สารพัดปัญหาถาโถมใส่จีน หวั่นลากเศรษฐกิจโลกดิ่งตาม พบตัวเลขเศรษฐกิจหดตัวต่อเนื่อง ส่งออกวูบ การบริโภคหาย เข้าภาวะเงินฝืด แถมวัยรุ่นว่างงานเพียบ หลังเจอปัญหาหนี้สินล้นพ้นตัวในกลุ่มบิ๊กอสังหาฯ จนขาดสภาพคล่อง ผิดนัดชำระหุ้นกู้ ดันหนี้สินต่อจีดีพีพุ่งระดับ 281% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ล่าสุด "ธนาคารเงา" เบี้ยวจ่ายผลตอบแทนลูกค้าอีกมโหฬาร วงการคาดจ่อเกิดวิกฤติ ห่วงกระทบเศรษฐกิจไทยหลายอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว-ส่งออก โดนก่อนเพื่อน ต่อเนื่องถึงกำไร บจ.และ SET Index เหตุเป็นคู่ค้าเบอร์ต้นที่มีนัยสำคัญ แนะเคลียร์พอร์ตเลี่ยงหุ้นที่เกี่ยวข้อง เลือกลงทุนแต่หุ้นปลอดภัยและมีรายได้ในประเทศ
*** ตัวเลขเศรษฐกิจหด-เงินฝืด-ส่งออกวูบ-วัยรุ่นว่างงานเพียบ
15 ส.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ (NBS) ของจีน รายงานการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค.ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียง 3.7% เมื่อเทียบเป็นรายปี ชะลอตัวจากเดือน มิ.ย.ที่มีการขยายตัว 4.4% และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดว่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมอาจปรับตัวขึ้นถึง 4.4%
ขณะที่ยอดค้าปลีก เดือน ก.ค.ขยับขึ้นเพียง 2.5% เทียบรายปี ลดลงจากเดือน มิ.ย.ที่เพิ่มขึ้น 3.1% และต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดว่าอาจเพิ่มขึ้น 4.5% แม้ เดือนก.ค.จะเป็นฤดูการท่องเที่ยวในช่วงหน้าร้อนของจีนก็ตาม
ขณะเดียวกันดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เดือนกรกฎาคมลดลง 0.3% จากเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า และลดลงครั้งแรกรอบกว่า 2 ปี ทั้งค่าอาหาร ค่าขนส่ง และค่าของใช้ในครัวเรือนลดลงทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งราคาเนื้อหมูลดลง 26% และราคาผักลดลง 1.5% สะท้อนการเข้าสู่ภาวะเงินฝืดอย่างเป็นทางการ และเป็นหลักฐานยืนยันว่าอุปสงค์ในประเทศอ่อนแอ
นอกจากนี้ออร์เดอร์จากต่างประเทศที่ลดลงต่อเนื่อง บวกกับอุปสงค์ภายในประเทศที่ลดลงส่งผลให้ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) หรือราคาที่โรงงานขายให้ผู้ค้าส่งลดลง 4.4% (YOY) เป็นการลดลงติดต่อกันเดือนที่ 10 และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือน พ.ย.63 ที่ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีผู้ผลิต (PPI) ลดลงในเดือนเดียวกัน
ทั้งนี้ สัญญาณภาวะเงินฝืดของจีนที่เพิ่มขึ้นช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาทำให้เกิดความกังวลว่าเศรษฐกิจจีนอาจเข้าสู่ภาวะชะงักงัน (Stagnation) และซบเซาเป็นเวลานาน ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากได้ออกมาเตือนให้จีนรีบแก้ปัญหานี้ก่อนจะสายเกินไป
อีกประเด็นสำคัญที่ประกาศล่าสุดคือ ตัวเลขการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ เดือน ก.ค.ลดลง 8.5% เทียบเป็นรายปี และเป็นการปรับตัวลงรุนแรงกว่าในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ประกอบกับยอดขายบ้านใหม่ที่ลดลงส่งผลให้ราคาขายบ้านใหม่ในเดือนก.ค.ลดต่ำลงเป็นครั้งแรกของปี โดยลดลง 0.1%YOY และลดลง 0.2% เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า (MOM)
การลงทุนในภาคอสังหาฯ นั้นคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 20% ของการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรของจีน และมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณ 14% ซึ่งภาวะซึมเซาของภาคอสังหาฯ นั้นส่งผลกระทบต่อการจ้างงานอย่างมาก
และเมื่อดูที่อัตราว่างงาน เดือน ก.ค.ดีดตัวขึ้นแตะระดับ 5.3% จากระดับ 5.2% ในเดือนก่อนหน้า ที่น่าสนใจคือตัวเลขการว่างงานในกลุ่มคนหนุ่มสาว (อายุ 16-24ปี) ซึ่งพุ่งเป็นสถิติใหม่ระดับ 21.3% สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้ 1 ใน 5 ของจีนไม่มีงานทำ ซึ่งถือเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจ โดยล่าสุดทางการจีนสั่งระงับการเปิดเผยตัวเลขดังกล่าวแล้ว เพราะเสี่ยงทำให้ตลาดผันผวน
ด้านการส่งออกของจีนในเดือน ก.ค.66 ลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปีกว่า นับตั้งแต่เดือน ก.พ.63 เป็นการตอกย้ำถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนในปีนี้ โดยข้อมูลที่หน่วยงานศุลกากรของประเทศจีนเผยแพร่เมื่อ 8 ส.ค.ที่ผ่านมา การส่งออกเดือน ก.ค.มีมูลค่า 2.8 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 14.5%YOY และลดลงต่อเนื่องในอัตราที่มากกว่าเดือน มิ.ย.ซึ่งลดลง 12.4%YOY
ส่วนฝั่งการนำเข้ามีมูลค่า 201,160 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลง 12.4%YOY และลดต่อเนื่องจากเดือนเดือน มิ.ย.ที่ติดลบ 6.8%YOY ส่งผลให้จีนได้ดุลการค้า 80,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ทั้งนี้การส่งออกของจีนหดตัวลงในทุกตลาดหลัก การส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลง 20.62%YOY ส่วนการส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกาลดลง 23.12%YOY หดตัวติดต่อกัน 12 เดือนแล้ว
แม้แต่การส่งออกมายังอาเซียนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ และเป็นหนึ่งในตลาดหลักที่หนุนการส่งออกของจีนเมื่อช่วงต้นปีก็หดตัวลง 21.43%YOY ต่อเนื่องจากเดือน และลดลง 2 เดือนติดต่อกันครั้งแรกในปีนี้
นอกจากนี้มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ของจีนในไตรมาส 2/66 อยู่ในระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ สาเหตุหลักมาจากสงครามเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ กับจีน และความไม่มั่นใจของต่างชาติว่าจีนจะเปิดรับโลกภายนอกไปอีกนานแค่ไหน บวกกับการส่งเสริมแนวคิด “Friend-Shoring” ของสหรัฐ ซึ่งจะสร้างห่วงโซ่อุปทานกับประเทศ/เขตเศรษฐกิจที่เป็นมิตรเท่านั้น เป็นแรงกดดันต่อการลงทุนของต่างชาติในจีน
ตามการเปิดเผยของสำนักงานบริหารเงินตราต่างประเทศของจีน (State Administration of Foreign Exchange of China) เมื่อ 13 ส.ค.ที่ผ่านมา การลงทุนโดยตรงของบริษัทต่างชาติในจีนในไตรมาส 2/66 มีมูลค่าอยู่ที่ 4,900 ล้านดอลลาร์ฯ ลดลง 87%YOY เป็นการลดลงครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เริ่มมีการเก็บข้อมูลในปี 2541 หรือ 25 ปีที่แล้ว
*** วิกฤติ "หนี้อสังหาฯ" ดันฟองสบู่แตก
แม้ที่ผ่านมาจีนจะมีปัญหาสงครามการค้ากับสหรัฐฯ หรือที่เรียกว่า Trade War ลามไปถึง Tech War ที่ต่อสู้กันด้านชิปเซมิคอนดักเตอร์ยันผู้นำด้าน AI แต่ก็ยังประคับประคองเศรษฐกิจให้สามารถเอาตัวรอดได้
แต่ปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อจีนอย่างมากนอกจากโควิด-19 คือ วิกฤติ "หนี้อสังหาริมทรัพย์" ที่ทำให้ยักษ์ใหญ่อย่างจีนเข่าอ่อนได้เลย เพราะเป็นภาคธุรกิจที่มีนัยต่อ GDP ของจีนถึง 1 ใน 4 เรียกว่าเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจสำคัญของจีนเลยทีเดียว
อย่างที่ทราบกันดีว่าราว 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดอสังหาฯ จีนเติบโตอย่างร้อนแรง จนผู้ประกอบการนำเงินจากยอดขายพรีเซล บวกกับเงินกู้ยืมไปเร่งขยายการลงทุนต่อเนื่อง หมุนเงินต่อเงินไปเรื่อย ๆ เพราะเป็นช่วงขาขึ้นของธุรกิจนี้
จนเริ่มมีการวิเคราะห์ถึงความกังวลเรื่องฟองสบู่ ทางการจีนจึงออกเกณฑ์สกัดดาวรุ่ง คุมเข้มสินเชื่อที่ปล่อยให้ผู้ประกอบการผ่านนโยบายสามเส้นแดง (Three red lines) ด้วยการเพิ่มเกณฑ์เข้มข้นก่อนปล่อยกู้
ทำให้ผู้ประกอบการเริ่มสะดุดในการเติมสภาพคล่อง และเหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดเจอผลกระทบจากโควิด-19 เข้าไป จึงล้มกันอย่างไม่เป็นท่า โดมิโน่ลุกลามไปจนกลายเป็น วิกฤตหนี้ครั้งใหญ่ของ "บริษัท เอเวอร์แกรนด์ (Evergrande)" จนธุรกิจพัง สร้างความบอบช้ำให้แก่ตลาดอสังหาฯ ในวงกว้าง อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อกิจกรรมก่อสร้างและห่วงโซ่การผลิตที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศและโลกมหาศาล เมื่อ 2 ปีก่อน
จากเหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลต่อความเชื่อมั่นภาคอสังหาฯ ของจีนอย่างต่อเนื่อง กำลังซื้อหดหายอย่างมีนัยสำคัญ โครงการใหม่ไม่ต้องพูดถึง เพราะโครงการที่สร้างเสร็จก็ไม่มีคนซื้อ ขนาดจัดโปรโมชั่น "ลด แลก แจก แถม" ก็ไม่ดีขึ้น หลายโครงการถึงขนาดจัดโปรฯ ซื้อ 1 แถม 1 ด้วยซ้ำ แต่ก็ไม่สามารถกระตุ้นแรงซื้อได้
จนล่าสุด บริษัท คันทรี การ์เดน (Country Garden) ยักษ์ใหญ่เบอร์ต้นผู้ประกอบการอสังหาฯ เอกชนของจีน ได้ผิดนัดชำระหนี้ดอกเบี้ยหุ้นกู้มูลค่า 22.5 ล้านดอลลาร์ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หากไม่สามารถชำระได้ภายใน 30 วัน (Grace Period) จะทำให้บริษัทเผชิญการผิดนัดชำระ (Default) เป็นครั้งแรก ซึ่งจะเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างแน่นอน โดย "Country Garden" มีหนี้สินรวม ณ สิ้นปี 65 ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์ ถือเป็นสัญญาณเตือนขนาดใหญ่ภาคอสังหาฯ และเศรษฐกิจจีน เนื่องจาก "Country Garden" มีอสังหาฯ มากกว่า 3,000 โครงการทั่วประเทศ ซึ่งคิดเป็นกว่า 4 เท่าเมื่อเทียบกับ 700 โครงการของ "Evergrande" ซึ่งต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
*** ปัญหาหนี้ลุกลาม "ทรัสต์" รายใหญ่ ผิดนัดชำระเพียบ
ขณะเดียวกัน "Zhongzhi Enterprise Group Co. บริษัทบริหารความมั่งคั่งชั้นนำของจีน ที่มีลูกค้ากว่าแสนราย กำลังประสบปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัททรัสต์ในเครืออย่าง "Zhongrong International Trust Co." โดยผิดนัดชำระเงิน (Miss Payments) สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเงินกว่า 10 รายการ และยังไม่มีแผนชดเชยให้ลูกค้าในทันที สะท้อนปัญหาการขาดสภาพคล่องอย่างหนัก
ทั้งนี้บริษัทเปิดเผยว่า ได้ขาดการชำระเงินสำหรับชุดผลิตภัณฑ์ในวันที่ 8 ส.ค. และอาจพลาดการจ่ายเงินในอีกอย่างน้อย 10 รายการ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ค. โดยขณะนี้มีผลิตภัณฑ์การเงินอย่างน้อย 30 รายการที่ค้างชำระ รวมถึงยังหยุดการไถ่ถอนตราสารระยะสั้นบางรายการด้วย ยังไม่มีแผนครอบคลุมเพื่อชำระเงินคืนให้ลูกค้าในทันที เนื่องจากสภาพคล่องในระยะสั้นของบริษัทสะดุดลงอย่างกะทันหัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับลูกค้าประมาณ 150,000 ราย มูลค่าเงินลงทุน 230,000 ล้านหยวน โดยทำได้เพียงขอให้ลูกค้าอดทนระหว่างที่บริษัทพยายามกอบกู้มูลค่าของการลงทุนกลับมา...
"Zhongrong International Trust" ถือเป็นบริษัทใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในอุตสาหกรรมทรัสต์มูลค่า 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ของจีน โดยอุตสาหกรรมนี้ถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจจีนโต เนื่องจากทำหน้าที่เป็นตัวกลางรวบรวมเงินออมจากครัวเรือนที่ร่ำรวยและลูกค้าองค์กร เพื่อนำมาลงทุนและปล่อยสินเชื่อเพื่อสร้างผลตอบแทนอีกที ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนสูง 270 รายการ มูลค่ารวม 5.4 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งจะครบกำหนดในปีนี้
"Zhongrong International Trust" เป็นบริษัทในเครือ "Zhongzhi Enterprise Group" ซึ่งมีสินทรัพย์ภายใต้การดูแล (AUM) มากกว่า 1.38 แสนล้านดอลลาร์ ได้ชื่อว่าเป็น Blackstone แห่งประเทศจีน และเป็นหนึ่งธนาคารเงา (Shadow Banking) รายใหญ่ที่ทางการจีนพยายามจะควบคุม
"Shadow Bank" เป็นระบบการเงินแบบหนึ่ง ทำธุรกิจคล้ายกับธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ไม่อยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากเท่ากับธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งไม่มีหน่วยงานรัฐ ที่มีอำนาจโดยตรงมาคอยควบคุม
จากเหตุการณ์ดังกล่าว นักวิเคราะห์ของ Goldman Sachs Group Inc. คาดว่า การเติบโตของผลิตภัณฑ์ทรัสต์จะชะลอตัวลง ซึ่งอาจส่งผลให้เงื่อนไขการปล่อยเงินกู้ให้ภาคอสังหาฯ เข้มงวดขึ้นกว่าเดิม จนส่งผลกระทบต่อรายได้และงบดุลของธนาคารโดยความท้าทายด้านสภาพคล่องในปัจจุบันยังเป็นการเน้นย้ำว่าปัญหาในภาคอสังหาฯ และเศรษฐกิจที่อ่อนแอของจีนกำลังส่งผลกระทบไปถึงภาคการเงิน
ขณะที่ข้อมูลจาก Bloomberg Economics ระบุว่า อุตสาหกรรมทรัสต์จีนลงทุนในภาคอสังหาฯ ประมาณ 2.2 ล้านล้านหยวน หรือคิดเป็น 10% ของสินทรัพย์ทั้งหมด ณ สิ้นปี 65 โดยผลิตภัณฑ์ทรัสต์จำนวนมากก็ถูกหนุน (Back) โดยโครงการอสังหาฯ ของบริษัทที่มีปัญหา รวมถึง "Evergrande" และ "Country Garden"
นอกจากนี้ ข้อมูลจาก "Use Trust" ระบุว่า ตั้งแต่ต้นปีถึง 31 ก.ค.นี้ มีผลิตภัณฑ์ทรัสต์ทั้งหมด 106 รายการ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านหยวน ที่ผิดนัดจ่ายผลตอบแทนให้ลูกค้า ซึ่ง 74% ในจำนวนที่ผิดนัดนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ และนักวิเคราะห์บางรายวิเคราะห์ว่า ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจหากจะเห็นบริษัททรัสต์ผิดนำจ่ายผลตอบแทนมากขึ้น
*** หนี้ต่อจีดีพีพุ่งทำนิวไฮ
ขณะเดียวกันสัดส่วนหนี้ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนก็เพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ตามการประมาณการของ Bloomberg ระบุว่า หนี้ทุกภาคส่วน (Total Debt) ทั้งภาครัฐ เอกชน และครัวเรือนของจีน เพิ่มขึ้นเฉียด 281% ของ GDP ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งหากเป็นประเทศขนาดเล็กน่าจะเกิดวิกฤติไปแล้ว
ตามการคำนวณข้อมูลของธนาคารกลางจีน (PBOC) และสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน เปิดเผยว่า หนี้ทุกภาคส่วน ทั้งภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ และภาครัฐบาลของจีน เพิ่มแตะ 281.5% ของ GDP ในไตรมาส 2/66 จาก 279.7% ในไตรมาส 1/66 สอดคล้องกับการประเมินของสถาบันการเงินและการพัฒนาแห่งชาติของจีน (NIFD) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมอง ประเมินว่าหนี้สินโดยรวมจะเพิ่มขึ้นเป็น 283.9% ในไตรมาส 2/66
ตัวเลขเหล่านี้กำลังทำให้นักเศษฐศาสตร์ตั้งคำถามว่า จีนกำลังเข้าสู่ภาวะ "Balance Sheet Recession" หรือภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง ที่เกิดขึ้นเมื่อหนี้ภาคเอกชนอยู่ในระดับสูง ทำให้บุคคลหรือบริษัท หันมาให้ความสำคัญกับการออมและการชำระหนี้มากกว่าการใช้จ่ายหรือการลงทุน ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจชะลอตัวหรือลดลง ตัวอย่างเช่น ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของญี่ปุ่นที่เริ่มต้นในปี 2533 หรือ Lost Decade และภาวะเศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐอเมริกาในปี 2550-2552 โดยสถาบันวิจัยโนมูระ ประเมินว่า จีนกำลังเผชิญกับสิ่งคล้ายคลึงที่ทำให้เศรษฐกิจของญี่ปุ่นหยุดชะงักในช่วงทศวรรษที่ 90 ได้แก่ การลดลงอย่างรวดเร็วของราคาสินทรัพย์ต่างๆ ทำให้ภาคเอกชนหันไปลดภาระหนี้มากขึ้น ซึ่งส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนลดลง
*** หั่นดอกเบี้ยครั้งที่ 2 รอบ 3 เดือน-เติมเงินเข้าระบบอีก 2 แสนล.หยวน
หลังตัวเลขต่าง ๆ ที่ออกมาทรงไม่ดีนัก ธนาคารกลางจีน จึงประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะกลางประเภท 1 ปี (MLF) ลง 0.15% เหลือ 2.50% เป็นการปรับลดดอกเบี้ยครั้งที่ 2 ในรอบ 3 เดือน พร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบอีก 2 แสนล้านหยวน ตอกย้ำภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวต่อเนื่อง
"Louise Loo" หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ "Oxford Economics" ระบุว่า ตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนล่าสุดสะท้อนว่าจีนกำลังเผชิญกับวิกฤตความเชื่อมั่น เป็นผลมาจากการตอบสนองทางนโยบายที่ล่าช้าของภาครัฐ ซึ่งเศรษฐกิจจีนส่งสัญญาณอ่อนแรงตลอดช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ทั้งการค้า การบริโภคในประเทศ รวมถึงการเติบโตของสินเชื่อ แม้ที่ผ่านมาทางการจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค การลงทุนในภาคเอกชน และการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศออกมา แต่มาตรการส่วนใหญ่ยังมีลักษณะเฉพาะเจาะจงและเน้นไปที่กลุ่มเป้าหมาย ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคและนักลงทุนได้
*** รุมลดเป้า GDP จีนปี 66
ผลกระทบข้างต้นส่งผลให้ ทีมนักวิเคราะห์ของ ธนาคารเจพีมอร์แกน แบงก์ใหญ่อันดับ 1 ของสหรัฐฯ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนปี 66 ลงสู่ระดับ 4.8% จากเดิมคาดโต 6.4%
เช่นเดียวกับ ธนาคารบาร์เคลย์ส ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนปี 66 ลง 0.4% เหลือโต 4.5%
ขณะที่ ธนาคารมิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ปรับลดคาดการณ์ GDP ของจีนปี 66 เหลือโต 5% จากเดิมคาด 5.5%
ทั้งนี้ปี 65 ที่ผ่านมา GDP ของจีนขยายตัวเพียง 3% ซึ่งเป็นการขยายตัวต่ำกว่า 5% ติดต่อกัน 3 ปีเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุคของอดีตประธานาธิบดี เหม๋า เจ๋อตุง ปกครองประเทศ
*** ตลาดเกิดใหม่เสี่ยงเบี้ยวหนี้สูง จากโดมิโน่จีน
"เจพีมอร์แกน" วาณิชยกิจอันดับหนึ่งในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มคาดการณ์ผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงในตลาดเกิดใหม่ทั่วโลกเป็น 9.7% จากเดิม 6% และยังปรับเพิ่มคาดการณ์ผิดนัดชำระหนี้สำหรับเอเชียเป็น 10% จากเดิม 4.1% ซึ่งภาคอสังหาฯ ของจีนจะคิดเป็นเกือบ 40% ของปริมาณผิดนัดชำระหนี้ในปี 66 ตามมาด้วยบริษัทในรัสเซียที่คิดเป็น 35% ของทั้งหมด และ 12% จากบราซิล
การปรับเพิ่มประมาณการอย่างก้าวกระโดดแสดงให้เห็นถึงความกังวลว่าการผิดนัดชำระหนี้ของ "คันทรี่ การ์เด้น" จะส่งผลกระทบในวงกว้าง เพราะมีโครงการอสังหาฯ สูงกว่า "เอเวอร์แกรนด์" หลายเท่า
ทั้งนี้การผิดนัดชำระหนี้ของ "คันทรี่ การ์เด้น" จะเป็นการเพิ่มหนี้ของปีนี้เข้าไปในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ถึง 9.9 พันล้านดอลลาร์ฯ และจะทำให้จีนมีการผิดนัดชำระหนี้จากกลุ่มอสังหาฯ ที่สูงถึง 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ จากต้นปีถึงปัจจุบัน
การผิดนัดชำระหนี้ของ "คันทรี่ การ์เด้น" จะลามไปยังบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขนาดเล็กในจีนให้ผิดนัดชำระเป็นวงเงินอีก 8 พันล้านดอลลาร์ฯ และในกลุ่มอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกราว 2 พันล้านดอลลาร์ฯ ทั้งนี้ หุ้นกู้ของบริษัทพัฒนาอสังหาฯ ในจีนผิดนัดชำระหนี้มาแล้วกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในช่วงสองปีครึ่งที่ผ่านมา
*** ไทยกระทบแน่ ท่องเที่ยว-ส่งออก-ลงทุน
"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ ระบุว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับจีนจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม อันดับแรกภาคการท่องเที่ยวและส่งออก เพราะถือเป็นตลาดหลักที่สร้างรายได้ให้ประเทศไทยในช่วงหลายปีหลัง
ขณะที่ตลาดหุ้นจะได้รับผลกระทบแน่นอนจากภาวะ "Sell Off" เพราะความกังวลเรื่อง เศรษฐกิจถดถอยของจีนจะดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติออกจากภูมิภาค ตอนนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะกระทบดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) และกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เท่าไหร่ แต่คาดว่าจะหนัก เพราะ บจ.ไทยมีการค้าขายกับจีนค่อนข้างมาก สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ยังเปราะบาง ปัญหาจากจีนจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบที่เข้ามาซ้ำเติม
ด้าน "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่า ประเมินว่า เนื่องจากจีนเป็นคู่ค้ารายใหญ่ และไทยต้องพึ่งพาการค้าในหลายอุตสาหกรรมหลัก ทั้งท่องเที่ยว ส่งออก (ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์, ยานยนต์ และเกษตร เป็นต้น) เมื่อเกิดวิกฤติในจีนจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยแน่นอน ซึ่งต้องจับตาใกล้ชิดถึงแนวทางแก้ไขปัญหาของรัฐบาลจีน
สำหรับตลาดหุ้นอาจจะยังประเมินได้ยากว่าจะกระทบแค่ไหน แต่หากเกิดวิกฤติเศษฐกิจในจีนจริง จะส่งผลต่อจีดีพีไทยแน่นอน อัตราตราการเติบโตจะหายไปอย่างน้อย 50% เช่นจากเดิมคาดโต 3% จะเหลือเพียง 1.5% นั่นคือกรณีที่ดีที่สุด กลับกันหากเลวร้ายอาจจะถึงขึ้นติดลบ เพราะนักท่องเที่ยวจีนมีผลต่อจีดีพีไทยระดับ 10% และการส่งออกอีก 20% ยังไม่รวมการบริโภคภาคครัวเรือนที่ยังไม่มีตัวเลขในมือ ซึ่งส่วนนี้จะหายไปทั้งหมด
*** จับตา Trigger Point เศรษฐกิจจีนล้ม
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กล่าวเพิ่มเติมว่า จุด Trigger Point สำคัญที่บ่งบอกว่าเศรษฐกิจจีนเข้าภาวะวิกฤติคือ ภาคอสังหาฯ ของจีนล้ม และรัฐบาลประกาศไม่เข้ามาอุ้ม ซึ่งจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั่วโลก เพราะเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เกี่ยวข้องกับอีกหลายอุตสาหกรรมอื่น ๆ ทั่วโลก อย่างไรก็ตามด้วยวัฒนธรรมของจีน การปล่อยให้เกิดแบบนั้นเป็นไปได้ยาก สะท้อนจาก 10 ปีก่อน ที่ภาคอสังหาฯ จีนเริ่มมีสัญญาณว่าจะเกิดวิฤติขึ้น รัฐบาลก็เข้าไปช่วยเหลือทันที
เช่นเดียวกับ "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" มองว่า หากหลังจากนี้ ภาคอสังหาฯ และกลุ่มธุรกิจการเงิน/ธนาคาร/ไฟแนนซ์ มีการล้มอีกเป็นโดมิโน่ จะเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าเกิดวิกฤติแน่ ๆ เป็นการเปิดเผยปัญหาที่ซ่อนอยู่ใต้พรมมานาน อีกประเด็นคือธนาคารกลางจีนปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็น Sentiment เชิงลบ เพราะสวนทางกับทิศทางดอกเบี้ยทั่วโลก
ด้าน "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" นักวิเคราะห์ บล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุว่า ต้องรอดูในช่วงครึ่งหลังของปี 66 ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร หากเป็นไปในทิศทางแย่กว่าครึ่งปีแรก นั่นก็หมายความว่าเศรษฐกิจจีนจะเข้าสู่ช่วงเปราะบางมากขึ้น อีกทั้ง ก็ยังต้องติดตามปัญหาภาคอสังหาฯ ของจีนว่าจะมีการลุกลามไปมากแค่ไหน และรัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลืออีกหรือไม่ ถ้าไม่เข้ามาช่วยก็อาจจะเกิดวิกฤติได้
*** เคลียร์พอร์ตหุ้นที่เกี่ยวข้องจีน
"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" ระบุว่า ตอนนี้ควรเคลียร์พอร์ตหุ้นที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับจีนให้หมด แล้วรอจังหวะซื้อกลับเมื่อเริ่มเห็นสัญญาณเชิงบวกมากกว่านี้ โดยเน้นลงทุนหุ้นที่มีรายได้ในประเทศ เช่นกลุ่มโรงพยาบาล ซึ่งถือว่าเป็น Defensive Stock เช่น BCH, BH และ BDMS
ด้าน บล.ไอร่า แนะนำว่า หากเกิดวิกฤติจีน ควรกลับมาถือเงินสดจะปลอดภัยมากกว่า แต่หากจะลงทุนให้เลือกกลุ่ม Domestic เช่น ค้าปลีก และโรงไฟฟ้าบางที่เท่านั้น โดยหุ้นที่จะยืนหยัดได้คือ CPALL, CPAXT, BJC และ GULF ส่วนหุ้นที่โดนผลกระทบรุนแรงเช่น PTTEP, IVL และ PTTGC เป็นต้น เพราะความต้องการของจีนหายไป
ฝั่ง บล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุว่า ให้เน้นลงทุนหุ้นที่มีรายได้หลักในประเทศ แนะนำ CPALL และ PLANB ส่วนหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยงจะเป็นกลุ่มพลังงาน - ปิโตรฯ ที่มีความเชื่อมโยงกับจีนสูง เช่น PTTGC และ SCC