สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า นักวิเคราะห์ในทวีปเอเชีย เผยว่าการใช้มาตรการควบคุมการส่งออกและราคาสินค้า ของรัฐบาลในทวีปเอเชีย จะเป็นอีกหนึ่งวิธีสำคัญในการแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ และอาจได้ผลมากกว่าวิธีของประเทศทางฝั่งตะวันตกที่มุ่งเน้นไปที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
Baskoro Santoso เจ้าหน้าที่นักลงทุนสัมพันธ์ของบริษัท Mayora Indah ในประเทศอินโดนีเซียกล่าวว่า แม้หลายบริษัทในประเทศอินโดนีเซียจะปรับขึ้นราคาสินค้ามาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2021 แต่การขึ้นราคาดังกล่าวกลับไม่ส่งผลกระทบกับธุรกิจมากนัก อีกทั้งยังมีแรงซื้อสูงกว่าในปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ธนาคารกลางกำหนดไว้ที่ 2-4%
ขณะที่ประเทศทางฝั่งตะวันตก เลือกที่จะไม่เข้าไปแทรกแซงราคาสินค้าหรือจำกัดการส่งออก แต่เลือกที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัว อย่างไรก็ตามจากการที่อัตราเงินเฟ้อของประเทศทางฝั่งตะวันตก ได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสหรัฐฯและอังกฤษ ได้ทำให้กำไรของผู้ค้าปลีกและกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ส่งผลให้เศรษฐกิจเผชิญความเสี่ยงชะลอตัว ขณะที่บริษัทค้าปลีกรายใหญ่อย่าง Walmart ก็มีกำไรในไตรมาสที่ 1/2022 ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้หลายประเทศในทวีปเอเชียได้เริ่มควบคุมการส่งออก และควบคุมราคาสินค้า หลังเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนอาหาร โดยอินเดียได้มีคำสั่งห้ามส่งออกข้าวสาลีในเดือนพ.ค. เนื่องจากผลผลิตลดลงและราคาข้าวสาลี เพิ่มขึ้นมากสุดเป็นประวัติการณ์ เช่นเดียวกับมาเลเซียที่ระงับการส่งออกไก่จำนวน 3.6 ล้านตัว อย่างไม่มีกำหนด จนกว่าราคาไก่ภายในประเทศจะทรงตัว
|