ไอพีโอปีนี้ไม่ปัง ปิดวันแรกต่ำจองถึง 19 บริษัท จาก 32 บริษัท มีถึง 7 บริษัท ดิ่งแรงเกิน 30% วงการชี้สภาพตลาดไม่เอื้ออำนวย - แถมตั้งราคาขายแพงกว่าที่ควรจะเป็น มองปีหน้าจำนวนหุ้นไอพีโอลดลง หลังตลท.คุมเข้มขึ้น แต่จะได้หุ้นมีคุณภาพขึ้น ชี้ช่วงนี้ไม่ควรเก็งกำไรระยะสั้ง - แนะมองหาหุ้นพื้นฐานแกร่ง - Valuation ไม่แพง ถือลงทุนระยะกลาง - ยาว !
*** IPO ปีนี้ฝืด ปิดวันแรกต่ำจองถึง 19 บริษัท
ตั้งแต่ต้นปี 66 มีหุ้น IPO เข้าซื้อ - ขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แล้ว จำนวน 32 บริษัท แต่หากพิจารณาผลตอบแทนราคาหุ้นวันปิดซื้อ - ขายวันแรก เทียบกับราคาจองซื้อ IPO ถือว่า ค่อนข้างน่าผิดหวัง
เนื่องจากปีนี้ มีถึง 19 บริษัท จากทั้งหมด 32 บริษัท ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นเป็นลบ หากอ้างอิงราคาปิดซื้อ - ขายวันแรก เทียบกับราคาจองซื้อหุ้น IPO
ช้ำไปกว่านั้น คือ มีถึง 7 บริษัท ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นวันแรก ดิ่งจากราคาจองซื้อ IPO มากกว่า 30% เลยทีเดียว ไล่ตั้งแต่ บมจ.พรีเมียร์ควอลิตี้สตาร์ช (PQS) ที่ติดลบหนักสุด 42%, บมจ.วินโดว์ เอเชีย (WINDOW) ติดลบ 39.52%, บมจ.มาร์เก็ต คอนเน็กชั่นส์ เอเชีย (MCA) ติดลบ 38.18%
ขณะที่ บมจ.เชฎฐ์ เอเชีย (CHASE) ติดลบ 36.55%, บมจ.เด็กซ์ซอน เทคโนโลยี (DEXON) ติดลบ 36.44%, บมจ.ไทยพาร์เซิล (TPL) ติดลบ 32.73% และ บมจ.บางกอกแล็ป แอนด์ คอสเมติค (BLC) ติดลบ 31.43%
*** กูรูมองปัจจัยกดดันหลักภาวะไม่เอื้อ - ตั้งราคาแพง !
"สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) มองว่า หุ้น IPO ที่ให้ผลตอบแทนไม่ดีในระยะหลัง ปัจจัยกดดันหลัก ๆ มาจากภาวะตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับ ต้องพิจารณาราคาเสนอขายหุ้น IPO แต่ละบริษัทด้วย ว่ามีความสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน ในสถานการณ์ปัจจุบัน
สอดคล้องกับ"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า ที่มองว่า สาเหตุที่ทำให้ผลตอบแทนหุ้น IPO ระยะหลังไม่ดี มาจากภาวะตลาดไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับ หลายบริษัทตั้งราคาขายหุ้น IPO ค่อนข้างแพง ทำให้เวลาราคาหุ้นปรับตัวลง จะปรับตัวลงแรงด้วยเช่นกัน
ส่วน"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการ บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ เสริมว่า สาเหตุที่ผลตอบแทนหุ้น IPO ในระยะหลังไม่ดี ปัจจัยหลัก มาจากสภาพตลาดหุ้นไม่เอื้ออำนวย อีกทั้ง มูลค่าการซื้อ - ขายเฉลี่ย/วัน ยังอยู่ในระดับต่ำเพียง 4.4 หมื่นล้านบาท/วัน อีกด้วย
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯยังมีกลไกแจ้งเตือนราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นแรงอย่างไม่สมเหตุสมผลด้วย ยิ่งทำให้การดันราคาหุ้นในระยหลังทำได้ยากขึ้นนั่นเอง
*** เร่งเข้าตลาดหนีกฏเข้ม ทำตัวเลือกล้นด้วย
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กล่าวต่อว่า อีกปัจจัยลบที่กดดันผลตอบแทนหุ้น IPO ปีนี้ คือ หลาย ๆ บริษัท รีบเร่งเข้าตลาดหุ้นเพื่อหลีกเลี่ยงกฏใหม่ที่เข้มงวดของตลาดหลักทรัพย์ฯในปีหน้า ทั้ง ๆ ที่งบการเงินส่วนใหญ่ไม่โดดเด่นเท่าไรด้วย ยิ่งทำให้มูลค่า (Valuation) หุ้นไม่น่าสนใจด้วย
ขณะที่ "สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ มีหุ้น IPO เข้าซื้อ - ขายจำนวนมาก เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงกฏที่เข้มงวดมากขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ฯในปีหน้า ยิ่งทำให้การให้ความสนใจของนักลงทุนรายย่อยต่อหุ้น IPO อาจไม่สามารถมีได้อย่างเต็มที่
เนื่องจากต้องยอมรับว่า การให้ข้อมูลข่าวสาร - แผนธุรกิจ ต่อนักลงทุนรายย่อย และทำให้กลุ่มดังกล่าวเข้าใจต่อแผนธุรกิจของบริษัทเป็นเรื่องยากมาก ในจังหวะที่ตัวเลือกเข้ามาพร้อมกันในจำนวนมาก ๆ จึงมีส่วนไม่น้อยที่ทำให้นักลงทุนถือหุ้นอยู่ไม่นาน เพราะไม่อินกับแผนธุรกิจระยะยาวของบริษัท
*** วงการมองปีหน้าหุ้น IPO ลดลง แต่คุณภาพดีขึ้น
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ระบุว่า การเปลี่ยนกฏควบคุมหุ้น IPO ปีหน้า ที่จะมีความเข้มงวดมากขึ้น แน่นอนว่า จะทำให้จำนวนหุ้น IPO ปี 67 ลดลงจากปีนี้อย่างแน่นอน
แต่ข้อดี คือ หุ้นที่เข้ามาจะมีคุณภาพมากขึ้น และเป็นหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับพอสมควร ดังนั้น จึงคาดว่า จะไม่ค่อยได้เห็นหุ้นที่ราคาปรับตัวลงแรงอย่างมีนัยสำคัญมากเท่าใดนัก
เช่นเดียวกับ "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" ที่มองว่า หุ้น IPO ที่จะเข้าซื้อ - ขาย ในปี 67 จะมีจำนวนลดลงจากปี 66 เนื่องจากกฏเกณฑ์ใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้นของตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ด้วยเศรษฐกิจไทย - โลก ปีหน้า ที่มีแนวโน้มจะฟื้นตัวขึ้นจากปีนี้ ก็อาจทำให้ตลาดหุ้นกลับมาคึกคักอีกครั้ง และการลงทุนในหุ้น IPO ก็จะกลับมามีความน่าสนใจมากขึ้นได้เช่นกัน
ขณะที่ "สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร" มองว่า แม้ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการนำกฏที่มีความเข้มงวดเข้ามาคุมเข้มมากขึ้น แต่ก็คงไม่ทำให้จำนวนหุ้น IPO ปีหน้าลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน ยังมีความต้องการในการเข้ามาระดมทุนจำนวนมาก เพียงแต่การเปลี่ยนกฏที่เข้มงวดขึ้น จะช่วยคัดกรองคุณภาพหุ้นให้ดีขึ้น
ส่วน "วิชา โตมานะ" กรรมการผู้จัดการ สายงานวาณิชธนกิจ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เสริมว่า สถานการณ์หุ้น IPO ปี 67 น่าจะยังมีความคึกคัก แม้ตลาดหลักทรัพย์ฯจะมีกฏควบคุมที่เข้มงวดมากขึ้นก็ตาม เนื่องจากตลาดทุนยังเป็นแหล่งระดมทุนที่ได้รับความนิยมของหลาย ๆ บริษัท โดยเฉพาะในยามที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูงแบบนี้ด้วย
*** อยากลงทุนหุ้น IPO ต้องทำอย่างไร ?
"สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร" กล่าวว่า สำหรับนักลงทุนที่อยากลงทุนหุ้น IPO แต่ไม่สามารถจองซื้อหุ้นได้ทัน สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ พิจารณาปัจจัยพื้นฐานของหุ้นตัวนั้น ๆ เสียก่อน ว่า มีความแข็งแกร่งมากน้อยแค่ไหน และต้องศึกษาแผนธุรกิจของบริษัทอย่าละเอียด ว่า จะสามารถสร้างการเติบโตในอนาคตได้จริงหรือไม่ ?
ส่วน กลยุทธ์ลงทุนหุ้น IPO ช่วงนี้ แนะนำ เลือกหุ้นรายตัวที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต ถือลงทุนระยะกลาง - ยาว ไม่แนะนำให้เข้าไปเก็งกำไรระยะสั้น (Day Trade) เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงที่จะขาดทุน เพราะภาวะตลาดหุ้น ณ ปัจจุบัน ยังมีความผันผวนสูง
ด้าน"วิชา โตมานะ" ระบุว่า นักลงทุนที่จองซื้อหุ้น IPO ไม่ทัน แต่อยากเข้าไปลงทุนในหุ้นดังกล่าว แน่นอนว่า ต้องศึกษาปัจจัยพื้นฐานของบริษัทอย่างละเอียด และพิจารณาแผนการดำเนินงานในระยะกลาง - ยาว ของบริษัท ว่า มีศักยภาพในการเติบโตมากน้อยแค่ไหน และที่สำคัญ ต้องให้ความสำคัญกับราคาเหมาะสมของหุ้นด้วย ว่า ราคา ณ ขณะนั้น แพงไปหรือยัง ?
ขณะที่ กลยุทธ์ลงทุนหุ้น IPO ช่วงนี้ แนะนำนักลงทุนมองหาหุ้นหุ้นที่มีศักยภาพเติบโตในระยะกลาง - ยาว และเข้าไปถือลงทุนแบบกลาง - ยาว ยังเชื่อว่า มีโอกาสที่จะทำกำไรได้ โดยไม่แนะนำให้ลงทุนระยะสั้น เพราะมีความเสี่ยงสูง จากภาวะตลาดหุ้นที่ยังมีความผันผวนในช่วงนี้
ฟาก "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ปิดท้ายว่า นักลงทุนที่ไม่สามารถจองซื้อหุ้น IPO ได้ แต่มีความต้องการเข้าไปลงทุนหุ้น IPO ตัวนั้น ๆ จริง ๆ แนะนำอย่าเพิ่งเข้าไปซื้อหุ้นวันแรกที่มีการซื้อ - ขาย เนื่องจากวันดังกล่าว ยังเป็นช่วงของการเก็งกำไรมากเกินไป ทำให้ราคาผันผวนเกินความเป็นจริง แนะนำให้รอดู Valuation ที่เหมาะสมหลังจากนั้น และจึงค่อยเข้าสะสมหุ้น
สำหรับ กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ ด้วยความที่ตลาดยังผันผวนจึงยังไม่แนะนำให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงเท่าใดนัก แต่สำหรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง และมีความต้องการเข้าไปลงทุนในหุ้น IPO แนะนำดู Valuation เป็นรายตัว ว่า อยู่ในระดับที่เหมาะสม และรับได้หรือไม่ ควบคู่กับพื้นฐานของธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโต จึงค่อยตัดสินใจเข้าลงทุน