efinancethai

ประเด็นร้อน

เกิดอะไรขึ้นกับ OSP ? 7 วันทำการหลังดิ่งกว่า 22%

เกิดอะไรขึ้นกับ OSP ? 7 วันทำการหลังดิ่งกว่า 22%

7 วันทำการล่าสุด หุ้น OSP รูดหนักกว่า 22%  นักวิเคราะห์คาดกำไร Q4/67 จะอ่อนแอกว่าที่ตลาดคาด แถมส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศวูบ หลังขึ้นราคาขาย M-150 ประเมินปี 68 ยังแย่งมาร์เก็ตแชร์คืนจาก CBG ยาก รวมถึงคาดค่าใช้จ่ายเพิ่ม - กดอัตราทำกำไรลด แห่รุมหั่นเป้ากำไร - ราคาเหมาะสมระนาว แนะชะลอลงทุน จนกว่าจะเห็นความชัดเจนในการดึงส่วนแบ่งตลาดคืน !

 

*** เกิดอะไรขึ้น ? 7 วันทำการล่าสุด OSP รูดแรงกว่า 22%

งานนี้ ผู้ถือหุ้น บมจ.โอสถสภา (OSP) คงมีหนาว ๆ ร้อน ๆ กันบ้าง เนื่องด้วยราคาหุ้น OSP ที่ทั้งปี 2567 เคลื่อนไหวเฉลี่ยอยู่ที่ 21.79 บาท และก็ยังคงเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับดังกล่าวในช่วงต้นปี 2568 จนกระทั่งเข้าสู่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมา หุ้น OSP เริ่มมีแรงขายออกมาแรง ๆ และราคาปรับตัวลงอย่างต่อเนื่อง
 


โดยเฉพาะช่วง 28 - 30 ม.ค.ที่ผ่านมา ราคาหุ้นปรับตัวลงอย่างรุนแรง โดยมีมูลค่าการซื้อขายเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดระดับเกิน 900 ล้านต่อวันบาท จากปกติไม่เคยเกิน 400 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งถ้านับตั้งแต่ 22 -30 ม.ค.นี้ (7 วันทำการ) ราคาหุ้น OSP ปรับตัวลงไปแล้วถึง 22.32%


ทั้งนี้ OSP เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในปี 2561 ด้วยราคา IPO ที่ 25 บาท/หุ้น จากนั้นราคาหุ้นปรับตัวขึ้นต่อเนื่องถึงปี 2563 โดยราคาหุ้นทำจุดสูงสุดที่ 48.25 บาท/หุ้น เพิ่มขึ้นจากราคา IPO ถึง 93% แต่จากนั้น ราคาหุ้น OSP ก็ปรับตัวลงต่อเนื่อง 4 ปี จนล่าสุด (30 ม.ค.2568) ราคาหุ้นปรับตัวลงต่ำสุดที่ราคา 16.60 บาท/หุ้น ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่จดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกด้วย

 

*** กังวลส่วนแบ่งตลาดวูบ โบรกฯแห่หั่นเป้า กดราคาหุ้นทันที

บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กรุงศรี ระบุสาเหตุที่ทำให้ราคาหุ้น OSP ช่วง 28-29 ม.ค.ที่ผ่านมา ปรับตัวลงถึง 14.14% เนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานไตรมาส 4/67 ของ OSP มีแนวโน้มอ่อนตัวลง สะท้อนจากยอดขายที่ปรับตัวลงเล็กน้อย จากการขาดทุนของธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) และยอดขายเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศ อาจเห็นส่วนแบ่งการตลาดลดลงจากไตมาสก่อนเหลือ 45% (ไตรมาส 3/67 ส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 45.4%) เนื่องจากราคาขาย 12 บาท สูงกว่าคู่แข่ง ซึ่งอาจเป็นปัญหาในระยะยาว


จากปัญหาดังกล่าว ทำให้บ่งชี้ได้ว่าตั้งแต่ปี 2568 เป็นต้นไป ส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มชูกำลังจะมาจากการใช้จ่ายโปรโมชั่นที่มากขึ้น นั่นหมายความว่าค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) ของ OSP ก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วย ส่งผลให้นักวิเคราะห์ในตลาดต้องมีการทบทวนประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ของ OSP ตั้งแต่ช่วงปี 2568 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็น Sentiment "เชิงลบ" ต่อ OSP  


ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กำไรปกติไตรมาส 4/67 ของ OSP มีแนวโน้มทำได้ 617 ล้านบาท เติบโตขึ้น 4% จากปีก่อน แต่ลดลง 8% จากไตรมาสก่อน เพราะส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศช่วงไตรมาส 4/67 จะลดลงมาอยู่ที่ 45% จึงคาดรายได้เครื่องดื่มชูกำลังในประเทศอาจทรงตัวถึงปรับลงจากปีก่อน อีกทั้งคาดว่า SG&A ของ OSP จะสูงขึ้นด้วย 


สำหรับ ปัจจัยที่น่าเป็นกังวลต่อหุ้น OSP ขณะนี้ คือ บริษัทฯประกาศชัดเจนว่า ต้องการแย่งส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังกลับมาให้ได้ในปี 2568 โดยตั้งเป้าขยับส่วนแบ่งตลาดของบริษัทกลับสู่ระดับ 50% อีกครั้ง โดยจะมีการใช้กลยุทธ์ออก M-150 ฝาเหลือง ราคา 10 บาท ซึ่งทำให้ บล.ฟินันเซีย ไซรัส มีความกังวลมากขึ้นเพราะอาจทำให้เกิดการแย่งลูกค้า (Cannibalization) กับสินค้าตัวเดิมของบริษัท 


โดย บล.ฟินันเซีย ไซรัส ได้มีการปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2568 ของ OSP ลงเหลือ 3,069 ล้านบาท (เดิม 3,204 ล้านบาท) คิดเป็นการปรับประมาณการกำไรสุทธิลงจากเดิม 6.36% ส่งผลให้ได้ราคาเหมาะสมใหม่ของ OSP ที่ 24 บาท/หุ้น (เดิม 28 บาท/หุ้น)


ขณะที่ มีนักวิเคราะห์อีก 5 ราย ปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิปี 2568 และราคาเหมาะสมของ OSP ลงดังนี้
 

บล.

กำไรสุทธิปี 68 ใหม่ (ลบ.)

%ปรับลง

ราคาเหมาะสมใหม่ (บ.)

ลดลง (บ.)

กรุงศรี

2,793

-15.26

16.5

-6.5

ดาโอ

2,896

-11.89

19.3

-6.7

ทิสโก้

2,826

-6.14

21.5

-1.5

พาย

3,008

-1.34

20

-2

ซีจีเอสฯ

N/A

N/A

19.6

-2.3

 

*** ปี 68 แม้ทุ่มทุนแย่งส่วนแบ่งตลาด แต่โบรกฯคาด"ไม่สำเร็จ"

บทวิเคราะห์ บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแล (ประเทศไทย) เชื่อว่าปี 2568 จะเป็นปีที่ท้าทายสำหรับ OSP เนื่องจากผลิตภัณฑ์หลักอย่าง M-150 เผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากคาราบาวแดง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์คู่แข่งของ Carabao Group หาก OSP ไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งการตลาดไว้ได้ อาจเสี่ยงต่อการที่ผู้จัดจำหน่ายและผู้ค้าปลีกจะลดความสำคัญของ M-150 ลง อาทิ จัดสรรพื้นที่วางสินค้าและโปรโมชั่นใหม่ให้กับคู่แข่ง ซึ่งจะส่งผลให้ส่วนแบ่งการตลาดของ OSP ลดลงอย่างรวดเร็วในระยะถัดไป 


OSP มองเห็นปัญหาดังกล่าว โดยเตรียมใช้กลยุทธ์เปิดตัว M-150 Yellow Cap Limited Edition ราคา 10 บาท ในช่องทางการค้าเดิม โดยจะฟื้นรสชาติดั้งเดิมของ M-150 ก่อนที่ราคาจะปรับขึ้นเป็น 12 บาท ในปี 2565 เนื่องจาก OSP ต้องการใช้กลยุทธ์อาศัยความคิดถึงกระตุ้นความสนใจของผู้บริโภค และแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาดที่สูญเสียไปกลับคืนมา


อย่างไรก็ตาม ประเมินว่ากลยุทธ์ดังกล่าว ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหายอดขายที่ลดลงอย่างต่อเนื่องของ M-150 ราคา 12 บาท รวมถึงยังสะท้อนถึงการเปิดตัว M-150 Honey ที่ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงปลายปี 2565 อีกทั้ง ยังจะเป็นการแย่งชิงยอดขายของ M-150 Honey ซึ่งมีราคา 10 บาท เช่นกัน และจะส่งผลให้การประหยัดต่อขนาดของ OSP ลดลง ขณะที่ต้นทุนการตลาดและการส่งเสริมการขายสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่จะเพิ่มขึ้นใน 2568 อีกด้วย 


สอดคล้องกับ บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ที่มองว่า การแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศของปี 2568 จะมีความดุเดือดมากขึ้น ซึ่งทำให้ OSP อาจต้องใช้เวลานานกว่าที่คิดในการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด อีกทั้ง ยังคาดว่ากลยุทธ์ของ OSP ที่เลือกใช้ จะไปกินส่วนแบ่งตลาด M-150 ฝาเหลือง ราคา 12 บาท และฝาน้ำเงินราคา 10 บาท ที่อาจจะลดลงได้ ประกอบกับ คู่แข่งมีแนวโน้มจะเเข่งขันด้านราคารุนแรงขึ้น รวมทั้งการให้ส่วนลดการค้ากับคู่ค้าน้อยลง อาจส่งผลต่อยอดขายที่คู่ค้าจะเน้นขายสินค้าของคู่แข่งเพิ่มขึ้น

 

*** ถ้าแย่งส่วนแบ่งตลาดคืนไม่ได้ มูลค่าเหมาะสมอาจลดเหลือ 15.20 บ.

บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า หากใช้กรณีเลวร้ายที่สุด ประเมินว่า OSP ไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศกลับมาได้ บริษัทจะต้องเผชิญกับอัตราการทำกำไรที่ลดลง และ SG&A ที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว จะส่งผลเชิงลบต่อกำไรสุทธิปี 2568 ของ OSP อย่างหนัก ซึ่งถ้าเป็นไปตามคาดการณ์ดังกล่าว ราคาเหมาะสมของ OSP จะลดลงมาเหลือเพียง 15.20 บาท/หุ้น เท่านั้น (ราคาเหมาะสมล่าสุดจาก บล.บัวหลวง อยู่ที่ 24 บาท/หุ้น)


ด้าน บทวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในปี 2568 ทาง OSP มีเป้าหมายจะแย่งส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศกลับมา โดยใช้กลยุทธ์ส่งเสริมการขายด้านราคาโดยเฉพาะผู้จัดจำหน่ายแบบดั้งเดิม และการโฆษณาเพิ่มเติม ซึ่งจะเพิ่มอัตราส่วนต้นทุน SG&A/ยอดขายขึ้นอีก 26% ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นของ OSP ในปี 2568 จะลดลงอีก 1.2 ppt จากปีก่อน เหลือที่ระดับ 36% ส่งผลให้กำไรปกติในปี 2568 จะลดลงจากปีก่อนราว 7.63%    

 

*** ในแง่การลงทุนช่วงนี้ โบรกฯมองยังไม่น่าสนใจ แม้ราคาดิ่งแรง !

บทวิเคราะห์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ระบุว่า ราคาหุ้น OSP ปรับตัวลงรุนแรงราว 17% ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา แต่ในแง่การลงทุน กลับยังไม่มีความน่าสนใจ สะท้อนจากการปรับลดคำแนะนำการลงทุนหุ้น OSP ลงเหลือแค่ "ถือ" จากเดิมที่แนะนำ "ซื้อ" หลังตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศมีการแข่งขันที่ดุเดือดมากขึ้น ซึ่งต้องคอยติดตามการฟื้นตัวของส่วนแบ่งตลาดของ OSP อีกครั้ง ว่าจะมีพัฒนาการดีขึ้นหรือไม่ ? จึงจะมีการทบทวนคำแนะนำการลงทุนอีกครั้ง 


สอดคล้องกับ บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ที่ปรับลดคำแนะนำการลงทุนหุ้น OSP ลงเป็น "ขาย" (เดิมแนะนำ "ถือ") เนื่องจากมองว่า ในช่วงปี 2568 ทาง OSP ยังต้องเผชิญกับแรงกดดันเรื่องการแข่งขันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศที่ดุเดือดขึ้น, อัตราการทำกำไรมีแนวโน้มลดลง แต่ค่าใช้จ่ายมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งจะกดดันกำไรปกติของ OSP ค่อนข้างมากในปีนี้ 


ขณะที่ ตลาดเครื่องดื่มชูกำลังในประเทศมีภูมิทัศน์ที่ค่อย ๆ เปลี่ยนไป หลัง OSP ไม่ประสบความสำเร็จในการปรับขึ้นราคาขายอีก 20% ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ CBG ได้รับประโยชน์จากส่วนแบ่งตลาดที่เพิ่มมากขึ้น และยังมีเครือข่ายการกระจายสินค้าที่แข็งแกร่งขึ้น ทำให้ บล.บัวหลวง มองว่า ในกลุ่มเครื่องดื่มชูกำลัง CBG กลับมีความน่าสนใจมากกว่า OSP เสียแล้ว ...


 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด