efinancethai

ประเด็นร้อน

จับตาธุรกิจโบรกเกอร์ หลังวอลุ่มเทรดหุ้นไทยวูบต่ำ 4 หมื่นลบ./วัน

จับตาธุรกิจโบรกเกอร์ หลังวอลุ่มเทรดหุ้นไทยวูบต่ำ 4 หมื่นลบ./วัน

เปิดสถิติ 5 วันหลังหุ้นไทยเทรดเฉลี่ยแค่ 3.7 หมื่นล้านบาท/วัน Naked Short-โปรแกรมเทรด-ภาวะเศรษฐกิจ ฉุดความเชื่อมั่นหาย ผู้บริหารโบรกเกอร์รับอาจจะกระทบรายได้ แต่ไม่ถึงขั้นขาดทุน เพราะต้นปียังดีอยู่ บวกกับอุตสหกรรมกระจายรายได้หลายทางมากขึ้น เผยระดับกองทุนสภาพคล่องยังปกติ แต่ค่าคอมลดต่อเนื่องเหลือเฉลี่ย 0.067%

 

*** 5 วันหลัง หุ้นไทยเทรดเฉลี่ยแค่ 3.7 หมื่นลบ./วัน

ข้อมูลการซื้อขายของตลาดหุ้นไทย 5 วันทำการหลังสุด มีมูลค่าเฉลี่ยต่อวันเพียง 3.7 หมื่นล้านบาทต่อวันเท่านั้น โดยหลุดต่ำกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อวันตั้งแต่วันที่ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีถึง 24 พ.ย.66 (YTD) เหลือเพียง 5.2 หมื่นล้านบาทต่อวัน ต่ำสุดในรอบเกือบ 4 ปี ลดลงจากปีก่อนที่เฉลี่ย 7.1 หมื่นล้านบาทต่อวัน และปี 64 ที่เฉลี่ยถึง 8.8 หมื่นล้านบาทต่อวัน ขณะที่ปี 63 ซึ่งเป็นช่วงโควิด-19 ระบาด มูลค่าการซื้อขายก็ยังอยู่ระดับ 6.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน โดยลดลงไปใกล้เคียงกับปี 62 ที่เฉลี่ย 5.2 หมื่นล้านบาทต่อวันเช่นกัน 

 

*** บิ๊กโบรกฯ คาดกระทบรายได้ แต่ยังไหวอยู่

"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ และ กรรมการ สมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย (ASCO) ยอมรับว่า วอลุ่มการซื้อขายตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงค่อนข้างต่ำในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจโบรกเกอร์อย่างแน่นอน เพราะรายได้หลักมาจากค่าคอมมิชชั่นซึ่งเกิดขึ้นเมื่อมีการซื้อขายของนักลงทุน อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบถึงขั้นขาดทุน เนื่องจากช่วงครึ่งปีแรกวอลุ่มการซื้อขายก็ยังอยู่ในระดับที่ดี ประกอบกับมีจำนวนหุ้นไอพีโอเข้าซื้อขายค่อนข้างมาก ซึ่งช่วยกระตุ้นปริมาณการซื้อขายได้พอสมควร 


เช่นเดียวกับ "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ประธานกรรมการบริหาร บมจ.เอเซีย พลัส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (ASP) ที่ระบุว่า ธุรกิจโบรกเกอร์จะได้รับผลกระทบจากมูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยเฉลี่ยต่อวันที่ลดลงแน่นอน เพราะรายได้หลักส่วนใหญ่ยังมาจากค่าคอมมิชชั่น ซึ่งเมื่อวอลุ่มลดลงย่อยส่งผลกระทบถึงรายได้ แต่หากโบรกเกอร์มีการกระจายที่มาของรายได้ให้หลากหลาย เช่น งานวาณิชธนกิจ หรือ การลงทุนต่าง ๆ ก็จะได้รับผลกระทบจำกัด ซึ่ง "เอเซีย พลัส" อยู่ในรูปแบบดังกล่าว จึงไม่กังวลมากนัก ที่น่าเป็นห่วงคือโบรกเกอร์ที่พึ่งพิงรายได้จากการซื้อขายเป็นหลัก


ทั้งนี้ข้อมูลสรุปภาพรวมอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ ครึ่งแรกปี 66 พบว่า สัดส่วนรายได้จากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลดลงมาอยู่ที่ 36% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่อยู่ระดับ 49% โดยประจายไปอยู่ในรายได้จากดอกเบี้ยปล่อยกู้ซื้อขายหลักทรัพย์ (Margin Loan) ขึ้นมาเป็น 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 9% และ รายได้ดอกเบี้ยและปันผลจากการลงทุน 12% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 7% การให้บริการซื้อขายกองทุนรวมก็เพิ่มขึ้นเป็น 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4% และ จากการเป็นผู้จัดจำหน่ายหุ้นไอพีโอ (Underwriting) เพิ่มขึ้นมาเป็น 5% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่ 4%

 

*** พบค่าคอมฯ เฉลี่ย เหลือเพียง 0.067% กดกำไรทรุด 54.1%

ขณะที่พบว่า ณ สิ้นไตรมาส 2/66 ค่าคอมฯ เฉลี่ยของอุตสาหกรรม (ไม่รวม Prop. Trade) ลดลงเหลือ 0.067% จากสิ้นปีก่อนที่ 0.071% และสิ้นปี 64 ที่ 0.080% 


โดยมูลค่าการซื้อขายที่ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ผลการดำเนินงานของอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ครึ่งแรกปี 66 มีรายได้ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ลดลง 13.2% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่กำไรสุทธิลดลงถึง 54.1% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เหลือเพียง 2,615 ล้านบาท 


อย่างไรก็ตาม "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ระบุว่า ปัจจุบัน อัตราค่าคอมฯ เมื่อเทียบกับวอลุ่มเทรด ไม่สามารถใช้ประเมินได้ว่าระดับไหนที่จะทำให้โบรกเกอร์ใดกำไรหรือขาดทุน เพราะแต่ละแห่งมีนโยบายการบริหารงานต่างกัน ควรดูมาร์เก็ตแชร์ของแต่ละโบรกเกอร์ในแต่ละวัน ควบคู่กับวอลุ่มเทรดในแต่ละวัน อาจจะพอเห็นภาพว่าใครจะกำไรหรือขาดทุน

 

*** NCR ยังโอเค

ด้านภาพรวมเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) ของโบรกเกอร์ "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ระบุว่า วอลุ่มที่ลดลงแม้จะส่งผลต่อรายได้บ้าง แต่ไม่กระทบต่อ NCR เพราะกองทุนดังกล่าวจะมีปัญหาตอนวอลุ่มสูง ๆ เท่านั้น รวมถึงตอนที่ธุรกิจโบรกเกอร์ประสบปัญหาขาดทุนมาก ๆ ซึ่งภาพในปัจจุบันยังไม่ถึงขนาดนั้น


ส่วน "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" มองไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมเสริมว่า กลุ่มที่อาจจะเสี่ยงคือโบรกเกอร์ที่ปล่อย Margin Loan ในระดับมาก ๆ เพราะในภาวะที่ตลาดผันผวนและลูกค้าขาดสภาพคล่อง อาจจะทำให้มีปัญหาได้

 

*** Naked Short-โปรแกรมเทรด-ภาวะเศรษฐกิจ ฉุดวอลุ่มวูบ

"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" สาเหตุที่ทำให้วอลุ่มเทรดขณะนี้ลดลง เพราะเศรษฐกิจไทยที่ยังไม่ดีเท่าที่ควร ซึ่งยอมรับว่า โบรกเกอร์ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ด้วยตัวเอง เพราะการที่ลูกค้าจะเข้ามาเทรด มักจะดูปัจจัยของการเติบโตเศรษฐกิจและบรรยากาศของตลาดหุ้น ณ ขณะนั้น ดังนั้น ที่ทำได้ตอนนี้ คือ ต้องภาวนาให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตดีขึ้นกว่าช่วงไตรมาส 3/66 ที่โตต่ำเพียง 1.8% เท่านั้น


นอกจากนี้ นักลงทุนรายย่อยก็ขาดความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นไทยไปไม่น้อยจากกระแสข่าวเชิงลบเกี่ยวกับตลาดหุ้นที่ออกมา เช่น ประเด็น Naked short หรือ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) มีปัญหาทุจริต, ปั่นหุ้น รวมถึงการผิดชำระหนี้ เป็นต้น


ฟาก "ก้องเกียรติ โอภาสวงการ" ย้ำว่า ความเชื่อมั่นของนักลงทุน เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้วอลุ่มหายไป เพราะมีข่าวร้ายต่าง ๆ ออกมาต่อเนื่อง รวมถึงการมีบทบาทของโปรแกรมเทรดที่ทำให้รายย่อยซื้อขายได้ยากขึ้น เพราะความไวต่างกัน ทำให้นักลงทุนหลายรายท้อแท้และพักการซื้อขายไป ประกอบกับตลาดหุ้นไทยแทบจะไม่มีหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี ๆ เข้ามาใหม่เลย ยิ่งทำให้ความน่าสนใจลงทุนยิ่งลดลลงอีกด้วย 


"ต้องยอมรับว่า ตลาดหุ้นไทยเรากำลังมีปัญหาความเชื่อมั่น และมีเรื่องแปลก ๆ ที่ไม่ควรเกิดขึ้นมาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้คุมกฏกลับบอกว่าไม่มีอะไร เราก็ไม่รู้จะคุยอะไรแล้ว ก็ต้องไปถามเขาอย่างเดียวแหละว่าจะมีมาตรการอะไรเข้ามาควบคุมหรือไม่อย่างไร สุดแท้แต่เขาเลย"


ประเด็นร้อน, วอลุ่มหุ้นไทยวูบ, โบรกเกอร์, Naked Short, โปรแกรมเทรด







ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด