efinancethai

ประเด็นร้อน

วงการหนุน เกณฑ์ใหม่ ตลท.ฟื้นความเชื่อมั่น แต่ฉุดจำนวนไอพีโอ

วงการหนุน เกณฑ์ใหม่ ตลท.ฟื้นความเชื่อมั่น แต่ฉุดจำนวนไอพีโอ

วงการมั่นใจเกณฑ์คุมหุ้นใหม่ของก.ล.ต.ฟื้นความเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยได้ ชี้คุมโปรแกรมเทรดไม่กระทบวอลุ่ม มองมาตรการคุมเข้ม IPO ฉุดหุ้นใหม่เข้าตลาดลดลง แต่เเลกมาด้วยคุณภาพที่เพิ่มขึ้น จับตาธุรกิจที่ปรึกษาการเงินรับผลกระทบแรงแค่ไหน ?

 

*** ก.ล.ต.จ่อออกเกณฑ์คุมหุ้นใหม่ หวังฟื้นความเชื่อมั่น

ล่าสุด คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีมติเห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และการกำกับดูแลบริษัทจดทะเบียน ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเสนอ และเป็นส่วนหนึ่งใน"มาตรการป้องกัน"ของ ก.ล.ต. โดยมีประเด็นหลักดังนี้
 

1.ปรับปรุงกฎเกณฑ์ที่กำหนดคุณสมบัติของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ (mai) เพื่อยกระดับคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียน โดยจะมีการปรับเกณฑ์พิจารณาฐานะการเงินและผลประกอบการ รวมทั้งความมั่นคงของบริษัทในมิติต่างๆ ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68


2.ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อทำให้กระบวนการพิจารณาคุณสมบัติของบริษัทที่จะจดทะเบียนโดยอ้อม (Backdoor Listing) และการย้ายกลับมาซื้อขาย (Resume Trade) มีความเข้มข้นเทียบเท่ากับการเสนอขายหุ้นให้แก่ประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) คาดมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.67


3.ปรับปรุงกฎเกณฑ์เพื่อยกระดับการแจ้งเตือนผู้ลงทุน และการเพิกถอนบริษัทที่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม คาดมีผลบังคับใช้วันที่ 1 เม.ย.67


4.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การเปิดเผยรายชื่อผู้ถือหุ้นและผู้ถือหน่วยสำหรับบริษัทจดทะเบียน ทรัสต์ และกองทุนต่างๆ โดยคาดว่าจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.67


5.มาตรการกำกับดูแลโปรแกรมเทรดหุ้นอัตโนมัติ (Program Trading) คาดว่าจะมีการยกระดับมาตรการเดิม รวมถึงมีมาตรการใหม่ ๆ ที่ชัดเจนเข้ามาเพิ่มเติมได้ภายในช่วงต้นเดือน มี.ค.นี้

 

*** วงการมั่นใจมาตรการใหม่ ฟื้นเชื่อมั่นได้

"ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ กล่าวว่า มาตรการควบคุมหุ้นใหม่ของ ก.ล.ต.จะช่วยคลายความกังวลของนักลงทุนรายย่อยได้มากขึ้น เพราะปีที่ผ่านมานักลงทุนรายย่อยมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องความเชื่อมั่นต่าง ๆ ของตลาดหุ้นไทยมาตลอด สะท้อนจากข่าวที่ออกมาทั้งเรื่องธรรมภิบาลบริษัท และโปรแกรมเทรด หากมีมาตรการออกมาใหม่ คาดว่าจะช่วยลดผลกระทบที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี 66 ลงได้อย่างมีนัยสำคัญ


ขณะที่ "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุ มาตรการควบคุมหุ้นใหม่ของ ก.ล.ต.จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนรายย่อยเพิ่มขึ้นได้ สะท้อนจากการควบคุมคุณภาพบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯใหม่ที่เข้มงวดมากขึ้น จะยิ่งช่วยยกระดับทั้งสินทรัพย์ และระบบนิเวศให้มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น 


สอดคล้องกับ"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า ที่มองว่า มาตรการควบคุมใหม่ของก.ล.ต.จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทยได้ระดับหนึ่ง โดยมองว่า มาตรการคุมเค้มคุณภาพบริษัทที่จะเข้า IPO เป็นมาตรการที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้มากที่สุด 


ด้าน "สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) กล่าวเสริมว่า การออกมาตรการเพื่อช่วยเรียกความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นถือเป็นเรื่องที่ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ส่วนผลจะสำเร็จมากน้อยแค่ไหน คงต้องติดตามสถานการณ์กันอีกที 

 

*** คุมโปรแกรมเทรดไม่กระทบวอลุ่ม

ขณะที่ มาตรการที่นักลงทุนส่วนใหญ่ให้ความสนใจมากที่สุด คือ การควบคุมโปรแกรมเทรดใหม่ โดย "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กล่าวว่า หากมีการควบคุมโปรแกรมเทรด จะไม่ส่งผลกระทบต่อปริมาณการซื้อ - ขายของตลาดหุ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ที่ผ่านมาโปรแกรมเทรดค่อนข้างมีอิทธิพล แต่มาจากแหล่งเดียว ทำให้นักลงทุนรายย่อยไม่กล้าซื้อ - ขาย จึงทำให้ปริมาณการซื้อ - ขายลดลงตั้งแต่นั้นมา แต่หากมีเกณฑ์ควบคุมที่เป็นธรรมมากขึ้น จะทำให้นักลงทุนรายย่อยกลับมามีความเชื่อมั่นมากขึ้น ซึ่งจะดีกว่าแน่นอน


เช่นเดียวกับ "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ที่มองว่า หากมีการควบคุมโปรแกรมเทรดมากขึ้นจริง จะกระทบปริมาณการซื้อ - ขาย ลดลงระยะสั้นเท่านั้น เพราะปัจจุบันมีปริมาณการใช้โปรแกรมเทรดในตลาดหุ้นไทยค่อนข้างสูง ซึ่งหากมีการควบคุมการใช้โปรแกรมเทรดให้เป็นธรรมมากขึ้น จะช่วยทำให้ปริมาณการซื้อขายในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนรายย่อยจะมีความเชื่อมั่นกลับมามากขึ้น 


ส่วน "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ประเมินว่า ปริมาณการซื้อ - ขายในตลาดหุ้นไทยระยะถัดไป มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นได้ หากมาตรการที่ก.ล.ต.เสนอมาสามารถบังคับใช้ได้จริง

 

*** ระวังปริมาณ IPO วูบ แต่แลกมาด้วยคุณภาพสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม เกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต.เรื่องการคุมเข้ม IPO ใหม่มากขึ้น อาจสร้างผลกระทบทั้งเชิง"บวก" และ "ลบ" โดย "สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร" กล่าวว่า เกณฑ์ควบคุมหุ้น IPO เข้าใหม่ของ ก.ล.ต. จะทำให้ปริมาณการทำ IPO ในระยะถัดไปลดลงอย่างแน่นอนหากมีการบังคับใช้จริง เพราะมีมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้น ลูกค้าของเอฟ.เอ ที่อยู่ในลิสต์ซึ่งเกณฑ์ไม่ถึงก็ต้องหายไปแน่นอน แต่ข้อดี คือ คุณภาพบริษัทที่เข้ามาก็จะดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีไปยังเหล่านักลงทุนด้วย 


"การปรับเกณฑ์เพิ่มให้บริษัทที่จะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯต้องมีกำไรเพิ่มขึ้นจากเกณฑ์เดิม ถือ เป็นการเพิ่มคุณภาพให้บริษัทมากขึ้น โดยเกณฑ์กำไรเดิมก็ใช้กันมาค่อนข้างนานแล้ว ขณะที่ ปัจจุบัน ก็มีเรื่องเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาจทำให้กำไรในเกณฑ์เดิมดูเล็กลงไปแล้วกับสถานการณ์ปัจจุบัน ดังนั้น การปรับตัวเลขเกณฑ์กำไรใหม่ในช่วงนี้ก็ถือเป็นช่วงเวลาทีดีเช่นกัน"สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร กล่าว 


ด้าน "สมภพ กีระสุนทรพงษ์" กรรมการผู้อำนวยการ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า เกณฑ์คุม IPO ใหม่ แน่นอนว่าคงทำให้จำนวน IPO ลดลงไปบ้าง เพราะมีเกณฑ์ที่สูขึ้น ทำให้บริษัทต้องใช้ระยะเวลาเตรียมตัวนานขึ้น แต่ข้อดีที่จะตามมา คือ คุณภาพของบริษัทก็จะสูงขึ้นด้วย นั่นจะทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนมีมากขึ้นด้วย


สอดคล้องกับ "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กล่าวเสริมว่า ข้อเสียที่จะตามมาจากมาตรการควบคุม IPO ใหม่น่าจะมีเพียงหุ้นใหม่ที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทำได้ยากขึ้น ประกอบกับ ต้นทุนในการนำหุ้นเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะสูงขึ้นด้วย แต่ผลดีที่จะได้กลับมา คือ บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นจะมีคุณภาพมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนรายย่อยมีแนวโน้มกล้ากลับเข้ามาลงทุนมากขึ้นด้วย ซึ่งจะไม่เห็นภาพการทิ้งหุ้น IPO เหมือนปี 66 อีกต่อไป

 

*** จับตาธุรกิจ F.A.ได้รับผลกระทบไหม ?

"สมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร" ระบุว่า ในมุมของธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงิน (F.A.) แน่นอนว่า มาตรการใหม่เกี่ยวกับ IPO ที่จะออกมาย่อมส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่ปรึกษาทางการเงินอย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะทำให้เริ่มเห็นดีลลูกค้าหายไปพอสมควร 


ขณะที่ บริษัทที่ปรึกษาทางการเงินที่ไม่มีชื่อเสียงมากนักก็จะหางานยากขึ้นด้วย โดยเรายังขอติดตามสถานการณ์อีกสักระยะ ก่อนที่จะหาแนวทางในการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต


ส่วน "สมภพ กีระสุนทรพงษ์" มองว่า ในระยะสั้นธุรกิจ F.A.จะยังไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว เนื่องจากมีจำนวนลูกค้าที่เตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯที่ใช้เกณฑ์เดิมตกค้างอยู่ค่อนข้างมาก แต่หากหมดลูกค้ากลุ่มนี้ก็ต้องมาประเมินสถานการณ์กันอีกที


"โดยส่วนตัวมองว่า ยังไม่มีผลกระทบหรอก เพราะมีการเพิ่มเกณฑ์กำไรให้สูงขึ้นก็จริง ทำให้บริษัทที่เข้า SET ก็อาจต้องหล่นลงมาอยู่ใน mai ก่อน แต่ส่วนที่จะเข้า mai ก็ต้องชะลอออกไป กลุ่มนี้แหละที่ทำให้รายได้เราลดลงแต่คงไม่มากเท่าไร"สมภพ กีระสุนทรพงษ์ กล่าว

 

*** โดยรวมมองเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดหุ้น

"เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" สรุปว่า จากการพิจารณามาตรการใหม่ที่ ก.ล.ต.กำลังจะออกมาทั้งหมดนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของการยกระดับธรรมาภิบาลตลาดหุ้นไทย แต่ก็ยังมีปัญหาอีกหลายจุดที่ ก.ล.ต.ควรเข้ามาแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย แต่โดยรวมถือว่าค่อนข้างน่าพอใจแล้ว และถือเป็นสัญญาณที่ดี


ขณะที่ "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" มองว่า มาตรการใหม่ที่ ก.ล.ต.กำลังจะออกมาสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดระดับหนึ่ง แต่ยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด เนื่องจากปัญหาหลักที่ตลาดกำลังให้ความกังวล ณ ปัจจุบัน คือ เรื่องชอร์ต เซลล์ กับ Naked Short มากกว่าปัญหา AI ของโปรแกรมเทรด ซึ่งหากปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไข ก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนรายย่อยได้มากทีเดียว


ส่วน "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" ทิ้งท้ายว่า ข้อเสียที่จะตามมาของมาตรการควบคุมหุ้นใหม่ของ ก.ล.ต. ส่วนตัวมองแทบไม่เห็น ถ้าจะมีผลกระทบเชิงลบจริงก็จะกระทบกับคนส่วนน้อยที่เคยได้ประโยชน์ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่สำหรับนักลงทุนรายย่อยทั่ว ๆ ไป มองว่า มีแต่ข้อดีที่จะเกิดขึ้น และเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดหุ้นไทย 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด