efinancethai

ประเด็นร้อน

กางสถิติ"โรบอทเทรด"ไม่กระทบดัชนีฯ - ไม่พบ"Naked Short"ตั้งแต่ปี 64

กางสถิติ

ตลท.เปิดสถิติ "โรบอทเทรด" ไม่มีผลกดดันดัชนี โดยเฉพาะกลุ่ม High-Frequency Trading ที่มีสัดส่วนเพียง 11% ของวอลุ่มรวม ยันไม่มีเอี่ยวทุบหุ้นผ่าน Short Sale เหตุสัดส่วนต่ำไม่ถึง 10% แถมไม่พบ "Naked Short" ตั้งแต่ปี 64 หลังคุมเข้มการซื้อขาย

 

*** ตลท.เผย HFT มีสัดส่วนแค่ 11% 

การส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นผ่านโปรแกรมอัตโนมัติ (Program Trading) หรือ ที่เรียกกันทั่วไปว่า "โรบอทเทรด" มักจะตกเป็นหนึ่งในจำเลยสำคัญเวลาเกิดความผันผวนของตลาดหุ้นไทยช่วงหลายปีหลัง นอกจากปัจจัยลบด้านเศรษฐกิจ, การเมือง รวมถึงภัยภิบัติต่าง ๆ  ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่โปรแกรมเทรดเน้นการซื้อขายแบบความเร็วสูง หรือ High-Frequency Trading (HFT) ซึ่งกลุ่มนี้จะไม่นิยมถือหุ้นนาน ส่วนใหญ่ปิด Position การซื้อขายในวันเดียว จึงถูต้องสงสัยว่าเป็นตัวการสร้างความผันผวนในดัชนีขึ้นลงเร็ว-แรง รวมถึงหุ้นขนาดกลาง-เล็กบางบริษัท

แต่รู้ไหมว่า ข้อเท็จจริงจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยสถิติการซื้อขายของ HFT ณ สิ้นไตรมาส 1/66 มีสัดส่วนเพียง 11% ของมูลค่าการซื้อขายรวม โดยอีก 21% เป็นการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดเช่นกัน แต่เป็นแบบ Non-HFT รวมการซื้อขายผ่านโปรแกรมเทรดทั้งหมดคิดเป็นสัดส่วน 34% ของมูลค่าซื้อขายรวมทั้งตลาดฯ ที่สำคัญ 70% ของกลุ่มที่ใช้โปรแกรมเทรดเป็นการซื้อขายหุ้นใน SET50 ต่างจากสถิติการซื้อขายของผู้ลงทุนรายย่อยในประเทศที่ซื้อขายหุ้นขนาดกลาง-เล็กเป็นหลักสัดส่วน 50-60% 

 

*** ไม่ได้เป็นตัวการทุบหุ้น

สำหรับข้อกล่าวหาว่าการใช้โปรแกรมเทรด มีการซื้อขายและทำ Short Sale กดดันราคาหุ้นให้ลดต่ำลงภายในระยะเวลาสั้น ๆ ตลท.เผยสถิติหุ้นที่ราคาลดลงมากกว่า 30% ในไตรมาส 1/66 หรือมีราคาลดลงภายในวันใดวันหนึ่งมากกว่า 20% ในไตรมาส 1/66 มีหุ้นที่เข้าข่ายทั้งสิ้น 28 บริษัท เป็นหุ้นใน SET50 จำนวน 2 บริษัท หุ้นใน SET51-100 จำนวน 2 บริษัท นอก SET100 จะนวน 16 บริษัท และ mai จำนวน 8 บริษัท พบว่า...

1.มูลค่าซื้อขายชอร์ตใน 28 หุ้นดังกล่าว ส่วนใหญ่อยู่ในระดับต่ำ มี 9 จาก 28 หุ้นที่มีการขาย Short Sale และมีเพียง 2 จาก 9 หุ้น ที่มีสัดส่วนมูลค่า Short Sale เกินกว่า 10% แต่ไม่เกิน 15% ของมูลค่าซื้อขายรวมของหุ้นนั้น ๆ ซึ่ง 2 หุ้นดังกล่าวอยู่ใน SET50 คือ  JMART และ JMT โดยผู้ลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมเทรดมีบทบาทขาย Short Sale เพียง 6 และ 7% เท่านั้น 

2.ผู้ลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมเทรด มีบทบาทการซื้อขายหุ้นกลุ่มดังกล่าวค่อนข้างต่ำ กลับกันเป็นนักลงทุนบุคคลในประเทศ ที่มีบทบาทการซื้อขายเกิน 70% ใน 24 จาก 28 หุ้นดังกล่าว ซึ่งหุ้นทั้ง 28 บริษัทมีผู้ลงทุนต่างชาติใช้โปรแกรมเทรดซื้อขายไม่เกิน 15% ของมูลค่าซื้อขายรวมแต่ละหุ้น และบางบริษัทไม่มีการเข้าซื้อขายด้วยโปรแกรมเทรดเลย

ดังนั้น ตลท.สรุปได้ว่า ความเชื่อที่ว่าผู้ลงทุนต่างชาติที่ใช้โปรแกรมเทรดและ HFT ซื้อขายหุ้นและทำ Short Sale จนทำให้หุ้นในตลาดฯ ร่วงลงแรง เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะหุ้นลงแรงช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ซื้อขายกันโดยผู้ลงทุนบุคคลเป็นหลัก 

 

*** ไม่พบ Naked Short มาตั้งแต่ปี 64

สำหรับกรณี "Naked Short Sale" ได้ยกระดับการดูแลเข้มงวดมาตั้งแต่ปี 61 หลังพบผู้กระทำผิดด้วยวิธีการ "Naked Short Sale" ถึง 5 รายช่วงปี 60-61 โดย ตลท.ตรวจสอบการซื้อขายของผู้ลงทุนทุกรายการที่พบว่ามีปริมาณ Short Sale สูง หรือ ซื้อขายในลักษณะ Day Trading ที่ขายก่อนซื้อโดยไม่มี Outstanding เพียงพอ และได้สอบถามไปยังบริษัทหลักทรัพย์สมาชิกเพื่อประเมินว่ามีหุ้นเพียงพอก่อนขายหรือไม่ ซึ่งหลังจากนั้นปี 62-63 พบการกระทำผิดลดลงเหลือ 2 ราย ขณะที่ตั้งแต่ปี 64 ถึงปัจจุบัน ยังไม่พบผู้กระทำผิดจากกรณี "Naked Short Sale"

ทั้งนี้ เพื่อให้ข้อมูลแก่ผู้ลงทุนในการตัดสินใจซื้อขาย ตลท.ได้เริ่มเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายในตลาดเมื่อพบกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เช่น ราคา, ปริมาณการซื้อขาย, %Turnover, ปัจจัยพื้นฐาน และการกระจุกตัวของผู้ซื้อขาย เป็นต้น 

นอกจากนี้ ตลท.เตรียมเพิ่มการเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับสัดส่วนการซื้อขายด้วยโปรแกรมเทรด และ Short Sale ของหุ้นรายตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อประกอบการตัดสินใจของผู้ลงทุนที่ชัดเจนขึ้น และลดข้อสงสัยหรือความเข้าใจที่อาจคลาดเคลื่อนในกลุ่มผู้ร่วมตลาด

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด