นักลงทุนสถาบันพลิกซื้อสุทธิหุ้นไทยรอบ 3 ปี มูลค่ารวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท สูงสุดตั้งแต่ปี 62 หลัง SET Index ร่วงแรงจนราคาต่ำกว่าพื้นฐาน เป็นเหตุเข้าสะสมรอฟื้นระยะกลางยาว พร้อมคาด "ซื้อแล้ว" - "ซื้่ออยู่" - "ซื้อต่อ" ได้กองทุน TESG ช่วยหนุน แนะนำ ดักเก็บหุ้นบิ๊กแคปกลุ่มคะแนน ESG ระดับ AAA - AA ที่ราคาลงแรงช่วงที่ผ่านมา และมีฟรีโฟลตสูง
*** นลท.สถาบันพลิกซื้อสุทธิหุ้นไทยรอบ 3 ปี กว่า 7 หมื่นลบ.
ข้อมูลสถิติการซื้อขายแยกตามกลุ่มนักลงทุนตั้งแต่ต้นปีถึง 22 พ.ย.66 (YTD) พบว่า กลุ่มนักลงทุนสถาบันมีสถานะเป็นซื้อสุทธิหุ้นไทยทั้ง SET และ mai รวม 7.04 หมื่นล้านบาท จากปี 65 ที่ขายสุทธิ 1.54 แสนล้านบาท และปี 64 ที่ขายสุทธิ 7.45 หมื่นล้านบาท ขณะเดียวกันเป็นมูลค่าการซื้อสุทธิสูงสุดในรอบกว่า 5 ปีอีกด้วย (ปี 63 ซื้อสุทธิ 3.42 หมื่นล้านบาท และปี 62 ซื้อสุทธิ 5.13 หมื่นล้านบาท)
สำหรับสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนสถาบันปีนี้ ฝั่งซื้อขยับขึ้นมาอยู่ที่ 8.47% ของมูลค่าการซื้่อขายรวม เพิ่มขึ้นสูงสุดรอบ 3 ปี (ปี 65 อยู่ที่ 7.04% และ ปี 64 อยู่ที่ 6.47%) ขณะที่ฝั่งขายสัดส่วนอยู่ที่ 7.88% ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยมีสัดส่วนการซื้อขายหุ้นไทยอยู่ในอันดับ 3 รองจาก กลุ่มนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนในประเทศ
*** หุ้นไทยลงแรงเกินพื้นฐานจนน่าสะสม
"วิน พรหมแพทย์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานลูกค้าไฮเน็ตเวิร์ธ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) มองว่า แรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบัน อาทิ กองทุนรวม, กองทุนบำนาญ และเงินลงทุนบริษัทประกันภัยที่ลงทุนในหุ้น ที่กลับมาในรอบ 3 ปี เนื่องจากตลาดหุ้นไทยปีนี้ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก จนราคาหุ้นหลายบริษัทโดยเฉพาะกลุ่มบิ๊กแคปลงมาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน ทำให้มีอัพไซด์สูงขึ้น และมีแนวโน้มที่จะรีบาวด์ได้ในระยะกลาง-ยาว ซึ่งนโยบายของกลุ่มนักลงทุนสถาบันคือการลงทุนระยะยาวอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อมองเห็นโอกาส จึงมีแรงซื้อเข้ามา
ขณะเดียวกันเชื่อว่าจะยังมีแรงซื้อของกลุ่มนักลงทุนสถาบันในหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง เพราะหลายแห่งอาจจะมองว่าผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว และกำลังจะมีการจัดตั้ง "กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน" หรือ "Thailand ESG Fund (TESG)" เข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งนโยบายคือลงทุนในหุ้นหรือตราสารหนี้ของ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทย คาดจะดึงดูดเม็ดเงินจากนักลงทุนสถาบันได้อีกพอสมควร ประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่จะทยอยดำเนินการเชิงปฏิบัติออกมาในปีหน้าเข้ามาสนับสนุนความเชื่อมั่นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
เช่นเดียวกับ "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ ประเมินว่า สาเหตุที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันกลับมาซื้อสุทธิในปีนี้ เพราะตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงค่อนข้างแรง โดยเฉพาะหุ้นขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดสูง (Market capitalization) ซึ่งเป็นเป้าหมายของนักลงทุนสถาบันที่เน้นถือครองระยะยาวอยู่แล้ว จึงเป็นโอกาสในการเข้าสะสม
ด้าน แหล่งข่าว ผู้จัดการกองทุน ระบุว่า แรงซื้อกลับของนักลงทุนสถาบัน เกิดจากในภาวะที่ตลาดหุ้นผันผวน นักลงทุนทั่วไปจะนิยมซื้อกองทุนรวมมากกว่าซื้อหุ้นรายตัว เพราะมีผู้เชี่ยวชาญในการคัดกรองหุ้น และยังมีรูปแบบให้เลือกหลากหลาย ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำกว่า จึงทำให้มีการซื้อกองทุนรวมมากขึ้น และกองทุนก็ต้องนำเงินไปกระจายการลงทุนเพิ่ม ซึ่งหุ้นไทยที่ราคาลงมาแรงในปีนี้ก็ถือเป็นเป้าหมายสำคัญของบรรดากองทุน
*** คาดซื้อแล้ว ซื้ออยู่ ซื้อต่อ !!!
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ประเมินว่า หุ้นไทยที่ปรับตัวลดลงแรงในปีนี้ ทำให้หลายบริษัทมีนัยเชิง Valuation เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหุ้นบิ๊กแคป จึงทำให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันเข้าซื้อสะสม ประกอบกับการจัดตั้ง TESG จะเข้ามามีบทบาทเพิ่มเติมในตลาดหุ้นไทย ทำให้สามารถตั้งกลยุทธ์การลงทุนอีกธีมคือ "หาหุ้นที่กองทุนซื้อแล้ว ซื้ออยู่ และซื้อต่อ"
โดยกลุ่ม "ซื้อแล้ว" สะท้อนจาก 5 วันทำการหลังสุดมีมูลค่ารวมกว่า 2.5 พันล้านบาท ผลักดัน SET เพิ่มขึ้น 37 จุด หรือ 2.6% และมีโอกาสซื้อต่อจากกองทุน Active Fund ที่มีสัดส่วนเงินสดของกองทุนราว 4%
ส่วนกลุ่ม "ซื้ออยู่" คาดว่าเดือน ธ.ค.นี้ จะมีเม็ดเงินใหม่ของกองทุน TESG เข้ามาเพิ่มอีกราว 1 - 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งหุ้นที่จะได้ประโยชน์คือกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่มีคะแนน ESG สูง (AAA - A) และราคาปรับตัวลดลงค่อนข้างมาในช่วงที่ผ่านมา ขณะเดียวกันตราสารหนี้ของหุ้นกลุ่มดังกล่าวก็จะได้รับความสนใจมากขึ้นด้วย
สุดท้ายคือกลุ่ม "ซื้อต่อ" ต้นปีหน้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จะมีการทำดัชนี SET50FF และ SET100FF ทำให้สถาบันต้องมีการออกกองทุนใหม่อิงกับดัชนีดังกล่าว โดยหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์คือหุ้น Free Float สูง ประกอบด้วยกลุ่ม ธนาคารพาณิชย์, รับเหมาก่อสร้าง, ท่องเที่ยว, วัสดุก่อสร้าง, โรงพยาบาล, อสังหาฯ, เกษตร และ พาณิชย์