efinancethai

ประเด็นร้อน

ไฮยีลด์บอนด์น่าเป็นห่วง ความเชื่อมั่นหาย-เสี่ยงโรลโอเวอร์ยาก

ไฮยีลด์บอนด์น่าเป็นห่วง ความเชื่อมั่นหาย-เสี่ยงโรลโอเวอร์ยาก

ไฮยีลด์บอนด์ (High Yield Bond) ใช้เรียกตราสารหนี้หรือหุ้นกู้ที่ อันดับเครดิตเรทติ้งต่ำกว่าระดับที่สามารถลงทุนได้ (Non Investment Grade) หรือต่ำกว่า BBB- ไปจนถึง กลุ่มที่ไม่มีการจัดอันดับเครดิต (Unrated Bond) ส่วนใหญ่จะเป็นธุรกิจขนาดกลาง-เล็กที่มีปัญหาการหาแหล่งเงินทุนจากสถาบันการเงิน จึงใช้วิธีการระดมทุนผ่านการขายหุ้นกู้แทน โดยจะให้ผลตอบแทนสูงกว่าหุ้นกู้ปกติ (มากสุดในระบบถึง 9.92%ต่อปี)  เพื่อจูงใจนักลงทุน ปัจจุบันจะขายให้กลุ่มนักลงทุนสถาบันกับนักลงทุนรายใหญ่ (High Net Worth) เท่านั้น เพราะถือเป็นตราสารที่มีความเสี่ยงสูงมาก และมักเกิดปัญหาการผิดนัดชำระบ่อยครั้ง 

 

*** ปีนี้เบี้ยวกันเพียบอีกแล้ว มูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท

ที่จริงปัญหาการผิดนัดชำระหุ้นกู้ทุเลาไปพักใหญ่ แต่ปีนี้กลับอักเสบขึ้นมาอีกแล้ว จากปัญหาเดิม ๆ คือ "ขาดสภาพคล่องทางการเงิน" โดยเฉพาะกลุ่ม บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มหุ้นกู้ประเภท High Yield Bond ทั้งนั้น มีทั้งเบี้ยวไม่จ่ายเลย, จ่ายได้บางส่วน และขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้ขยายเวลาชำระรวมถึงปรับเงื่อนไขใหม่ ประกอบด้วย

1.บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) : ผิดนัดชำระหุ้นกู้ 7 รุ่น รวมมูลค่าหนี้คงค้าง 2,334.20 ล้านบาท 
2.บมจ.ช ทวี (CHO) : เคยผิดนัดชำระหุ้นกู้ 1 ชุด จนถูกเรียก Call Default ในหุ้นกู้ที่เหลือ ซึ่งมีทั้งสิ้น 4 ชุด มูลค่ารวม 745.69 ล้านบาท ยังดีที่ภายหลังผู้ถือหุ้นกู้ใจดี อนุมัติให้ยกเลิก Call Default พร้อมปรับเงื่อนไขใหม่ และยืดขยายเวลาชำระหนี้เพิ่มให้  
3.บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) : ไฮไลต์ของปีนี้เลย เพราะนอกจากแต่งงบการเงินจนผิดเพี้ยน ยังผิดนัดชำระหุ้นกู้จำนวน 5 รุ่น รวมมูลค่าหนี้คงค้างถึง 9,198.40 ล้านบาท
4.บมจ.คันทรี่ กรุ๊ป ดีเวลลอปเมนท์ (CGD) : รายนี้ขอผู้ถือหุ้นกู้ให้อนุมัติขยายระยะเวลาครบกำหนดไถ่ถอนหุ้นกู้ออกไปอีก 1 ปี และพิจารณาอนุมัติการแบ่งชำระคืนเงินต้นหุ้นกู้บางส่วน ของหุ้นกู้ 2 ชุดที่จะครบกำหนด ต.ค.นี้ โดยทั้ง 2 ชุด มีมูลค่าคงค้างรวม 669.7 ล้านบาท 5.บมจ.เจเคเอ็น โกลบอล กรุ๊ป (JKN) : รายล่าสุด ไม่สามารถชำระหุ้นกู้รุ่น JKN239A ซึ่งครบกำหนดไถ่ถอน 1 ก.ย.ที่ผ่านมา สามารถจ่ายได้เพียง 156.6 ล้านบาทเท่านั้น จากมูลค่าเงินต้นและดอกเบี้ยรวม 609.98 ล้านบาท และจะขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นกู้ 29 ก.ย.นี้ เพื่อขยายเวลาชำระออกไป

กลุ่มนี้คือ บจ.ที่ยังซื้อขายกันปกติในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ก่อนที่จะมีปัญหา ซึ่งหลังจากแจ้งว่าผิดนัดชำระทำให้ราคาหุ้นโดยกระหน่ำขายสร้างความเสียหายมหาศาล บางรายก็โดยพักการซื้อขายยาวไปเลย บางรายกลับเทรดได้ แต่ก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เรียกว่าสร้างความเสียหายหลายเด้งกระทบเป็นวงกว้าง

นี่ยังไม่นับรวมกลุ่มที่ถูกพักการซื้อขายอยู่แล้ว และกลุ่มบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยรายงานจากสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) พบว่า หุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) ณ  1 ก.ย.66 มีอยู่ทั้งหมด 7 บริษัท จำนวน 23 รุ่น รวมมูลค่ากว่า 19,039.96 ล้านบาท 

 

*** กระทบความเชื่อมั่น เสี่ยงโรลโอเวอร์ยาก

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ปัญหาการผิดนัดชำระหุ้นกู้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการออกหุ้นกู้ชุดใหม่เพื่อทดแทนหุ้นกู้ชุดเดิม (Roll Over) ของกลุ่มไฮยีลด์บอนด์ ที่หลายรายขายไม่หมด ขายได้ไม่เต็มวงเงินเป้าหมายที่ตั้งไว้ เพราะนักลงทุนระมัดระวังความเสี่ยงมากขึ้น อย่างไรก็ตามหุ้นกู้กลุ่มที่อยู่ในระดับสามารถลงทุนได้ (Investment Grade) ยังสามารถขายได้ปกติ 

นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ประเมินว่า สถานการณ์หุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์บอนด์ขณะนี้น่าเป็นห่วง เพราะมีการผิดนัดชำระเกิดขึ้นหลายบริษัทเกินไป ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้มีการชะลงทุนต่อหรือลงทุนในตราสารหนี้ตัวใหม่ที่ออกมาเพื่อโรลโอเวอร์ชุดเดิม แม้จะมีการเพิ่มผลตอบแทน แต่ความเสี่ยงการผิดนัดชำระเป็นเรื่องที่สำคัญหว่า แต่มองว่ายังไม่ถึงขั้นวิกฤติในตลาดหุ้นกู้ เพียงแต่จะกระทบความเชื่อมั่นระยะสั้นเท่านั้น

ด้านแหล่งข่าวผู้บริหารบริษัทที่ปรึกษาทางการเงิน ระบุว่า หุ้นกู้กลุ่มไฮยีลด์บอนด์ที่กำลังจะขายในช่วงที่เหลือของปีนี้ หากเป็น บจ.มีชื่อเสียง มีเครดิตเรตติ้งตั้งแต่ระดับ BBB ขึ้นไป อยู่ในกลุ่มธุรกิจไฟแนนซ์ หรือ บริษัทลูกในเครือธุรกิจขนาดใหญ่ อาจจะยังสามารถเสนอขายได้อยู่ แต่หากเป็น บริษัทนอกตลาดฯ หรือไม่มีชื่อเสียงมากพอ และไม่มีกลุ่มนักลงทุนประจำที่เหนียวแน่น รวมถึงมีเครดิตเรตติ้งระดับต่ำกว่า BBB มีโอกาสที่จะขายไม่หมด และขายยากขึ้น เพราะนักลงทุนจะระมัดระวังเป็นพิเศษ หลังจากมีการผิดนัดชำระเกิดขึ้นบ่อยครั้ง

 

*** พบไฮยีลด์บอนด์จ่อครบดีลปีนี้กว่า 1.1 หมื่นล้านบาท

"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" จึงได้สำรวจข้อมูลเพิ่มเติมจาก ThaiBMA  พบว่า ช่วง 4 เดือนที่เหลือของปีนี้ มี 19 บจ. ที่หุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ ถึงกำหนดชำระคืน มูลค่ารวมกัน 1.1 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย
 

จับตา 19 หุ้นกู้ไฮยีลด์บอนด์ จ่อครบกำหนดปีนี้

ชื่อย่อหุ้น

มูลค่า (ลบ.)

อันดับเครดิต เรทติ้ง*

%ดอกเบี้ย

จำนวน (ชุด)

หมดอายุ

MK

1,565

BB+

5.75

1

1-ธ.ค.

EP

1,520

BB+

5.25 - 5.6

2

17 ก.ย./1ต.ค.

THAI

1,000

n/a

3.66

1

23-ธ.ค.

MJD

950

BB

6.25 - 6.8

2

5 ต.ค./7 พ.ย.

CI

950

n/a

6.7

1

29-ธ.ค.

RML

752

n/a

6.3

1

11-ต.ค.

ANAN

746

BB+

4.5

1

2-ต.ค.

PF

672

n/a

6.8

1

10-พ.ย.

TNITY

402

n/a

3.3 - 3.8

3

8 ก.ย./3 พ.ย.

SA

400

n/a

6.8

1

29-ต.ค.

CHEWA

400

n/a

7.25

1

24-ธ.ค.

RICHY

378

n/a

6.8

1

3-ธ.ค.

KCC

350

n/a

6.5

1

12-ต.ค.

MICRO

349

BB+

5.25

1

29-ต.ค.

ECF

340

n/a

6.8

1

8-ธ.ค.

INET

300

n/a

5

1

9 ก.ย.

ASK

250

n/a

2.5

2

17-ต.ค.

GRAND

230

n/a

7.5

1

28-ต.ค.

CMO

100

n/a

6.5

1

27-พ.ย.

หมายเหตุ : ข้อมูลชุดนี้นำเสนอข้อเท็จจริงที่ปรากฎในสมาคมตราสารหนี้เท่านั้น

ไม่ได้มีเจตนาว่าหุ้นกู้ของ บจ.กลุ่มนี้จะไม่สามารถชำระหนี้ตามระยะเวลาได้แต่อย่างใด

ที่มา : สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bma) ณ 1 ก.ย.66

*อันดับเครดิตเรทติ้ง จากทริส เรทติ้ง

 

*** เปิดกลยุทธ์ลงทุนหุ้นกู้

ทั้งนี้ "ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์" หัวหน้านักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) แนะนำ 3 แนวทางพิจารณาลงทุนหุ้นกู้ ประกอบด้วย 1.ไม่นำเงินทั้งหมดไปลงทุนในไฮยีลด์บอนด์ เพราะมีความเสี่ยงสูง แม้จะจูงใจด้วยอัตรดอกเบี้ยมากแค่ไหนก็ตาม 2.ประเมินแนวโน้มบริษัทที่จะขายหุ้นกู้ให้รอบคอบ ทั้งผลการดำเนินงานที่ผ่านมาและในอนาคต  และ 3. หากนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่ได้ชัดเจนและยังเป็นด้านลบกับตลาดตราสารหนี้ หรือเป็นลบกับสภาพคล่องอาจจะต้องไม่เป็นต้องรีบร้อนเข้าไปลงทุน

เช่นเดียวกับ "อริยา ติรณะประกิจ" มองว่า ในภาวะเศรษฐกิจที่มีการชะลอตัว เมื่อบริษัทขนาดกลาง - ขนาดเล็กที่มีสายป่านไม่ยาวจะขายหุ้นกู้ นักลงทุนต้องมีการศึกษาให้ดี มากกว่าที่จะดูอัตราดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว ควรพิจารณาเรื่องของความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออก แม้ว่าแต่ละครั้งที่ออกหุ้น ก.ล.ต.จะให้มีการเปิดเผยข้อมูลเป็นหลักแล้วก็ตาม เช่น ดูความสามารถในการชำระหนี้ อัตราส่วนสภาพคล่อง อัตราส่วนรายได้เพียงพอที่จะควบคุมดอกเบี้ยจ่ายในแต่ละปีหรือไม่ แม้แต่ตัวผู้บริหารเองก็ต้องประเมินว่ามีความน่าเชื่อถือหรือไม่ หรือบริษัทที่มีประวัติที่หวือหวาก็ต้องดูอย่างรอบครอบ เพราะบางบริษัทอาจจะมีการเน้นการเติบโต มีการลงทุนมาก ๆ ถ้าพิจารณาเป็นหลักทรัพย์การลงทุนในหุ้น ๆ ตัวนั้นอาจจะมีศักยภาพที่มีการเติบโตสูง และสภาพคล่องเป็นอย่างไร 

ด้าน "ชัชชัย สฤษดิ์อภิรักษ์" กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน (บลจ.) กสิกรไทย เพิ่มเติมว่า กลยุทธ์การลงทุนหุ้นกู้ของนักลงทุนสถาบันในขณะนี้ส่วนใหญ่คัดสรรการลงทุนหุ้นกู้ระดับ Investment Grade ขึ้นไป รวมถึงวิเคราะห์ศักยภาพของธุรกิจ โดยจะต้องมีหนี้สินไม่สูงเกินไป และมีสภาพคล่อง คัดเลือกธุรกิจ และผู้บริหารที่รู้จักเป็นอย่างดี ไม่ใช่แค่เป็นที่รู้จักโดยทั่วไป นอกจากนี้ก็จะไม่พิจารณาลงทุนหากเป็นหุ้นกู้ของบริษัทที่ไม่มีเครดิตเรทติ้ง

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด