efinancethai

ประเด็นร้อน

หุ้นกู้ที่ถือผิดนัดชำระ ต้องทำอะไรบ้าง ?

หุ้นกู้ที่ถือผิดนัดชำระ ต้องทำอะไรบ้าง ?

ผู้ลงทุนหุ้นกู้ปีนี้ อาจมีเสียว ๆ กันบ้างไม่มากก็น้อย เพราะปีนี้มีหุ้นกู้ผิดนัดชำระมูลค่ากว่า 1.9 หมื่นลบ. ซึ่งผู้ลงทุนที่ตกอยู่ในสถานะโดนเบี้ยวหนี้หุ้นกู้ ควรทำอย่างไรบ้าง เพื่อให้ได้เงินของท่านคืน บทความนี้มีคำตอบ ไปดูกันเลย !

 

*** ปีนี้หุ้นกู้ลุ้นเสียว ผิดนัดแล้วถึง 1.9 หมื่นลบ.


ปีนี้ ถือว่า เป็นปีที่ผู้ลงทุนหุ้นกู้ต้องเกิดอาการกระสับกระส่าย นอนหลับไม่สนิทกันบ้างแหละ เพราะคงมีจำนวนไม่น้อยที่อาจมีความกังวล ว่า หุ้นกู้ที่ตนเองถืออยู่นั้น จะผิดนัดชำระหรือไม่ ?


เนื่องด้วย ข้อมูลของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ระบุว่า หุ้นกู้ที่มีการผิดนัดชำระหนี้ (Default Payment) ของปี 66 ณ  1 ก.ย.ที่ผ่านมา มีทั้งหมด 23 รุ่น รวมมูลค่ากว่า 1.9 หมื่นล้านบาท เลยทีเดียว 


*** หากหุ้นกู้ที่ถือผิดนัดชำระ ต้องทำอย่างไร ?


ดังนั้น เมื่อทุกคนเริ่มเห็นสัญญาณว่า ผู้ออกหุ้นกู้มีโอกาสผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นในช่วงนี้ ในฐานะที่ตนเองเป็นผู้ถือหุ้นกู้ก็ต้องเตรียมตัวเพื่อรักษาสิทธิ และผลประโยชน์ของตัวเองไว้ด้วย แต่ต้องทำอย่างไร ? ตามมาเดี๋ยวเล่าให้ฟังต่อนะ

 

1.กอดใบหุ้นกู้ให้แน่น : กฎหมายสำคัญสำหรับการลงทุนหุ้นกู้ในประเทศไทย คือ ใบหุ้นกู้ โดยส่วนใหญ่เมื่อถึงวันจองและต้องชำระค่าหุ้นกู้ หลังจากนั้นประมาณ 7 – 14 วัน ก็จะได้รับใบหุ้นกู้ในกรณีของใบหุ้น (Scrip) หรือจะได้เอกสารยืนยันในกรณีไร้ใบหุ้นกู้ (Scripless) 

 

ดังนั้น เมื่อได้ใบหุ้นกู้มาแล้วก็ควรเก็บไว้เป็นอย่างดี อย่าให้หาย และเพื่อป้องกันการสูญหายควรขอในลักษณะไร้ใบหุ้นกู้ เพราะวันที่ต้องเรียกร้องหนี้เราต้องใช้ใบหุ้นกู้เป็นตัวแสดงสิทธิในการเรียกร้อง 

 

2.ต้องรู้ว่าผู้แทนถือหุ้นกู้คือใคร : ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ คือ ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจากผู้ออกตราสารหนี้เพื่อให้ทำหน้าที่ในการดูแลรักษาผลประโยชน์ทุกอย่างของผู้ถือหุ้นกู้ พูดง่าย ๆ คือ จะคอยดูแลสอดส่องว่าผู้ออกหุ้นกู้ทำตามเงื่อนไขครบถ้วนหรือไม่ ? .
 

และหากผู้ออกหุ้นกู้ผิดนัดชำระหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะมีบทบาทสำคัญมากในการจัดให้มีการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อหาข้อสรุปและนำมติที่ประชุมไปแจ้งต่อผู้ออกหุ้นกู้ หากผู้ออกหุ้นกู้ไม่ปฏิบัติตาม ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะดำเนินการเรียกร้องให้ชำระหนี้ บังคับหลักประกัน และเรียกร้องค่าเสียหายให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้จากเหตุการณ์ผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดขึ้นตามสิทธิที่พึงได้

 

ทั้งนี้ ทุกคนสามารถหาข้อมูลว่าใคร คือ ผู้แทนถือหุ้นกู้รุ่นที่ตนเองถืออยู่ จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ในส่วนลักษณะตราสาร หรือหน้าปกแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายตราสารหนี้ (filing) หรือ จะหาจากแอปพลิเคชัน SEC Bond Check หรือเว็ปไซต์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ก็ได้เช่นกัน 
 


3.ต้องรู้ว่าตนเอง ถือหุ้นกู้ประเภทไหน ? : ผู้ลงทุนหุ้นกู้อยู่ในฐานะเจ้าหนี้ของบริษัท มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนผู้ถือหุ้นสามัญที่มีฐานะเป็นเจ้าของกิจการ ซึ่งมีสิทธิได้รับชำระหนี้เป็นอันดับสุดท้าย 

 

สำหรับผู้ถือหุ้นกู้มีประกัน จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ และหุ้นกู้ไม่มีประกัน ทั้งนี้ ผู้ลงทุนสามารถตรวจสอบลำดับการชำระหนี้ของหุ้นกู้รุ่นที่ตนถือครองได้จากสรุปข้อมูลสำคัญของตราสาร (factsheet) ของหุ้นกู้รุ่นนั้น ๆ

 

4.เมื่อมีการบังคับขำระหนี้ ทำอย่างไร ? : เมื่อที่ประชุมผู้ถือหุ้นกู้มีมติ หรือผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ใช้ดุลยพินิจตัดสินใจที่จะดำเนินการบังคับชำระหนี้ ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จะเป็นคนที่ช่วยดำเนินการในการฟ้องร้องบังคับหลักประกัน หรือบังคับชำระหนี้ แทนผู้ถือหุ้นกู้ทุกราย 

 

และจะเป็นผู้ดำเนินการให้ผู้ออกหุ้นกู้ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้เร็วที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ โดยชื่อของผู้ถือหุ้นกู้ทุกรายจะปรากฏในทะเบียนรายชื่อล่าสุด และผู้ถือหุ้นกู้ควรเตรียมเอกสาร หลักฐานการถือครองหุ้นกู้ไว้ให้พร้อม หากมีความจำเป็นจะต้องมีการยืนยันสถานะการเป็นผู้ถือหุ้นกู้

 

5.สุดท้ายอย่าด่วนตกใจ ควรตั้งสติตามคดี : ผู้ถือหุ้นกู้สามารถติดตามความคืบหน้าของผลการบังคับชำระหนี้จากผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการให้ข้อมูลต่าง ๆ กับผู้ลงทุน และควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างใกล้ชิดและมีสติ เพราะ ณ ปัจจุบัน เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารจริงและเท็จ 

 

ผู้ลงทุน จึงต้องคัดกรองข้อมูลอย่างรอบคอบ ขณะเดียวกันควรศึกษากฎหมายเพิ่มเติม เช่น นิติบุคคลล้มละลาย เพราะหากถึงขั้นเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย จะได้เข้าใจกระบวนการ เพราะอย่าลืมว่า "เงินของเรา ควรพึ่งพาตัวเองด้วย"เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อหุ้นกู้ที่นักลงทุนถืออยู่ผิดนัดชำระหนี้ ก็อย่าเพิ่งด่วนใจเสียไปก่อน เพราะไม่ได้หมายความว่า ผู้ลงทุนจะไม่ได้รับเงินคืนแม้แต่บาทเดียว ซึ่งความเป็นจริง ยังพอมีช่องทางในการต่อสู้เพื่อขอเงินคืน จึงต้องศึกษาข้อมูลที่แอดฯเล่าให้ฟังข้างต้นอย่างละเอียดด้วยนะ

 

สำหรับ เกล็ดความรู้ที่แอดฯหยิบมาฝากทุกคนวันนี้ ก็ต้องขอบคุณข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ด้วย และหวังเป็นอย่างยิ่ง ว่า บทความชิ้นนี้ จะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อยเนอะ

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด