"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจหุ้นที่ผู้บริหารและนักวิเคราะห์ประเมินกำไรปีนี้ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจขาลงและการระบาดโควิด-19 พบ 10 บริษัทเข้าเป้า กลุ่มโรงไฟฟ้า-การเงิน นำทีม วงการชี้ธุรกิจยังเป็นขาขึ้น โรคระบาดกระทบจำกัด แต่แนะดูราคาเหมาะสมด้วย
*** EA รับรู้กำลังผลิต 644 MW เต็มปี
"ออมสิน ศิริ" ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ระบุว่า แนวโน้มกำไรสุทธิปี 63 จะทำสถิติสูงสุดใหม่ต่อเนื่องจากปีก่อนที่ทำได้ 6,082 ล้านบาท เนื่องจากจะรับรู้รายได้กำลังผลิตไฟฟ้าครบ 664 เมกะวัตต์เต็มปี ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 278 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานลม 386 เมกะวัตต์
"ธุรกิจหลักโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนไม่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แถมปีนี้จะรับรู้กำลังการผลิต 664 เมกะวัตต์เต็มปี ซึ่งจะทำให้กำไรสุทธิเติบโตทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง มีเพียงธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับผลกระทบบ้าง เพราะลูกค้าเลื่อนรับการส่งมอบรถยนต์ส่วนบุคคลทั่วไป (MPV) เป็นไตรมาส 3/63 จากเดิมช่วง มี.ค.63 แต่ไม่มีนัยต่อการรับรู้รายได้ปีนี้" ออมสิน กล่าว
บทวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ประเมินกำไรสุทธิปีนี้จะเติบโต 8.9% จากปีก่อน อยู่ที่ประมาณ 6,400 ล้านบาท จากการรับรู้โรงไฟฟ้าทั้งหมดเต็มปี
ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดกำไรสุทธิ EA ปีนี้ที่ 6,521 ล้านบาท เติบโต 11% สำสถิติใหม่ เนื่องจากจะรับรู้โรงไฟฟ้าพลังงานลมครบ 260 เมกะวัตต์ เต็มปี ส่วนธุรกิจ Bio-PMC จะเริ่มรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 2/63 และธุรกิจ EV Car จะรับรู้รายได้ตั้งแต่ไตรมาส 3/63 รวมถึงโรงงานแบตเตอรี่จะรับรู้รายได้ในไตรมาส 4/63 ด้วย
*** GULF จะกำไรนิวไฮอีก 8 ปีต่อเนื่อง
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) กำไรสุทธิ 8 ปีข้างหน้า (ปี 63-70) จะเติบโตทำสถิติใหม่ทุกปี เฉลี่ยปีละ 20% จากการรับรู้กำลังการผลิตในมือที่ทยอยเดินเครื่องผลิตเชิงพาณิชย์ (COD) อีกกว่า 5,080 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่ COD ไปแล้ว 2,701 เมกะวัตต์
ขณะที่โรงไฟฟ้าของ GULF ทุกโรงมีการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทำให้มีประสิทธิภาพสูง และอายุสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ยังเหลืออีกมาก ซึ่งสามารถทำอัตรากำไรได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมในปัจจุบัน
ด้านบทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส คาดว่า กำไรปี 63 ของ GULF จะอยู่ที่ 4,680 ล้านบาท เติบโต 33% จากปีก่อน จากการรับรู้รายได้เต็มปีของโรงไฟฟ้า SPP 4 โรง และโครงการโซลาร์เวียดนาม 2 โรง ปัจจุบันมีกำลังผลิต 2,701 เมกะวัตต์ ทั้งนี้บริษัทตั้งเป้าจะเพิ่มเป็น 7,781 เมกะวัตต์ภายในปี 70 คาดกำไรใน 5 ปีข้างหน้า (ปี 63-67) โตเฉลี่ยต่อปี 39% ขณะที่ใน 10 ปีข้างหน้า (ปี 63-72) โตเฉลี่ยต่อปี 19% ซึ่ง GULF มีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตจาก Potential Projects จำนวนมาก เพราะมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง ขณะที่ความเสี่ยงจากโควิด-19 มีจำกัด จากลูกค้ากลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งมีสัดส่วนรายได้เพียง 11%
*** SUPER ได้เวลาเก็บเกี่ยวผลการลงทุน
ด้าน "จอมทรัพย์ โลจายะ" ประธานคณะกรรมการ บมจ.ซุปเปอร์ เอนเนอร์ยี คอร์เปอเรชั่น (SUPER) เปิดเผยว่า ปีนี้รายได้และกำไรสุทธิของบริษัทจะสร้างสถิติใหม่ เพราะธุรกิจจำหน่ายไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยจะรับรู้กำลังการผลิตใหม่ 1,806 เมกะวัตต์ จากปีก่อน 837 เมกะวัตต์
"ปี 63 จะเป็นปีแห่งการเก็บเกี่ยวผลการดำเนินงานที่ได้ลงทุนไปก่อนหน้านี้ คาดว่าผลประกอบการจะทำสถิติใหม่ได้อย่างแน่นอน เพราะรับรู้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันธุรกิจของบริษัทฯ ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอตัวและโควิด-19 เพราะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่แน่นอน" จอมทรัพย์ กล่าว
บทวิคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาด กำไรสุทธิปี 63 ทำสถิติใหม่ที่ 1,576 ล้านบาท เติบโต 14% จากปีก่อน โดยสิ้นปีจะมีกำลังการผลิตโซล่าร์ฟาร์มรวม 1,806 เมกะวัตต์ คิดตามสัดส่วนถือหุ้นที่ 1,404.56 เมกะวัตต์ จะเพิ่มเพิ่มขึ้น 119% จากปีก่อน อย่างไรก็ตามปี 64 กำไรสุทธิจะเติบโตก้าวกระโดดเป็น 2,415 ล้านบาท เติบโต 53% เพราะจะรับรู้กำลังการผลิตทั้งหมดเต็มปี
*** SSP รับรู้กำลังผลิตเพิ่ม
“วรุตม์ ธรรมาวรานุคุปต์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น (SSP) คาดกำไรปีนี้จะทำสถิติใหม่เติบโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปีก่อนที่ทำได้ 546 ล้านบาท เพราะจะรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าพลังานแสงอาทิตย์โครงการ "Khunsight Kundi" มองโกเลีย กำลังการผลิต 16.4 เมกะวัตต์ และ โครงการ "Binh Nguyen" เวียดนาม กำลังผลิต 40 เมกะวัตต์ เต็มปี และภายในเดือน มิ.ย.63 นี้จะเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า "ยามากะ" ญี่ปุ่น เพิ่มอีก 34.5 เมกะวัตต์
บทวิเคราะห์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิปีนี้ 877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43% จากปีก่อน ทำสถิติใหม่ จากการรับรู้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับบทวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) คาดกำไรปีนี้ที่ 793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26%
*** MTC นิวไฮต่อ
บทวิเคราะห์ บล.เคทีบี (ประเทศไทย) ประเมินว่า กำไรสุทธิปีนี้ของ บมจ.เมืองไทย แคปปิตอล (MTC) จะอยู่ที่ 5,400 ล้านบาท เติบโต 27% จากปีก่อน ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง ตามการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อ และจะได้ประโยชน์จากช่วงดอกเบี้ยขาลงทำให้ต้นทุนการเงินปรับตัวลดลง
ขณะที่บทวิเคราะห์ บล.เอเชีย เวลท์ ระบุว่า มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของรัฐบาล กระทบต่อ MTC ไม่มากนัก โดยที่ส่งผลโดยตรงคือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อส่วนบุคคลไม่มีหลักประกันจาก 25% เป็น 22% ซึ่ง MTC มีลูกค้ากลุ่มนี้ในพอร์ตเพียง 10% กระทบประมาณการกำไรสุทธิเพียง 3.8% โดยคาดว่าปีนี้จะมีกำไรสุทธิ 5,279 ล้านบาท ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง
สอดคล้องกับ "ชูชาติ เพ็ชรอำไพ" ประธานกรรมการบริหาร MTC ระบุว่า ปีนี้ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อเติบโต 20-25% และจะรักษาสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL)ไว้ไม่เกิน 2% จากสิ้นปี 62 อยู่ที่ 1.03% ขณะที่สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อบริษัทจำกัด เพราะกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่ คือ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า ซึ่ง MTC มีลูกค้ากลุ่มนี้เพียง 10% เท่านั้น
*** KTC โตน้อยแต่โตนะ
บทวิเคราะห์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) คาดกำไรสุทธิ บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ปีนี้ที่ 6,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง แม้จะได้รับผลกระทบจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของรัฐบาลในไตรมาส 2/63 แต่ได้รวมในประมาณการแล้ว
เช่นเดียวกับ บทวิเคราะห์ บล.แลนด์ แอนด์ เฮาส์ คาดกำไรปี 63 ที่ 5,909 ล้านบาท เติบโต 7% จากปีก่อน โดยได้ปรับลดประมาณการลง 1% เพื่อให้สอดคล้องผลกระทบโควิด-19 และการบันทึกบัญชีตารม TFRS9 โดยมองว่าธุรกิจจะเริ่มฟื้นตัวช่วงครึ่งปีหลัง เพราะสถานการณ์โควิด-19 เริ่มมีผู้ติดเชื้อลดลง ซึ่งหามีการปลด Lock Down ได้เร็ว จะทำให้การจับจ่ายฟื้นตัว
ขณะที่ "ระเฑียร ศรีมงคล" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTC คาดกำไรปี 63 ยังมีโอกาสเติบโตทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง จากการเพิ่มขึ้นของยอดขอสินเชื่อส่วนบุคคลใหม่และยอดการใช้บัตร แม้อาจจะไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ 15% จากภาวะเศรษฐกิจและโควิด-19 แต่มั่นใจว่าจะมากกว่าปีก่อน
*** JMT กำไรโตตามพอร์ตหนี้
ฟาก "สุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) คาดว่า กำไรสุทธิปีนี้จะเติบโต 30% จากปีก่อนที่ทำได้ 681 ล้านบาท ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง
"ปีนี้เรามีการซื้อหนี้เข้ามาบริหารเพิ่มเติมอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะไม่ต่ำกว่าปีก่อนที่ซื้อหนี้เสียมาบริหารรวม 2.89 หมื่นล้านบาท ซึ่งเรามีศักยภาพสูงในการจัดการหนี้เหล่านี้ และจะส่งผลไปถึงกำไรของเราปีนี้จะดีกว่าปีก่อนด้วยเช่นกัน คาดว่าจะเติบโตราว 30%" สุทธิรักษ์ กล่าว
บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิ JMT ปีนี้เติบโต 28% จากปีก่อน จากพอร์ตสินเชื่อในการบริหารที่เพิ่มขึ้น ที่สำคัญได้ซื้อหนี้ด้อยคุณภาพในราคาที่มีส่วนลดช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวและผลกระทบจากโควิด-19 ซึ่งจะส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำกำไร
*** JMART โตตาม บ.ลูก
"อดิศักดิ์ สุขุมวิทยา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจมาร์ท (JMART) มั่นใจว่า กำไรสุทธิปีนี้จะทำสถิติใหม่เติบโต 25% จากปีก่อนที่ทำได้ 534 ล้านบาท
“แผนธุรกิจปีนี้เราไม่ได้ปรับเปลี่ยนแต่อย่างใด แม้ว่าโควิด-19 จะมีผลกระทบบ้าง แต่แค่ธุรกิจมือถือเท่านั้น แต่ธุรกิจอื่น เช่น ธุรกิจบริหารหนี้ของ บมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) และ ธุรกิจของ บมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) ยังเติบโตดี ประกอบกับบริษัทมีการบริหารต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะต้นทุนการเงิน เชื่อมั่นว่าปีนี้จะทำกำไรสูงสุดอีกครั้ง” นายอดิศักดิ์ กล่าว
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินกำไรสุทธิปี 63 ที่ 604 ล้านบาท เติบโต 13% โดยได้รวมผลกระทบจากโควิด-19 แล้ว แต่กำไรสุทธิปีนี้ยังเป็นสถิติใหม่ ซึ่งได้อานิสงส์จากการเติบโตของธุรกิจในเครือโดยเฉพาะ JMT
*** TQM รับอานิสงส์โควิด-19 ดันยอดประกันพุ่ง
บทวิเคราะห์ บล.บัวหลวง ประเมินกำไรสุทธิปี 63 ของ บมจ.ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TQM) ที่ 706 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 39% จากปีก่อน ทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง โดยได้อานิสงส์จากโควิด-19 ทำให้ยอดขายประกันสุขจภาพเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านกรมธรรม์ สะท้อนจากกำไรสุทธิไตรมาส 1/63 ที่เติบโตดถึง 51% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะเดียวกันเป็นบริษัทที่มีสภาพคล่องสูงและปราศจากหนี้สิน ซึ่งทำให้มีศักยภาพในการเข้าซื้อกิจการเพิ่มเติมและขยายฐานธุรกิจและลูกค้าเพิ่มขึ้น
"ดร.นภัสนันท์ พรรณนิภา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TQM เผยว่าอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเป้าหมายยอดขายปีนี้จากเดิมตั้งเป้าเติบโต 10-15% จากปีก่อน หลังจากไตรมาส 1/63 ผลประกอบการเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ จากยอดการขายประกันสุขภาพรับการระบาดของโควิด-19 โดยมั่นใจว่าผลประกอบการปีนี้จะเติบโตทำสถิติใหม่ต่อเนื่องจากปีก่อน
*** PRM รับประโยชน์น้ำมันขาลง
บทวิเคราะห์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ประเมินกำไรสุทธิ บมจ.พริมา มารีน (PRM) ปีนี้ที่ 1,200 ล้านบาท ทำสติใหม่ เติบโต 24% จากปีก่อน เพราะธุรกิจเรือ FSU ได้อานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบโลกที่ร่วงแรง ประกอบกับการขายน้ำมันที่ยากขึ้น ทำให้ความต้องการเรือเก็บน้ำมัน (FSU) เพิ่มสูงขึ้น อัตราค่าระวางเรือจึงปรับขึ้นรุนแรงช่วง มี.ค. ทีผ่านมา ด้านผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับผลกระทบเพียงเรือขนส่งน้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานในประเทศ ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 20% แต่จะกระทบต่อผลการดำเนินงานไม่เกิน 5% เพราะบริษัทได้ปรับตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยการเปลี่ยนเส้นทางที่สั้นลง และเน้นไปที่ผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซล และ เบนซิน
สอดคล้องกับ "วิริทธิ์พล จุไรสินธุ์" ผู้อำนวยการสายงานการเงินและบัญชี PRM มั่นใจว่า ผลประกอบการปีนี้จะเป็นไปตามเป้าหมาย รายได้เติบโตมากกว่า 10% เพราะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จำกัด ขณะที่ได้อานิสงส์ความต้องการใช้เรือเก็บน้ำมันเพิ่ม
*** กูรูแนะเช็ค Valuation ก่อน
"มงคล พ่วงเภตรา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ เคทีบี (ประเทศไทย) ระบุว่า แม้กลุ่มหุ้นข้างต้นจะมีแนวโน้มการเติบโตของกำไรที่ดีท่ามกลางภาวะวิกฤตทั้งโควิด-19 และ เศรษฐกิจชะลอตัว แต่ให้ลงทุนอย่างระมัดระวัง เนื่องจากราคาหุ้นบางบริษัทอาจจะใกล้เต็มหรือเกินมูลค่าพื้นฐานเหมาะสมแล้ว
"ราคาหุ้นมักจะวิ่งนำพื้นฐานเสมอ ตามความคาดหวังของนักลงทุน แต่มีความเสี่ยงแฝงอยู่ เพราะหากกำไรไม่เป็นไปตามคาดการณ์ แรงกระแทกด้านลบอาจจะมากเช่นกัน ซึ่งต้องดู Valuation ที่เหมาะสมด้วยหากจะเข้าลงทุน"
เช่นเดียวกับ "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส มองว่า หุ้นหลายบริษัทอัพไซด์เริ่มจำกัด บางบริษัทราคาปัจจุบันเริ่มเต็มมูลค่าหรือมีอัพไซด์จำกัด โดยเฉพาะกลุ่มโรงไฟฟ้าและการเงิน ซึ่งมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงโดนแรงขายทำกำไรสูง ต้องระมัดระวัง
ทั้งนี้ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจราคาพื้นฐานของหุ้น 10 บริษัทข้างต้นจากนักวิเคราะห์ และ IAA Consensus ณ 30 เม.ย.63 (นับเฉพาะที่อัพเดทล่าสุดไม่เกิน 2 สัปดาห์) พบว่า ราคาหุ้นส่วนใหญ่ยังมีอัพไซด์ระดับ 10% ขึ้นไป มีเพียง 3 บริษัท ที่อัพไซด์ต่ำกว่า 10% ซึ่ง 2 ใน 3 บริษัทราคาปัจจุบันเกินมูลค่านฐานไปแล้ว
ราคาเหมาะสม 10 หุ้นกำไรนิวไฮ
|
ชื่อย่อหุ้น
|
ราคาเฉลี่ยเหมาะสม (บ.)
|
ราคา ณ 30/4/63
(บ.)
|
%อัพไซด์
|
EA
|
67
|
40.25
|
66
|
SSP
|
10.8
|
6.8
|
59
|
SUPER
|
0.79
|
0.58
|
36
|
JMART
|
10.65
|
8.3
|
28
|
MTC
|
56
|
47.5
|
18
|
PRM
|
7.6
|
6.45
|
18
|
JMT
|
19.65
|
17.9
|
10
|
KTC
|
34.95
|
34
|
3
|
GULF
|
37
|
38.75
|
-5
|
TQM
|
75
|
78.75
|
-5
|
*ราคาเหมาะสมเฉลี่ยจาก IAA Consensus ณ 30 เม.ย.63
|