ผู้ว่า ธปท. ยืนยันไม่สนับสนุนใช้คริปโทฯ ชำระเงินตามกฎหมาย เหตุราคาผันผวน หวั่นเป็นช่องฟอกเงิน แต่ยังเดินหน้าหนุนใช้ CBDC แทน พร้อมเตือนประชาชน ระวังถูกหลอกลงทุนเงินดิจิทัล - โจรกรรมข้อมูล
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในการปาฐกถาพิเศษ The Future of Financial System อนาคตโลกการเงิน ว่า ธปท. ยืนยันว่า ปัจจุบันไม่สนับสนุนให้ใช้คริปโทเคอเรนซี เพื่อมาชำระเงินตามกฎหมาย เนื่องจากราคาของสินทรัพย์ผันผวน มีความเสี่ยงด้านไซเบอร์และอาจถูกใช้ในการฟอกเงิน รวมทั้งยังมีคนไม่เข้าใจความเสี่ยง และธปท.จะสนับสนุนให้เทคโนโลยีผ่านสกุลเงินของรัฐในรูปแบบดิจิทัล หรือ ซีบีดีซี (CBDC) เปิดกว้างให้คนเข้าถึงง่ายต่อยอดไปสู่นวัตกรรมใหม่ ๆ
นอกจากนี้ ในปัจจุบัน พบว่า มีกระแสชักชวนการลงทุน หรือภัยการเงินดิจิทัลต่าง ๆจำนวนมาก ซึ่งประชาชนหลายคนยังมีความไม่เข้าใจ และอาจเกิดถูกหลอกลวงได้ จึงเตือนให้ประชาชนใช้ความระมัดระวังสูงเป็นพิเศษ เช่น การถือครองลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลต้องระมัดระวังความเสี่ยง หรือมีคนส่งผ่านข้อความ และลิงก์ผ่านโซเชียลมีเดีย เอสเอ็มเอส เว็บไซต์ และเมล ต้องระวังในการกดลิงก์หรือกรอกข้อมูล เพราะอาจจะเกิดความสูญเสียข้อมูลส่วนตัวนำไปเป็นเครื่องมือให้มิจฉาชีพได้
นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า โลกอนาคตระบบการเงินจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ซึ่งธปท.จะมีบทบาทสำคัญที่จะรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของการเงินในอนาคต มี 3 มิติที่สำคัญ ดังนี้
1. More open data หรือการนำฐานข้อมูลที่มีอยู่ไปใช้ในการให้บริการทางการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น การแชร์ data footprint ระหว่างธนาคารได้ง่ายและสะดวกมากขึ้น ซึ่งทำให้การใช้ข้อมูลประกอบการขอสินเชื่อทำได้รวดเร็ว เป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการเข้าถึงสินเชื่อ
2. More open competition หรือ การทำให้เกิดการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการทางการเงิน ที่จะได้รับบริการทันสมัย มีการพัฒนาต่อยอดมากขึ้น จากผู้เล่นที่เข้ามามากขึ้น
3. More open infrastructure ทำโครงสร้างพื้นฐานที่หลากหลายให้กับผู้เล่นทั้งรายเก่าและรายใหม่ เพื่อนำไปใช้ต่อยอดนวัตกรรมการพัฒนาการให้บริการทางการเงินของไทย
"มองไปข้างหน้าจะเห็นได้ว่าในภาคการเงินย่อมจะมีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการให้บริการมากขึ้น ซึ่งอาจไม่ใช่ผู้เล่นรายเดิม หรืออาจมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นก็เป็นไปได้ ดังนั้นการเงินในอนาคตจะมีการแข่งขันที่เพิ่มมากขึ้น ผู้เล่นหน้าใหม่จะมีมากขึ้น และการเข้าถึงบริการทางการเงินจะต้องเป็นแบบ Any time, Any where, Any device และการเปลี่ยนแปลงทางการเงินที่รวดเร็วนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างตรงจุด สามารถแก้ปัญหาข้อบกพร่องในอดีตได้ และมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่นวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบที่หลากหลายขึ้น"นายเศรษฐพุฒิ กล่าว
ในโลกอนาคตระบบการเงินที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งเรื่องข้อมูลดาต้า ทำอย่างไรให้การใช้ข้อมูลเต็มประสิทธิภาพ ใช้ได้สะดวก , การแข่งขันกว้างขึ้น ให้มีการแข่งขันจากผู้เล่นใหม่ๆ อาจไม่ใช่ธนาคารเข้ามาแข่งขันด้วย และสร้างโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้เล่นปัจจุบันและผู้เล่นใหม่เข้ามาหลากหลายมากขึ้น ต่อยอดนวัตกรรมได้ เช่น โครงสร้างพื้นฐานสินทรัพย์ดิจิทัล (ดิจิทัลเคอเรนซี) หรือคริปโทเคอเรนซี
ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเคอเรนซี ทำให้ธปท. ต้องเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงไว้ เพราะคนกำลังให้ความสนใจรองรับโลกอนาคต ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นมีผู้เล่นหน้าใหม่อย่างชัดเจน และเป็นความท้าทายมากของหน่วยงานกำกับดูแล เพราะเทคโนโลยีที่นำมาใช้อยู่บนบล็อกเชนทำให้มีผู้เล่นใหม่ๆ เข้ามามาก จึงการตีความเริ่มท้าทายของหน่วยงานกำกับว่าเป็นธุรกิจเกี่ยวข้องกับประเภทใด
|