หุ้นไทย 2567 มีแต่ทรงกับทรุด จากต้นปีรูดกว่า 66 จุด หลังโดนกดดันจากสงคราม - ดอกเบี้ยสูงนานเกินคาด กดหุ้นกว่าครึ่งตลาดฯ วูบ พบ 10 บจ.เห็นราคาดิ่งเกินพื้นฐาน ออกโครงการซื้อหุ้นคืนใช้งบรวมกว่า 1.2 หมื่นล้านบาท เปิดสถิตราคาหุ้นตอบสนองเชิงบวกเฉลี่ย 6.96% สูงสุด 42.20% ด้านโบรกฯมองหาก SET ยังซึม ช่วงที่เหลือปีนี้ อาจรับซื้อคืนกันอีกเพียบ แนะกลยุทธ์เก็งกำไรก่อนประกาศ - เลือก บจ. ที่ซื้อหุ้นคืนสม่ำเสมอ ช่วยดันราคาพุ่งได้
*** สงคราม - ดอกเบี้ยสูง 2 ปัจจัยกดดัน SET ปีนี้วูบ 66 จุด
ตลาดหุ้นไทย (SET) ตั้งแต่ต้นปี (YTD) ปรับตัวลง 66.33 จุด หรือ -4.68% โดยดัชนีทำระดับต่ำสุดที่บริเวณ 1,330.24 จุด ลดลงจากสิ้นปีก่อน 85.61 จุด หรือ 6.04% เนื่องจากยังคงได้รับปัจจัยกดดันจาก 2 เหตุการณ์หลัก คือ ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายทั่วโลกที่มีแนวโน้มลดลงช้ากว่าที่ตลาดคาดการณ์
โดยก่อนหน้านี้ Consensus คาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในปี 67 ครั้งแรกช่วงเดือน มิ.ย.นี้ แต่ท่าทีล่าสุดของคณะกรรมการ Fed กลับลำส่งสัญญาณว่าต้องการที่จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อไปตามเดิม เพื่อรักษาเสถียรภาพการแก้ปัญหาเงินเฟ้อในประเทศต่อไปอีกระยะ ส่งผลให้ธนาคารกลางทั่วโลกส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถลดดอกเบี้ยนโยบายของประเทศตัวเองลงได้
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยกดดันเพิ่มเติม หลังมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ใหม่เกิดขึ้น ระหว่างอิสราเอล กับ อิหร่าน ที่ได้เปิดฉากโจมตีทางทหารตอบโต้กันไปมา ช่วงวันหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา
ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าว ทำให้กระเเสเงินทุนยังไหลเข้าสู่สินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น และเป็นปัจจัยที่ทำให้สินทรัพย์เสี่ยง อาทิ หุ้นถูกแรงเทขายอย่างต่อเนื่อง เพื่อจำกัดความไม่แน่นอนต่อ 2 ประเด็นข้างต้น
*** ปีนี้มี 10 บจ. เทงบรวม 1.2 หมื่นลบ. ซื้อหุ้นคืน
จากสถานการณ์ดังกล่าว ที่ไม่เอื้ออำนวยต่อภาวะตลาดหุ้น ทำให้ข้อมูลล่าสุด (22 เม.ย.67) มีถึง 558 บริษัท ที่ราคาหุ้น YTD ปรับตัวลง โดยปัจจุบัน มี 10 บริษัท ประกาศโครงการซื้อหุ้นคืนเพื่อการบริหารทางการเงิน (Treasury Stock) ในปีนี้ไปแล้ว โดยใช้งบรวมกัน 12,414 ล้านบาท ประกอบด้วย
บจ.แห่ซื้อหุ้นคืน 1.2 หมื่นลบ. หลัง SET ปีนี้มีแต่ทรงกับทรุด
|
ชื่อย่อหุ้น
|
จำนวน (ลห.)
|
วงเงิน (ลบ.)
|
ซื้อคืนแล้ว (ลห.)
|
ช่วงราคา (บ.)
|
มูลค่า (ลบ.)
|
ระยะเวลลา
|
ราคาล่าสุด (บ.)
|
%chg*
|
BEM
|
450
|
4,000
|
100.75
|
8.05 - 8.40
|
834.52
|
5 มี.ค. - 4 ก.ย.
|
8.15
|
0.62
|
TU
|
200
|
3,600
|
85.7
|
14.10 - 14.70
|
1,235
|
20 ก.พ. - 30 มิ.ย.
|
14.1
|
-3.42
|
JAS**
|
300.74
|
1,504
|
n/a
|
5
|
n/a
|
25 มิ.ย. - 23 ก.ค.
|
3.4
|
18.88
|
PRM
|
175
|
1,400
|
132.89
|
7.1 - 7.95
|
895.89
|
27 ธ.ค. - 27 มิ.ย.
|
7.75
|
42.20
|
VIBHA
|
540
|
1,200
|
38
|
1.98 - 2.16
|
77.05
|
4 มี.ค. - 4 ก.ย.
|
2.32
|
31.82
|
TKS
|
30
|
300
|
3.96
|
6.80 - 7.80
|
29.24
|
29 ก.พ. - 28 ส.ค.
|
7.65
|
12.50
|
LEE
|
80
|
210
|
3.12
|
2.3 - 2.48
|
7.56
|
18 มี.ค. - 17 ก.ย.
|
2.4
|
2.56
|
AS
|
15
|
120
|
11.51
|
7.85 - 8.30
|
93.57
|
19 ม.ค. - 18 เม.ย.
|
5.7
|
-25.97
|
SFLEX
|
19
|
50
|
8.66
|
3.14 - 3.28
|
27.94
|
29 มี.ค. - 27 ก.ย.
|
3.14
|
0.00
|
ZEN
|
3,000
|
30
|
0.88
|
8 - 9
|
7.55
|
24 ม.ค. 23 ก.ค.
|
8
|
-9.60
|
ที่มา : SETSMART ณ 22 เม.ย.67
*%chg ราคาปิด 22 เม.ย.67 เทียบราคาวันแรกที่ประกาศซื้อหุ้นคืน
**JAS ซื้อหุ้นคืนจากผู้ถือหุ้นที่ราคา 5 บ./หุ้น เท่านั้น
|
10 บริษัทดังกล่าว ส่วนใหญ่เป็นหุ้นนอกดัชนี SET100 จำนวน 8 บริษัท โดยกลุ่มธุรกิจสื่อและสิ่งพิมพ์, ขนส่งและโลจิสติกส์ และอาหารและเครื่องดื่ม ติดโผมากที่สุด จำนวน 2 บริษัท เท่ากัน ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในกลุ่มการแพทย์, เกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และ บรรจุภัณฑ์
*** "JAS" รายล่าสุด เทงบ 1.5 พันลบ. ซื้อคืน 300 ลห.
โดย บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) เป็นบริษัทล่าสุดที่ประกาศซื้อหุ้นคืน จำนวน 300.74 ล้านหุ้น คิดเป็น 3.50% ของหุ้นสามัญที่จําหน่ายแล้วของบริษัทฯ ภายใต้วงเงิน 1,504 ล้านบาท
สำหรับการซื้อหุ้นคืนของ JAS ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นการซื้อหุ้นคืนบนกระดานเหมือนบริษัทอื่น ๆ ทั่วไปที่มักทำกัน แต่จะเป็นการเสนอซื้อจากผู้ถือหุ้นเป็นการทั่วไป ในราคาหุ้นละ 5 บาท/หุ้น ราคาเดียว โดย JAS จะเปิดให้ผู้ถือหุ้นของบริษัทฯ แสดงเจตนาขายหุ้นคืนให้กับบริษัท ตั้งแต่ 25 มิ.ย. - 23 ก.ค.นี้
*** มีอีก 4 บจ. อัดงบซื้อหุ้นคืนมากกว่า 1 พันลบ.
นอกจากนี้ ยังมีอีก 4 บริษัท ที่วางงบซื้อหุ้นคืนในปีนี้มากกว่า 1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่วางงบสูงสุด 4,000 ล้านบาท ตั้งเป้าซื้อคืน 450 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 2.94% ของหุ้นสามัญที่จําหน่ายแล้วของบริษัทฯ เริ่มตั้งแต่ 5 มี.ค. - 4 ก.ย.นี้ โดยล่าสุด BEM ซื้อหุ้นคืนไปแล้ว 100.75 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคา 8.05 - 8.4 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 834.52 ล้านบาท
รองลงมา คือ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) ที่วางงบ 3,600 ล้านบาท ตั้งเป้าซื้อคืน 200 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 4.3% ของหุ้นสามัญที่จําหน่ายแล้วของบริษัทฯ เริ่มตั้งแต่ 20 ก.พ. - 30 มิ.ย.นี้ โดยล่าสุด TU ซื้อหุ้นคืนไปแล้ว 85.70 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคา 14.1 - 14.7 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 1,235 ล้านบาท
ขณะที่ บมจ.พริมา มารีน (PRM) วางงบ 1,400 ล้านบาท ตั้งเป้าซื้อคืน 175 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 7% ของหุ้นสามัญที่จําหน่ายแล้วของบริษัทฯ เริ่มตั้งแต่ 27 ธ.ค. - 27 มิ.ย.นี้ โดยล่าสุด PRM ซื้อหุ้นคืนไปแล้ว 132.89 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคา 7.1 - 7.95 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 895.89 ล้านบาท
ด้าน บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) วางงบ 1,200 ล้านบาท ตั้งเป้าซื้อคืน 540 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 3.98% ของหุ้นสามัญที่จําหน่ายแล้วของบริษัทฯ เริ่มตั้งแต่ 4 มี.ค. - 4 ก.ย.นี้ โดยล่าสุด VIBHA ซื้อหุ้นคืนไปแล้ว 38 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคา 1.98 - 2.16 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 77.05 ล้านบาท
*** พบส่วนใหญ่ราคาหุ้นเป็นบวก เฉลี่ย 6.96%
ขณะเดียวกัน เมื่อสำรวจราคาหุ้นของทั้ง 10 บริษัทดังกล่าว พบว่า ราคาหุ้นล่าสุด เทียบกับราคาหุ้นวันประกาศโครงการซื้อหุ้นคืน มีถึง 6 บริษัท ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นช่วงดังกล่าวเป็นบวก โดยเฉลี่ยแล้วบวก 6.96%
โดย บมจ.พริมา มารีน (PRM) ให้ผลตอบแทนราคาหุ้นเป็นบวกมากสุด 42.20% รองลงมา คือ บมจ.โรงพยาบาลวิภาวดี (VIBHA) ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นบวก 31.82%
ส่วนอีก 4 บริษัท ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นเป็นบวก ประกอบด้วย บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นบวก 18.88%, บมจ.ที.เค.เอส. เทคโนโลยี (TKS) ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นบวก 12.50%, บมจ.ลีพัฒนาผลิตภัณฑ์ (LEE) ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นบวก 2.56% และ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) ที่ผลตอบแทนราคาหุ้นบวก 0.62%
*** กูรูคาดเทรนด์ซื้อหุ้นคืนปีนี้ยังมีอีกเพียบ
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ไอร่า ประเมินว่า หากพิจารณาจากสถานการณ์ของตลาดหุ้นไทย ที่ในระยะถัดไปยังดูไม่สดใสนัก ก็มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะหันกลับมาซื้อหุ้นคืนกันมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปี เพราะโดยปกติการซื้อหุ้นคืนมักนิยมทำในช่วงที่ตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาลงเป็นปกติอยู่แล้ว
สอดคล้องกับ "ณัฐพล คำถาเครือ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เทรนด์การซื้อหุ้นคืนของบริษัทจดทะเบียน เริ่มมีจำนวนมากขึ้น ตั้งแต่ช่วงปลายปี 66 ซึ่งเป็นช่วงที่ SET Index ให้ผลตอบแทนที่ไม่น่าพอใจเท่าไรนัก ส่งผลให้หุ้นหลายบริษัทก็ปรับตัวลงตามด้วยเช่นกัน
ขณะที่ ในระยะถัดไปหากภาวะตลาดหุ้นยังคงทรงตัวเหมือนกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก็มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจดทะเบียนจะประกาศซื้อหุ้นคืนกันมากขึ้น เพื่อเป็นการป้องกันราคาหุ้นไม่ให้ปรับตัวลงต่ำกว่า ณ ระดับราคาปัจจุบัน อย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตาม ต้องพิจารณากิจกรรมเศรษฐกิจควบคู่ด้วย เพราะในระยะกลาง - ยาว ภาพเศรษฐกิจไทยถูกคาดหวังว่า จะอยู่ในแนวโน้มของการฟื้นตัว หากกิจกรรมเศรษฐกิจดีขึ้น บริษัทจดทะเบียนก็อาจจะไม่ได้มีความสนใจจะซื้อหุ้นคืนเหมือนช่วงที่ผ่านมาได้เหมือนกัน
*** อยากลงทุนหุ้นกลุ่มนี้ต้องทำอย่างไร ?
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" กลับมากล่าวต่อว่า สำหรับนักลงทุนที่สนใจเข้าลงทุนหุ้นกลุ่มดังกล่าว แนะนำว่า ควรเข้าไปซื้อหุ้นก่อนที่บริษัทจะประกาศข่าวรับซื้อหุ้นคืน โดยมีหลักในการวิเคราะห์ว่าหุ้นใดจะซื้อหุ้นคืน คือ ภาวะตลาดหุ้นเริ่มดูไม่ดีเท่าไร ประกอบกับ บริษัทที่สนใจมีกระแสเงินสดพอสมควร และไม่มีแผนที่จะลงทุนในช่วงนั้น จึงเป็นบริษัทที่มีความเป็นไปได้ว่าจะประกาศรับซื้อหุ้นคืนสูง
"หากนักลงทุน เข้าซื้อหุ้นหลังจากที่ประกาศโครงการดังกล่าวออกไปแล้ว มองว่า ผลตอบแทนที่จะได้รับไม่ค่อยน่าสนใจเท่าใดนัก เนื่องจากตามธรรมชาติของบริษัทที่รับซื้อหุ้นคืน ราคาหุ้นส่วนใหญ่มักจะปรับตัวขึ้นในช่วงเริ่มต้นที่บริษัทประกาศ และหลังจากนั้นราคาหุ้นก็จะทรงตัว แล้วจึงต้องดูว่าบริษัทดังกล่าว มีความสามารถเติบโตต่อแบบ Organic Growth หรือไม่ จึงจะส่งผ่านไปถึงราคาหุ้นว่า จะไปต่อ หรือ หยุดอยู่แค่นั้น" ณรงค์เดช กล่าว
ด้าน "ณัฐพล คำถาเครือ" เสริมว่า สำหรับนักลงทุนที่อยากเข้าไปลงทุนในหุ้นลักษณะดังกล่าว ต้องกลับไปทำการบ้านก่อนว่า หุ้นตัวที่นักลงทุนสนใจนั้น เคยประกาศรับซื้อหุ้นคืนมาก่อนหรือไม่ ถ้าในอดีตเคยมีโครงการออกมาแล้ว ก็สามารถไปดูสถิติย้อนหลังว่า บริษัทดังกล่าว ซื้อหุ้นตามที่ประกาศจริงหรือไม่ ? หากพบว่า ไม่ได้ทำตามสัญญา ก็ควรหลีกเลี่ยงบริษัทประเภทนั้น
แต่ถ้าพบว่า บริษัทที่นักลงทุนสนใจเข้าไปซื้อหุ้น มีการซื้อหุ้นคืนตามสัญญาจริง คราวนี้ที่ต้องตามต่อ คือ พฤติกรรมการซื้อหุ้นของบริษัทเป็นเช่นไร ถ้าพบว่าเป็นบริษัทที่ไม่ได้ซื้อหุ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ยังไม่น่าสนใจลงทุน เพราะพฤติกรรมแบบนี้ ยังไม่สามารถทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ บริษัทควรมีพฤติกรรมซื้อหุ้นคืนอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องในช่วงของโครงการ จึงจะสามารถทำให้ราคาหุ้นของบริษัท กลับมาปรับตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ
*** แนะข้อควรระวัง หลัง บจ.ซื้อหุ้นคืน
"ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ระบุว่า แม้การรับซื้อหุ้นคืนจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทจดทะเบียน มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้สูง แต่ก็ยังมีข้อควรระวังที่นักลงทุนต้องคำนึงถึงด้วย คือ การเติบโตของบริษัทดังกล่าวในระยะถัดไป จะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือไม่เติบโตเลยก็ได้ เพราะบริษัท เอาเงินสดที่ควรไปลงทุนสร้างการเติบโต มาพยุงราคาหุ้น ซึ่งเป็นผลดีแค่ระยะสั้นเท่านั้น
ขณะที่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ข้อควรระวังที่นักลงทุนควรทราบ หลังบริษัทซื้อหุ้นคืน คือ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทจะปรับตัวขึ้นด้วย ทำให้บริษัทอาจกระทบต่อความเสี่ยงเรื่องหนี้สิน และข้อจำกัดในการขยายธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ บริษัทยังเสียโอกาสสร้างการเติบโต เพราะการที่บริษัทเลือกนำเงินมาซื้อทุน แทนที่จะนำไปลงทุนโครงการต่าง ๆ เพื่อขยายธุรกิจ ก็อาจทำให้อัตราการเติบโตในอนาคตช้าลงได้ รวมถึงเสียความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย หากเป็นการซื้อหุ้นคืนในช่วงที่ธุรกิจกำลังมีวิกฤต
ขณะเดียวกัน สภาพคล่องของหุ้น (Free Float) จะลดลง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นอย่างมาก โดยเฉพาะกับบริษัทขนาดเล็กที่มีปริมาณหุ้นหมุนเวียนในตลาดน้อยอยู่แล้ว
อีกทั้ง นักลงทุนอาจโดนตัวเลขทางการเงินหลอกตาได้ ซึ่งหลังการซื้อหุ้นคืน นักลงทุนต้องดูผลประกอบการให้ดี เพราะอัตราส่วนทางการเงินต่าง ๆ ที่ดูดีขึ้นนั้น บางทีอาจจะไม่ได้เติบโตจริง ๆ ก็ได้ เช่น บริษัทซื้อหุ้นคืนที่ 10% ของทุน แปลว่ากำไรต่อหุ้นจะเพิ่มขึ้น 10% อัตโนมัติ เพราะฉะนั้น ถ้ากำไรต่อหุ้นโตไม่ถึง 10% ก็แปลได้ว่าธุรกิจมีการชะลอตัวลงนั่นเอง