สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอัตราเงินเฟ้อในโตเกียวพุ่งสูงกว่า 4% ซึ่งเป็นการย้ำว่าอัตราเงินเฟ้ออาจแข็งแกร่งกว่าที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ คาดเอาไว้
กระทรวงกิจการภายในของญี่ปุ่น รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคไม่รวมอาหารสด หรือเงินเฟ้อ เดือนมกราคม ปี2566 ของเขตโตเกียวเพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เร่งขึ้นจาก 3.9% ของเดือนธันวาคม นับเป็นตัวเลขเงินสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2524 รวมทั้งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยมีราคาโรงแรมเป็นตัวนำให้ราคาพุ่งขึ้น ตามมาด้วยอาหารแปรรูป และราคาพลังงาน
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานไม่รวมราคาเชื้อเพลิง และราคาอาหารสด ปรับตัวขึ้น 3.0% ในเดือนม.ค. เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า และเพิ่มขึ้นจาก 2.7% ในเดือนธ.ค.
ตัวเลขเศรษฐกิจของโตเกียวเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศ โดยนักเศรษฐศาสตร์ มองว่า ราคาสินค้าและบริการของทั้งประเทศกำลังพุ่งขึ้นตามโตเกียว แม้กระนั้นหลายคนก็เห็นว่าเดือนมกราคม เป็นจุดสูงสุดของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งจะชะลอตัวลงในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่รวมถึงการอุดหนุนน้ำมันเบนซิน และอาหารบางชนิด มูลค่า 39 ล้านล้านเยน (3.01 แสนล้านดอลลาร์) ของนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะเริ่มต้นขึ้น
ในขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภาคครัวเรือนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน ในเดือนพฤศจิกายน และยอดค้าปลีกในเดือนเดียวกันก็ลดลงเช่นกัน แม้ว่าอุปสงค์จากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะดีดตัวขึ้น
ตัวเลขเงินเฟ้อที่สูงมาก และการสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าการ ฮารุฮิโกะ คุโรดะในเดือนเมษายนนี้ ทำให้ตลาดคาดว่า BOJ อาจออกจากนโยบายดอกเบี้ยต่ำพิเศษในไม่ช้า นอกจากนี้กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือน BOJ ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมาว่า ควรเพิ่มความยืดหยุ่นสำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เนื่องจากความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น รวมทั้งควรเตรียมมาตรการรับมือหากปัจจัยกระตุ้นเงินเฟ้อแข็งแกร่งกว่าที่คาดเอาไว้
|