KKP มองเศรษฐกิจไทยปี 68 เติบโต 2.6% ชะลอตัวจากปี 67 ที่อยู่ 2.7% หลังท่องเที่ยวแผ่ว - หนี้ครัวเรือนกดดัน จับตานโยบายสหรัฐฯ หวั่นกระทบส่งออก ฉุดเศรษฐกิจขยายตัวเพียง 2% ขณะที่นโยบายการคลัง เริ่มมีข้อจำกัด หลังหนี้สาธารณะใกล้ชนเพดาน 70% แนะเร่งปฏิรูปภาษีเพิ่มรายได้
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร หรือ KKP เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 2.6% ชะลอตัวจากปีก่อนหน้าที่คาดไว้ที่ 2.7% เล็กน้อย โดยมีแรงส่งสำคัญจากภาคท่องเที่ยว และ ภาคบริการ แต่เป็นแรงส่งที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง จากการฟื้นตัวกลับมาเกือบปกติของภาคท่องเที่ยว ในขณะที่ปัญหาความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม และ ภาคส่งออกยังเป็นแรงกดดันที่สำคัญ
นอกจากนี้ การหดตัวของสินเชื่อภาคธนาคารจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และ ภาวะเศรษฐกิจกำลังส่งผลทางลบต่อการบริโภคสินค้าคงทนและ ภาคอสังหาริมทรัพย์
ทางด้านปัจจัยภายนอก ที่กำลังเผชิญความเสี่ยงจากนโยบายของสหรัฐฯ ที่อาจใช้นโยบายการค้าเป็นเครื่องมือในการเจรจาต่อรอง โดยไทยติดอันดับที่ 11 ของประเทศที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ มากที่สุด และ อาเซียนเองก็เกินดุลการค้าเป็นอันดับ 2 รองจากจีนเท่านั้น ทำให้ไทย และ อาเซียนอาจตกเป็นเป้าของมาตรการทางการค้าของรัฐบาลสหรัฐฯ และ ส่งผลต่อภาคการค้า อาจถูกกดดันให้เปิดตลาดบางกลุ่มสินค้า รวมถึงสินค้าเกษตรที่ไทยมีอัตราภาษี และ มาตรการกีดกันการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในขณะที่ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการย้ายฐานลงทุน จึงมีความจำเป็นที่ไทยต้องเตรียมพร้อมในการรับมือ และ เจรจาต่อรองให้เกิดผลดีที่สุด
"จีดีพีปี 68 มองไว้ที่ 2.6% แม้จะลดลงจากปี 67 ที่อยู่ 2.7% โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ สงครามการค้า เพราะอาจทำให้จีดีพีลดลงเหลือ 2% ได้"ดร.พิพัฒน์ กล่าว

ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่มีไม่แน่นอน มองว่า การใช้นโยบายการคลัง และนโยบายการเงินจะมีบทบาทสำคัญในการรับมือกับความเสี่ยง นอกจากนี้ การปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ เพื่อสนับสนุนการลงทุน และ ยกระดับศักยภาพของเศรษฐกิจยังมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยคาดว่า น่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกในปีนี้ และ รัฐบาลยังคงใช้นโยบายขาดดุลด้านการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม ด้วยข้อจำกัดด้านการคลังมีมากขึ้น และ หนี้สาธารณะที่ขยับใกล้แตะเพดาน 70% ของจีดีพี รัฐบาลอาจต้องมีการทบทวนว่า จะเลือกใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้เกิดผลดีที่สุดต่อเศรษฐกิจ และเนื่องจากระดับรายได้ภาษีของรัฐบาลที่มีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ ตลอดจนความจำเป็นในการใช้จ่ายภาครัฐที่มีมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องปฏิรูประบบราชการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของรัฐ ขยายฐานภาษี และ ปฏิรูประบบภาษีเพื่อเพิ่มรายได้ ดูแลเรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำ และ เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
|