BTS เตรียมความพร้อมให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเหลือง - ชมพู มิ.ย.นี้ รับรู้รายได้ปีแรก 1,000 ล้านบาท พ่วงรัฐจ่ายเงินอุดหนุนงานโยธาอีก 4,700 ล้านบาท เล็งจับมือ KTB ระบบตั๋วร่วม EMV รองรับการให้บริการ
นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยในฐานะกรรมการบริษัท อีสเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (EBM) และบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ผู้รับสัมปทานรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (โมโนเรล) สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว - สำโรง โดยระบุว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายดังกล่าว ซึ่งจะทยอยทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ในเดือน เม.ย.นี้
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ประเมินว่าจะสามารถเปิดให้บริการในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองได้เป็นส่วนแรก เพราะขณะนี้มีความพร้อมแล้ว โดยจะเปิดให้ประชาชนทดลองใช้บริการฟรีในช่วง 2 สัปดาห์ ก่อนเปิดอย่างเป็นทางการในเดือน มิ.ย.2566 ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู ประเมินว่าจะสามารถทยอยเปิดให้บริการเป็นบางช่วงที่มีความพร้อม คือ ช่วงสถานีมีนบุรี - สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ จะเปิดให้บริการใน ส.ค.นี้ เพราะปัจจุบันบางสถานียังติดปัญหาพื้นที่ทับซ้อน จึงยังไม่สามารถการก่อสร้างทางขึ้น-ลงสถานีได้
ปัจจุบันบริษัทฯ ยังเตรียมความพร้อมส่วนของระบบชำระค่าโดยสาร ซึ่งตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมกำหนดให้พัฒนารองรับบัตร EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) เป็นระบบตั๋วร่วมในการชำระค่าโดยสารขนส่งสาธารณะ โดยบริษัทฯ ได้หารือร่วมกับธนาคารกรุงไทย หรือ KTB เข้ามาพัฒนาระบบดังกล่าวเรียบร้อย และมีแผนจะทยอยติดตั้งเครื่องอ่านบัตร EMV รองรับเปิดบริการสายสีเหลืองในเดือน มิ.ย.นี้
โดยแผนติดตั้งเครื่องอ่านบัตร EMV ประกอบด้วย ส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ระยะที่ 1 จะติดตั้งเครื่อง EMV ในช่องทางพิเศษด้านข้าง (Flash Gate) หรือช่องทางสำหรับสตรีตั้งครรภ์ และผู้มีสัมภาระขนาดใหญ่ ระยะที่ 2 จะติดตั้งให้ครบทุกช่องทางเข้าสถานี ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู จะติดตั้งเครื่องอ่านบัตร EMV ตลอดทั้งเส้นทาง เพื่อรองรับการเปิดบริการในเดือน ส.ค.นี้ เนื่องจากยังมีเวลาดำเนินการ
บริษัทฯ คาดการณ์ว่าในปีนี้จะมีรายได้จากการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง และสายสีชมพู รวมประมาณ 1,000 ล้านบาท เนื่องจากจะเริ่มเปิดให้บริการในช่วงกลางปี ขณะเดียวกันจะมีรายรับจากเงินอุดหนุนงานโยธาที่ภาครัฐจะทยอยจ่ายให้หลังเปิดบริการ 45 วัน โดยเงินอุดหนุนดังกล่าวจะรวม 2 โครงการราว 4,700 ล้านบาท ทำให้ในปี 2566 บริษัทฯ จะมีรายรับจากรถไฟฟ้าสายสีเหลืองและสายสีชมพูรวมประมาณ 5,700 ล้านบาท
ขณะที่ในปี 2567 ซึ่งเป็นการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าเต็มรูปแบบ คาดว่าจะมีรายได้จากการเดินรถรวม 2,000 ล้านบาท และได้รับเงินอุดหนุนงานโยธาจากรัฐงวดที่ 2 อีก 4,700 ล้านบาท โดยเงินอุดหนุนดังกล่าวภาครัฐจะทยอยจ่ายให้บริษัทฯ จนครบจำนวน 10 งวด รวมวงเงิน 47,000 ล้านบาท
|