โบรกฯเริ่มกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย หลังตัวเลขการจ้างงานเดือน ก.ค.ต่ำกว่าคาด แถมอัตราการว่างงานสูงสุดรอบ 33 เดือน ประเมินกดหุ้นไทยปรับฐานตามหุ้นสหรัฐฯในช่วงสั้น ให้แนวรับลึกสุด 1,220 จุด แต่มองแง่ดี SET มีโอกาสลงต่ำกว่าหุ้นโลก เหตุงบ Q2/67 กลุ่ม Real Sector ส่วนใหญ่ฟื้นตัว อีกทั้งมีลุ้น Fund flow ย้ายฐานเข้าตลาดเกิดใหม่ แนะลงทุนหุ้นปลอดภัย ส่วนใหญ่ชูกลุ่มรับอานิสงส์บาทแข็ง - หนี้ต่างประเทศต่ำ !
*** โบรกฯกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ RECESSION
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า เริ่มมีความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดดถอย (RECESSION) หลังตลาดแรงงานสหรัฐฯส่งสัญญาณอ่อนแอต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งคาดว่าได้รับผลกระทบจากพายุเฮอริเคน ประกอบกับ มีคนกลับมาทำงานเยอะขึ้น ส่งผลให้ตัวเลขต่าง ๆ ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์ ดังนี้
-การจ้างงานนอกภาคการเกษตรชะลอตัวลง 2 เดือนติดต่อกัน และต่ำสุดในรอบ 31 เดือน
-อัตราการว่างงานสูงสุดในรอบ 33 เดือน โดยสัญญาณจาก Sahm's Rule เตือนว่าอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น 0.5% จากจุดต่ำสุดในรอบ 12 เดือน ซึ่งจากสถิติมีความแม่นยำสูงถึง 100% ในการทำนาย RECESSION
-ค่าจ้างเฉลี่ยรายชั่วโมงขยายตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนต่ำสุดในรอบ 24 เดือน
ประเด็นดังกล่าว กดดันสินทรัพย์ต่าง ๆ ปรับตัวลงอย่างรุนแรง ทำให้สัปดาห์ที่ผ่านมายังคงเห็นภาพตลาดหุ้นโลกกอดคอกันร่วงต่อเนื่อง โดยในฝั่งสหรัฐฯปรับตัวลงราว 1.5 - 2.4% ส่วนฝั่งยุโรปปิดตัวในแดนลบราว 1.3 - 2.7% ขณะที่ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (Bond yield) รุ่นอายุ 2 ปี ปรับตัวลง 28 bps ตั้งแต่ต้นเดือน (MTD) สู่ระดับ 3.88% ซึ่งใกล้นำหน้าพันธบัตรรุ่นอายุ 10 ปี ที่ระดับ 3.79% ทำให้ Inverted yield curve ล่าสุด ติดลบ 0.08%
สอดคล้องกับ บล.กรุงศรี ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯเริ่มปรับฐานต่อเนื่อง โดยดัชนี S&P500 ปรับตัวลงอีก 1.8% เมื่อวันทำการที่ผ่านมา จากความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯเสี่ยงถดถอย หลังรายงานอัตราว่างงานเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 4.3% ทำให้เข้าเกณฑ์ตามกฎ Sahm's Rule ที่เป็นดัชนีสะท้อนความเสี่ยงสูงขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐจะถดถอยในอีก 1 - 2 ไตรมาสจากนี้
*** มองหุ้นไทยพักฐานตาม ให้แนวรับลึกสุด 1,220 จุด
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ หลักทรัพย์ บล.ไอร่า มองว่า ความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอยจะเป็นจิตวิทยาเชิงลบต่อ SET Index ในระยสั้นนี้ เนื่องด้วยการปรับฐานลงของตลาดหุ้นสหรัฐฯจ ะส่งผลกระทบเชิงลบต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก โดยประเมินว่า การปรับฐานลงของตลาดหุ้นไทยรอบนี้ มีแนวรับอยู่ที่บริเวณ 1,255 - 1,270 จุด
อย่างไรก็ตาม ยังมองว่า การปรับตัวลงของตลาดหุ้นไทยรอบนี้ จะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือตลาดกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว เพราะ SET Index ในช่วงก่อนหน้านี้ปรับตัวลงมาค่อนข้างแรงพอสมควรแล้ว สวนทางกับสหรัฐฯที่ก่อนหน้านี้ราคาหุ้นปรับตัวกันขึ้นไปค่อนข้างแรง
ด้าน "กรรณ์ หทัยศรัทธา" นักกลยุทธ์ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุนสายงานวิจัย บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ประเมินแนวรับของ SET Index ไว้ที่ 1,250 - 1,260 จุด ซึ่งหากหลุดระดับดังกล่าวประเมินแนวรับถัดไปที่ 1,220 จุด อย่างไรก็ตามอาจไม่ถึงระดับแนวรับลึกสุดดังกล่าว เพราะภาพรวมภาวะตลาดหุ้นปัจจุบันปรับตัวลดลงแรงมากแล้ว ประกอบกับ ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นไทยไม่ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงเช่นเดียวกับตลาดหุ้นอื่น ๆ กรอบการปรับลงจึงจำกัดกว่า ทั้งนี้มีแนวต้านที่ 1,300 จุด
เช่นเดียวกับ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ที่เสริมว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว จะทำให้ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับฐานตามหุ้นโลกในระยะสั้น โดยมองแนวรับอยู่ที่ 1,300 จุด ขณะที่กรณีที่แย่ที่สุด SET Index จะปรับตัวลงไปอยู่ในระดับ 1,270 จุด หรือลดลงราว 3.3% เท่านั้น อ้างอิงจาก EYG ที่ระดับ 4.6% และผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย รุ่นอายุ 10 ปี ที่อยู่ในระดับ 2.5%
สอดคล้องกับ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า ความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่สภาวะถดถอย จะทำให้ตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้นมีการปรับฐานตามตลาดหุ้นสหรัฐฯด้วย และดัชนีหุ้นไทยจะเลือกทิศทางการเคลื่อนไหวอีกครั้ง หลังรู้ผลการตัดสินยุบพรรคก้าวไกล 7 ส.ค.นี้ ทำให้บรรยากาศการลงทุน ส่วนใหญ่อาจถือเงินสดเพื่อรอดูทางเลือกของ SET Index ในช่วงดังกล่าวก่อน แล้วจึงค่อยตัดสินใจอีกที
ส่วน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า แม้ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวลงจากความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย แต่มีโอกาสที่ SET Index จะปรับตัวลงน้อยกว่าตลาดหุ้นโลก เนื่องจากยังมีการรายงานงบการเงินไตรมาส 2/67 ของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) กลุ่ม Real Sector ซึ่งคาดจะฟื้นนตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญช่วยประคองดัชนี อีกทั้ง ยังเริ่มเห็นเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (Fund Flow) ไหลเข้าสู่ตลาดเกิดใหม่มากขึ้น
*** แต่เริ่มเห็นสัญญาณ Flow ไหลเข้าไทยบ้างแล้ว !
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า จากความกังวลที่เศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่สภาวะถดถอย ทำให้เริ่มเห็นแรงขายในตลาดหุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมากขึ้น โดยข้อมูลตั้งแต่ต้นเดือน พบว่าตลาดหุ้นในกลุ่มดังกล่าวปรับตัวลงมากกว่า 3% แทบทั้งนั้น
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นในกลุ่มประเทศเกิดใหม่ กลับได้รับผลกระทบดังกล่าวค่อนข้างจำกัด สะท้อนจากตั้งแต่ต้นเดือน ดัชนีตลาดหุ้นอินโดนีเซียปรับตัวขึ้น 0.7% ขณะที่ ฟิลิปปินส์ และ ไทย ติดลบเล็กน้อย 0.2% และ 0.6% ตามลำดับ
จากประเด็นดังกล่าว ทำให้เริ่มเห็นเม็ดเงินต่างชาติไหลเข้ามาในไทยบ้างแล้ว สังเกตได้จากการซื้อสุทธิตลาดตราสารหนี้ไทย ตั้งแต่ต้นเดือนกว่า 1.47 หมื่นล้านบาท กดดันให้ Bond yield รุ่นอายุ 10 ปี ของไทยลดลงจาก 2.59% สู่ระดับ 2.56% ในปัจจุบัน และถือเป็นความคาดหวังเล็ก ๆ ของนักลงทุนต่อการลดดอกเบี้ยของคระกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ ประเด็นดังกล่าว ทำให้เงินบาทตั้งแต่ต้นเดือนแข็งค่าขึ้น 0.83% ซึ่งถือว่าเป็นการแข็งค่าลำดับต้น ๆ ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา ด้วยกลไกนี้จึงเป็นปัจจัยหนุนของการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างชาติต่อตลาดหุ้นไทยในอนาคตได้
สอดคล้องกับ บล.กรุงศรี ที่มองว่า ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯที่เริ่มมีทิศทางพลิกเป็นขาลง หลังก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง จะหนุนภาพการมองหาผลตอบแทนจากตลาดหุ้นใหม่มากขึ้น โดย SET Index มีแนวโน้มจะได้รับอานิสงส์จากการไหลเข้าของ Fund flow ในระยะถัดไป หนุนให้ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้
*** เปิดกลยุทธ์ลงทุนรับมือเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ RECESSION
บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า กลยุทธ์การลงทุนช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีความกังวลจะเข้าสู่ภาวะถดถอย แนะนำมองหาหุ้นที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทเเข็งค่า อาทิ กลุ่มที่มีต้นทุนหรือหนี้สกุลต่างประเทศ เช่น GULF, BGRIM, GPSC กลุ่มเน้นการนำเข้า อาทิ TFG, TVO และกลุ่มเป้าหมาย Fund flow ไหลเข้า อาทิ BDMS, KBANK, TISCO, IVL, SCC, CPN, CPALL และ ADVANC เป็นต้น
สอดคล้องกับ บล.ทรีนีตี้ ที่เสริมว่า ในช่วงที่เศรษฐกิจสหรัฐฯมีความกังวลจะเข้าสู่ภาวะถดถอย นักลงทุนอาจต้องระวังหุ้นกลุ่ม Global cyclical ที่มีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจโลกมากขึ้น อาทิ กลุ่มน้ำมัน, กีาซธรรมชาติ และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
โดยช่วงนี้ นักลงทุนน่าจะอยู่ในโหมดของการหมุน (Rotation) เม็ดเงินเข้าสู่กลุ่มหุ้นปลอดภัยต่อไป อาทิ กลุ่ม Utilities (GULF, GPSC, BGRIM), กลุ่ม Healthcare (BDMS, BH, BCH, CHG), กลุ่ม ICT (ADVANC, INTUCH, TRUE), กลุ่ม Consumer staple (CPALL, CPAXT) และกลุ่ม Bond-liked อย่าง IFF และ REIT เป็นต้น
ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐฯจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ทำให้สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกมีโอกาสเคลื่อนไหวเชิงลบ ดังนั้นกลยุทธ์ลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจาก RECESSION แนะนำพักเงินในกลุ่ม Defensive Play เช่น ค้าปลีก, อาหารเครื่องดื่ม, โรงไฟฟ้า, สื่อสาร และ REIT โดยเฉพาะหุ้นที่มีแนวโน้มจ่ายเงินปันผลระดับสูง จะช่วยจำกัดความเสี่ยงจากประเด็นดังกล่าวได้ดี
ส่วน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ แนะนำ 4 กลยุทธ์ ช่วยรับมือประเด็นเศรษฐกิจสหรัฐฯเข้าสู่ภาวะถดถอย ดังนี้
1.หุ้นกลุ่ม Earnings Play ซึ่งจะมีการประกาศงบไตรมาส 2/67 ในสัปดาห์หน้า โดยคาดกําไรจะยังสามารถเติบโตจากปีก่อน อีกทั้ง มูลค่า (Valuation) ยังไม่แพง เลือก ADVANC, TU, CPAXT, BTG, CBG, BCP, GPSC และ AU
2.หุ้นที่คาดได้อานิสงส์จากปรับเงื่อนไขกองทุน Thai ESG ใหม่ โดยขยายวงเงินเป็น 3 แสนบาทและลดระยะเวลาถือครองเหลือ 5 ปี ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เลือก ADVANC, AOT, CPALL, BDMS, BBL, KTB และ GULF
3.หุ้นคาดได้อานิสงส์ Cover Short หลังตลาดหลักทรัพย์ฯเริ่มใช้มาตรการ Uptick และเป็นหุ้นพื้นฐานดีมี ESG Rating ระดับ A-AAA หรืออยู่ใน Global Sustainability Index เลือก DELTA, TOP, BEM แและ AOT
4.ราคาน้ำมันดิบ Brent ฟื้นตัว จากความไม่สงบในตะวันออกกลางที่รุนแรงมากขึ้น และยังมีการโจมตีเรือบรรทุกสินค้าในทะเลแดง อีกทั้งโครงสร้างพื้นฐานน้ำมันในรัสเซียกลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยประเมินกรอบราคา 80 - 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งมองยังสามารถมีหุ้นน้ำมันสําหรับป้องกันความเสี่ยง (Hedging) ได้ ดังนั้นนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง จึงยังคงเลือกหุ้นน้ำมันขั้นต้นอย่าง PTTEP
ทั้งนี้ "ภากร ปีตธวัชชัย" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์ช่วงนี้ นักลงทุนควรติดตามข่าวสารต่าง ๆ จากทั่วโลกว่ามีข่าวดีหรือข่าวร้ายอย่างไรบ้าง และใช้เป็นข้อมูลในการตัดสินใจในการลงทุน เพราะว่าในช่วงที่ตลาดปรับตัวลดลงมาก ๆ ก็อาจเป็นโอกาสในการลงทุนได้ แต่ขอให้ดูข้อมูลให้ดีก่อนว่าภาคธุรกิจไหนที่อาจถูกกระทบมากไปถึงน้อย