สถานการณ์ของโปรเจกต์ Libra หลังเปิดตัว White Paper เมื่อ 18 มิ.ย.62 มีทั้งกระแสตอบรับและต่อต้านจากทั่วโลก โดยเฉพาะจากประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ที่ทางวุฒิสภาได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโปรเจกต์นี้ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา (16-17 ก ค.)ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญด้านบล็อกเชน และคริปโตเคอร์เรนซีในไทย มองว่าเทรนด์ดิจิทัลเคอร์เรนซีมาแน่ เชื่อมั่น Libra ได้ไปต่อ มั่นใจเฟซบุ๊กผลักดันโปรเจกต์เดินหน้า ภายใต้กติกาของแต่ละประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : หัวหน้าทีม Libra เข้าให้การต่อวุฒิสภาสหรัฐ
ดร.ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยบนโลกไซเบอร์ เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่า เขามีมุมมองที่แตกต่างไปจากที่สื่อต่างๆ นำเสนอ โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่าเฟซบุ๊กถูกโจมตีอย่างหนัก จนอาจจะถึงขั้นถอดใจกับโปรเจกต์ว่า สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น ในทางกลับกันหัวหน้าโปรเจกต์ Libra ตอบคำถามได้ดี แต่คำถามที่มีเข้ามาจากทาง ส.ส. นั้นกลับไม่ได้สะท้อนว่า ผู้ถามมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ได้ดีเท่ากับเฟซบุ๊ก
“ส่วนใหญ่ถามสะเปะสะปะ ลิบรา ,คาลิบรา , บางคำถามก็ลากประเด็นการเมือง แต่คนธรรมดาฟัง หรือสื่อฟัง หากไม่รู้ธรรมชาติการเมืองของอเมริกา ไม่รู้เรื่องเทคโนโลยี ไม่รู้ระบบนิเวศน์เหล่านี้ลึก อาจจะเข้าใจไปว่า เฟซบุ๊กตอบไม่ได้และถูกโจมตี แน่นอนถูกโจมตีน่ะใช่ แต่โจมตีจากคนที่ไม่เข้าใจในเรื่องราวเหล่านี้” ดร.ภูมิ กล่าว
“จากมุมมองผมคือ มันไม่ได้เลวร้ายขนาดนั้น มันตอกย้ำให้เข้าใจด้วยซ้ำว่า เฟซบุ๊ก กับ ลิบรา เข้าใจสิ่งนี้พอสมควร และเข้าใจว่าตัวเองจะต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่าง” ดร.ภูมิ กล่าว
ดร.ภูมิ เชื่อว่า เฟซบุ๊กจะยังคงเดินหน้าผลักดันโปรเจกต์นี้ต่อไป และการที่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎกติกาของแต่ละประเทศ อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร และนั่นอาจจะทำให้ระยะเวลาในการเปิดตัวโปรเจกต์เลื่อนออกไปบ้าง
“แต่ผมคิดว่า สิ่งที่อาจจะเกิดก็คือ เฟซบุ๊กจะไปคุยกับทุกประเทศที่เขาอยากจะขยายไป และก็ทำตามกติกาของประเทศเหล่านั้นและประเทศไหนที่เขาปฏิบัติตามกฎได้ก่อน เขาก็เข้าประเทศนั้นก่อน”
ก่อนหน้านี้ ดร.ภูมิ ได้เสนอทางเลือกที่น่าสนใจของประเทศไทยในการรับมือกับ Libra ด้วยการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สร้างเงินดิจิทัลของประเทศเพื่อออกใช้สำหรับประชาชนรายย่อย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ก.ล.ต.หนุนธปท.ออกคริปโตบาทสู้ Libra
นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท บิทคับ แคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ว่าการออกมาต่อต้าน Libra ของรัฐบาลสหรัฐฯ น่าจะเป็นเรื่องดี เพราะจะทำให้ประเทศอื่นๆ แซงหน้าในด้านเศรษฐกิจ และเทคโนโลยี อย่างประเทศจีน ซึ่งเป็นสังคมไร้เงินสดอยู่แล้ว หรือแม้กระทั่งประเทศไทย ซึ่งมีท่าที่เปิดรับดิจิทัลเคอร์เรนซีมากกว่า จะดึงดูดผู้ประกอบการหน้าใหม่ๆ เข้ามาสร้างสรรค์นวัตกรรมสินทรัพย์ดิจิทัล และเพิ่มจีดีพีให้กับประเทศได้
"ผมมองว่าเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำไปหากรัฐบาลประเทศอื่นต่อต้าน ขอให้อย่าเป็นรัฐบาลไทย เพราะไทยจะได้แซงหน้าประเทศอื่นได้" นายจิรายุส กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ธปท.ตั้งทีมศึกษาความเสี่ยง Libra เผยเฟซบุ๊กจะขอหารือในปีนี้
นายจิรายุส เชื่อมั่นว่าคริปโตเคอร์เรนซี มาแน่นอนและจะเป็นเทรนด์ที่คล้ายกับยุคของอินเทอร์เน็ต หากประเทศไหนที่ต่อต้านอินเทอร์เน็ต ก็จะกลายเป็นประเทศที่ไม่พัฒนา และพัฒนาการของเทคโนโลยีก็จะมีรูปแบบที่ดำเนินรอยตามกันคือ ช่วงแรกจะต้องถูกต่อต้านก่อนที่จะถูกยอมรับในภายหลัง เนื่องจากเป็นเรื่องใหม่
"ส่วนตัวผมมองว่า Libra ยังไงก็เกิดได้ อยู่ที่ว่ามันเร็วหรือช้าแค่นั้นเอง และดิจิทัลเคอร์เรนซีมาแทนเงินสดแน่นอนในอนาคต" นายจิรายุส กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : บิทคับ มอง Libra ของเฟซบุ๊ก เป็นอินฟราสตรัคเจอร์ใหม่ของโลกการเงิน
ก่อนหน้านี้ นายปรมินทร์ อินโสม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยกับ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" ส่วนตัวเขาสนับสนุน Libra มองว่ามีประโยชน์ต่อผู้ใช้งาน ในการใช้ เหรียญคริปโตข้ามแพลตฟอร์มได้ และถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีเงินดิจิทัล ประเภท Stablecoin ชื่อดังอย่าง USDT แต่ Libra เหนือชั้นกว่าในเรื่องความน่าเชื่อถือ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : ซีอีโอ Satangเชียร์ลิบราเกิด-ยันเหนือกว่าสเตเบิลคอยน์ยี่ห้ออื่น
|