ข่าวหุ้นล่าสุด

สภาพัฒน์ฯ เผยจีดีพีไทย Q2/65 โต 2.5% พร้อมปรับเป้าทั้งปีเป็น 2.7-3.2%

 

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย- -15 ส.ค. 65 10:56 น.

 

  สภาพัฒน์ฯ เผยเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/65 ขยายตัว 2.5% ขณะที่ครึ่งปีแรกโต 2.4% รับอานิสงส์ท่องเที่ยว-บริโภคเอกชนฟื้น ด้านส่งออกเริ่มโตชะลอ พร้อมปรับประมาณการจีดีพีปีนี้เป็นโต 2.7-3.2% จากเดิมคาด 2.5-3.5%

 


* จีดีพีไตรมาส 2/65 โต 2.5% - ท่องเที่ยวและบริโภคหนุน

  นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/65 ขยายตัวได้ 2.5% โดยการส่งออกมีมูลค่า 74,523 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวได้ 9.7% และนำเข้าขยายตัวได้ 22.4% ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.5% ขณะที่ครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.4% โดยการส่งออกในครึ่งปีแรกมีมูลค่า 147,811 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 12%

  อย่างไรก็ตาม การส่งออกแม้ว่าจะขยายตัวได้แต่เริ่มชะลอลงสอดคล้องกับการชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลักและเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ขณะที่การนำเข้าในไตรมาส 2/65 มีมูลค่า 69,353 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 22.4% ขณะที่ครึ่งปีแรกนำเข้ามีมูลค่า 133,359 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 19.4% โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นในทุกหมวดสินค้า สำหรับสินค้าสำคัญ เช่น น้ำมันดิบ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า และเคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี

  ด้านการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 2/65 ขยายตัว 6.9% ขณะที่ครึ่งปีแรกขยายตัว 5.2% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของภาครัฐ ขยายตัว 2.4% และครึ่งปีแรกขยายตัว 4.7%

  ขณะที่การลงทุนรวม ลดลง 1% ตามการลดลงของการลงทุนภาครัฐที่ลดลง 9% ต่อเนื่องจากการลดลง 4.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการลดลงของการลงทุนภาครัฐ 15.1% ด้านการลงทุนรัฐวิสาหกิจขยายตัว 2.9% ส่วนครึ่งปีแรกการลงทุนรวมลดลง 0.1% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัว 2.3% และครึ่งปีแรกขยายตัว 2.6%

  สำหรับการท่องเที่ยว ในไตรมาส 2/65 ที่ผ่านมา รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทยรวมอยู่ที่ 1.55 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 จากการดำเนินมาตรการผ่อนตลายการควบคุมการระบาดของโควิด ความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวไทยมีทั้งสิ้น 1.58 ล้านคน ด้านครึ่งปีแรกมีจำนวนนักท่องเที่ยว 2.08 ล้านคน ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในไตรมาส 2/65 อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 6.5% ขณะที่ครึ่งปีแรกอยู่ที่ 5.6%


* ปรับกรอบจีดีพีปีนี้เป็น 2.7-3.2%

  สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะขยายตัว 2.7-3.2% โดยเป็นการปรับจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวได้ 2.5-3.5% สำหรับสาเหตุที่ปรับประมาณการขอบบนลงมาอยู่ที่ 3.2% นั้น เป็นผลจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง ปัญหาความไม่แน่นอนของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น การเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศต่างๆ เป็นต้น

  อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากการปรับตัวดีขึ้นของการบริโภคภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่อง โดยคาดว่าการส่งออกปีนี้จะขยายตัวได้ 7.9% และการนำเข้าขยายตัว 12.4%

  ขณะที่การลงทุนรวมปีนี้คาดว่าจะขยายตัว 2.8% ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3.5% โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1% การลงทุนภาครัฐขยายตัว 2% ด้านการบริโภคภาคเอกชน คาดอยู่ที่ 4.4% การอุปโภคภาครัฐคาดติดลบ 0.2% สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปปีนี้คาดว่าทั้งปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 6.3-6.8% ปรับเพิ่มขึ้นจากประมาณการครั้งก่อนที่คาด 4.2-5.2% ตามสมมติฐานอัตราแลกเปลี่ยนให้อ่อนค่าลงจากการประมาณการครั้งที่ผ่านมา รวมทั้งการปรับลดการอุดหนุนด้านพลังงานและแนวโน้มการปรับขึ้นราคาค่าไฟฟ้าในช่วงที่เหลือของปี

 

* มองเงินบาทยังอ่อนค่า - น้ำมันยังเสี่ยงยืน 100 เหรียญ

  ด้านค่าเงินบาทในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ในช่วง 34.5-35.5 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากประมาณการครั้งก่อนที่คาด 33.3-34.3 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นการปรับประมาณการให้สอดคล้องกับแนวโน้มการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ตามการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลให้นักลงทุนเคลื่อนย้ายเงินลงทุนไปยังสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้น

  ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 95-105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เท่ากับสมมติฐานครั้งก่อน โดยราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะผ่านพ้นช่วงสูงสุดในไตรมาส 2 ที่เฉลี่ย 108.5 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ก่อนที่จะปรับลดลงมาก อย่างไรก็ตาม คาดว่าราคาน้ำมันในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จะปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยตามความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูหนาว ท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มกำลังการผลิตของกลุ่ม OPEC+ ในอัตราที่ชะลอลง

 


* เปิด 8 เรื่องสำคัญ บริหารศก.มหภาคช่วงที่เหลือของปี

  ในด้านการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปีนี้ ควรให้ความสำคัญกับการติดตาม

  1.การติดตามและดูแลกลไกตลาดเพื่อให้ราคาสินค้าเคลื่อนไหวสอดคล้องกับต้นทุนการผลิต ควบคู่ไปกับการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางต่อการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าและภาระดอกเบี้บแบบมุ่งเป้าโดยไม่ซ้ำซ้อนกับมาตรการที่มีอยู่เดิม เพื่อลดผลกระทบต่อภาระทางการคลังที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

  2.การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบแก่เกษตรจากปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและปัญหาต้นทุนการผลิตทางการเกษตร รวมถึงการเตรียมการป้องกันปัญหาจากอุทกภัยที่อาจจะส่งผลต่อการผลิตภาคเกษตรด้วย

  3.การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งหนี้สินในภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้ตรงตามกลุ่มเป้าหมายและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย

  4.การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกสินค้า โดยให้ความสำคัญกับ การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้าไปยังตลาดที่มีการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ชัดเจน และการสร้างตลาดใหม่ให้กับสินค้าที่มีศักยภาพ การพัฒนาสินค้าเกษตร อาหาร และสินค้าอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพและมาตรฐานตรงตามข้อกำหนดของประเทศผู้นำ การใช้ประโยชน์จากกรอบความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ควบคู่ไปกับการเร่งรัดการเจรจาความตกลงการค้าเสรีที่กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเจรจา

  รวมถึงการศึกษาเพื่อเจรจากับประเทศคู่ค้าสำคัญใหม่ๆ รวมทั้งเร่งรัดกระบวนการพิจารณาในการตัดสินใจเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมุ่งเน้นผลประโยชน์ประเทศเป็นสำคัญ

  5.การสนับสนุนการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและบริการเกี่ยวเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพสูง การพิจารณามาตรการสินเชื่อและมาตรการสนับสนุนอื่นๆ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวและกิจกรรมที่เกี่ยวเนื่องเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะกลุ่มพำนักระยะยาว

  6.การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน โดยการเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับอนุมัติและออกบัตรส่งเสริมการลงทุนในช่วง 62-64 ให้เกิดการลงทุนจริงโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการลงทุรที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย การดำเนินส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกและอำนวยความสะดวกเพื่อดึงดูดนักลงทุนในกลุ่มเป้าหมายให้เข้ามาลงทุนในไทยมากขึ้น

  7.การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ เช่น การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 65 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 92.5% ของกรอบงบประมาณทั้งหมด และงบลงทุนรัฐวิสาหกิจให้ได้ไม่น้อยกว่า 65% ของงบประมาณทั้งหมด รวมทั้งการเบิกจ่ายโครงการตามพ.ร.ก.เงินกู้วงเงิน 1 ล้านล้านบาท และ 5 แสนล้านบาทที่เหลือ เป็นต้น

  8.ติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

 

 




รายงาน    ภัทราภรณ์ เกียรตินันท์ 
เรียบเรียง  สุรเมธี มณีสุโข 
                อีเมล์. [email protected]

อนุมัติ     อนุรักษ์ ลีประเสริฐสุนทร 









ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

LATEST NEWS

ข่าวที่เกี่ยวข้องล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh