efinancethai

ประเด็นร้อน

"บิ๊ก บจ.ตึ๊งหุ้น" ภัยเงียบร้ายแรง ก.ล.ต.-ตลท.จ่อเปิดข้อมูล ทั้งใน-นอก ตลาดฯ

ปัญหาบิ๊ก บจ.ย่องนำหุ้นตัวเองไปตึ๊ง คาราคาซังสร้างความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อยมาตลอด เนื่องด้วยไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลสำคัญดังกล่าวได้ ทำให้หลายคนเสียท่าเข้าไปลงทุนในบริษัทที่มีความเสี่ยงดังกล่าวแบบไม่รู้ตัว แต่ ตลท. - ก.ล.ต. เตรียมสางปัญหานี้ให้เสร็จภายในปี 67 พร้อมทั้งเล็งเปิดชื่อผู้บริหาร - ผู้ถือหุ้นใหญ่ บจ. ที่นำหุ้นไปวางค้ำประกันนอก TSD เพื่อป้องกันความเสี่ยงให้นักลงทุนรายย่อย คาดบังคับใช้ได้ในปี 68 !

 

*** บิ๊ก บจ.ย่องนำหุ้นตึ๊งภัยเงียบที่สะสมมานาน 

ช่วงที่ผ่านมา ในแวดวงตลาดหลักทรัพย์ฯของประเทศไทย มักจะมีข่าวผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ นำหุ้นของบริษัทตนเองออกไปวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน หลังจากนั้นก็เกิดเหตุการณ์ถูกบังคับขายหุ้น (Forced Sell) กันอยู่เนือง ๆ 


รวมทั้ง กรณีที่ผู้บริหาร บจ. หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ นำหุ้นไปฝากไว้กับผู้รับฝากหลักทรัพย์ (Custodian) ในต่างประเทศ แล้วเกิดกรณีไม่คาดคิดว่าหุ้นที่ได้นำไปฝากไว้นั้นถูกโอนหรือถูกขายออกไป อันเป็นผลจากการทำสัญญาให้สิทธิในการตัดสินใจขายแก่คู่สัญญา ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ ล้วนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์, ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียนหลายแห่ง ซึ่งความเสียหายดังกล่าวก็ถูกส่งผ่านมาถึงนักลงทุนรายย่อยหลายคนที่หลงเข้าไปลงทุนในบริษัทลักษณะนี้แบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ด้วย 

 

*** ทำความรู้จัก "ธุรกรรมหุ้นหลักประกัน"

สำหรับ 2 ธุรกรรมข้างต้นที่กล่าวมา มักถูกขนานนามว่า "ธุรกรรมหุ้นหลักประกัน" คือ การทำสัญญากู้ยืมเงินโดยการนำหุ้นของผู้กู้ไปวางเป็นหลักประกัน ซึ่งนอกจากเป็นการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เพื่อเปิดบัญชีซื้อขายหุ้นด้วยวงเงินที่สูงขึ้นที่รู้จักกันในนาม "บัญชีมาร์จิ้น" แล้ว ยังรวมถึงการทำสัญญากู้ยืมเงินโดยนำหุ้นไปจำนำเป็นหลักประกันสินเชื่อด้วย ซึ่ง ณ ปัจจุบัน การใช้หุ้นเป็นหลักประกันการชำระหนี้ นิยมใช้กัน 2 รูปแบบ ดังนี้ 


1.การนำหุ้นในรูปแบบใบหลักทรัพย์ (Scrip) ไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ คือ การทำสัญญาระหว่างผู้กู้ยืมและผู้ให้กู้ โดยผู้กู้ยืมจะส่งมอบหุ้นในรูปแบบ "ใบหลักทรัพย์" ให้เจ้าหนี้เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ และต้องมีการจดแจ้งการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันกับนายทะเบียน


2.การนำหุ้นในรูปแบบไร้ใบหลักทรัพย์ (Scripless) ที่ฝากไว้กับบริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด (TSD) ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ) ไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ คือ การนำหุ้นที่จดทะเบียนหรือหุ้นที่ฝากไว้กับ TSD ไปเป็นหลักประกันการชำระหนี้ โดยต้องมีการบันทึกการใช้หลักทรัพย์เป็นประกันกับบริษัทหลักทรัพย์ หรือ TSD 


ขณะเดียวกัน การนำหุ้นไปเป็นหลักประกันทั้ง 2 รูปแบบที่กล่าวมาข้างต้น จะไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในหุ้นให้แก่เจ้าหนี้ในทันทีที่มีการทำสัญญากู้ยืม โดยเจ้าหนี้จะสามารถนำหุ้นไปขายทอดตลาดได้ก็ต่อเมื่อมีการผิดนัดชำระหนี้ และเจ้าหนี้ได้ดำเนินการต่าง ๆ ตามกระบวนการบังคับหลักประกันแล้ว


อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา การนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันการกู้ยืมนั้น มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น โดยไม่ได้มีเพียงการทำสัญญากู้เงินเท่านั้น ยังอาจทำสัญญาตกลงโอนหลักประกันเพื่อนำหุ้นไปฝากไว้กับ Custodian ในต่างประเทศ ซึ่งเป็นบุคคลที่สามให้เป็นผู้เก็บรักษาหลักประกันไว้แทนผู้ให้กู้ เพื่อประโยชน์ในการบังคับหลักประกันเมื่อมีการผิดเงื่อนไขสัญญากู้เงินได้อีกด้วย

 

*** เปิด 2 ความเสี่ยง ที่มักเกิดจาก "ธุรกรรมหุ้นหลักประกัน"

ขณะที่ ความเสียหายจากการนำหลักทรัพย์ไปวางค้ำประกัน หรือ การทำ"ธุรกรรหุ้นหลักประกัน" มักเกิดจากความเสี่ยง 2 ข้อ ดังนี้ 


1.ความเสี่ยงจากการถูกบังคับขาย คือ วงเงินกู้ยืมอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามราคาหุ้นที่นำไปวางเป็นหลักประกันสำหรับบัญชีมาร์จิ้น เช่น หากราคาหุ้นที่นำไปวางเป็นหลักประกันไว้ลดลงมาก ๆ จนต่ำกว่าระดับที่เกณฑ์กำหนด อาจถูกบังคับขายหุ้นที่นำไปวางไว้เป็นหลักประกันตามสัญญาได้ นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังพบว่า การทำสัญญากู้ยืมเงินโดยนำหุ้นไปจำนำเป็นหลักประกันสินเชื่อ มีความเสี่ยงที่จะถูกบังคับขายหุ้นที่เป็นหลักประกันได้เช่นกัน
  

ดังนั้นนักลงทุนรายย่อย จึงควรใช้ความระมัดระวังในการเลือกลงทุนในหุ้นที่มีการนำไปเป็นประกันในสัดส่วนที่สูง เพราะในกรณีที่มีแรงเทขายจากการถูกบังคับขายออกมาเป็นจำนวนมาก อาจส่งผลให้ราคาหุ้นนั้นปรับตัวลดลงได้ (ผู้สนใจสามารถดูข้อมูล สรุปรายงานหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันการชำระหนี้ในบัญชีมาร์จิ้น ได้ที่เว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย https://shorturl.asia/w1489)


2.ความเสี่ยงด้านความน่าเชื่อถือ คือ ความน่าเชื่อถือของผู้ให้กู้ รวมถึงตัวแทนของบุคคลเหล่านี้ด้วย เช่น ตรวจสอบความมีตัวตนและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับบุคคลดังกล่าว โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้ให้กู้เป็นบริษัทหรือกองทุนจะต้องมีการนำหุ้นไปฝากไว้กับบุคคลที่สาม หรือ Custodian จึงต้องพิจารณาว่า Custodian นั้นเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) หรือไม่
 

ในกรณีที่มีการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกัน หรือ ฝากไว้กับ Custodian ในต่างประเทศแล้วเกิดกรณีไม่คาดคิด อาจติดตามได้ยากและต้องดำเนินการต่าง ๆ ตามกฎหมายของแต่ละประเทศ รวมทั้งอาจส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของบริษัทจดทะเบียน และทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงได้

 

*** หน่วยงานกำกับเล็งเห็นผลเสีย เตรียมสางปัญหาในปีนี้

"เอนก อยู่ยืน" รองเลขาธิการ ในฐานะโฆษกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ปัจจุบัน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาการออกหลักเกณฑ์ใหม่เพื่อให้ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ทั้งที่เป็นผู้บริหาร และไม่เป็นผู้บริหารเปิดเผยหรือรายงานกรณีการใช้หลักทรัพย์เป็นหลักประกันการชำระหนี้กู้ยืม


โดยเฉพาะการนำหลักทรัพย์ไปวางไว้เป็นหลักประกันแก่ Custodian ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะสามารถสรุปรายละเอียดหลักการณ์ รวมถึงช่องทางการเปิดเผยข้อมูลได้ภายในปีนี้ อีกทั้งยังคาดว่าเกณฑ์ดังกล่าว จะสามารถบังคับใช้ได้ตั้งแต่ปี 68 เป็นต้นไป


ทั้งนี้ปัจจุบันการนำหลักทรัพย์ไปวางไว้เป็นหลักประกันแก่ Custodian ไม่ได้มีการบันทึกข้อมูลหลักประกันในระบบของ TSD และไม่ได้อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่สามารถทราบได้ว่า ผู้บริหาร หรือผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน มีการนำหลักทรัพย์ไปวางเป็นหลักประกันไว้ที่ไหนบ้าง และเมื่อเกิดกรณีหุ้นสูญหาย จากการที่ Custodian ในฐานะผู้ให้กู้หรือผู้ให้วงเงินนำหุ้นไปขาย จึงทำให้เกิดผลกระทบต่อผู้ลงทุนตามมา


"มีโอกาสน้อยมากที่เราจะรู้ว่าผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้น มีการนำหุ้นไปจำนำนอกระบบ ซึ่งเราก็อยู่ระหว่างพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่ เพื่อให้มีการเปิดเผยหรือรายงานการนำหุ้นไปวางเป็นหลักประกันนอกระบบ เพื่อให้นักลงทุนได้ทราบ และใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนในหุ้นนั้น ๆ"เอนก กล่าว


ด้าน "รองรักษ์ พนาปวุฒิกุล" รองผู้จัดการ ในฐานะโฆษกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันการใช้หุ้นเป็นหลักประกันการชำระหนี้กู้ยืมนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งรูปแบบที่หน่วยงานกำกับดูแลมีข้อมูลได้แก่ การกู้ยืมกับบริษัทหลักทรัพย์ เพื่อซื้อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ (Margin Loan) ซึ่งมีการเปิดเผยข้อมูลให้นักลงทุน และการกู้ยืมหรือขอวงเงินกับผู้ให้กู้ หรือ "การจำนำหุ้น" ที่ทำผ่านระบบ TSD ซึ่งตลาดหลักทรัพย์มีข้อมูลอยู่แล้ว


ขณะเดียวกัน มีธุรกรรมบางประเภทที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน ก.ล.ต. อยู่ระหว่างศึกษาวิธีการเปิดเผยข้อมูล หรือกำหนดเกณฑ์การรายงานข้อมูลเพิ่มเติม คือ การจำนำหุ้นผ่าน Custodian ต่างประเทศ ซึ่งไม่มีการบันทึกข้อมูลผ่านระบบ TSD ว่ามีการนำหลักทรัพย์ใดไปวางเป็นหลักประกัน ทำให้เมื่อผู้ให้กู้มีการสั่งขายหุ้นตามข้อกำหนดที่ได้ตกลงไว้ในสัญญา อาจนำไปสู่การปรับตัวลดลงของราคาหุ้นอย่างรุนแรงโดยไม่มีสาเหตุหรือข้อมูลที่เพียงพอ ดังที่เคยปรากฏเป็นข่าวตามสื่อก่อนหน้านี้







ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด