ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา หุ้น Non-Bank ปรับตัวขึ้นยกแผงเฉลี่ย 38% ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นสูงสุดของ SET ด้วย รับอานิสงส์รัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ - ดอกเบี้ยใกล้พลิกเป็นขาลง แต่โบรกฯชี้ช่วงที่เหลือของปียังต้องระวังคุณภาพสินทรัพย์ - NPL ยังน่าห่วง อาจกดหุ้นระยะถัดไปได้ แต่ประเมินกำไรปี 67 - 68 เติบโตต่อเนื่อง หนุนโดยสินเชื่อโตแรง 10 - 20% แนะรอซื้อหุ้นพื้นฐานแกร่งตอนย่อตัว ชู "MTC" เด็ดสุดในกลุ่ม !
*** 1 เดือนล่าสุด หุ้น Non-Bank บวกยกแผงถึง 38%
ช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา กลุ่มธุรกิจสินเชื่อ (Non-Bank) เป็นกลุ่มที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นสูงที่สุดเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยในช่วงดังกล่าว ราคาหุ้นกลุ่มสินเชื่อปรับตัวขึ้นเฉลี่ยถึง 38% ซึ่งการปรับตัวขึ้นดังกล่าว ยังเป็นระดับที่สูงกว่าการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ที่ปรับตัวขึ้น 12% อีกด้วย
ตารางแสดงความเคลื่อนไหวราคาหุ้น
|
ชื่อย่อหุ้น
|
ราคาปิด 12 ก.ย. (บ.)
|
%chg 1 m
|
SCAP
|
2.3
|
119.05
|
HENG
|
1.58
|
59.60
|
MICRO
|
1.56
|
56.00
|
AMANAH
|
1.5
|
53.06
|
S11
|
2.58
|
48.28
|
NCAP
|
2.18
|
46.31
|
SAWAD
|
42
|
46.09
|
ASK
|
14.4
|
41.18
|
TIDLOR
|
17.8
|
30.88
|
ML
|
0.6
|
27.66
|
AEONTS
|
140
|
27.27
|
MTC
|
49.5
|
22.22
|
SAK
|
5.5
|
19.57
|
THANI
|
2.1
|
19.32
|
KTC
|
45.25
|
14.56
|
SGC
|
1.6
|
14.29
|
IFS
|
2.56
|
9.40
|
หากอ้างอิงจากข้อมูลความเคลื่อนไหวราคาหุ้นของกลุ่ม Non-Bank พบว่า ในช่วงดังกล่าว ราคาหุ้นทั้ง 17 บริษัทในกลุ่มสินเชื่อปรับตัวขึ้นทั้งหมด ตั้งแต่ 9.40 - 119.05% เลยทีเดียว
โดย บมจ.ศรีสวัสดิ์ แคปปิตอล 1969 (SCAP) เป็นบริษัทที่ราคาหุ้นช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นมากที่สุดในกลุ่มถึง 119.05% รองลงมา คือ บมจ.เฮงลิสซิ่ง แอนด์ แคปปิตอล (HENG) ที่ราคาหุ้นช่วงดังกล่าวปรับตัวขึ้นถึง 59.60%
นอกจากนั้น ยังมีอีกถึง 6 บริษัทในกลุ่ม Non-Bank ที่ราคาหุ้นช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นมากกว่า 40% ประกอบด้วย บมจ.ไมโครลิสซิ่ง (MICRO) ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 56%, บมจ.อะมานะฮ์ ลิสซิ่ง (AMANAH) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 53.06%, บมจ.เอส 11 กรุ๊ป (S11) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 48.28%
ขณะที่ บมจ.เน็คซ์ แคปปิตอล (NCAP) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 46.31%, บมจ.ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น (SAWAD) ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 46.09% และ บมจ.เอเซียเสริมกิจลีสซิ่ง (ASK) ที่ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 41.18%
*** กูรูชี้มีแรงเก็งกำไรรัฐบาลกระตุ้นเศรษฐกิจ - ดอกเบี้ยขาลง
"กรกช เสวตร์ครุตมัต" ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ระบุว่า ในช่วงที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มสินเชื่อปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง เป็นเพราะนักลงทุนเข้ามาเก็งกำไรก่อนนายกรัฐมนตรีจะมีการแถลงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ
อีกทั้ง ยังตอบรับรายงานเงินเฟ้อไทยเดือน ส.ค.ที่ผ่านมา ที่ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ซึ่งประเด็นดังกล่าวอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาในช่วงถัดไปได้ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนกู้ยืมของหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลดลง และจะหนุนให้อัตราการทำกำไรสูงขึ้นในระยะถัดไปด้วย
สอดคล้องกับ "ธนเดช รังษีธนานนท์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.พาย ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้หุ้น Non-Bank ปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรงในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คือ แนวโน้มดอกเบี้ยที่เป็นขาลง ประกอบกับ ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยที่ลดลง ภายหลังรัฐบาลเพิ่งแถลงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจต่อรัฐสภา
นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มดังกล่าว ยังมีเม็ดเงินซื้อกลับ หลังช่วงการรายงานงบการเงินไตรมาส 2/67 ถูกแรงขายทำกำไรเพื่อลดความเสี่ยงต่อประเด็นหนี้เสีย (NPL) ที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง แม้ผลการดำเนินงานรวมของกลุ่มในช่วงดังกล่าวจะเติบโตแข็งแกร่งก็ตาม
*** แนะระวังคุณภาพสินทรัพย์ แถมหุ้นมีอัพไซด์เริ่มแคบ
บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ระบุว่า มีมุมมอง "เชิงลบ" ต่อหุ้นในกลุ่มสินเชื่อมากขึ้น โดยลดคำแนะนำการลงทุนหุ้นกลุ่มดังกล่าวเหลือเพียง "น้อยกว่าตลาด" (เดิม "เท่ากับตลาด") เนื่องจากประเมินว่าคุณภาพสินทรัพย์ของกลุ่ม Retail Finance จะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ขณะที่ หุ้นหลาย ๆ บริษัทในกลุ่มก็มีราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาอย่างร้อนแรง จนใกล้ราคาเป้าหมายของปี 67 แล้ว
ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เสริมว่า มีมุมมองการลงทุน "น้อยกว่าตลาด" สำหรับกลุ่ม Non-Bank ตามมุมมองลบต่อระดับหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยที่ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งจะกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อ และจะกดดันคุณภาพสินทรัพย์ในระยะถัดไปด้วย
ส่วน "ธนเดช รังษีธนานนท์" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สิ่งที่นักลงทุนต้องเฝ้าระวังต่อหุ้นกลุ่ม Non-Bank ในช่วงที่เหลือของปีนี้ คือ คุณภาพสินทรัพย์ และ NPL ที่ยังไม่ได้ปรับตัวลง โดยก่อนหน้านี้ที่ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวขึ้นมา เพราะตลาดคลายกังวลต่อประเด็นดังกล่าวลงไป แต่ปัญหาดังกล่าวก็ยังไม่ได้หมดไป ดังนั้น หากในระยะถัดไปทิศทาง NPL ยังไม่ปรับตัวลดลง ก็มีแนวโน้มที่จะถูกนักลงทุนขายเพื่อลดความเสี่ยงลงได้เช่นกัน
*** จับตา ! ผลกระทบน้ำท่วมฉุดกำไรแค่ไหน ?
บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ เสริมว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย ทำให้ ธปท. ขอความร่วมมือจากธนาคาร และองค์กรที่ไม่ใช่ธนาคารในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยมีมาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มสินเชื่อ ดังนี้
1.สินเชื่อบัตรเครดิต : ธนาคาร และผู้ที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำได้ไม่เกิน 12 เดือน สำหรับลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัย
2.สินเชื่อทุกประเภท : ธนาคาร และผู้ที่ไม่ใช่ธนาคารสามารถช่วยปรับสัญญาเพื่อลด หรือยกเลิกค่าธรรมเนียมและปรับโครงสร้างสินเชื่อได้ โดยวงเงินสินเชื่อเหล่านี้ต้องได้รับการอนุมัติภายใน 12 เดือน นับจากวันที่พื้นที่ของลูกค้าได้รับการกำหนดให้เป็นเขตเสี่ยงภัยน้ำท่วม นอกจากนี้ ธปท. จะอนุญาตให้สินเชื่อเหล่านี้อยู่ในระยะเดียวกันกับก่อนที่ลูกค้าจะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม ยังมีมุมมอง "เป็นกลาง" ต่อประเด็นข้างต้น เนื่องจากประเมินว่า ลูกค้าที่อาจเข้าข่ายมาตรการช่วยเหลือน่าจะเป็นเพียงเปอร์เซนต์เล็กน้อยของพอร์ตโฟลิโอโดยรวม แม้ว่าจะขึ้นอยู่กับขนาดของน้ำท่วมในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้าก็ตาม ทั้งนี้ สำหรับมาตรการ "สินเชื่อทุกประเภท" หน่วยงานกำกับดูแลกล่าวว่าสามารถรักษาการจัดฉากสินเชื่อได้ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ให้กู้สามารถชำระคืนเงินกู้ได้ในแง่ของต้นทุนสินเชื่อ และช่วยให้ลูกค้าเลื่อนการกลายเป็น NPL ออกไป 12 เดือน
*** แต่ประเมินกำไรปี 67 - 68 ยังสามารถโตได้ต่อเนื่อง
"ธนเดช รังษีธนานนท์" ประเมินว่า กำไรสุทธิรวมของหุ้นในกลุ่ม Non-Bank ปี 67 ยังมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากปีก่อนได้ มีปัจจัยหนุนหลักจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อรวมในกลุ่ม ที่มีแนวโน้มเติบโตราว 10 - 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องระวังเรื่องคุณภาพสินทรัพย์ และการตั้งสำรองหนี้สูญด้วยเช่นกัน
เช่นเดียวกับ บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ยังมีมุมมอง "เชิงบวก" ต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของกลุ่ม Non-Bank ในช่วงปี 67 - 68 เนื่องจากประเมินว่าในช่วงดังกล่าว กำไรสุทธิรวมของกลุ่มสินเชื่อจะสามารถเติบโตได้ต่อเนื่อง 8.9% และ 13.8% จากปีก่อน ตามลำดับ เนื่องจากมองว่า กลุ่มสินเชื่อจำนำทะเบียนจะเป็นคีย์หลักในการขับเคลื่อนผลการดำเนินงานของกลุ่ม จากการคาดหมายว่ากำไรกลุ่มจำนำทะเบียนปี 67 - 68 จะเติบโตแข็งแกร่ง 19.3% และ 19.1% จากปีก่อน ตามลำดับ
ขณะที่ คาดว่า กำไรสุทธิปี 67 - 68 ของกลุ่มสินเชื่อบัตรเครดิตจะเติบโตได้เพียงเล็กน้อยราว 3.5% และ 4.8% จากปีก่อน ตามลำดับ แต่กลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อรถบรรทุก มีแนวโน้มว่ากำไรสุทธิปี 67 จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญราว 28.2% ก่อนจะฟื้นกลับมาเติบโตได้ในปี 68 ราว 15.9%
*** แนะรอซื้อตอนย่อตัว - Selective หุ้นกำไรโตแกร่ง !
"ธนเดช รังษีธนานนท์" ระบุว่า หุ้นหลาย ๆ บริษัทในกลุ่ม Non-Bank ปรับตัวขึ้นมาร้อนแรงจนใกล้จะถึงราคาเป้าหมายแล้ว ทำให้ทางกลยุทธ์จึงแนะนำนักลงทุนรอซื้อสะสมเมื่อราคาหุ้นอ่อนตัวลงจากนี้ โดยเลือกซื้อรายตัว (Selective Buy) หุ้นที่มีแนวโน้มกำไรสุทธิเติบโตต่อเนื่อง โดยมอง MTC เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่ม
สอดคล้องกับ บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ที่ระบุว่า เลือกหุ้น MTC เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่มสินเชื่อ เพราะประเมินว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้ ตลาดน่าจะหันมาให้ความสนใจกับหุ้นที่มีคุณภาพสินทรัพย์ที่แข็งแกร่ง และมีผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่อง โดยประเมินว่า การเติบโตกำไรสุทธิของ MTC จะโดดเด่นสุดในปี 67 สะท้อนจากหนี้เสีย และสินเชื่อของ MTC มีแนวโน้มดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 3/67 เพราะเน้นกลุ่มจำนำทะเบียนรถที่มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ