ก.ล.ต. เปิดเผย พรก. ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับใช้แล้ว เตรียมเปิดเฮียริ่งในสัปดาห์นี้ คาดประกาศใช้ไม่เกินมิ.ย.61 ชี้ช่วงนี้ยังออก ICO ใหม่ไม่ได้จนกว่าจะเกณฑ์จะชัดเจน ส่วน ICO เก่า ไม่มีผลย้อนหลัง ฟากคลังกำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 15% จากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561 พระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 มีผลใช้บังคับแล้ว ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวออกมาเพื่อกำกับดูแลการระดมทุนผ่านการเสนอขายโทเคนดิจิทัล รวมทั้งการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ได้แก่ ศูนย์ซื้อขาย นายหน้า และผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล เพื่อคุ้มครองผู้ลงทุนมิให้ถูกหลอกลวงจากผู้ไม่สุจริต ป้องกันการฟอกเงินและการนำสินทรัพย์ดิจิทัลไปใช้ทำธุรกรรมที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งสร้างความชัดเจนในการกำกับดูแล เพื่อให้ผู้ที่ต้องการใช้เครื่องมือนี้โดยสุจริตสามารถทำได้ โดย ก.ล.ต.จะเริ่มกระบวนการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อกฎหมายฉบับนี้ในสัปดาห์หน้า โดยจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ และคาดว่าจะประกาศใช้ได้อย่างช้าไม่เกินสิ้นเดือน มิ.ย.61 โดยระหว่างการเปิดรับฟังความเห็นนี้ นิติบุคคลยังไม่สามารถ ออก ICO เสนอขายต่อประชาชนได้จะถือว่าผิดกฎหมาย แต่หากใครที่เคยทำหรือออกไปแล้ว กฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง สำหรับพระราชกำหนดฯ ได้กำหนดนิยามของสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบด้วย คริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัล ซึ่งจะหมายความรวมถึงหน่วยข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์อื่นใดตามที่คณะกรรมการ ก.ล.ต. ประกาศกำหนดด้วย ในด้านการเสนอขายโทเคนดิจิทัลที่ออกใหม่ต่อประชาชน จะทำได้เฉพาะนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งต้องได้รับอนุญาตและต้องยื่นแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายโทเคนดิจิทัลและร่างหนังสือชี้ชวนต่อ ก.ล.ต. โดยเสนอขายผ่านผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO portal) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ก.ล.ต. นอกจากนี้ ผู้เสนอขายโทเคนดิจิทัลมีหน้าที่จัดทำและส่งรายงานเกี่ยวกับผลการดำเนินงานและฐานะการเงิน และข้อมูลที่อาจมีผลกระทบต่อสิทธิประโยชน์ของผู้ถือโทเคนดิจิทัล หรือต่อการตัดสินใจลงทุน เพื่อให้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อประชาชนและผู้ลงทุน ในด้านการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ผู้ที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจข้างต้นต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และมีมาตรฐานตามเกณฑ์ที่ ก.ล.ต. กำหนด อาทิ มีแหล่งเงินทุนเพียงพอ มีความปลอดภัยและการบริหารความเสี่ยงจากโจรกรรม มีการรู้จักและตรวจสอบข้อเท็จจริงของลูกค้า มีมาตรการป้องกันการฟอกเงิน สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจเหล่านี้อยู่แล้วก่อนวันที่พระราชกำหนดนี้มีผลใช้บังคับ ต้องยื่นขออนุญาตภายใน 90 วัน คือภายในวันที่ 14 สิงหาคม 2561 โดยทำธุรกิจต่อไปได้จนกว่าจะมีคำสั่งไม่อนุญาต อย่างไรก็ดี เพื่อป้องกันการนำคริปโทเคอร์เรนซีที่ไม่มีแหล่งที่มาชัดเจนมาใช้ในธุรกรรม ผู้ประกอบธุรกิจที่เสนอขายโทเคนดิจิทัลและให้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นการตอบแทน หรือรับคริปโทเคอร์เรนซีจากลูกค้า จะรับได้เฉพาะคริปโทเคอร์เรนซีที่ได้จากการซื้อขาย แลกเปลี่ยน หรือฝาก ไว้กับผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลตามที่กำหนดในกฎหมายนี้เท่านั้น และผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินด้วย ทั้งนี้ คณะกรรมการ ก.ล.ต. สามารถยกเว้นการออกและเสนอขาย หรือการเป็นตัวกลางในบางลักษณะจากการกำกับดูแลได้ ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย หากพบการกระทำอันไม่เป็นธรรมในการซื้อขายแลกเปลี่ยนในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล จะเอาผิดได้เทียบเคียงกับการกระทำอันไม่เป็นธรรมเกี่ยวกับการซื้อขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เช่น การบอกกล่าว เผยแพร่ หรือเปิดเผยข้อความที่เป็นเท็จทำให้สำคัญผิด การใช้ข้อมูลภายใน การซื้อขายตัดหน้าลูกค้า การสร้างราคาให้ผิดไปจากสภาพปกติของตลาด เป็นต้น รวมถึงมีความผิดเกี่ยวกับการเสนอขายโทเคนดิจิทัลหรือประกอบธุรกิจโดยไม่ได้รับอนุญาต ขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างร่างประกาศและกฎหมายที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อการกำกับดูแลที่ครอบคลุมธุรกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลให้ชัดเจนและนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม โดยจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนภายในสัปดาห์นี้ ทั้งนี้ การลงทุนโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีในต่างประเทศจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนี้
ด้านกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยผ่านเอกสารเผยแพร่ ถึงพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2561 (การจัดเก็บภาษีจากสินทรัพย์ดิจิทัล) ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม 2561 เป็นต้นไป สาระสำคัญของพระราชกำหนดดังกล่าวมี 2 ประการ ได้แก่ 1. กำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรหรือผลประโยชน์อื่นใดในลักษณะเดียวกันที่ได้จากการถือหรือครอบครองโทเคนดิจิทัลและผลประโยชน์ที่ได้รับจากการโอนคริปโทเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลเฉพาะซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าที่ลงทุนเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (4) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งเป็นเงินได้ประเภทผลตอบแทนทางการเงินโดยอยู่ใน (ซ) และ (ฌ) ของมาตรา 40 (4) ดังกล่าว 2. กำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบุคคลธรรมดาที่มีเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(4)(ซ) และ (ฌ) ในอัตราร้อยละ 15 ของเงินได้ พระราชกำหนดดังกล่าวทำให้การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากการทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลมีความชัดเจนยิ่งขึ้น แต่มิได้ทำให้ผู้ทำธุรกรรมดังกล่าวต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด สำหรับธุรกรรมอื่น ๆ เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัลจะเสียภาษีตามประมวลรัษฎากรปัจจุบัน โดยสินทรัพย์ดิจิทัลถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่าง จึงมีภาระภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นเดียวกันกับทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างอื่นๆ ในส่วนการกำหนดอัตราภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายสำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้นกรมสรรพากรจะได้เสนอกฎหมายต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระให้แก่บุคคลธรรมดาที่ซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลผ่านศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 กรมสรรพากรจะได้เสนอกฎหมายยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป นอกจากนี้ กรมสรรพากรอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และ ตลาดหลักทรัพย์เกี่ยวกับการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายสำหรับการซื้อขายคริปโทเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลผ่านนายหน้าหรือศูนย์ซื้อขายที่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังตามพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ทำธุรกรรมเกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล |