"หุ้นเทิร์นอะราวด์" จัดเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่นักลงทุนหมายตา เพราะราคาหุ้นมักจะตอบสนองเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญจากภาพรวมธุรกิจที่ดีขึ้น และหุ้นเหล่านี้จะมีลักษณะที่น่าสนใจคือราคาหุ้นจะมีราคาถูก เนื่องจากนักลงทุนไม่ให้ความสนใจช่วงที่ติดอยู่ในวังวนของการขาดทุน
*** พบ 14 บจ.พลิกกำไร หลังขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปีติด
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจงบการเงินบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีผลขาดทุนตั้งแต่ 2 ปีติดต่อกันขึ้นไป แต่สามารถพลิกกำไรได้ในงวดปี 2561 พบว่ามีทั้งหมด 32 บริษัท แต่เมื่อตัดกลุ่มบริษัทที่มีกำไรพิเศษซึ่งเกิดขึ้นครั้งเดียว รวมถึงกลุ่มที่ชี้แจงงบไม่ชัดเจนถึงสาเหตุในการพลิกมีกำไร จะเหลือทั้งสิ้น 14 บริษัท แบ่งเป็น SET จำนวน 12 บริษัท และ mai จำนวน 2 บริษัท ประกอบด้วย
หุ้นพลิกกำไร
|
ชื่อย่อหุ้น
|
กำไรปี 61 (ลบ.)
|
กำไรปี 60 (ลบ.)
|
กำไรปี 59 (ลบ.)
|
SET
|
STA
|
2,064
|
-1,437
|
-758
|
PSL
|
456
|
-129
|
-2,665
|
EMC
|
370
|
-674
|
-272
|
TPIPL
|
324
|
-1,260
|
-521
|
AMARIN
|
173
|
-164
|
-628
|
PDJ
|
168
|
-161
|
-283
|
RCI
|
158
|
-253
|
-31
|
TRITN
|
149
|
-39
|
-335
|
JCK
|
74
|
-471
|
-323
|
KDH
|
31
|
-22
|
-25
|
GRAMMY
|
15
|
-384
|
-520
|
CPL
|
12
|
-103
|
-56
|
mai
|
CHO
|
45
|
-20
|
-91
|
UREKA
|
18
|
-47
|
-78
|
*** 7 บจ. รายได้โตกระโดด
ทั้งนี้พบว่ามีถึง 7 บริษัทที่มีการปรับปรุงแผนธุรกิจจนทำให้รายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดดมากกว่า 40% หนุนให้ผลประกอบการสามารถพลิกมีกำไรได้ ประกอบด้วย
บจ.ที่รายได้โตเกิน 40%
|
ชื่อย่อหุ้น
|
รายได้ปี 60 (ลบ.)
|
รายได้ปี 61 (ลบ.)
|
%chg
|
EMC
|
710
|
2,424
|
241
|
TRITN
|
970
|
2,425
|
150
|
JCK
|
1,019
|
2,459
|
141
|
RCI
|
532
|
984
|
85
|
AMARIN
|
2,237
|
3,526
|
58
|
UREKA
|
251
|
380
|
51
|
CHO
|
1,600
|
2,288
|
43
|
โดย บมจ.อีเอ็มซี (EMC) รายได้เติบโตสูงสุดถึง 241% มาจากการรับรู้รายได้ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างที่สามารถชนะประมูลงานขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องทั้งภาครัฐและเอกชน ขณะเดียวมีการรับรู้รายได้ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงได้มีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 7% ส่งผลให้พลิกกลับมามีกำไร 370 ล้านบาท หลังขาดทุนมาต่อเนื่องถึง 5 ปี (56-60)
"รัฐชัย ภิชยภูมิ" ประธานเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน แสดงความมั่นใจว่า ปีนี้จะดีต่อเนื่องตั้งเป้ารายได้เติบโตอย่างน้อย 25% ซึ่งล่าสุดมีงานในมือ (Backlog) ทั้งงานรับเหมาก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ถึง 4,500 ล้านบาท โดยจะรับรู้ปีนี้มากกว่า 50%
ขณะที่ บมจ.ไทรทัน โฮลดิ้ง (TRITN) เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่รายได้เติบโตถึง 150% โดยปรับโครงสร้างธุรกิจเน้นงานรับเหมาก่อสร้าง หลังตัดขายธุรกิจสื่อออกไป โดยไฮไลต์คือการทยอยรับรู้รายได้งานขยายระบบท่อขนส่งน้ำมันไปภาคเหนือระยะทาง 600 กิโลเมตร มูลค่ากว่า 4,800 ล้านบาท ส่งผลให้ปีที่ผ่านมารายได้เพิ่มขึ้นเป็น 2,425 ล้านบาท จากเพียง 970 ล้านบาทในปี 60 ทำให้พลิกมีกำไรในรอบ 3 ปีที่ 149 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ บมจ.เจซีเค อินเตอร์เนชั่นแนล (JCK) รายได้เพิ่มถึง 141% จากรับรู้การโอนโครงการอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะ"The Harbor Residences" ที่โอนทั้งโครงการกว่า 1,621 ล้านบาท ส่งผลให้พลิกกำไร 74 ล้านบาท หลังขาดทุนมา 4 ปีติดต่อกัน (57-60)
ด้าน บมจ.พรีเชียส ชิพปิ้ง (PSL) แม้รายได้จะเติบโตไม่สูงมากประมาณ 12% ซึ่งไม่ติดอันดับกลุ่มบริษัทรายได้โตก้าวกระโดด แต่ได้แรงหนุนจากอัตราค่าระวางเรือขนส่งสินค้าแห้งเทกองปรับตัวดีขึ้น ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายในการเดินเรือลดลง ทำให้สามารถพลิกกำไร 456 ล้านบาท หลังขาดทุนต่อเนื่อง 4 ปี (57-60)
*** STA-CPL-PDJ-KDH เน้นเพิ่มมาร์จิ้น-คุมเข้มต้นทุน
ส่วนอีกกลุ่มคือเน้นกลยุทธ์ปรับแผนการขายและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ส่งผลให้มาร์จิ้นเพิ่มสูงขึ้น ประกอบด้วย
1.บมจ.ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี (STA) ปรับกลยุทธ์เป็นการขายแบบเลือกสรร (Selective Selling) เน้นลูกค้าที่มีศักยภาพมากขึ้น รวมถึงเน้นบริหารต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจยางธรรมชาติ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นถึงกว่าเท่าตัวเป็น 9.67% จากปีก่อนหน้าที่ 4.22% ขณะเดียวกันต้นทุนทางการเงินลดลง 269 ล้านบาท หรือ 23% เพราะหนี้เงินกู้ระยะสั้นลดลง ทำให้พลิกมีกำไรถึง 2,064 ล้านบาท จากปี 60 ที่ขาดทุน 1,437 ล้านบาท และปี 59 ขาดทุน 758 ล้านบาท
2.บมจ.ซีพีแอล กรุ๊ป (CPL) ได้ปรับปรุงพัฒนาทรัพยากรบุคคลและเปลี่ยนแปลงเครื่องจักรในบางส่วน ทำให้กำลังการผลิตเพิ่ม จากเฉลี่ย 1.8 ล้านตารางฟุต เป็น 2.1 ล้านตารางฟุต รวมถึงบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว จาก 6.18% เป็น 14.29% ส่งผลให้พลิกกำไร 168 ล้านบาท ครั้งแรกในรอบ 3 ปี
3.บมจ.แพรนด้า จิวเวลรี่ (PDJ) เน้นการขายและบริการสู่กลุ่มลูกค้าคุณภาพ รวมถึงควบคุมต้นทุนการผลิต, ค่าใช้จ่ายการขาย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ต้นทุนการเงินลดลงถึง 30% หลังทยอยชำระคืนเงินกู้ตั้งแต่ไตรมาส 2/61 ส่งผลให้พลิกกำไร 168 ล้านบาท หลังขาดทุนมา 3 ปีติดต่อกัน (58-60)
4.บมจ.ธนบุรี เมดิเคิล เซ็นเตอร์ (KDH) ปรับกลยุทธ์เน้นบริการผู้ป่วยเฉพาะทางมากขึ้น ซึ่งมีมาร์จิ้นค่ารักษาสูงกว่า ส่งผลให้จำนวนผู้ป่วยมาใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลักดันให้พลิกกำไร 31 ล้านบาท หลังขาดทุนมา 5 ปีติดต่อกัน (56-60)
*** GRAMMY ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ พลิกกำไรรอบ 7 ปี
ด้าน บมจ.จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ (GRAMMY) ปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งสำคัญ ตัดกลุ่มธุรกิจที่เป็นภาระต้นทุน และเน้นธุรกิจ Show Biz, บริหารศิลปิน, ดิจิทัลมิวสิค และธุรกิจโฮมช้อปปิ้ง ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มธุรกิจที่สร้างกำไรดี แม้รายได้จะลดลง แต่ค่าใช้จ่ายลดก็ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้สามารถพลิกกลับมามีกำไรได้ครั้งแรกในรอบ 7 ปี (ขาดทุนตั้งแต่ปี 55-60)
*** TPIPL ได้บริษัทลูกหนุน ดันพลิกกำไร
ขณะที่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) พลิกกำไร 324 ล้านบาท หลังจากปี 60 ขาดทุน 1,260 ล้านบาท และปี 59 ขาดทุน 521 ล้านบาท สาเหตุสำคัญได้แรงหนุนจากบริษัทลูก "บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP)" ซึ่งรับรู้กำลังการผลิตไฟฟ้า 440 เมกะวัตต์เต็มปี (TPIPP มีกำไรสุทธิปี 61 ถึง 3,699 ล้านบาท) ซึ่ง TPIPL ถือหุ้น 70.24%
*** กูรูแนะเลือกลงทุนรายตัว-เน้นที่มีบทวิเคราะห์
"จรูญพันธ์ วัฒนวงศ์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) แนะนำ เลือกลงทุนรายบริษัท ที่มีแนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง และเป็นหุ้นที่มีบทวิเคราะห์รองรับ แต่ต้องพิจารณารายละเอียดให้รอบคอบ โดยเฉพาะในแง่มูลค่า เพราะบางบริษัทราคาปรับตัวรับข่าวการพลิกกลับมามีกำไรรอบหลายปีไปแล้ว
ด้าน “เผดิมภพ สงเคราะห์” กรรมการผู้จัดการ สายงานจัดการเงินทุนบุคคล บล.กสิกรไทย เสริมว่า “กลุ่มหุ้นที่พลิกกลับมามีกำไรในรอบหลายปีถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะสามารถพัฒนาธุรกิจจนกลับมาฟื้นตัวได้ แต่ต้องดูแนวโน้มกำไรในอนาคตว่าจะเติบโตได้มากน้อยขนาดไหน ต้องอ่านให้ออก มองให้ขาด มิเช่นนั้นจะตกหลุมพรางได้ โดยเฉพาะหุ้นที่เคยเป็นเป้าหมายของกลุ่มเก็งกำไร ซึ่งอาจจะมีคนนำประเด็นการเทิร์นอะราวด์เข้าไปสร้างความหวือหวาในระยะสั้นได้ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยง โดยให้เลือกหุ้นที่มีบทวิเคราะห์รองรับ เพราะจะได้มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจ"