ IEO ที่โดยปกติหลังจากระดมทุน ICO จะต้องไปขอ List เข้าเทรดในตลาด Exchange ที่มีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงมากและใช้เวลานาน

 

การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่เว็บเทรด Exchange สามารถนำเสนอ แนะนำให้กับฐานลูกค้าปัจจุบันของเว็บเทรดได้ทันที และส่วนใหญ่ก็เป็นกลุ่มเป้าหมายของผู้ระดมทุนอยู่แล้ว จึงสามารถประหยัดเวลาและเงินลงทุนในส่วนนี้ได้พอสมควร

 

การตรวจสอบ ข้อด้อยที่สำคัญที่สุดของ ICO คือเกิดการหลอกลวงค่อนข้างเยอะ การมาระดมทุน IEO ที่เว็บเทรดก็เหมือนมีผู้มาตรวจสอบเบื้องต้นให้นั่นเอง และแต่ละเว็บเทรดก็ต้องตรวจสอบโครงการให้ดี เพราะเสี่ยงกับการเสียชื่อเสียงของเว็บเทรดเองด้วย

 

    • IEO เหมือนเป็นเวอร์ชั่นใหม่ของ ICO 

 

IEO จึงเหมือนเวอร์ชั่นใหม่ของ ICO ที่เรียกได้ว่าเป็น WIN-WIN-WIN situation คือได้ประโยชน์ทุกฝ่ายทั้งทางผู้ระดมทุน เว็บเทรด และผู้ลงทุนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดึงผู้สนใจในการลงทุนกลับมามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะเมื่อการลงทุนบางโครงการ เช่น BitTorrent Token สามารถระดมทุนสำเร็จได้ในไม่กี่นาที และราคาเทรดก็สามารถทำกำไรให้กับนักลงทุนได้สูง  ในปัจจุบันเว็บเทรดหลายๆ เว็บเทรดก็ได้ทำแพลตฟอร์ม IEO ของตัวเองขึ้นมา และจุดกระแสการระดมทุนในช่วงปีที่ผ่านมาได้อีกครั้ง 

 

    • กรณีศึกษา Band Protocol ระดมทุน IEO

 

Band Protocol ที่ได้ระดมทุน IEO ของทางเว็บเทรด Binance ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่ผ่านการกลั่นกรองจากเว็บอันดับหนึ่งของโลกและที่สำคัญเป็นโครงการของบริษัทนักพัฒนาของคนไทยที่เน้นการใช้จุดเด่นของ บล็อกเชน ซื่งก็คือ Decentralize model หรือการกระจายอำนาจมาทำโครงการตรวจสอบข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้กับบล็อกเชนแต่อยู่นอกบล็อกเชน 

 

ข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้กับบล็อกเชนแต่อยู่นอกบล็อกเชน มีความจำเป็นต้องถูกตรวจสอบ เช่น Smart Contract ที่เขียนว่าจะต้องส่ง Token ไปให้กับบุคคลที่ 3 ถ้าราคาบิตคอยน์ไปถึง 2 แสนบาท แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลของราคาบิตคอยน์ที่ Smart Contract นี้อ้างอิงอยู่ ก็จะทำให้การส่ง Token นี้ไม่ถูกต้องได้ เป็นต้น 

 

โดยการตรวจสอบข้อมูลของ Band Protocol จะใช้ Decentralize model คือให้คนหมู่มากมาช่วยกันตรวจสอบข้อมูลนั้นๆ เพิ่มความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่อยู่นอกเชน ซึ่งถือว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ แก้ปัญหาที่มีอยู่จริงของบล็อกเชนทั่วโลก และยังมีคู่แข่งไม่เยอะ จึงเป็นอีกโปรเจกต์ที่ได้รับความสนใจ

 

ผู้ลงทุนที่สนใจ ควรใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมในแต่ละโครงการ

 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนบนโทเคนดิจิทัลทั้ง ICO และ IEO ยังถือว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงเพราะไม่ได้มีหลักทรัพย์อะไรรองรับ และยังคงเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้งานหรือ Utilities โทเคนหมือนกัน โครงการส่วนใหญ่ก็เป็นการลงทุนบนเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่หวังการเปลี่ยนแปลงสูง 

 

ผู้ลงทุนที่สนใจจึงควรใช้เวลาศึกษาเพิ่มเติมในแต่ละโครงการให้มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้าน โมเดลธุรกิจ การใช้งานโทเคน ทีมงาน และผู้สนับสนุนผ่านทาง Community ต่างๆ ซึ่งถือเป็น 4 ส่วนสำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพื่อที่จะได้โปรเจ็คที่เป็นไปได้สูงสุด และทำกำไรให้กับผู้ลงทุนได้จากการใช้งานที่เพิ่มขึ้นจริงๆ

 

อยากให้ผู้ลงทุนมองการลงทุนบนโทเคนดิจิทัลได้มองดูและลงทุนจากพื้นฐานและความเป็นไปได้ของโครงการนั้นจริงๆ ให้เป็นเหมือนกับที่ในส่วนของลงทุนหลักทรัพย์ ที่มีผู้ลงทุนแบบเน้นคุณค่า (Value Investors) นะครับ

 

ลงทุนอย่างมีความสุขนะครับ.







บทความอื่นๆที่น่าสนใจ



RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh