กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง คงอัตราดอกเบี้ย 2.5% ต่อปี พร้อมคงคาดการณ์จีดีพีปีนี้ที่ 2.6% และปีหน้าคาดขยายตัวได้ 3% แต่มองจีดีพีปีนี้จะถึง 3% ได้ หากรัฐเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน-Digital Wallet รับยังกังวลหนี้ครัวเรือนในระดับสูงเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจ นายปิติ ดิษยทัต ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และในฐานะ เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม กนง.มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.5% ต่อปี โดย 1 ให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ขณะที่คงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยปีนี้ที่ 2.6% และปีหน้าที่ 3% โดยเศรษฐกิจไทยปีนี้มีแรงส่งจากอุปสงค์ในประเทศที่สูงกว่าคาดในไตรมาส 1/67 ภาคการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง รวมทั้งการเบิกจ่ายภาครัฐที่กลับมาเร่งขึ้นในไตรมาส 2/67 “สำหรับการประมาณการเศรษฐกิจในครั้งนี้ ได้มีการรวมมาตรการภาครัฐบางส่วนที่มีความชัดเจนแล้ว โดยพยายามรวมสิ่งที่ชัดเจนเข้าไป นั่นคือที่อยู่ในงบประมาณ ทั้งงบลงทุนและเบิกจ่าย ส่วนมาตรการเสริมก็พูดคุยกันว่าผลกระทบจะมากน้อยแค่ไหน เป็น Upside risk ที่กรรมการพิจารณา ส่วน Digital Wallet ก็ดูว่าจะเพิ่มในไตรมาส 4/67 และต้นปีหน้า ก็พิจารณาเช่นกัน แต่ถือว่าเป็นภาพรวม ไม่ว่ามาตรการภาครัฐจะมามากกว่าที่มองหรือไม่ แต่ภาพเศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก และจุดยืนนโยบายการเงินรองรับความเสี่ยงด้านสูงได้ พร้อมความเสี่ยงด้านต่ำด้วย ซึ่งพิจารณาทุกมาตรการรัฐทั้งหมดแล้ว และในภาพรวมทิศทางเศรษฐกิจน่าจะอยู่ที่ประมาณนี้”นายปิติ กล่าว ส่วนกรณีที่นายพิชัย ชุณหวิชร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ประเมินว่าหากเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณแล้วจะส่งผลให้จีดีพีปีนี้โตได้ถึง 3% ซึ่งมองว่า เป็นไปได้ หากมีการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณได้จริง และมีโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet เข้ามา ขณะที่ภาคการส่งออกปีนี้จะยังขยายตัวต่ำ โดยปีนี้คาดว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 1.8% และปีหน้าคาด 2.6% ส่วนหนึ่งสะท้อนปัญหาเชิงโครงสร้างและความท้าทายจากความสามารถในการแข่งขันที่ปรับลดลง และสินค้าบางกลุ่มโดยเฉพาะหมวดยานยนต์เผชิญแรงกดดันเพิ่มเติม จากอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ด้านนำเข้าปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ 3.1% และปีหน้าคาด 2% ทั้งนี้ ต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกและภาคการผลิต รวมทั้งแรงกระตุ้นจากนโยบายภาครัฐในช่วงครึ่งหลังของปี ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มใกล้เคียงเดิม โดยปีนี้อยู่ที่ 0.6% ปีหน้าที่ 1.3% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าปีนี้จะอยู่ที่ 0.5% และปีหน้าที่ 0.9% โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปล่าสุดกลับมาเป็นบวก และมีแนวโน้มปรับขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศจากการทยอยลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ขณะที่แรงกดดันด้านอุปทานที่ทำให้ราคาหมวดอาหารสดอยู่ในระดับต่ำ มีแนวโน้มคลี่คลาย ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายตั้งแต่ไตรมาส 4/67 โดยอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับกรอบเป้าหมาย สำหรับ เงินเฟ้อที่ไม่เข้าเป้าหมายนั้น จุดประสงค์ของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น คือช่วยให้ภาคเอกชนและภาคธุรกิจภาคครัวเรือน มีการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อ การคาดการณ์เงินเฟ้อได้ในระยะปานกลาง 2-3 ปี เพื่อให้ชัดเจนในการวางแผนการลงทุนและการออม หรือการกู้ยืม คือ หน้าที่ของเป้าหมายเงินเฟ้อคือการยึดเหนี่ยวการคาดการณ์ในระยะปานกลาง ซึ่งไม่อยากให้เงินเฟ้อคาดการณ์ในระยะปานกลางปรับขึ้นลง ผันผวนมาก ซึ่งจะสร้างความยากในการวางแผนการลงทุน ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนด้วย
ส่วนภาคการท่องเที่ยวปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยว 35.5 ล้านคน และปีหน้าที่ 39.5 ล้านคน ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้คาดว่าจะจะอยู่ที่ 84 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และปีหน้าที่ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
สำหรับภาวการณ์เงินโดยรวม อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบดอลลาร์ ปรับอ่อนค่าตามทิศทางนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ ประกอบกับปัจจัยในประเทศในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรไทยปรับสูงขึ้นบ้างหลังตลาดปรับคาดการณ์นโยบายการเงินของไทย ด้านต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนผ่านธนาคารพาณิชย์ใกล้เคียงเดิม สินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมขยายตัว ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือนขยายตัวชะลอลง โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อและบัตรเครดิตตามคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ทั้งนี้ คณะกรรมการ กังวลต่อหนี้ครัวเรือนในระดับสูง และเห็นว่าการให้สินเชื่อควรสอดคล้องกับกระบวนการปรับลดสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพระบบการเงินในระยะยาว จึงสนับสนุนนโยบายของธปท.ที่ให้สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อตามความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้ ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาการชำระหนี้ นอกจากนี้ คณะกรรมการตระหนักถึงปัญหาเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง จึงสนับสนุนการใช้มาตรการที่ตรงจุด เช่น มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของเอสเอ็มอี ที่มีศักยภาพซึ่งจำเป็นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงิน ที่มีเป้าหมายรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน กรรมการส่วนใหญ่ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันสอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับดีขึ้น รวมทั้งเอื้อต่อการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินในระยะยาว ทั้งนี้ ยังต้องติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจโดยเฉพาะการฟื้นตัวของภาคการส่งออกและมาตรการภาครัฐ โดยกรรมการจะพิจารณานโยบายการเงินให้เหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะข้างหน้า สำหรับคณะกรรมการ 1 ท่านที่มองให้ลดดอกเบี้ย เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง |