efinancethai

ประเด็นร้อน

ตลท.รื้อใหญ่เกณฑ์ไอพีโอ-คุมเข้ม บจ. บอกเลย "ดุดันไม่เกรงใจใคร"

ตลท.รื้อใหญ่เกณฑ์ไอพีโอ-คุมเข้ม บจ. บอกเลย

ตลาดหลักทรัพย์เปิดรับฟังความคิดเห็นเพื่อรื้อเกณฑ์ครั้งใหญ่ 7 เรื่องสำคัญ เช่น ปรับเพิ่มฐานกำไรรับหุ้น IPO กว่าเท่าตัว, เพิ่มเงื่อนไขติดเครื่องหมาย C และเพิกถอน บจ.รายได้ต่ำเกณฑ์, ขึ้น SP หุ้นฟรีโฟลตต่ำเกณฑ์เกิน 2 ปี หากแก้ไขไม่ได้ใน 2 ปี จะถูกเพิกถอน, คุมเข้ม Backdoor Listing เทียบชั้น IPO, เพิ่มเครื่องหมายเตือนตามเหตุการณ์, ปรับปรุงกระบวนการลดความซับซ้อนปรับปรุงเกณฑ์ให้สอดคล้องกับ ก.ล.ต.และยกเลิกเกณฑ์ล้าสมัย โดยจะรับฟังความเห็นถึง 4 ก.ย.นี้ ก่อนประกาศใช้


ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดรับฟังความคิดเห็น (Market Consultation) ทบทวน Positioning ของ SET และ mai และยกระดับการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน รวมถึงปรับปรุงเกณฑ์ให้ทันสมัยและสอดคล้องกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยแบ่งเป็นสาระสำคัญ 7 ข้อดังนี้


1.ปรับเกณฑ์รับหุ้นไอพีโอ เพิ่มฐานกำไรขั้นต่ำกว่าเท่าตัว


ปรับปรุงคุณสมบัติบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่จะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ทั้ง SET และ mai ซึ่งแบ่งเป็น 4 หัวข้อสำคัญ คือ...

1.ผลการดำเนินงาน : เพิ่มกำไรสุทธิ เพื่อสะท้อนผลประกอบการที่ดี

2.ฐานะการเงิน : เพิ่มส่วนผู้ถือหุ้น เพื่อแสดงถึงการมีฐานะการเงินเข้มแข็ง

3.ทุนชำระแล้ว : ปรับลดทุน บจ.ที่จะเข้า SET ให้เท่ากับเกณ์ขั้นต่ำของ mai เพื่อสนับสนุน บจ.ที่มีทุนชำระแล้วต่ำ แต่ผลการดำเนินงานดี

4.การกระจายผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) และสัดส่วนหุ้นที่จะเสนอขายให้แก่ประชาชน (Public Offering) : เพิ่มสัดส่วนฟรีโฟลตให้สูงขึ้นเพื่อดูแลสภาพคล่องหลังเข้าซื้อขาย


ไฮไลต์สำคัญคือการเพิ่มกำไรสุทธิขั้นต่ำ โดยกำไรสุทธิรวม 2-3 ปีหลัง ของ SET ต้องไม่ต่ำกว่า 125  ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท ส่วน mai ต้องไม่ต่ำกว่า 40 ล้านบาท จากเดิมไม่กำหนด ที่เด็ดกว่านั้นคือกำไรปีล่าสุดหุ้นที่จะเข้า SET ต้องไม่ต่ำกว่า 75 ล้านบาท จากเดิม 30 ล้านบาท และ mai ไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท จากเดิมไม่กำหนด คิดเป็นระดับการเพิ่มขึ้นเท่าตัวเลยทีเดียว เช่นเดียวกับส่วนผู้ถือหุ้นหลังไอพีโอที่ SET ต้องมากกว่า 800 ล้านบาท จากเดิม 300 ล้านบาท และ mai 100 ล้านบาท จากเดิม 50 ล้านบาท
 

 

เกณฑ์ปัจจุบัน

เกณฑ์ใหม่

หน่วย : ลบ.

SET

mai

SET

mai

1.ผลการดำเนินงาน

   

       - กำไรสุทธิปีล่าสุด

30

10

75

25

       - กำไรสูทธิรวม 2-3 ปี

50

ไม่กำหนด

125

40

       - Track Record

3 ปี

2 ปี

3 ปี

2 ปี

2.ส่วนผถห.หลัง IPO

300

50

800

100

3.ทุนชำระแล้วหลัง IPO

300

50

50

50

4.การกระจายหุ้นรายย่อย (Free Float)

1,000 ราย

300 ราย

1,000 ราย

300 ราย

- ทุนชำระแล้ว

ต่ำกว่า 3,000 : 25%

- ทุนชำระแล้ว

ต่ำกว่า 3,000 : 25%

- ทุนชำระแล้ว

ต่ำกว่า 300 : 30%

- ทุนชำระแล้ว

ต่ำกว่า 300 : 30%

- ทุนชำระแล้ว

ตั้งแต่ 3,000 : 20%

- ทุนชำระแล้ว

ตั้งแต่ 3,000 : 20%

- ทุนชำระแล้ว ตั้งแต่ 300

ไม่เกิน 3,000 : 25%

- ทุนชำระแล้ว ตั้งแต่ 300 ไม่เกิน 3,000 : 25%

5.จำนวนหุ้นที่เสนอขายแก่ประชาชน (Public Offering)

- ทุนชำระแล้ว

ต่ำกว่า 500 : 15%

- ทุนชำระแล้ว

ต่ำกว่า 500 : 15%

    - ทุนชำระแล้วต่ำกว่า 300 : 20%

         - ทุนชำระแล้ว ตั้งแต่ 300 แต่ไม่เกิน 500 : 15% และ 60 ลบ.(คำนวณตามมูลค่าพาร์) แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

          - ทุนชำระแล้ว ตั้งแต่ 500 : 10% และ 75 ลบ.(คำนวณตามมูลค่าพาร์) แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า

- ทุนชำระแล้ว

ตั้งแต่ 500 : 10%

และ 75 ลบ.

(คำนวณตามมูลค่าพาร์)

แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า


2.เพิ่มกลุ่มเข้าข่ายเครื่องหมาย C และเพิกถอน บจ.รายได้ต่ำเกณฑ์


ปัจจุบัน ตลท.จะขึ้นเครื่องหมาย C เพื่อเตือนผู้ลงทุนในกลุ่ม บจ.ที่มีปัญหาฐานะการเงิน แต่พบว่ายังไม่ครอบคลุม และควรมีมาตรการที่เเข้มงวดมากขึ้นในการกำกับ โดยจะปรับปรุงดังนี้

2.1.บจ. SET ต้องมีรายได้ ณ งบการเงินประจำปี ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท และ บจ.ใน mai ไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท หากต่ำกว่านั้นจะถูกขึ้นเครื่องหมาย C และหากผลการดำเนินงานต่ำกว่ากำหนด 3 ปีติดต่อกันจะเป็นเหตุเข้าข่ายถูกเพิกถอน 

2.2.บจ.ที่งบการเงินประจำปีขาดทุน 3 ปีติดต่อกันจนส่งผลให้ส่วนผู้ถือหุ้นต่ำว่า 100% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว จะถูกขึ้นเครื่องหมาย C จากเดิมกำหนดส่วนผู้ถือหุ้นต่ำกว่า 50% ของทุนฯ

2.3.บจ.ที่ผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นต่องบการเงินทุนกรณี จะถูกขึ้นเครื่องหมาย C จากเดิมจะขึ้นเฉพาะไม่แสดงความเห็นเนื่องจากถูกจำกัดขอบเขตการสอบทานหรือตรวจสอบโดย บจ.หรือกรรมการและผู้บริหาร บจ.

2.4.บจ.รวมถึงบริษัทย่อยที่ผิดชำระหนี้ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 25% ของสินทรัพย์รวมที่ปรากฏในงบการเงินรวมฉบับล่าสุด ซึ่งเดิมไม่มีกลุ่มนี้


ทั้งนี้ บจ.ที่ถูกขึ้นเครื่องหมาย C จะต้องซื้อขายด้วยบัญชีแคชบาลานซ์ (Cash Balance) เท่านั้น และต้องจัดประชุมเพื่อให้ข้อมูลกับนักลงทุนและผู้เกี่ยวข้อง (Public Presentation) ตามเกณฑ์ปัจจุบัน


3. ขึ้น SP หุ้นฟรีโฟลตต่ำเกณฑ์เกิน 2 ปี หากแก้ไขไม่ได้ใน 2 ปี ถูกเพิกถอน


ปรับเกณฑ์กำกับหุ้นฟรีโฟลตต่ำกว่า 150 ราย และถือหุ้นรวมกันต่ำกว่า 15% ให้เข้มงวดขึ้น โดยจะขึ้นเครื่องหมาย C ให้หุ้นที่ฟรีโฟลตต่ำกว่ากำหนดทันที จนกว่าจะแก้ไขได้ พร้อมเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตามระยะเวลา และหากเกิน 2 ปียังไม่สามารถแก้ไขได้จะถูกขึ้นเครื่องหมาย SP เพื่อหยุดพักการซื้อขาย จนกว่าจะแก้ไขได้ และหากยังไม่สามารถภายใน 2 ปีหลังขึ้น SP จะเป็นเหตุให้เพิกถอนจากการเป็น บจ.


4.เพิ่มเครื่องหมายเตือนตามเหตุการณ์


เพื่อให้ผู้ลงทุนเพิ่มความระมัดระวังและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ บจ.อย่างรอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุน ตลท.จะยกระดับการเตือนผู้ลงทุน โดยแยกเครื่องหมายเตือนออกเป็นหลายเครื่องหมายย่อย ตามเหตุที่แตกต่างกัน เช่น CC กรณี บจ.มีเหตุด้านฐานะการเงิน, CS กรณี บจ.มีเหตุเกี่ยวกับงบการเงิน และ CO กรณี บจ.มีเหตุที่บริษัทมีสินทรัพย์เกือบทั้งหมดในรูปเงินสด (Cash Company) เป็นต้น จากปัจจุบันที่มีเพียงเครื่องหมาย C ซึ่งผู้ลงทุนต้องศึกษาข้อมูลจากข่าวการขึ้นเครื่องหมายเพิ่มเติมเพื่อให้ทราบสาเหตุของการขึ้นเครื่องหมาย C นั้น


5.ปรับปรุงกระบวนการลดความซับซ้อน


5.1.รวมเหตุเพิกถอน : ปัจจุบัน ตลท.จะประกาศเข้าเหตุเพิกถอนแต่ละเงื่อนไขแยกจากกันและ บจ.ต้องดำเนินการแก้ไขเหตุเพิกถอนแต่ละเงื่อนไขนั้นตามระยะเวลาที่กำหนด เพื่อลดความซับซ้อน จะรวมเป็นเหตุเพิกถอนเดียวและจะประกาศให้บริษัทเข้าเหตุเพิกถอนเฉพาะครั้งแรกที่บริษัทเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งตามที่กำหนด โดย บจ.ต้องแก้ไขเหตุเพิกถอนและกลับมาซื้อขายได้ตามระยะเวลาที่เข้าเงื่อนไขแรก

5.2.ขึ้นเครื่องหมาย บจ.ที่กรรมการตรวจสอบไม่ครบ : จากเดิมต้องประกาศรายชื่อทุกเดือน โดนจะมีเครื่องหมายเฉพาะเพื่อขึ้นกำกับ บจ.ที่เข้าเงื่อนไขดังกล่าว


6.คุมเข้ม Backdoor Listing เทียบชั้น IPO


เพิ่มการพิจารณาคุณสมบัติของ บริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนทางอ้อมผ่านการ Backdoor listing ดังนี้

6.1.ก.ล.ต.จะร่วมพิจารณาคุณสมบัติและเอกสารต่าง ๆ เช่นเดียวกับกรณี IPO โดยเฉพาะเรื่องระบบควบคุมภายในและความขัดแย้งทางผลประโยชน์

6.2.บริษัทที่จะ Backdoor Listing ต้องมีผลการดำเนินงานผ่านเกณฑ์กำไรตามคุณสมบัติเดียวกับหุ้น IPO หรือธุรกิจสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเท่านั้น ไม่สามารถใช้เกณฑ์มาร์เก็ตแคปได้

6.3.บริษัทที่จะ Backdoor Listing ต้องจัด Opportunity Day อย่างน้อย 1 ในปีแรกที่เข้าจดทะเบียน

6.4.ขึ้นเครื่องหมาย NP บริษัทที่จะทำ Backdoor Listing จนกว่าจะผ่านการพิจารณาคุณสมบัติ และหากบริษัทที่จะทำ Backdoor Listing ไม่เป็นไปตามเกณฑ์จะถูกขึ้น SP ไปก่อน และหากเกิน 2 ปีจะถูกเพิกถอน


7.ปรับปรุงเกณฑ์ให้สอดคล้องกับ ก.ล.ต.และยกเลิกเกณฑ์ที่ไม่ทันสมัย


7.1.เกณฑ์หรือแนวทางที่ ก.ล.ต. ได้มีกำหนดและใช้บังคับแล้ว เช่น หลักการกับดูแลกิจการที่ดี, การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีเพื่อตรวจสอบบัญชีป็นกรณีพิเศษ, รายการได้มาหรือจำหน่ายไปซึ่งสินทรัพย์และรายการที่เกี่ยวโยงกัน

7.2.เกณฑ์ที่ไม่เป็นปัจจุบันและไม่ได้ใช้บังคับแล้ว เช่น การให้ความเห็นชอบเกี่ยวกับการมีข้อจำกัดในการโอนหุ้นของบริษัทจดทะเบียน เนื่องจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้กำหนดไว้ในเกณฑ์รับหลักทรัพย์แล้ว


หมายเหตุ : ตลท.จะเปิดรับฟังความคิดเห็นถึงวันที่ 4 ก.ย.นี้ 

 

 

 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด