efinancethai

ประเด็นร้อน

บล-บลจ. ขาดทุนอ่วม ภาวะตลาดไม่เอื้อ-วอลุ่มวูบ

บล-บลจ. ขาดทุนอ่วม ภาวะตลาดไม่เอื้อ-วอลุ่มวูบ

โบรกเกอร์ปี 66 ขาดทุนอ่วมถึง 18 บริษัท หลังตลาดหุ้นไทยทรงกับทรุด ภาวะไม่ดี ฉุดวอลุ่มหายกว่า 30% แถมการแข่งขันสูง ซ้ำโดน HFT-โรบอท บีบค่าคอมฯ สุดต่ำ ขณะที่ธุรกิจปล่อยมาร์จิ้นก็ไม่สู้ดีหลังเจอเคสฉาว กูรูชี้ผ่านยุคทองไปแล้ว เหลือแค่ประคองตัว แต่ภาพรวมกองทุนสภาพคล่องยังแกร่ง ฟาก บลจ.ก็เหี่ยวไม่ต่างกัน พบ 8 แห่งขาดทุน หลังนักลงทุนแห่หนีหาสินทรัพย์ปลอดภัย-ผลตอนแทนดีกว่า แต่อุตสาหกรรมยังไม่น่าห่วง เชื่อปีนี้ฟื้น หลังเริ่มเห็นสัญญาณบวก

 

*** เปิดงบ บล.ปี 66 ขาดทุนกว่า 18 บริษัท

สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจงบการเงินปี 2566 ของบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) โดยไม่รวมประเภทการลงทุนเพื่อบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ปรากฏว่า มีถึง 18 แห่ง จากทั้งหมด 36 แห่ง (เฉพาะ บล.ที่อยู่ในการจัดอันดับการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) ที่ผลการดำเนินงานปี 66 มีผลขาดทุน
 

สรุปรายได้-กำไร ธุรกิจโบรกเกอร์ปี 66

บล.

รายได้ปี 66 (ลบ.)

%chg YoY

กำไรปี 66 (ลบ.)

%chg YoY

จีเอ็มโอ-แซด คอม

1,116

7

-763

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

541

-13

-557

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

บียอนด์

15

70

-499

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

ดีบีเอส วิคเคอร์ส

758

6

-346

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

ลิเบอเรเตอร์

45

6,433

-343

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

ดาโอ

1,379

-25

-205

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

พาย

1,388

-5

-171

พลิกขาดทุน

ทรีนีตี้

456

-31

-156

พลิกขาดทุน

ฟินันเซีย ไซรัส

1,524

-34

-153

พลิกขาดทุน

กรุงศรี

500

-29

-120

จาดทุนลดลง

อาร์เอชบี

436

-8

-102

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

แมคควอรี*

204

20

-73

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

เอเอสแอล

157

-20

-54

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

ไอ วี โกลบอล

32

-53

-52

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล

1,298

-17

-46

พลิกขาดทุน

ไอร่า

382

-5

-35

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

คิงส์ฟอร์ด

610

-33

-31

พลิกขาดทุน

ฟิลลิป*

432

-24

-25

พลิกขาดทุน

เอสบีไอ ไทย ออนไลน์

105

-24

4

-95

ซิตี้คอร์ป

263

4

26

-37

ซี แอล เอส เอ

353

-4

27

55

โกลเบล็ก

491

-17

30

-52

ทิสโก้

701

-19

85

-47

ยูโอบี เคย์เฮียน

1,144

-18

86

-61

กรุงไทย เอ็กซ์สปริง

1,200

-23

98

-23

ยูบีเอส

583

-46

190

-66

เอเชีย พลัส

1,638

-17

283

-38

อินโนเวสท์ เอกซ์

2,863

-22

309

44

ธนชาต

1,261

-16

313

-31

เมย์แบงก์

2,738

-6

394

-41

หยวนต้า

2,631

-6

465

-19

กสิกรไทย

2,029

-25

554

-45

เจพีมอร์แกน

1,820

24

757

70

บัวหลวง

3,610

-8

812

-29

เคจีไอ

3,797

-8

870

-16

เกียรตินาคินภัทร

4,777

-3

1,043

15

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

หมายเหตุ : เฉพาะ บล.ที่อยู่ในการจัดอันดับการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

*งบการเงินครึ่งปี 66

 


ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานปี 66 ของทั้ง 36 โบรกเกอร์ มีกำไรสุทธิรวมกัน 2,615 ล้านบาท ชะลอตัวลง 57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมี 14 บล. ที่กำไรลดลงจากปีก่อน ขณะที่กลุ่มกำไรเติบโตจากปีก่อน พบว่ามีเพียง 4 บล. เท่านั้น

 

*** ภาวะตลาดทรุด-วอลุ่มหาย ฉุดรายได้-กำไร โบรกฯ วูบ

"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการ บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ และรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป เปิดเผยว่า จากผลการดำเนินงานปี 66 ของโบรกเกอร์ที่ส่วนใหญ่มีผลขาดทุน ย่อมต้องแสดงถึงความน่ากังวลในอุตสาหกรรมโบรกเกอร์อย่างแน่นอน 


เนื่องจากโบรกเกอร์มีหน้าที่พานักลงทุน และบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เข้าสู่ตลาดหุ้น แต่การที่สุขภาพทางธุรกิจของโบรกเกอร์หลาย ๆ แห่งไม่สู้ดีนัก จะส่งผลถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งจะทำให้มีนักลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นลดลง ผลกระทบก็จะย้อนมาสู่โบรกเกอร์อีกเช่นกัน  


สำหรับ ปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจโบรกเกอร์มีผลการดำเนินงานค่อนข้างย่ำแย่ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา คือ สภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยที่เติบโตในระดับต่ำ หรือบางปีก็เติบโตได้ต่ำกว่าคาดการณ์ ทำให้ความน่าสนใจในแง่การลงทุนในตลาดหุ้นลดลงด้วย สะท้อนจากปริมาณการซื้อขายของปี 66 ที่ลดลงจากปี 65 ราว 30% ยิ่งเป็นสิ่งที่ตอกย้ำถึงผลการดำเนินงานโบรกเกอร์ที่ย่ำแยด้วย

 

*** HFT-โรบอท ป่วน แถมธุรกิจปล่อยมาร์จิ้น ความเชื่อมั่นหาย

ขณะที่ "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" กรรมการผู้จัดการบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่นพาร์ทเนอร์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า  อีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้ผลการดำเนินงานปี 66 ของโบรกเกอร์ชะลอตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ คือ การซื้อขายของปีที่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นแบบใช้โรบอทเทรด (High frequency trading) ซึ่งมีค่าธรรมเนียมต่ำ 


หรือบางทีไม่มีค่าธรรมเนียมเลยก็มี ทำให้รายได้ค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์ในช่วงดังกล่าวลดลงอย่างมีนัยสำคัญด้วย ขณะเดียวกัน การที่มีการซื้อขายลักษณะดังกล่าวจำนวนมากในช่วงปี 66 ยิ่งทำให้นักลงทุนรายย่อยซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักของโบรกเกอร์ขาดความมั่นใจ และหายออกไปจากตลาดหุ้นไทยด้วย


นอกจากนี้ ธุรกิจใหม่ ๆ ของโบรกเกอร์ที่พยายามแตกไลน์ออกไปเพื่อหวังเพิ่มรายได้มากขึ้นก็ไม่สามารถทำได้ดีอย่างที่คาดหวัง เช่น การปล่อยมาร์จิ้นก็ไม่ดีเลย เพราะเกิดเรื่องอื้อฉาวของหุ้น 2 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯขึ้น ขณะที่ การขายผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ก็ทำได้ยากกว่าที่ประเมินไว้ อีกด้วย


ส่วน "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ให้ข้อมูลอีกแง่มุมว่า การที่ปี 66 มีการทำชอร์ตเซล รวมทั้งใช้โปรแกรมเทรดจำนวนมาก ไม่ใช่ปัญหาหลักที่กระทบต่อผลการดำเนินงานของโบรกเกอร์โดยตรง ซึ่งปัญหาดังกล่าว เป็นเพียงสิ่งรบกวนเล็กน้อยเท่านั้นเกี่ยวกับผลการดำเนินงาน แต่เป็นปัญหาที่อาจกระทบต่อเรื่องความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อยมากกว่า

 

*** อุตสาหกรรมผ่านยุคทองไปแล้ว

ฟาก "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า ยอมรับว่า การลงทุนหุ้นโบรกเกอร์ในจังหวะนี้ยังไม่น่าสนใจเท่าไรนัก โดยแนะนำนักลงทุนที่มีหุ้นโบรกเกอร์อยู่ควรหาจังหวะขายเมื่อราคาดีดจัวขึ้น เนื่องจากอุตสาหกรรมดังกล่าวได้ผ่านยุคทองไปแล้ว ในระยะถัดไปจะเห็นภาพของการทรงตัว กับ ค่อย ๆ ชะลอตัวลงเท่านั้น 


"การที่จะหวังให้ธุรกิจโบรกเกอร์กลับมาสู่จุดรุ่งเรือง หรือใกล้เคียงยุคทองกับในอดีตมีทางเดียว คือ ประเทศไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจ ปัจจัยดังกล่าวจะทำให้ตลาดหุ้นไทยกลับมามีความน่าสนใจลงทุนอีกครั้ง ธุรกิจโบรกเกอร์ก็จะได้รับอานิสงส์จากปริมาณการซื้อขายที่เพิ่มขึ้นด้วย" ณรงค์เดช กล่าว

 

*** ลุ้นปีนี้ฟื้น

อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโบรกเกอร์ในปี 67 มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปี 66 ที่หลายคนมองว่าเป็นจุดที่แย่ที่สุดไปแล้วได้อยู่เหมือนกัน


โดย "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" มองว่า ธุรกิจโบรกเกอร์ยังมีความหวังที่จะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 67 สะท้อนจากงบการเงินบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 1/67 หลายบริษัทออกมาดีกว่าคาดการณ์ของตลาด ประกอบกับ เศรษฐกิจในประเทศเริ่มมีความนิ่งมากขึ้น ซึ่งจะทำให้นักลงทุนมีความมั่นใจเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯมากขึ้น หนุนให้ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย/วัน เพิ่มขึ้นจากครึ่งปีแรกได้ 


ขณะเดียวกัน แนะนำว่าในยามที่ธุรกิจโบรกเกอร์กำลังอยู่ในช่วงแห่งความยากลำบาก แนวทางที่จะเอาตัวรอดไปได้ คือ ทุกโบรกเกอร์ต้องระมัดระวังเรื่องค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมากขึ้นอยู่แล้ว ประกอบกับ ต้องมองหาโอกาสใหม่ ๆ เช่น การลงทุนต่างประเทศที่อาจจะต้องปรับมาเป็นส่วนหนึ่งของการบริการ เพราะถ้าจะหวังพึงพาแต่การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเพียงอย่างเดียว ดูจะเป็นกลยุทธ์ที่ไม่ยั่งยืนเสียแล้วในยุคปัจจุบัน 


เช่นเดียวกับ "ประกิต สิริวัฒนเกตุ" ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานในอุตสาหกรรมโบรกเกอร์ช่วงไตรมาส 1/67 เริ่มฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อนแล้ว เนื่องจากการซื้อขายแบบ High frequency trading ลดลงจากปีก่อน อีกทั้ง ตลาดหลักทรัพย์ฯมีการออกมาตรการใหม่ ๆ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนรายย่อย 


แต่ ผลการดำเนินงานทั้งปี 67 จะดีขึ้นกว่าปีก่อนหรือไม่ กุญแจสำคัญอยู่ในเดือนมิ.ย.นี้ว่า จะสามารถนำเกณฑ์ Up-tick มาใช้ได้หรือไม่ เพราะถ้าสามารถใช้เกณฑ์ดังกล่าวได้ เชื่อว่า จะทำให้นักลงทุนรายย่อยมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะกลับมาซื้อขายในตลาดหุ้นไทย รวมทั้งการออกกองทุน LTF ช่วงปลายปี ก็จะช่วยกระตุ้นความเชื่อมั่นได้อีกแรง ซึ่งเป็นผลบวกต่อผลการดำเนินงานของกลุ่มโบรกเกอร์โดยตรง 


อย่างไรก็ตาม โบรกเกอร์ยุคปัจจุบันก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อเอาตัวรอดในสถานการณ์ที่ไม่สดใสแบบนี้ด้วย แนะนำว่า ทุกโบรกเกอร์ต้องมีการพัฒนาระบบไอทีให้เอื้อกับโปรแกรมเทรด หรือมีโปรแกรมที่สามารถช่วยนักลงทุนค้นหาหุ้น และจัดพอร์ตลงทุนได้ ปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญที่โบรกเกอร์ต้องกล้าลงทุนเพื่อความอยู่รอดในวิกฤติแบบนี้

 

*** ก.ล.ต.ชี้ NCR ยังสูง

ด้าน "เอนก อยู่ยืน" รองเลขาธิการ และโฆษก ก.ล.ต. กล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่ง ยังสามารถดำรงเงินกองทุนได้สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ โดยส่วนใหญ่ (ประมาณ 98% ของบริษัทหลักทรัพย์) สามารถดำรงเงินกองทุนได้มากกว่า 2 เท่า ของเกณฑ์ขั้นต่ำ แสดงให้เห็นว่าบริษัทมีสินทรัพย์สภาพคล่องสุทธิเพียงพอชำระหนี้สินทั้งหมดที่มีต่อลูกค้า (ข้อมูล ณ 27 พ.ค.67)


ก.ล.ต. ได้มีการกำกับดูแล ติดตามสถานะการดำรงเงินกองทุนของ บล. เป็นรายวัน และกำกับดูแลระบบงานของ บล. ในหลายด้าน การให้กู้ยืมเงินเพื่อซื้อหลักทรัพย์ (มาร์จิ้นโลน) บล. ต้องมีการบริหารความเสี่ยง ตั้งแต่การคัดเลือกหลักทรัพย์ที่ให้มาร์จิ้นได้, กำหนดอัตรามาร์จิ้นเริ่มต้นที่เหมาะสม มีการติดตามระบบมาร์จิ้นหากต่ำลงถึงระดับที่กำหนด ต้องเรียกหลักประกันเพิ่ม และหากต่ำลงไปอีก บล. สามารถบังคับขายหลักประกันได้


นอกจากนี้ ก.ล.ต. ยังติดตามการกระจุกตัวของหุ้นที่ปล่อยมาร์จิ้น สัดส่วนการปล่อยมาร์จิ้นเทียบกับเงินกองทุนของบริษัท เพื่อให้ในการประเมินความเสี่ยงของ บล. ตลอดจนผลกระทบต่อสภาพตลาด และระบบการซื้อขายโดยรวมด้วย


ทั้งนี้ ณ วันที่ 27 พ.ค.ที่ผ่านมา บล. มีเงิกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NC) เฉลี่ยต่อรายที่ 1,520 ล้านบาท และอัตราเงินกองทุนสภาพคล่องสุทธิ (NCR) เฉลี่ยต่อรายที่ 282% (เกณฑ์ดำรง NCR ขั้นต่ำ 7%) ส่วนสินเชื่อในการซื้อหลักทรัพย์ในปัจจุบัน มีหลักประกันที่ครอบคลุมมูลหนี้สูงถึง 3 เท่า 

 

*** ฟาก บลจ. รายได้-กำไร ทรุด เช่นกัน

ส่วนผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนในช่วงปี 66 ก็เจอผลกระทบเหมือนกับธุรกิจโบรกเกอร์ด้วยเช่นกัน โดยในช่วงดังกล่าวมีถึง 8 บลจ. จากทั้งหมด 25 บลจ. ที่รายงานผลการดำเนินงานขาดทุน โดยมี 3 บลจ.ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนเพิ่มขึ้น และอีก 2 บลจ. ที่พลิกขาดทุน
 

สรุปรายได้-กำไร ธุรกิจบลจ.ปี 66

บลจ.

รายได้ปี 66 (ลบ.)

%chg YoY

กำไรปี 66 (ลบ.)

%chg YoY

เคดับบลิวไอ**

37

-42

-66

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

จัสท์

44

-71

-27

ขาดทุนลดลง

ชาวาคามิ***

0.19

58

-25

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

อเบอร์ดีน

441

-1

-19

ขาดทุนลดลง

เอ็กซ์สปริง

116

148

-15

ขาดทุนลดลง

เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์

82

5

-14

ขาดทุนเพิ่มขึ้น

ดาโอ

70

15

-3.18

ขาดทุนลดลง

ทาลิส

106

10

-0.2

พลิกขาดทุน

ฟิลลิป*

18

-32

0.66

-90.29

บางกอกแคปปิตอล

367

15

13

25.33

แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

434

-4

34

-61.30

พรินซิเพิล

918

-5

124

-27.87

เอ็มเอฟซี

1,133

3

151

-11.05

แอสเซท พลัส

706

5

158

10.79

เกียรตินาคินภัทร

912

0.35

205

-2.48

วรรณ

984

8

232

16.22

ยูโอบี

1,733

-3

369

-19.74

กรุงไทย

2,601

-7

671

-15.98

ทิสโก้

1,710

6

699

3.97

อีสท์สปริง

3,449

110

717

192.75

เอไอเอ

2,009

7

846

-2.65

กรุงศรี

3,613

-3

1,250

-11.24

ไทยพาณิชย์

5,140

-2

1,263

-4.02

บัวหลวง

4,515

-2

1,385

-9.46

กสิกรไทย

7,814

0.16

2,799

-0.37

ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

*งบการเงินครึ่งปี 66

**งบปี 65 ตั้งแต่ 11 ก.ค. - 31 ธ.ค.65

***งบปีสิ้นสุด 31 ส.ค.66


สำหรับ ผลการดำเนินงานปี 66 ของทั้ง 25 บลจ. มีกำไรสุทธิรวมกัน 10,074 ล้านบาท ชะลอตัวลง 0.42% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

 

*** นักลงทุนหนีไปหาสินทรัพย์ปลอดภัย

"ชวินดา หาญรัตนกุล" นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน เปิดเผยว่า สาเหตุที่ผลการดำเนินงานปี 66 ของ บลจ.ส่วนใหญ่มีกำไรลดลงจากปีก่อน เนื่องด้วยภาวะตลาดในช่วงปีดังกล่าวไม่เอื้ออำนวย ทำให้นักลงทุนรายย่อยหายไปจากการลงทุนในกองทุนรวม และหันไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ปลอดภัยมากกว่า ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่ปรับตัวขึ้นในช่วงนั้น


ขณะที่ แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผลการดำเนินงานของ บลจ. ปี 66 ที่ส่วนใหญ่มีกำไรสุทธิชะลอตัวลงจากปี 65 ยังไม่น่าเป็นกังวลมากนัก เพราะกำไรที่ลดลงก็ยังไม่ได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้ง สาเหตุที่กำไรส่วนใหญ่ลดลงก็เป็นไปตามภาวะตลาดที่ไม่ได้เอื้ออำนวย กองทุนส่วนใหญ่ไม่สามารถทำให้ AUM ขยายตัวได้ในภาวะดังกล่าว


ส่วน "สาห์รัช ชัฏสุวรรณ" รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.ทิสโก้ เสริมว่า การที่ผลการดำเนินงานของกลุ่ม บลจ. ในช่วงปี 66 ส่วนใหญ่มีกำไรสุทธิลดลง ยังไม่น่ามีความเป็นกังวลเท่าใดนัก เนื่องากผลการดำเนินงานของปีที่แล้วสอดคล้องกับสภาพสถานการณ์โดยรวมของอุตสาหกรรม


โดยปัจจัยหลักที่ทำให้ผลการดำเนินงานปีที่แล้วส่วนใหญ่ไม่ค่อยดี เป็นเพราะตลาดเพิ่งอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการฟื้นตัว ซึ่งเป็นการฟื้นตัวที่ยังไม่ได้ดีมากเท่าไรด้วย โดยเฉพาะตลาดไทย กับ จีน ที่ บลจ.ส่วนใหญ่เข้าไปลงทุนกันเยอะถือว่าสถานการณ์ไม่ดีเลย อีกทั้ง ยังมีปัจจัยดอกเบี้ยที่รับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ดอกเบี้ยตราสารหนี้สูงตามด้วย ทำให้นักลงทุนหันไปให้ความสนใจการลงทุนที่ปลอดภัยกว่ากองทุน ซึ่งให้ผลตอบแทนสูงขึ้นมากกว่า

 

**** มั่นใจปีนี้คัมแบ็ค

"ชวินดา หาญรัตนกุล" ขณะที่ แนวโน้มปี 67 คาดว่า ผลการดำเนินงานของ บลจ. ไทยมีแนวโน้มดีขึ้นจากปีก่อน สะท้อนจากสถานการณ์ล่าสุดที่เห็นมูลค่าการลงทุนในกองทุนรวมที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากมีนักลงทุนรายใหม่เข้ามามากขึ้น ส่งผลให้ผู้แนะนำการลงทุนมีความมั่นใจที่จะแนะนำให้นักลงทุนลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้นด้วย


นอกจากนี้ สถานการณ์ดอกเบี้ยในปี 67 ดูมีท่าทีชัดเจนมากขึ้น ว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเหมือนปีที่ผ่านมาอีกแล้ว แต่มีแนวโน้มจะลดดอกเบี้ยลง 1 ครั้งในปีนี้ด้วย ยิ่งเป็นอีกปัจจัยเสริมที่จะทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในกองทุนรวมมากขึ้นในปีนี้ แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่อาจเป็นตัวถ่วงได้เหมือนกัน อาทิ ปัญหาสงคราม และการเลือกตั้งของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก


ทั้งนี้ สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยยังไม่เป็นไปตามสภาวะของโลก เนื่องจากยังมีความไม่แน่นอนเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง ทำให้นักลงทุนสถาบันต่างประเทศยังไม่ให้น้ำหนักการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากนัก จึงทำให้ประเมินได้เบื้อต้นว่า ผลการดำเนินงานของ บลจ. ไทยปีนี้ จะฟื้นตัวขึ้นจากปีก่อน แต่ยังไม่ใช่ระดับที่คึกคักเหมือนในอดีตที่ผ่านมา 


แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน เปิดเผยว่า เมื่อมองมาที่ผลการดำเนินงานปี 67 คาดการณ์ว่า กำไร บลจ. ส่วนใหญ่จะฟื้นตัวจากปีก่อนได้ มีปัจจัยหนุนจากภาวะตลาดหุ้นทั่วโลกที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจกองทุนจะดีตามขึ้นด้วย อีกทั้ง บลจ. หลาย ๆ แห่งมีแผนที่จะออกผลิตภัณฑ์ทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ บลจ. โดยคาดว่าผลิตภัณฑ์ทางเลือกใหม่ จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสภาพคล่องสูง อาทิ กองทุน บิทคอยน์ เป็นต้น 


"สาห์รัช ชัฏสุวรรณ" กล่าวปิดท้ายว่า ผลการดำเนินงานของ บลจ. ปี 67 มีแนวโน้มดีขึ้นกว่าปี 66 มีปัจจัยหนุน จากตลาดหุ้นทั่วโลกส่วนใหญ่เริ่มกลับมาสู่การปรับตัวขึ้น หลังเริ่มเห็นสัญญาณดอกเบี้ยนโยบายมีแนวโน้มปรับตัวลดลง ประกอบกับ เงินเฟ้อที่ลดลงด้วย ทำให้หุ้นหลายประเทศปรับตัวขึ้นได้ ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่นมากขึ้น และพฤติกรรมของนักลงทุนก็เริ่มแบกรับความเสี่ยงได้มากขึ้นด้วย 


ทั้งนี้ คาดหวังว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 67 ปริมาณการซื้อขายเฉลี่ย/วัน ในตลาดหุ้นไทย จะปรับตัวขึ้นจากครึ่งแรกของปีได้ หลังนักลงทุนต่างประเทศเริ่มมีทิศทางมั่นใจในตัวเศรษฐกิจไทยมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในประเทศก็ยังมีความไม่แน่นอนทางด้านการเมืองอยู่ ซึ่งก็เป็นอีกปัจจัยที่อาจจะฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนได้เช่นกัน 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด