efinancethai

ประเด็นร้อน

ได้เวลาซื้อหุ้นบิ๊กแคป รับกองทุน TESG คาดเงินไหลเข้าไม่ต่ำหมื่นลบ./ปี

ได้เวลาซื้อหุ้นบิ๊กแคป รับกองทุน TESG คาดเงินไหลเข้าไม่ต่ำหมื่นลบ./ปี

ครม.ไฟเขียวตั้งกองทุน TESG คาด บลจ.เริ่มขาย ธ.ค.นี้เป็นต้นไป หนุนเงินเข้าตลาดหุ้นไทยไม่ต่ำ 1 หมื่นล้านบาท/ปี จับตาหุ้นบิ๊กแคปเรทติ้ง ESG สูงรอรับอานิสงส์ แนะทยอยสะสม แต่คาดดันดัชนีฯ ได้น้อยเหตุความน่าสนใจด้อยกว่า LTF ทั้งสิทธิทางภาษี, ระยะเวลาถือครอง และเม็ดเงินลงทุน 

 

*** คาดดีเดย์กองทุน TESG ตั้งแต่ 1 ธ.ค.นี้

"กอบศักดิ์ ภู่ตระกูล" ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เผยว่า วันนี้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาจัดตั้ง "กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน" หรือ "Thailand ESG Fund (TESG)" ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ "กองทุนรวมหุ้นระยะยาว" หรือ "Long Term Equity Fund (LTF)" โดยจะได้รับสิทธิลดหย่อนภาษี 100,000 บาท/ราย มีระยะการถือครอง 8 ปี


ทั้งนี้คาดว่า บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) จะเริ่มขาย TESG ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป เพื่อให้นักลงทุนทันใช้สิทธิลดหย่อนภาษีปี 66 


ขณะที่ประเมินว่า TESG จะทำให้มีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยไม่ต่ำกว่าปีละ 1 หมื่นล้านบาท โดย TESG จะลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) กลุ่มที่ผ่านมาตรฐาน ESG (Environment , Social and Governance) หรือ บริษัทที่ใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล 


ด้าน "ธิดาศิริ ศรีสมิต" รองกรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย คาดว่าจะพร้อมเสนอขายกองทุน TESG ช่วงต้นเดือน ธ.ค.นี้ โดย บลจ.กสิกรไทย มีความพร้อมอย่างเต็มที่ในการจัดตั้งกองทุนดังกล่าว เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อผู้ลงทุน และสร้างความยั่งยืนให้กับตลาดทุนไทยในระยะยาว 


"ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา บลจ.กสิกรไทย ได้ให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาลมาอย่างต่อเนื่อง และมีการจัดทำนโยบายสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG Policy) มาตั้งแต่ปี 2556 โดยได้นำนโยบายและหลักการไปปรับใช้ในทุกขั้นตอนของการบริหารจัดการกองทุน ตั้งแต่การวิเคราะห์ คัดเลือก และประเมินมูลค่าหลักทรัพย์"


เช่นเดียวกับ "ศรชัย สุเนต์ตา" ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย Investment Office and Product Function กลุ่มธุรกิจ Wealth ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ระบุว่า SCB WEALTH มีความพร้อมอย่างมากในการเป็นผู้สนับสนุนการขายกองทุน TESG โดย บลจ.ไทยพาณิชย์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของธนาคาร มีความพร้อมที่จะยื่นขออนุมัติต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อจัดตั้งกองทุน TESG ทันทีหลัง ครม.อนุมัติ 


"การลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainability Investment) ได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่งต่อเนื่อง เพราะบริษัทที่ดำเนินกิจการโดยคำนึงถึง ESG จะช่วยลดความเสี่ยงจากปัญหาต่างๆ ที่อาจเข้ามาส่งผลกระทบเชิงลบต่อธุรกิจได้ ทำให้การดำเนินงานมีโอกาสเติบโตได้อย่างยั่งยืนและสะท้อนผลบวกเข้าไปยังราคาหุ้นหรือตราสารหนี้ของบริษัทได้


นอกจากนี้หากพิจารณาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพิ่มมาอีก 100,000 บาท ทำให้นึกถึง LTF ในอดีต ซึ่งกองทุนนี้กำลังทยอยครบกำหนดช่วงระยะเวลาการถือครองตามกฎหมายแล้ว จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนที่จะสามารถนำเงินทุนก้อนนี้ กลับมาลงทุนใน TESG ได้"

 

*** หุ้น ESG รับอานิสงส์เต็ม หาจังหวะเข้าสะสม

“พิชัย ยอดพฤติการ” ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย คาดว่า บจ.ที่ได้รับการประเมินหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings ปี 2566 จะเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกที่กองทุน TESG ให้ความสนใจ ซึ่งตามการประกาศ SET ESG Ratings ปี 66 มี บจ.ผ่านการคัดเลือกรวม 193 บริษัท แบ่งเป็น 4 ระดับ คือ AAA จำนวน 34 บริษัท, AA จำนวน 70 บริษัท, A จำนวน 64 บริษัท และ BBB จำนวน 25 บริษัท โดยมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market capitalization) ณ 1 พ.ย.66 รวม 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของทั้งตลาดฯ 


กลยุทธ์การลงทุนแนะนำทยอยเข้าซื้อสะสมที่ SET index ประมาณ 1,400 จุด และสะสมให้ครบก่อนกองทุน TESG ปิดขายช่วงแรก ( IPO)  เพราะกองทุนจะต้องลงทุนตามนโยบายกองทุนหลังปิด IPO


ขณะที่ “ณัฐพล คำถาเครือ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า การจัดตั้งกองทุนTESG ช่วยปิดช่องว่างระหว่าง "กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว" หรือ "Super Saving Funds (SSF)" และกองทุน LTF เพราะ SSF ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นหุ้นไทยเท่านั้น ทำให้เม็ดเงินกระจายออกไป แต่กองทุน TESG จะเน้นลงทุนหุ้นไทย และตราสารหนี้ไทย  


ขณะเดียวกัน TESG จะปิดจุดอ่อนเรื่องระยะเวลาลงทุนของ SSF ที่ต้องถือ 10 ปีเต็มที่ทำให้ไม่ค่อยได้รับความนิยม แต่กองทุน TESG จะมีระยะเวลา 8 ปีเต็ม


ทั้งนี้คาดว่า กองทุน TESG จะอิง SET ESG Index เป็น Benchmark และจะคัดเลือกหุ้นตาม SET ESG Ratings ที่เพิ่งประกาศเมื่อ 6 พ.ย. ซึ่งมีทั้งสิ้น 193 หลักทรัพย์ โดยหุ้น 40 หลักทรัพย์แรกคิดเป็น 80% ของ Market Cap. ใน SET ESG Index ประเมินว่ากองทุน TESG จะเน้นที่ 40 หลักทรัพย์แรกเป็นหลัก โดยอิง Ratings AAA และ AA กลยุทธ์การลงทุน แนะนำเลือกสะสมหุ้นในกลุ่มดังกล่าวเพื่อเข้าเก็งกำไร โดยเก็บให้ครบก่อนกองทุน TESG ปิด IPO 


ขณะที่ "กรรณ์ หทัยศรัทธา" นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) แนะนำกลยุทธ์ 2 ทางเลือก คือกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ระดับ AAA ซึ่งจะมีแรงซื้อจากกองทุนเข้ามาอย่างมีนัยในช่วงแรก สามารถสะสมได้ แต่กลุ่ม บจ.ขนาดกลาง-เล็ก ที่ได้เรทติ้ง "BBB" หลายบริษัทก็มีความน่าสนใจเพราะมีอัพไซด์มากกว่า โดยให้เลือกแบบกระจายธุรกิจ และเลือกบริษัทที่เป็นผู้นำธุรกิจนั้น ๆ 


ส่วน “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า กองทุน TESG จะเพิ่มให้มูลค่าการซื้อขายกลับมาคึกคักอีกครั้ง โดยเฉพาะช่วงเดือน ธ.ค.นี้ เพราะตลาดฯ ลงมาค่อนข้างมาก และนักลงทุนอยู่ในช่วงการวางแผนภาษี เหมือนกับครั้งที่ยังมีกองทุน LTF 


นอกจากนี้ TESG มีความน่าสนใจอีกประการคือ ปัจจุบันผลตอบแทนของดัชนี SETESG Index ชนะ SET Index ทุกกรอบเวลา ทั้งตลาดหมีและตลาดกระทิง คาดว่าจะส่งผลให้หุ้นที่อยู่ใน SETESG Index ทั้ง 114 ตัวน่าสนใจขึ้น และเป็นเป้าหมายของทั้ง Active Fund และ Passive Fund 


กลยุทธ์การลงทุน แนะนำ หุ้นที่อยู่ใน SETESG Index ที่ถูก Short ไปมากก่อนหน้านี้ ซึ่งโอกาสที่จะได้เม็ดเงินใหม่หนุนบวกกับถูก Covered Short โดยมีเงื่อนไขการคัดกรอง คือ หุ้นใน SETESG ที่มีเรทติ้งระดับ AAA - AA และถูก Short Sell มากกว่า 1,000 ล้านบาท ช่วง ก.ย.- ปัจจุบัน

 

*** ยังไม่ช่วยดัน SET Index อย่างมีนัยสำคัญ

อย่างไรก็ตาม บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ประเมินว่า กองทุน TESG อาจจะไม่ได้รับความนิยมอย่างที่คาด เพราะระยะเวลาการถือครองกว่า LTF (5 - 7 ปี) สะท้อนจาก SSF ที่ไม่ได้รับความนิยมเท่า LTF เพราะต้องถึงครอง 10 ปี ทำให้ผลประโยชน์ประจำประลดลง (การลดอัตราภาษีที่แท้จริง) ขณะเดียวกันวงเงินต่อคนก็ต่ำเกินไป (เทียบกับ 500,000 บาทของ LTF ที่จุดสูงสุด)


ทั้งนี้เชื่อว่ากลุ่มผู้เสียภาษีที่จ่ายอัตราภาษีสูงกว่า 25% เท่านั้นที่จะสนใจ มิเช่นนั้นก็ควรจ่ายภาษีและนำส่วนที่เหลือไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลอายุ 8 ปีดีกว่า เพราะประมาณการว่าผลตอบแทนรวมที่คาดหวังของตลาดเท่ากับความเสี่ยงด้านสภาพคล่องส่วนบุคคลของนักลงทุน ซึ่งประมาณการว่ามีผู้เสียภาษีน้อยกว่า 300,000 รายที่เหมาะกับกลุ่มนี้ การคาการณ์ว่าคนเหล่านี้ใช้งบประมาณสูงสุด 100,000 บาทจนเต็ม ก็จะมีการไหลเข้าตลาดเพียง 30,000 ล้านบาท เท่านั้น


ขณะที่กระทรวงการคลังคาดว่าจะมีเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยจากโครงการนี้เพียง 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ซึ่งน้อยมาเมื่อเทียบกับการไหลเข้าของโครงการ LTF ที่มากกว่า 9 หมื่นล้านบาทช่วงจุดสูงสุดในปี 2562 และเมื่อ SSF เข้ามาแทนที่ LTF ในปี 63 การไหลเข้าลดลงอย่างมากเนื่องจากเงื่อนไขที่ไม่น่าดึงดูด โดยเฉพาะระยะเวลาการถือครองที่ยาวนานขึ้น


ทั้งนี้จากสถิติพบว่าการไหลเข้าของเงินลงทุนทุก 1 หมื่นล้านบาท จากผู้ซื้อสถาบัน (ไม่ว่าจะไทยหรือต่างประเทศ) จะทำให้ SET  Index ขยับขึ้นเพียง 20 จุดเท่านั้น (ใช้ข้อมูลรายเดือนในช่วง 5 ปีตั้งแต่ พ.ย.61 - พ.ย.66)


เช่นเดียวกับ "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บล.ไอร่า มองว่า กองทุน TESG ที่กำลังจะตั้งขึ้น มีโอกาสสูงที่จะไม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากทุกอย่างดูรวดเร็วเกินไปในการจัดตั้ง ซึ่งอาจจะทำให้แผนการลงทุนของผู้จัดการกองทุนไม่ทันกรอบระยะเวลาตามคาดไว้


อีกหนึ่งปัจจัย คือ นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ใช้สิทธิลงทุนเพื่อลดหย่อนภาษีกันไปมากแล้ว ทำให้หลายคนไม่ได้สำรองเงินไว้เพื่อรอลงทุนในกองทุน TESG ที่กำลังจะจัดตั้งขึ้น โดยมองว่า หากกองทุน TESG จะได้รับความสนใจจากนักลงทุน คงต้องเป็นปลายปีหน้าไปเลย


ส่วนเม็ดเงินที่คาดว่าจะไหลเข้าราว 1 หมื่นล้านบาท ก็ยังไม่ใช่เม็ดเงินที่อยู่ในระดับสูงที่จะทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ยังคงเป้า SET Index ปี 67 ไว้ที่ 1,550 จุด


รวมถึง "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ที่ประเมินว่า ปีนี้ยังประเมินเงินไหลเข้าได้ยาก เพราะมีเวลาขายเพียง ธ.ค.เดือนเดียว และเป็นปีแห่งการเริ่มต้นที่ฉุกละหุก นักลงทุนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เตรียมเงินไว้สำหรับลงทุนส่วนนี้ไว้ด้วย ซึ่งคงไม่สามารถขับเคลื่อนดัชนีฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ 


ฟาก "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า  ความน่าสนใจของกองทุน TSEG ยังดูไม่โดดเด่นนัก เมื่อเทียบกับกองทุน LTF เนื่องจากสามารถลดหย่อนภาษีได้ 1 แสนบาท/คน เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า LTF ที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ 3 แสนบาท/คน แถมระยะเวลาถือครองก็นานกว่าอีกด้วย 


ทั้งนี้ หากมีการจัดตั้งกองทุน TESG ตามกรอบระยะเวลาที่ FETCO เสนอได้จริง คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในตลาดหุ้นไทยทั้งปี 67 ราว 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งเม็ดเงินดังกล่าว อาจจะพูดได้ว่าเป็น Sentiment บวกระยะสั้นเชิงจิตวิทยาเท่านั้น เนื่องจากเงินจำนวนดังกล่าวยังน้อยเมื่อเทียบกับกองทุนอื่น ๆ ในอดีตที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามาราว 5 - 6 หมื่นล้านบาท


สรุปแล้วคาดว่า กองทุน TESG จะไม่ได้ช่วยดันดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ให้ปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยยังประเมินเป้า SET Index สิ้นปี 67 ที่บริเวณ 1,558 จุด 


ประเด็นร้อน, TESG, SETESG, SET Index, FETCO







ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด