ธปท.มั่นใจเศรษฐกิจไทยปี 65-66 ฟื้นตัวตามภาคบริโภค-ท่องเที่ยว แต่ยังห่วงเงินเฟ้อพุ่ง พร้อมดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสม ยันไม่ฝืนตลาดหากบาทผันผวนผิดปกติ หวั่นซ้ำรอยปี 40
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการ BOT SYMPOSIUM 2022 ก้าวสู้ยุคใหม่เศรษฐกิจการเงินไทย ว่า มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง โดยได้รับอานิสงส์จากอุปสงค์ในประเทศ ทั้งจากการบริโภค และการท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัวดี ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอย ยอมรับว่า อาจกระทบกับภาพของการส่งออก ซึ่งการประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดในปี 65 ที่ 3.3% และปี 66 ที่ 3.8% นั่นได้รวมสถานการณ์ดังกล่าวไว้แล้ว
“เศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มถดถอย อาจส่งผลต่อการส่งออก ซึ่งการคาดการณ์เราได้เทคปัจจัยนี้ไปแล้ว และทำให้การฟื้นตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น” นายเศรษฐพุฒิ
สำหรับแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป ธปท.ประเมินว่า จะทำสถิติสูงสุด (พีค) ในไตรมาส 3/65 และคาดว่าจะกลับเข้ากรอบเป้าหมายที่ 1-3% ในปี 66 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะพีคในไตรมาส 4/65 โดยยอมรับว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนั้น เป็นเครื่องมือหนึ่งที่สำคัญที่จะทำให้เงินเฟ้อกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย แต่ยืนยันว่า ไม่ได้มีเป้าหมายในใจว่าจะต้องปรับเท่าไหร่ หรือปรับขึ้นกี่ครั้ง โดยจะต้องขึ้นอยู่กับเวลา และบริบทที่เหมาะสม
“เมื่อธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นดอกเบี้ยแรง เร็ว แต่ในมุมของไทยนั้นคงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะจะต้องดูบริบทที่เหมาะสมกับประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะเงินเฟ้อพื้นฐานที่เป็นสิ่งที่เรากังวล เพราะเป็นตัวสะท้อนว่าเครื่องยนต์เงินเฟ้อติดหรือไม่ ซึ่งหากปัจจัยเหล่านี้ต่างจากที่คาดการณ์ไว้ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ก็พร้อมที่จะปรับทิศทางนโยบายการเงิน หรือพร้อมที่จะประชุมนัดพิเศษต่อไป” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ส่วนสถานการณ์ค่าเงินบาท ยืนยันว่า เคลื่อนไหวในทิศทางอื่นๆ ในภูมิภาค และยืนยันว่า เงินบาทที่อ่อนค่านั้นเป็นผลจากเศรษฐกิจโลก และมาจากการแข็งค่าของดอลลาร์ โดยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เงินบาทอ่อนค่า 12% ซึ่งอยู่กลางๆเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ โดย ธปท.พร้อมดูแลค่าเงินบาทในช่วงที่ผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึงนำเข้าและส่งออกด้วย
“ธปท.ไม่อยากเห็นความผันผวนของเงินบาทที่สูงเกินไป หรือเร็วเกินไปที่ผิดปกติ โดยธปท.เฝ้าติดตามในเรื่องดังกล่าวอย่างใกล้ชิด และเข้าไปดูแลตอนที่ความผันผวนผิดปกติ เพราะไม่อยากให้กระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่การดูแลนั้นไม่ได้ไปฝืนตลาด เพราะรู้ว่าฝืนไม่ได้ เนื่องจากไทยเคยมีบทเรียนจากวิกฤติปี 40 และไม่ได้มีระดับในใจว่าเงินบาทจะต้องอยู่ที่ระดับใด สิ่งที่เราดูคือ ไม่ให้ความผันผวนกระทบต่อเศรษฐกิจ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
อย่างไรก็ตาม เงินบาทที่อ่อนค่าในปัจจุบันนั้น มองว่า จะมีผลต่อเสถียรภาพไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันไทยมีการกู้เงินจากต่างประเทศในระดับต่ำ ขณะที่ทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ในระดับสูงที่ 2.4 แสนล้านดอลลาร์ ขณะที่เงินทุนปัจจุบันยืนยันว่ายังเป็นไหลเข้าสุทธิ ดังนั้นจึงไม่มีอะไรที่น่ากังวลในฝั่งของเงินทุนเคลื่อนย้าย
ด้านการส่งผ่านดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารพาณิชย์ นั้น ยอมรับว่า เป็นสิ่งที่ธปท.อยากเห็นและต้องการให้ดำเนินการในทิศทางการปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งการส่งผ่านถือเป็นเรื่องปกติ แต่อยากเห็นการดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปและเหมาะสมกับสถานการณ์
เศรษฐกิจไทยปีนี้ถือว่ามีความท้าทายจากการเริ่มฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่จะต้องวางพื้นฐานสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจให้มั่นคงและยั่งยืนสำหรับรุ่นต่อไป โดยปัจจุบันพบว่า คนรุ่นใหม่ที่จะเป็นฟันเฟืองสำคัญ เผชิญความไม่แน่นอน ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในการขาดความมั่นคงในด้านเศรษฐกิจ ในเรื่องการสร้างโอกาสหารายได้ สร้างความมั่งคั่ง ซึ่งทำได้ยากขึ้นเมื่อเทียบกับคนรุ่นก่อนหน้า
ขณะเดียวกัน ยังพบว่า เศรษฐกิจในปัจจุบันเติบโตช้ากว่าช่วงก่อน โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ย ช่วงที่เศรษฐกิจเฟื่องฟูในปี 1980 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ขยายตัว 7.2% และลดลงมาในปี 2010 อยู่ที่ 3.6% สะท้อนถึงโอกาสและความสามารถในการสร้างรายได้ลดลง และความมั่นคงลดลง
ด้านการศึกษา ยังพบว่า การพัฒนาทักษะของคนรุ่นใหม่ ทำได้ยาก จากบริบทโลกเปลี่ยนแปลงไป เทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ตอบได้ยากว่าเด็กรุ่นใหม่จะเรียนอะไรที่จะสร้างความมั่นคงในชีวิต เพราะสาขาดั่งเดิมอาจไม่ตอบโจทย์กับโลกปัจจุบัน
“นอกจากรายได้ ทำได้ลำบาก คนรุ่นใหม่ ยังมีภาระหนี้ที่สูงกว่าคนรุ่นก่อน โดยคนไทย พบว่าเป็นหนี้เร็วขึ้น ครึ่งหนึ่งของคนอายุ 30 ปี มีหนี้จากสินเชื่ออุปโภคบริโภค หนี้บัตรเครดิต ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ขณะที่ 1 ใน 5 ของการเป็นหนี้ เป็นหนี้เสีย อยู่ในช่วงอายุ 29 ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน วัยกำลังสร้างรากฐาน และยังพบว่า เป็นหนี้เยอะและเป็นหนี้นาน สะท้อนหนี้ต่อหัวเร่งขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอายุปลาย 20 สู่ 30 และยังสูงตลอดอายุการทำงาน และระดับหนี้ไม่ลดลง แม้เข้าสู่ใกล้เกษียณ” นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ขณะเดียวกัน คนรุ่นใหม่ ยังขาดความมั่นคงทางด้านสังคม โดย คนรุ่นใหม่เติบโตในช่วงที่ความขัดแย้งทางสังคมรุนแรงมากขึ้น เห็นจากการสำรวจว่า ไทยมีคะแนนความเชื่อใจของคนในสังคมลดลง ถึง 1 ใน 4 ในช่วง 10 ปี 2008 ถึง 2018 ส่วนผลสำรวจเรื่องความแตกแยกในสังคม คิดต่างอย่างมีภูมิ จากสถาบันป๋วยฯ ชี้ว่า กลุ่มตัวอย่างคนอายุต่ำกว่า 40 ปี เห็นว่าสังคมไทยมีคุณภาพต่ำกว่ากลุ่มคนอายุ 40 ขึ้นไป
ขณะที่ด้านสิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เร่งตัว สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ โดยไทยอยู่ในประเทศอันดับต้นๆ ที่จะได้รับผลกระทบรุนแรงจากภัยธรรมชาติ โดยไม่เพียงแต่กระทบต่อรายได้ ทรัพย์สิน ยังกระทบการผลิตภาคเกษตรด้วย นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่อุณภูมิโลก ทำให้พื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล ที่ประชาชนอาศัยมีความเสี่ยงสูง ที่จะประสบปัญหาน้ำท่วม ซึ่งถือเป็นการขาดความมั่นคงในอนาคต ครอบคลุมถึงด้านการขาดความมั่นคงในถิ่นฐานที่อยู่ด้วย
ทั้งนี้การที่คนไทยรุ่นใหม่ ขาดความมั่นคงในอนาคต จากหลายปัจจัย โดยปัจจัยที่สำคัญอันดับแรก คือ ระบบต่างๆ ในไทย ยังไม่ทันต่อบริบทโลกและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมา เช่น เรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่อาจไม่ตอบสนองต่อบริบทของเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป จากอุตสาหกรรมหลักของไทยไม่ว่า ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม หรือปิโตรเคมี ที่เป็นอุตสาหกรรมของโลกเก่า โดยคิดเป็น 40% ของการส่งออก 37% ของจีดีพีภาคอุตสาหกรรมและ 10% ของจีดีพีโดยรวม
โดย พบว่า ในบางกลุ่มเจอความท้าทาย เช่น ในสาขารถยนต์ ที่ถูกกระทบจากการเปลี่ยนเป็น EV จากการใช้ชิ้นส่วนรถยนต์ที่ลดลง อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อาจไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร จากการผลิตสินค้าที่เติบโตช้ากว่า เช่น HDD ที่คิดเป็น 38% ของการส่งออกในหมวดอิเล็กฯ และปิโตรเคมี มีแนวโน้มถูกกระแสสิ่งแวดล้อม ทำให้คามต้องการพลาสติก น้ำมันลดลง
ส่วนด้านระบบการศึกษาที่ไม่ตอบสนองต่อตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลง ทำให้อาชีพคนไทยไม่ตรงกับระดับการศึกษามากนัก และสุดท้ายคือ ขาดความพร้อม ขาดการแข่งขันที่เป็นธรรมในภาคธุรกิจ ซึ่งอาจไม่เอื้อต่อการประกอบกิจการรายใหม่
ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ ไทยจะต้องปรับเปลี่ยนและเสริมสร้างรากฐานเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป แบบ shape of growth ทั้งในเรื่องโครงสร้างเศรษฐกิจ ที่ต้องเปิดโอกาสให้กับทุกคนอย่างเท่า ทั้งการศึกษา บริการสุขภาพ เทคโนโลยี บริการทางการเงิน โอกาสในการประกอบอาชีพและธุรกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ ตอบสนองความต้องการในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไป ช่วยลดการกระจุกตัวของความเจริญของเศรษฐกิจ
ขณะที่ระบบเศรษฐกิจ ต้องเอื้อ ให้คนรุ่นใหม่สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่มาใช้ประโยชน์ทั้งการยกระดับการผลิต สะท้อนจุดแข็งของประเทศได้ดี เช่น การทำเกษตรอัจฉริยะ การใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซ และระบบเศรษฐกิจไทยควรมีโครงข่ายความคุ้มครอง เพื่อให้คนรุ่นใหม่กล้าแสวงหาโอกาสในการลงทุนที่มีความไม่แน่นอนสูง
|