efinancethai

ประเด็นร้อน

กูรูฟันธงหุ้นไทยปี 67 ฟื้นแน่ คาดดัชนีฯ 1,470-1,750 จุด กำไร บจ.โต 8-17%

กูรูฟันธงหุ้นไทยปี 67 ฟื้นแน่ คาดดัชนีฯ 1,470-1,750 จุด กำไร บจ.โต 8-17%

นักวิเคราะห์มั่นใจปีหน้าหุ้นไทยฟื้น รับปัจจัยบวกนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ, ดอกเบี้ยพ้นจุดสูงสุด ดูดฟันด์โฟลว์ไหลกลับ แถมกลุ่มหุ้นบิ๊กแคป Valuation จัดว่าถูก ประเมิน SET Index ปี 67 รีบาวด์ 1,470-1,750 จุด กำไร บจ.โต 8-17% หุ้นเด่นชี้เป้า กลุ่มค้าปลีก, ไฟแนนซ์, ธนาคาร, พลังงาน,ท่องเที่ยว, ขนส่ง แต่ให้ระวังกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เหตุราคายังผันผวน แนะทยอยสะสมหุ้นใหญ่ในกลุ่มที่ราคาปรับตัวลึกปี 66


*** 10 โบรกเกอร์ฟันธงเป้าดัชนีฯ - กำไร บจ.ปี 67

"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจความเห็นนักวิเคราะห์จาก 10 บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เกี่ยวกับภาวะตลาดหุ้นไทยปี 2567 พบว่า ทุกรายเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยจะฟื้นตัวได้จากปี 2566 โดยมีปัจจัยบวกจากเศรษฐกิจในประเทศและผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งคาดดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) จะขึ้นไปอยู่ที่ 1,470 - 1,750 จุด และ กำไร บจ.จะเติบโต 8-17%
 

คาดการณ์หุ้นไทยปี 2567

บล.

SET Index (จุด)

กำไร บจ.เติบโต (%)

อินโนเวสท์ เอกซ์

1,750

10 – 15

เอเซีย พลัส

1,717

12.6

เมย์แบงก์ กิมเอ็ง

1,640

14

ลิเบอเรเตอร์

1,630

10 – 13

บัวหลวง

1,600

15

ดาโอ

1,592

12

ทิสโก้

1,550

11 – 15

หยวนต้า

1,520

8

ฟินันเซีย ไซรัส

1,520

17

กสิกรไทย

1,470

16

 

*** “ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ชี้หุ้นไทยพ้นจุดต่ำสุด

“ไพบูลย์ นลินทรางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ และนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยเหลือ Downside risk ไม่มากแล้ว ประเมินจาก Forward P/E ปัจจุบันที่ 14 เท่า ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 15 ปี ที่ 15 เท่า และไม่ถือว่าสูงเมื่อเทียบกับกำไร บจ.ปี 67 ที่คาดว่าจะเติบโตระหว่าง 11 - 15% เชื่อว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ตลาดหุ้นไทยจะกลับสู่ขาขึ้นในปี 67 แต่ขึ้นอยู่กับสามเงื่อนไข ดังนี้...


1.รัฐบาลต้องบริหารเศรษฐกิจให้กลับมาขยายตัวในระดับ 3-4% ในปีหน้าและในปีถัด ๆ ไป ข้อดีคือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มดูสดใสขึ้น จากท่าทีล่าสุดของ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่ส่งสัญญาณยุติการขึ้นดอกเบี้ย โดยตลาดเริ่มคาดการณ์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยช่วงกลางปีหน้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สำคัญ เพราะนอกจากจะช่วยลดโอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ในสหรัฐฯ ยังส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกสามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลง อีกตัวแปรหลักคือจีนที่รัฐบาลเริ่มกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่แล้ว และมีแผนที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมอีกในระยะข้างหน้า ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจของจีนเร่งตัวขึ้นเช่นกัน


ดังนั้น ปีหน้าการส่งออกของไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัว ซึ่งเมื่อรวมกับภาคท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้ดี และกำลังซื้อในประเทศที่คาดว่าจะทยอยเร่งตัวขึ้นจากมาตรการช่วยเหลือด้านต่าง ๆ ที่รัฐบาลได้ดำเนินการไปแล้ว เช่น การลดค่าครองชีพ การพักหนี้เกษตรกร ฯลฯ การทำให้เศรษฐกิจขยายตัวในระดับ 3% ในปีหน้าไม่น่าเป็นโจทย์ที่ยากสำหรับรัฐบาล


โจทย์ที่ยากกว่า คือ การรักษาโมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะรัฐบาลจำเป็นต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนรอบใหม่ (New Investment Cyle) เพื่อเพิ่มศักยภาพของประเทศ รวมทั้งเริ่มจัดการกับปัญหาโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ง่าย และต้องอาศัยเจตจำนงทางการเมือง (Political Will) ที่แน่วแน่


การเร่งดึงดูดการลงทุนตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment) และการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี และถ้าสามารถขับเคลื่อนจนเกิดผลลัพธ์ได้จริง เชื่อว่าจะช่วยให้ GDP ของไทยกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 4% ในระยะยาว พร้อม ๆ กับสร้างจุดขายใหม่ (Catalyst) ให้กับตลาดหุ้นไทย


2.รัฐบาลต้องรักษาวินัยการคลังอย่างเคร่งครัด ใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งห็นด้วยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะยังมีความจำเป็น และเชื่อว่าตลาดทุนจะตอบรับเชิงบวกถ้ารัฐบาลเลือกใช้มาตรการที่ตรงกลุ่มเป้าหมาย มีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจสูง และส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่ต่อเนื่อง


3.ภาครัฐต้องไม่ออกกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับตลาดทุนในรูปแบบที่ไม่ได้มาตรฐานสากล เพราะอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติลดการลงทุน ซึ่งนอกจากจะทำให้สภาพคล่องลดลง ยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อการระดมทุนของภาคธุรกิจ


"อีกเรื่องที่น่าสนใจคือตลาดหุ้นไทยไม่เคยให้ผลตอบแทนติดลบ 2 ปีติดต่อกัน แม้แต่ครั้งเดียวในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา โดยการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนคือหัวใจสำคัญ เชื่อว่ามาตรการต่าง ๆ ที่ได้ดำเนินการไปแล้ว และที่กำลังดำเนินอยู่โดยองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งการเริ่มมีการเปิดเผยข้อมูลการซื้อขายหุ้นที่ลึกขึ้น ละเอียดขึ้น และสม่ำเสมอขึ้น คือแนวทางที่ถูกต้อง ตราบใดที่ยังอยู่ในกติกาสากล และจะนำไปสู่ความเชื่อมั่นที่สูงขึ้นในที่สุด"

 

*** บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ คาด SET Index แตะ 1,750 จุด

"สุกิจ อุดมศิริกุล" กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ ประเมินว่า ตลาดหุ้นไทยปี 67 จะสร้างผลตอบแทนดีกว่าปี 66 เนื่องจากระดับ SET Index ปัจจุบันถือว่าต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐาน (Undervalue) แม้ตลาดฯ อาจจะยังมีความผันผวนในช่วงครึ่งปีแรก แต่ปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ประเมินเป้าหมาย SET Index ณ สิ้นปี 67 ที่ 1,750 จุด


สำหรับปัจจัยหนุนหลักในปี 67 จะมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน คาดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะเริ่มเป็นรูปธรรมมากขึ้นส่งผลให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่น และกลับมาลงทุนเพิ่ม แม้ว่าจะยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่าน Digital wallet อยู่บ้างก็ตาม โดยภาพรวมคาดเศรษฐกิจไทยปี 67 จะขยายตัวได้ 3-4% สูงกว่าปี 66 ที่ขยายตัวต่ำกว่า 3% ขณะเดียวกันคาดว่ากำไร บจ.จะขยายตัวได้ 10-15% ดีกว่าปี 66 ที่ชะลอตัว 10%


นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ มีโอกาสปรับลดลงช่วงครึ่งหลังปี 67 ช่วยสร้างโอกาสให้เงินทุนต่างชาติไหลกลับมาลงทุนในตลาดเกิดใหม่ 


สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าลงทุนในปี 67 แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ... 
1. กลุ่มที่ผลการดำเนินงานเติบโตสูงกว่าค่าเฉลี่ย ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก กลุ่มการแพทย์ กลุ่มขนส่ง 
2. กลุ่มที่ราคาลดลงจากการที่อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ในขณะที่ปัจจัยพื้นฐานยังคงแข็งแกร่ง ได้แก่ ธุรกิจโรงไฟฟ้า และ REIT/IFF 
3. กลุ่มหุ้นที่ได้ ESG Score สูงระดับ AAA จาก SET แต่ราคาลดลงมามาก


สำหรับความเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน ที่รุนแรงและซับซ้อนมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันและการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ รวมถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นในรัสเซีย-ยูเครน และ อิสราเอล-ฮามาส ซึ่งมีความเสี่ยงกระทบต่อราคาอาหาร และ พลังงานให้ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 


ขณะที่ความแปรปรวนของภูมิอากาศโลก และ ปรากฏการณ์เอลนีโญ มีโอกาสสร้างผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรม ส่วนความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจชะลอตัวหรือถดถอยจะกระทบไม่รุนแรงมากเป็นเพียง Soft Landing หรือ Mild Recession เท่านั้น

 

*** บล.บัวหลวง ประเมินกำไร บจ.โต 15%

"ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ" กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บล.บัวหลวง คาดว่า ตลาดหุ้นไทยปี 67 จะฟื้นตัวตลอดปี ประเมินเป้าหมายดัชนีระดับ 1,600 จุด ส่วนกำไร บจ.จะเติบโตประมาณ 15% ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยอัตราเติบโตกำไรของตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชีย โดยในแง่ Valuation ของตลาดหุ้นไทย ค่า P/E คาดว่าจะซื้อขายระดับ 16.50 เท่า ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ย P/E ระยะยาวของไทย (ปัจจุบันคาดการณ์ค่า P/E ปี 67 เท่ากับ 14 เท่า) เทียบกับปี 66 ที่อยู่ 16.40 เท่า


สำหรับปัจจัยบวกหลักจะมาจากการลงทุนและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยงบประมาณน่าจะผ่านตั้งแต่ต้นปีและทำให้การใช้จ่ายของภาครัฐเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งจะเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 67 จะอยู่ที่ระดับ 3.8%


ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติเข้ามาในไทย มองว่ายังต้องพึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ซึ่งจีนเป็นหัวเรือใหญ่ของเศรษฐกิจเอเชียและอาเซียน หากตัวเลขเศรษฐกิจจีนขยายตัวได้ดีขึ้น จากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องช่วยเหลือผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ขาดเงินทุนหมุนเวียนมากขึ้น และการกีดกันการค้าของสหรัฐต่อจีนน้อยลง ก็จะทำให้เงินไหลเข้าอาเซียนและไทยเพิ่มขึ้นได้อย่างแน่นอน 


แต่หากแนวโน้มเศรษฐกิจจีนยังดูไม่ดีและแย่ลงไปอีก การคาดหวังเม็ดเงินเข้าตลาดหุ้นและตราสารหนี้ไทยเพิ่มมากขึ้นก็จะลำบาก


ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2567 คาดการณ์ว่าจะเติบโตประมาณ 3.8% จากปีนี้ที่คาดไว้ 2.7%


สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปีหน้า แนะนำกระจายการลงทุนไปในสินทรัพย์ต่าง ๆ ดังนี้...
1.หุ้น : สัดส่วน 45% (หุ้นไทย 7% และหุ้นต่างประเทศ 38%) แต่ต้องรอดอกเบี้ยลดลงระดับหนึ่งก่อน นักลงทุนจึงจะมีความมั่นใจ ขณะที่หุ้นไทยยังดูดี เพราะปี 66 ลงไปมาก โครงสร้างหุ้นไทยเป็นกลุ่มธุรกิจวัฏจักร กำไรอาจดีดกลับได้หนุนให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้หลังตลาดหุ้นอื่นขึ้นไปแล้ว โดยกลุ่มโดดเด่น คือ ธนาคาร, การบริโภคภายในประเทศ, ค้าปลีกส่งออกแปรรูป, การท่องเที่ยว,อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตไฟฟ้า ส่วนกลุ่มที่ต้องใช้ความระมัดระวังในการลงทุน คือ อสังหาริมทรัพย์, วัสดุก่อสร้าง เนื่องจากกำลังซื้อชะลอจากการคุมสินเชื่อ
2.ตราสารหนี้ : สัดส่วน 43% มองเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดในครึ่งปีแรก เพราะได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยที่จะเห็นการปรับตัวลดลงทั่วโลก แต่ต้องเป็นตราสารหนี้คุณภาพ เพราะแม้จะเห็นแนวโน้มทิศทางดอกเบี้ยลดลง แต่ไม่ได้ลงเร็ว 
3.ทองคำ : สัดส่วน 12% เพราะในขณะที่เศรษฐกิจกำลังชะลอตัว ดอกเบี้ยลดลงทั่วโลก ทองคำจะช่วยป้องกันความเสี่ยง 


*** บล.ลิเบอเรเตอร์ เชื่อ ส่งออก-ลงทุน-ท่องเที่ยว ฟื้น

"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ คาดว่า ตลาดหุ้นไทยปี 67 จะฟื้นตัวได้อย่างมีนัยสำคัญ ตามแนวโน้มเศรษฐกิจในประเทศที่มีฟันเฟืองหลายอย่างเรื่องเข้ามาสนับสนุนทั้งภาคการลงทุน-การส่งออก รวมถึงนักท่องเที่ยวปีหน้ามีโอกาสทะลุ 30 ล้านคน และปีถัดไปแตะ 40 ล้านคนเท่าระดับปกติ จะช่วยหนุนจีดีพีไทย ปีหน้าเติบโตระดับไม่ต่ำกว่า 3% ซึ่งจะเป็นจุดดึงดูดความน่าสนใจลงทุนมากขึ้น


จากปัจจัยบวกข้างต้นจะสนับสนุนกำไร บจ.ปี 67 มีโอกาสเติบโต 10-13% และดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับขึ้นไปแตะระดับ 1,628 จุด โดยปัจจุบันอยู่ระดับ 1,400 จุด คิดเป็น P/E ที่ 17 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลัง ซึ่งถือว่าหุ้นไทยเป็นจุดน่าสนใจลงทุนมาก


สำหรับ กลยุทธ์ลงทุน แนะนำ เน้นเลือกหุ้นที่มีราคาหุ้นอยู่โซนล่าง โดยราคายังไม่ปรับขึ้นมาก หรือหุ้นที่มีสัดส่วนการถือครองน้อยและเริ่มมีสัญญาณโตในปีหน้า หรือมีการแก้ไขปัญหารอจังหวะความเชื่อมั่นฟื้นกลับมา รวมถึงแนวโน้มกำไรมีทิศทางฟื้นตัวได้


หุ้นที่น่าสนใจคือกลุ่มหุ้นใหญ่ ได้แก่ ค้าปลีก (CPALL), ไฟแนนซ์ (SAWAD, MTC), พลังงาน (GPSC), นิคมอุตสาหกรรม (WHA), อิเล็กทรอนิกส์ (HANA) และกลุ่ม J-Group (JMART, JMT) ซึ่งหุ้นเหล่านี้จะได้รับอานิสงส์ต่าง ๆ ข้างต้นในปีหน้า

 

*** บล.กสิกรไทย แนะ ระมัดระวังกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์

"สุนทร ทองทิพย์" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย ระบุว่า ปัจจัยที่จะหนุน SET Index ปี 67 ฟื้นตัวได้ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลต้องผ่านออกมาอย่างสวยงาม และเศรษฐกิจจีนโอกาสเติบโตมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ เบื้องต้นประเมินดัชนีหุ้นไทยปี 67 ที่ 1,470 จุด กำไร บจ.เติบโต 16% หรืออยู่ที่ 99 บาทต่อหุ้น


สำหรับอุตสาหกรรมดาวเด่นในปี 67 ประกอบด้วย กลุ่มท่องเที่ยว, ขนส่งและโลจิสติกส์, Domestic Play และ ICT ซึ่งคาดกำไรสุทธิจะเติบโตได้อย่างโดดเด่น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ส่วนอุตสาหกรรมที่ควรระมัดระวัง คือ กลุ่ม สินค้าโภคภัณฑ์ (Commodities) เนื่องจากมีการอ้างอิงกับเศรษฐกิจโลกมากเกินไป ซึ่งจากประเมินยังดูไม่สดใสนัก


ส่วนกลยุทธ์ลงทุน แนะนำ ทยอยสะสมหุ้นที่คาดว่าผลการดำเนินงานปี 67 จะเติบโตแข็งแกร่ง อาทิ TIDLOR, GPSC, BCH, ADVANC และ AMATA

 

*** บล.หยวนต้า มั่นใจ นโยบายรัฐหนุนเศรษฐกิจไทยฟื้น

"ณัฐพล คำถาเครือ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า ประเมินดัชนีหุ้นไทย (SET Index) สิ้นปี 67 อยู่ที่ 1,520 จุด โดยมองว่าในช่วงไตรมาส 1/67 ดัชนีฯ จะสามารถปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่อง เพราะจะได้แรงหนุนจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล อย่างมาตรการ Easy E-Receipt ประกอบกับจะมีความคืบหน้าเรื่องงานประมาณปี 67 และมาตรการ Digital wallet 


อย่างไรก็ตาม ช่วงไตรมาส 2-3/67 มีแนวโน้มปรับตัวลงได้ เนื่องจากเป็นช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ และทวีปยุโรปจะเข้าสู่ช่วงชะลอตัว ขณะที่ไตรมาส 4/66 ก็ยังต้องลุ้นกันต่อว่า SET Index จะสามารถประคองตัวไม่ให้ต่ำกว่าช่วงไตรมาส 3/67 ได้หรือไม่ ซึ่งโดยรวมมองบวกต่อ SET Index ในช่วงต้นปีมากที่สุด


ทั้งนี้ประเมินกำไร บจ.ปี 67 คิดเป็นกำไร/หุ้น (EPS) คาดว่าจะอยูที่ 92 บาท/หุ้น เติบโตขึ้น 8% เทียบกับปี 66 ที่คาดอยู่ระดับ 85 บาท/หุ้น หรือลดลง 7% เทียบปี 65


สำหรับหุ้นที่น่าจับตา คือกลุ่ม Defensive Play และ Domestic Play เพราะคาดว่าจะได้รับประโยชน์จากเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว ส่วนกลุ่มหุ้นที่ต้องระมัดระวัง คือ กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากมีโอกาสได้รับปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจโลกปี 67 ที่มีแนวโน้มชะลอตัวค่อนข้างสูง


กลยุทธ์การลงทุน แนะนำ ทยอยสะสมหุ้นที่คาดว่าผลการดำเนินงานปี 67 จะเติบโตโดดเด่น อาทิ CPALL, GPSC, THCOM และ SYNC 

 

*** บล.ดาโอ ให้ทยอยสะสมหุ้นใหญ่ Valution ถูก

"มงคล พ่วงเภตรา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) คาดว่า ภาพรวมตลาดหุ้นไทยปี 67 จะดีกว่าปี 66 เพราะระดับปัจจุบัน Valuation ค่อนข้างถูก หลังราคาปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง


ทั้งนี้ประเมิน SET Index สิ้นปี 67 ที่ 1,592 จุด กำไร บจ.เติบโต 12% อยู่ที่ 89 บาท/หุ้น จากปี 66 ที่คาดอยู่ระดับ 80 บาท/หุ้น หรือลดลง 12% จากปี 65


สำหรับกลยุทธ์ลงทุนปี 67 แนะนำ เลือกหุ้นรายตัวที่ราคาปรับตัวลงค่อนข้างแรงในปี 66 จน Valuation อยู่ในระดับที่น่าสนใจ แต่แนวโน้มกำไรยังคงเติบโต ซึ่งเป็นหุ้นลักษณะที่จะสามารถกลับมา Outperform ได้ในปี 67 ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย อาทิ DELTA, CRC, CBG และ BH


ส่วนหุ้นที่ต้องระมัดระวัง คือ กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ เนื่องจากแนวโน้มผลการดำเนินงานและราคาหุ้นจะมีความผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจโลก และกลุ่มชิ้นส่วนรถยนต์ดั้งเดิม เพราะยังต้องติดตามว่า เป็นกลุ่มที่มีการเปลี่ยนผ่านเพื่อการแข่งขันในอนาคตแค่ไหน โดยควรรอเห็นความชัดเจนในปี 67 ก่อน จึงค่อยตัดสินใจอีกที

 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด