โบรกฯผสานเสียง SET มี.ค.ดาวน์ไซด์จำกัด เหตุรับรู้ประเด็นลบงบ บจ. - GDP ปี 66 ต่ำคาดไปแล้ว เชื่อไม่มีทางหลุดระดับ 1,350 จุด ลุ้นปัจจัยบวก Flow ไหลเข้า - งบปี 67 เร็วขึ้น - นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย - จีน หนุนดัชนีแตะจุดสูงสุด 1,460 จุด ส่วนใหญ่แนะกลยุทธ์ทยอยเพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยที่ปัจจัยพื้นฐานดี - งบปี 67 แกร่ง !
*** โบรกฯชี้ SET มี.ค. ดาวน์ไซด์จำด
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า มองว่า ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) เดือน มี.ค.นี้ ยังคงมีแนวโน้ม sideway แต่เริ่มเห็นดาวน์ไซด์จำกัดแล้ว สะท้อนจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ส่วนใหญ่ประกาศงบการเงินออกมาเกือบหมดแล้ว เช่นเดียวกับการประกาศ GDP ประจำปี 66 ของประเทศไทย ที่ตลาดรับรู้ข่าวร้ายไปแล้ว จากตัวเลขที่ออกมาต่ำกว่าคาดการณ์เล็กน้อย
โดยมองว่า โอกาสที่ดัชนีจะหลุดระดับ 1,400 จุด และไหลลงไปยาว ๆ เริ่มเกิดขึ้นได้ยากแล้ว เพราะตลาดหุ้นไทยขณะนี้มีมูลค่า (Valuation) ที่ถูกมากแล้ว สะท้อนจากการเทรด P/E ที่ -1SD
สอดคล้องกับ "มงคล พ่วงเภตรา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) ที่ระบุว่า SET Index เดือน มี.ค.นี้ เริ่มมีดาวน์ไซด์จำกัดแล้ว สะท้อนจากบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่รายงานงบปี 66 กันออกมาเกือบหมดแล้ว ซึ่งตลาดรับรู้ต่อประเด็นลบเรื่องผลการดำเนินงานช่วงดังกล่าวต่ำกว่าคาดการณ์ไปแล้ว
ขณะที่ ในระยะสั้น อาจจะเห็นแรงขายออกมาหลังบริษัทจดทะเบียนที่เหลือประกาศงบปี 66 บ้าง แต่เชื่อว่าจะไม่ทำให้ดัชนีหลุดระดับ 1,350 จุด ไปได้แล้ว
*** ลุ้นดัชนีมี.ค.ไปไกลสุด 1,460 จุด
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กลับมากล่าวต่อว่า การคาดหวังให้ดัชนีปรับตัวขึ้นในเดือน มี.ค.นี้ ยังคงต้องพึ่งพาการไหลเข้าของเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ (Fund flow) เป็นหลัก โดยคาดว่ามีโอกาสที่จะเห็นแรงซื้อเพิ่มเข้ามาเพื่อรับเงินปันผล แต่ก็ไม่สามารถการันตีได้ว่าจะมีแรงซื้อกลับเข้ามามากน้อยแค่ไหน ทำให้มองกรอบ SET Index เดือน มี.ค.ไว้ที่บริเวณ 1,380 - 1,440/60 จุด
ขณะที่ "ภาดล วรรณรัตน์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินกรอบดัชนีหุ้นไทยเดือน มี.ค.นี้ เคลื่อนไหวในกรอบ 1,380 - 1,440/50 จุด ซึ่งในเดือนดังกล่าว แนะนำติดตาม 2 เหตุการณ์สำคัญ ที่คาดจะส่งผลมาถึง Sentiment ของตลาดหุ้นไทย
1.ความคืบหน้าของงบประมาณแผ่นดินปี 67 ที่มีแนวโน้มเร็วขึ้นมาอยู่ในช่วงปลายเดือน มี.ค. (เดิม เม.ย.) ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนดัชนีให้ปรับตัวขึ้นได้
2.การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้ ว่า จะมีทิศทางอย่างไรกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยตลาดมองว่า Fed ยังจะคงดอกเบี้ยต่อไป แต่หากมีการส่งสัญญาณลดดอกเบี้ย ก็จะเป็น Sentiment บวกต่อตลาดหุ้นได้เช่นกัน
ด้าน "มงคล พ่วงเภตรา" ประเมินว่า เดือน มี.ค.นี้ SET Index จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 1,370 - 1,420 จุด โดยเดือน มี.ค.นี้ แนะนำจับตานโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจีน และไทย ว่าจะมีออกมาหรือไม่ และถ้ามีจะเป็นไปในทิศทางใด ซึ่งประเด็นดังกล่าว อาจเป็นปัจจัยหนุนดัชนีให้ปรับตัวขึ้นได้ในระยะถัดไป
ส่วน "สุนทร ทองทิพย์" ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า การเคลื่อนไหวของ SET Index เดือน มี.ค.ยังเป็นแบบแกว่งตัว Sideway โดยประเมินกรอบดัชนีไว้ที่ 1,380 - 1,420 จุด โดยมองว่า ในเดือน มี.ค.ยังไม่มีปัจจัยบวกใหม่ ๆ ที่น่าตื่นเต้นเข้ามาหนุนตลาด ภาพส่วนใหญ่ยังเป็นการรอคอยเป็นหลัก
*** กลยุทธ์ลงทุน ส่วนใหญ่แนะหุ้นงบปี 67 แกร่ง
"ภาดล วรรณรัตน์" ระบุว่า เนื่องด้วย SET Index เดือน มี.ค.นี้ เริ่มมีดาวน์ไซด์จำกัดแล้ว จึงเป็นจังหวะที่ดีอีก 1 ช่วง ที่นักลงทุนจะทยอยเข้าสะสมหุ้นในลักษณะผลประกอบการไตรมาส 4/66 หรือ งบปี 66 เติบโตดี และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในปี 67 ซึ่งยังคงให้น้ำหนักกับกลุ่ม Domestic pay เป็นหลัก เราแนะนำ CPALL, BEM, CK และ THCOM เป็นต้น
ฟาก "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" เปิดเผยว่า กลยุทธ์การลงทุนเดือน มี.ค.นี้ แนะนำนักลงทุนทยอยสะสมหุ้นที่ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเเข็งแกร่งตั้งแต่ไตรมาส 1/67 เป็นต้นไป โดยเราชอบหุ้น 2 กลุ่ม ประกอบด้วย ค้าปลีก แนะนำ CPALL และ CPAXT ส่วนอีก 1 กลุ่ม คือ เครื่องดื่ม ที่คาดผลการดำเนินงานจะเเข็งแกร่งจากการเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่นของธุรกิจ แนะนำ ICHI และ SAPPE
ขณะที่ "สุนทร ทองทิพย์" กลยุทธ์การลงทุนในเดือน มี.ค.นี้ แนะนำค่อย ๆ เพิ่มน้ำหนักหุ้นไทยในกลุ่มที่ผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยคาดผลการดำเนินงานปี 67 มีแนวโน้มพลิกกลับมาเติบโตแข็งแกร่ง อาทิ กลุ่มค้าปลีก, รับเหมาก่อสร้าง, การส่งออก และ การท่องเที่ยว เป็นต้น
ส่วน "มงคล พ่วงเภตรา" กล่าวปิดท้ายว่า กลยุทธ์การลงทุนเดือน มี.ค.นี้ แนะนำทยอยเข้าสะสมหุ้นที่มีปัจจัยเชิงพื้นฐานแข็งแกร่ง และมีเงินปันผลที่น่าสนใจ อาทิ PTT, SCB, TISCO, BEM และ CPAXT เป็นต้น