CK เผย Q2/65 กำไรสะดุดเหลือ 300 ลบ. หลังไร้เงินชดเชย - รายการพิเศษ แต่รายได้ธุรกิจหลักยังเติบโต ส่วน 6 เดือนกำไร 421 ลบ. ลดลง 20% ฟาก ITD กระอัก ขาดทุน 846 ลบ. หลังต้นทุนก่อสร้างพุ่ง- รายได้การขายลดลง - ขาดทุนค่าเงินและธุรกิจตปท. ทำ 6 เดือนขาดทุนหนัก 1,600 ลบ.
บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK เปิดเผยผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/65 มีกำไร 299.57 ล้านบาท ลดลง 5.86% จากงวดเดียวกันปี 64 ที่มีกำไร 318.23 ล้านบาท งวด 6 เดือนมีกำไร 420.96 ล้านบาท ลดลง 19.95% จากงวดเดียวกันปี 64 ที่มีกำไร 525.90 ล้านบาท
โดยงวด 6 เดือนกำไรลดลง เนื่องจากรายได้อื่นลดลง สาเหตุจากปีก่อนบริษัทมีรายได้เงินชดเชยดอกเบี้ยจากค่างานค่าก่อสร้าง และกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนในบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
สำหรับรายได้จากสัญญาก่อสร้าง งวด 6 เดือนอยู่ที่ 10,514 ล้านบาท คิดเป็น 93.79% ของรายได้รวม โดยเพิ่มขึ้น 4,387 ล้านบาทจากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คิดเป็น 71.60% เนื่องจากบริษัทและบริษัทย่อยเริ่มรับรู้รายได้ในการก่อสร้างทังโครงการที่มีอยู่และโครงการใหม่ เช่น โครงการก่อสร้างทางรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ สัญญาที่ 2 ช่วงงาว-เชียงราย และสัญญาที่ 3 ช่วงเชียงราย-เชียงของ และ Preliminary Construction Works
ด้านส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมเพิ่มขึ้น 86 ล้านบาทมาจากผลประกอบการที่ดีขึ้นของ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)
ด้าน บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/65 ขาดทุน 845.96 ล้านบาท ลดลง 600% จากงวดเดียวกันปี 64 ที่มีกำไร169.12 ล้านบาท งวด 6 เดือนขาดทุน 1,603.78 ล้านบาท ลดลง 485.52% จากงวดเดียวกันปี 64 ที่มีกำไร 416 ล้านบาท
ในหกเดือนแรกของปี 65 บริษัทฯ มีรายได้จากการให้บริการก่อสร้าง การขาย และให้บริการ 28,634 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนเป็นจานวน 3,438 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากรายได้ของบริษัทย่อยและกิจการร่วมค้าบางแห่งเพิ่มขึ้น รวมถึงการได้รับรายได้จากโครงการใหม่ขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายได้จากการขายและให้บริการลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันปีก่อน 281 ล้านบาท จากรายได้จากการให้บริการโครงการเหมืองแร่ลดลง ขณะที่ต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 4,032 ล้านบาท ตามรายได้ที่เพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นจากต้นทุนในการให้บริการรับเหมาก่อสร้างของสาขาในต่างประเทศ รวมถึงต้นทุนในการขายและให้บริการเพิ่มขึ้น 210 ล้านบาท เนื่องจากต้นทุนในการให้บริการโครงการเหมืองแร่แห่งหนึ่งเพิ่มขึ้น
ด้านกำไรขั้นต้นลดลง 5.64 เนื่องจากการขาดทุนจากการให้บริการก่อสร้างในต่างประเทศและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนใน โครงการเหมืองแร่ และมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนลดลง 113 ล้านบาท พร้อมกันนี้มีส่วนแบ่งขาดทุนจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ขาดทุนเพิ่มขึ้น 435 ล้านบาท ส่วนใหญ่เนื่องจากการขาดทุนเพิ่มขึ้นของบริษัทที่ควบคุมร่วมกันแห่งหนึ่งที่ขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากอัตราแลกเปลี่ยนจากหนี้สินที่เป็นเงินตราต่างประเทศ
|