efinancethai

ประเด็นร้อน

เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อหุ้นกู้

เรื่องต้องรู้ก่อนซื้อหุ้นกู้

หลายคนก็คงทราบดีแล้วว ว่า ปีนี้ มีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) เริ่มผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ให้เห็นกันบ้างแล้ว 
 

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในหุ้นกู้ ก็ยังถือว่าเป็นที่นิยมสำหรับนักลงทุนหลายคนไม่น้อย เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนตามข้อตกลง และระยะเวลา จึงสามารถคำนวณผลกำไรที่จะเกิดขึ้นได้อย่างแม่นยำ

แต่ด้วยปัญหาการผิดนัดชำระหุ้นกู้ ที่เริ่มทยอยเห็นมากขึ้นในปีนี้ ทำให้การเข้าลงทุนในหุ้นกู้ต่อจากนี้ ต้องมีความพิถีพิถันมากขึ้น และควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ

วันนี้"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" จึงอยากพานักลงทุนทุกคน ไปทำความรู้จักกับหุ้นกู้ตั้งแต่ข้อมูลพื้นฐาน ไปจนถึงข้อมูลที่นักลงทุนไม่ควรปล่อยผ่าน เพื่อทำให้โอกาสในการถูกเบี้ยวหุ้นกู้ของทุกคนลดลง ถ้าพร้อมแล้วไปกันเลย


 

*** หุ้นกู้คืออะไร ออกโดยใคร ต่างกับ หุ้นยังไง ?

โดย แอดฯจะขอเริ่มปูพื้นฐานตั้งแต่ต้นใหม่เลยนะ เริ่มจากหุ้นกู้คืออะไร ออกโดยใครเลยนะ เกิดมือใหม่เข้ามาอ่านก็จะได้รู้ไว้ และไม่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพที่หลอกลงทุนด้วย

หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ประเภทหนึ่ง ที่บริษัทเอกชนเป็นคนออก ซึ่งทุกครั้งที่บริษัทเอกชนออกหุ้นกู้ ก็จะบอกจุดประสงค์ว่าเขาจะนำเงินไปทำอะไร เช่น บางบริษัทเปิดขายหุ้นกู้เพื่อระดมเงินไปลงทุนขยายธุรกิจ หรือชำระคืนหนี้สถาบันการเงิน เป็นต้น

ผลตอบแทนจากการลงทุนที่เราจะได้รับ คือ ดอกเบี้ยที่บริษัทออกหุ้นกู้กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งจะจ่ายออกมาตามงวดที่ได้ระบุในเงื่อนไขสัญญาการขายหุ้นกู้ชุดนั้น ๆ นั่นเอง 

ทั้งนี้ การที่เราเข้าไปซื้อหุ้นกู้ของบริษัทใด ก็จะทำให้เรามีสถานะเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทนั้นนั่นเอง แตกต่างกับการเข้าซื้อหุ้นของบริษัทใด ๆ ที่เราจะมีสถานะเป็นผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนของบริษัทนั้น ๆ นั่นเอง

ซึ่งหากบริษัทมีอันต้องเลิกกิจการ ผู้ถือหุ้นกู้ จะได้รับเงินลงทุนคืนก่อนผู้ถือหุ้นบริษัท เพราะว่า มีสถานะเป็นเจ้าหนี้ ดังนั้น ต้องได้รับเงินคืนก่อนหุ้นส่วนนั่นเองนะ

 


*** หุ้นกู้มีทั้งหมด 5 ประเภท ต่างกันอย่างไร ? ไปดู !

เมื่อทุกคนเห็นหลักการคร่าว ๆ ของหุ้นกู้แล้ว ข้อมูลส่วนต่อไปที่นักลงทุนทุกคนควรรู้ คือ หุ้นกู้ที่ขาย ณ ปัจจุบัน มีทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้นะ 

1.หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond) ในกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเป็นอันดับสุดท้าย

2.หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ

3.หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bond) เป็นตราสารหนี้ที่นักลงทุนสามารถเปลี่ยนจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ตามราคาที่กำหนด โดยบริษัทผู้ออกจะออกหุ้นสามัญในจำนวนที่มีมูลค่าเท่ากับตราสารหนี้ที่ถืออยู่ สถานะของนักลงทุนจึงเปลี่ยนจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของ

และด้วยสถานะการเป็นเจ้าของ จึงทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อและราคาขาย (Capital Gain) หากราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่หากราคาหุ้นในตลาดยังคงต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในการแปลงสภาพ นักลงทุนก็สามารถเลือกที่จะไม่แปลงสภาพเป็นหุ้น และถือเป็นตราสารหนี้ต่อไปเพื่อรับดอกเบี้ยแต่ละงวดตามที่กำหนดไว้ (ซึ่งจะต่ำกว่าหุ้นกู้ปกติของผู้ออกเดียวกัน) และรับเงินต้นคืนที่ราคาพาร์ ณ วันหมดอายุ

4.หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Bond) เป็นหุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสาร นำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ และผู้ถือจะมีสิทธิเต็มที่ในสินทรัพย์ที่วางเป็นประกันนั้นเหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ โดยปกติในทางปฏิบัติมักจะมีการตั้งบุคคลทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond Holder Representative) เพื่อทำการตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน

5.หุ้นกู้ชนิดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Bond) คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใด ๆ วางไว้เป็นประกันในการออก ซึ่งหากผู้ออกตราสารล้มละลายต้องทำการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วน

 


*** รับความเสี่ยงได้ไม่สูง เหมาะลงทุนหุ้นกู้ !

ทั้งนี้ การลงทุนในหุ้นกู้ เหมาะกับนักลงทุนที่เน้นความเสี่ยงต่ำ ชอบรับผลตอบแทนประจำ เพราะส่วนใหญ่แล้วบริษัทเอกชนที่ออกหุ้นกู้นั้น มักเป็นบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ที่ธุรกิจพัฒนาขึ้นไปได้เรื่อย ๆ และปันผลตามดอกเบี้ยที่กำหนดไว้แต่ละงวดได้ตามสัญญาที่กำหนดไว้

 


*** ที่สำคัญ อย่าลืมให้ความสำคัญกับรหัสหุ้นกู้

ขณะที่ อีกส่วนสำคัญ ที่นักลงทุนควรใส่ใจก่อนตัดสินใจซื้อหุ้นกู้ คือ การอ่านสัญลักษณ์หุ้นกู้ ที่เป็นตัวเลขสลับกับอักษรภาษาอังกฤษ คล้ายรหัสลับอะไรสักอย่าง ชวนให้หลายคนอาจมึนงงและไม่ให้ความสนใจ แต่นั่นคือสิ่งสำคัญ ที่บอกความหมายของหุ้นกู้ชุดนั้น ๆ ทั้งหมดนั่นเอง 
 


โดยสัญลักษณ์ของหุ้นกู้ ส่วนมากจะประกอบด้วยข้อมูล 5 ส่วน เริ่มจากชื่อบริษัท, ปีที่ครบกำหนดไถ่ถอน, เดือนที่ครบกำหนดไถ่ถอน, วันครบกำหนดไถ่ถอน และรุ่นของหุ้นกู้ชุดนั้น ๆ ซึ่งถ้าเป็นหุ้นกู้ระยะสั้น ชื่อของหุ้นกู้ก็จะประกอบด้วยข้อมูล 5 ส่วนดังกล่าวทั้งหมด
 


แต่หากเป็นหุ้นกู้ระยะยาว ก็จะประกอบด้วยชุดข้อมูล 4 ส่วน โดยจะไม่มีส่วนที่เป็นวันครบกำหนดไถ่ถอนของหุ้นกู้ เช่น ถ้าหุ้นกู้มีชื่อว่า CPF23DA ก็จะหมายความว่า หุ้นกู้ระยะยาวที่ออกโดย CPF ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2023 เดือนธันวาคม รุ่น A นั่นเองะ
 


*** แต่ใช่ว่าลงทุนในหุ้นกู้จะไม่มีความเสี่ยง !

อย่างไรก็ตาม แม้การลงทุนในหุ้นกู้ จะถูกมองว่าเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่อีกด้านหนึ่งก็ยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องแบกรับอยู่เหมือนกัน มีอะไรบ้าง ลองมาดูนะ

1.หุ้นกู้ผันผวนได้ : หุ้นกู้สามารถผันผวนได้ตามความเสี่ยงของอัตราดอกเบี้ย ซึ่งถ้าดอกเบี้ยในตลาดปรับตัวสูงขึ้น ราคาของหุ้นกู้ที่ออกมาก่อนหน้านั้นอาจปรับตัวลงได้ เพราะถือว่าขาดโอกาสจะนำเงินที่ลงทุนในหุ้นกู้นั้นอยู่ไปลงทุนในสินทรัพย์การลงทุนอื่นที่อาจให้ผลตอบแทนสูงขึ้นนั่นเอง 

2.ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง : หากเลือกลงทุนในหุ้นกู้ระยะยาวโดยปราศจากการวางแผน อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ที่เรามีความต้องการใช้เงินก่อนครบกำหนดอายุการลงทุน จนต้องนำไปขายที่ตลาดรอง และส่งผลให้เราอาจต้องขายขาดทุน หรือไม่ได้รับเงินตามที่ควรจะได้ถ้าถือต่อจนครบอายุ

3.ความเสี่ยงด้านเครดิต : หุ้นกู้สามารถผิดนัดชำระได้ โดยเฉพาะหุ้นกู้ที่มีเครดิต เรทติ้งรองรับระดับต่ำ หรือไม่มีเครดิต รองรับเลย ก็ยิ่งมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้สูง ซึ่งบริษัทที่ออกหุ้นกู้ประเภทนี้ มักจูงใจนักลงทุนด้วยการให้อัตราดอกเบี้ยระดับสูง ซึ่งถ้าเราไม่ศึกษาข้อมูลบริษัทอย่างรอบคอบก่อน ก็อาจถูกเบี้ยวหนี้หุ้นกู้ และสูญเสียเงินต้นทั้งหมดได้เช่นกัน 

 


*** เรื่องต้องรู้เกี่ยวกับเครดิต เรทติ้ง 

ทีนี้ เมื่อทุกคนทราบดีแล้ว ว่า หุ้นกู้สามารถผิดนัดชำระหนี้ได้ อีกปัจจัยที่ควรตระหนักก่อนซื้อหุ้นกู้ นั่นคือ เครดิต เรทติ้ง ของหุ้นกู้นั้น ๆ นั่นเอง ซึ่งเราควรพิจารณาเป้าหมายการลงทุน และระยะเวลาในการลงทุนให้ชัดเจน รวมทั้งพิจารณาอันดับเครดิตของหุ้นกู้นั้น ๆ ว่าตรงกับระดับความเสี่ยงที่เรารับได้หรือไม่ ?

อีกทั้ง วัตถุประสงค์ในการออกหุ้นกู้ว่านำเงินไปทำอะไร เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจว่า นอกจากอันดับเครดิตที่ถูกประเมินแล้ว มีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน ที่บริษัทจะนำเงินกู้มาคืนเมื่อครบกำหนด

ทั้งนี้ การจัดอันดับเครดิต เรทติ้ง หุ้นกู้ ณ ปัจจุบัน ถูกแบ่งออกเป็นทั้งหมด 9 ระดับ ดังนี้

1.ระดับสูงสุด : AAA

2.ระดับสูง : AA-, AA, AA+

3.ระดับปานกลาง - สูง : A-, A, A+

4.ระดับต่ำ - ปานกลาง : BBB-, BBB, BBB+

5.ระดับเก็งกำไร : BB+, BB, BB+

6.ระดับเก็งกำไรอย่างสูง : B

7.ระดับเสี่ยงสูงมาก : CCC-, CCC, CCC+

8.ระดับเก็งกำไรชัดเจน : C

9.ระดับไม่สามารถชำระหนี้ได้ : D

อย่างไรก็ตาม สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (Thai Bma) ให้คำแนะนำว่า การลงทุนในหุ้นกู้ ณ ปัจจุบัน เราควรเลือกลงทุนในหุ้นกู้ที่ได้รับอันดับเครดิต เรทติ้ง มากกว่า""BBB+" ขึ้นไป จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องถูกเบี้ยวชำระหุ้นกู้ได้มากขึ้น 

และทั้งหมดนี้ ก็คือเรื่องควรรู้ก่อนเข้าลงทุนหุ้นกู้ ที่แอดฯนำมาฝากเพื่อน ๆ ทุกคนเนอะ ก็หวังว่า บทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกคนไม่มากก็น้อย และหวังว่า ทุกคนที่ลงทุนหุ้นกู้ไปจะได้รับผลตอบแทนครบตามสัญญาของหุ้นกู้แต่ละชุดที่ซื้อไปด้วยนะ สำหรับวันนี้ไปก่อนแล้ว บ๊าย บาย ...

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด