ตลท.เผยเริ่มเห็นสัญญาณ Fund flow ไหลเข้าหุ้นไทย หลังต่าชาติแห่พักเงินในตลาดตราสารหนี้ไทยมากขึ้น ฟากโบรกฯชี้มีหลายปัจจัยหนุน Flow กลับซื้อหุ้นไทยช่วงที่เหลือปีนี้ อาทิ งบ บจ. Q2/67 อาจดีกว่าคาด แถมหุ้นเทคสหรัฐฯเริ่มแพง ฉุดต้องลดพอร์ตกระจายลงทุนหุ้นตลาดอื่น - คาดปีนี้ Fed ลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง แต่แนะจับตาคำตัดสินคดีนายกฯ 14 ส.ค.นี้ จะเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาของ Flow จะไหลกลับหุ้นไทยเร็วหรือช้า แนะสะสมหุ้นคาดตกเป็นเป้าหมายเงินไหลเข้า - ปันผลสูง
*** ปีนี้ต่างชาติขายหุ้นไทยสุทธิ 1.2 แสนลบ.
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจการซื้อขายหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศ (Fund flow) ตั้งแต่ช่วงต้นปี (1 ม.ค. - 7 ส.ค.67) พบว่า ปีนี้นักลงทุนต่างประเทศมีสถานะขายสุทธิหุ้นไทยถึง 119,961 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักเป็นเพราะการเติบโตเศรษฐกิจไทยปีนี้อยู่ในระดับที่ไม่ค่อยน่าสนใจเมื่อเทียบกับภูมิภาค อีกทั้ง ยังมีปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีกด้วย
*** แต่ ตลท.ชี้เริ่มมีสัญญาณหนุน Flow ไหลกลับหุ้นไทยแล้ว
"ภากร ปีตธวัชชัย" กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า ภาวะการลงทุนช่วงนี้มีความผันผวนสูงมาก ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนแตกตื่น แต่ขอให้ติดตามข้อมูลให้ดี เพราะมีทั้งความเสี่ยงและเป็นทั้งโอกาส โดยข้อมูล ณ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิหุ้นไทย 1,666 ล้านบาท
ซึ่งในระยะยาว หากดูภาวะเศรษฐกิจของไทยเชื่อว่ายังอยู่ในจุดที่มีอัพไซด์มากกว่าดาวน์ไซด์ เพราะเริ่มเห็นพัฒนาการที่ดีขึ้นหลาย ๆ ด้าน อาทิ การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว,ภาครัฐเริ่มมีงบออกมาใช้จ่ายได้ และปัจจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ ก็เริ่มดีขึ้น เป็นต้น
ด้าน "ศรพล ตุลยะเสถียร" รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กรตลาดหลักทรัพย์ฯ เสริมว่า ปัจจุบัน เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศเริ่มไหลกลับเข้ามาในประเทศไทยแล้ว โดยเป็นการพักเงินอยู่ในตลาดตราสารหนี้ (บอนด์) สัปดาห์ละประมาณ 20,000 ล้านบาท
เช่นเดียวกับ "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า มีความเป็นไปได้เหมือนกันที่ Fund flow จะไหลเข้าตลาดหุ้นไทยมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ หลังเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอย นำไปสู่การขายทำกำไรหุ้นสหรัฐฯ และหุ้นโลกมากขึ้น ประกอบกับ ดัชนีหุ้นไทยในช่วงที่ผ่านมา ปรับตัวลงมาอยู่ในระดับต่ำมากแล้ว ส่งผลให้โอกาสที่จะถูกนักลงทุนต่างประเทศเทขายหนัก ๆ เหมือนหุ้นสหรัฐฯเป็นไปได้ยาก
นอกจากนี้ พัฒนาการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ มีแนวโน้มดูดีขึ้นกว่าช่วงต้นปี สะท้อนจากภาคการท่องเที่ยว และส่งออกที่มีโมเมนตั้มดีขึ้น ประกอบกับ ภาครัฐฯจะเริ่มได้ใช้งบประมาณประจำปีสำหรับการเบิกจ่ายโครงการต่าง ๆ มากขึ้น
*** ปัจจัยหลักหนุน Flow ไหลกลับ คือ งบ Q2/67 ดีกว่าคาด
"ศรพล ตุลยะเสถียร" เชื่อว่าปัจจัยสำคัญ ที่จะส่งผลให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยได้นั้น คือ การรายงานกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) โดยเฉพาะในช่วงไตรมาส 2/67 หากออกมาดี และดีต่อเนื่องไปจนถึงช่วงไตรมาส 3-4 ของปีนี้ มีแนวโน้มสูงที่จะช่วยหนุนให้เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้น
ด้าน "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า เสริมว่า เดิมที่ตลาดประเมินการรายงานงบการเงินไตรมาส 2/67 ของบริษัทจดทะเบียนไม่ได้สูงมากนัก ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่สามารถขยายตัวได้ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าช่วงไตรมาส 2/67 บริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่สามารถรายงานงบการเงินออกมาได้ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ก็อาจนำไปสู่การปรับประมาณการกำไรต่อหุ้น (EPS) ทั้งปี ของ บจ.ขึ้นได้เช่นกัน ซึ่งประเด็นดังกล่าว จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นไทยมากขึ้นด้วย
ส่วน บทวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 2/67 ของหุ้นใน SET ล่าสุด (7 ส.ค.67) ออกมาแล้ว 76 บริษัท โดยเป็นหุ้นที่มีคาดการณ์กำไรของตลาด 35 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้สามารถรายงานกำไรสุทธิช่วงดังกล่าวได้ดีกว่าคาดถึง 20 บริษัท, รายงานงบตามคาด 11 บริษัท และแย่กว่าคาดเพียง 4 บริษัท เท่านั้น
*** หุ้นเทคฯสหรัฐฯเแพง - ดอกเบี้ยลง คาดเห็นเงินไหลเข้าหุ้นไทย
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวลงต่อ โดยดัชนี NASDAQ ลบ 1% ต่างกับตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลกที่ส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก ประเมินว่า มีความเป็นไปได้หลายส่วน ที่จะเห็นการกระจายการลงทุนจากหุ้นเทคโนโลยีของสหรัฐฯมาที่หุ้นอื่น ๆ ทั่วโลกในช่วงที่เหลือของปี ด้วยปัจจัยต่าง ๆ ดังนี้
1.กลุ่มหุ้นเทคโนโลยี 7 นางฟ้าสหรัฐฯช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้น 83 - 2,539% สูงกว่า ดัชนี NASDAQ ที่ปรับตัวขึ้น 83% และผลตอบแทน 10 ปี ปรับตัวขึ้น 456 - 21,615% สูงกว่า ดัชนี NASDAQ ที่ปรับตัวขึ้น 156% จนปัจจุบันมีสัดส่วนสูงถึง 20% ของหุ้นทั่วโลก (อิงข้อมูลจากดัชนี MSCI ACWI)
2.เม็ดเงินที่เคลื่อนย้ายเข้าไปในหุ้นสหรัฐฯ เยอะจนทำให้ล่าสุดหุ้นสหรัฐฯ มีสัดส่วนสูงเกือบ 65% ของตลาดหุ้นทั่วโลก (อิงจากดัชน MSCI ACWI) จึงน่าจะเห็นการลดสัดส่วนหุ้นสหรัฐในพอร์ตลงบ้าง หลังจากขึ้นมาแรง, P/E สูง, มีความกังวลเรื่อง RECESSION, และกังวลการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากการ UNWIND YEN CARRY TRADE
3.การเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากการ UNWIND YEN CARRY TRADE อาจจะยังไม่จบ แม้ปัจจุบันค่าเงินเยนจะย่อตัวลงมาอยู่บริเวณ 145 ดอลลาร์/เยน แต่ตอนธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เร่งขึ้นดอกเบี้ย ค่าเงินญี่ปุ่นอยู่บริเวณ 130 ดอลลาร์/เยน ดังนั้นหาก FED เร่งลดดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีอาจเห็นการ UNWIND YEN CARRY TRADE เพิ่มขึ้นกดดันให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า และค่าเงินเยน รวมถึงบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้
จากทั้ง 3 ปัจจัยข้างต้นที่กล่าวมา ทำให้หุ้นเทคโนโลยีสหรัฐฯ มีโอกาสถูกขายลดสัดส่วนพอร์ตลง เพื่อลดความเสี่ยง เรื่อง RECESSION, และกังวลการเคลื่อนย้ายเม็ดเงินจากการ UNWIND YEN CARRY TRADE และอาจจะกระจายการลงทุนมาในประเทศอื่นรวมถึงไทยได้ เพราะมีโอกาสได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มเติม
ด้าน "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" มองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯมีแนวโน้มลดดอกเบี้ยนโยบายลงถึง 3 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าการประชุมรอบเดือน ก.ย.นี้ Fed จะลดดอกเบี้ยนโยบายลงมาครั้งแรก ซึ่งจะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง และหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ยิ่งเป็นอีกตัวกระตุ้นหนุนเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศให้ไหลเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้น โดยระยะแรกจะเป็นการเข้ามาพักในตลาดตราสารหนี้ก่อน
ส่วน บทวิเคราะห์ บล.กรุงศรี ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯที่เริ่มมีทิศทางพลิกเป็นขาลง หลังก่อนหน้านี้ปรับตัวขึ้นมาต่อเนื่อง จะหนุนภาพการมองหาผลตอบแทนจากตลาดหุ้นใหม่มากขึ้น โดย SET Index มีแนวโน้มจะได้รับอานิสงส์จากการไหลเข้าของ Fund flow ในระยะถัดไป หนุนให้ดัชนีหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวขึ้นได้
*** แนะจับตาคำตัดสินนายกฯ กำหนดความเร็ว Flow ไหลเข้า
"ไพบูลย์ นลินทรางกูร" กลับมากล่าวต่อว่า เงินจะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยมากแค่ไหนในช่วงที่เหลือของปีนี้ อาจต้องรอดูความชัดเจนการตัดสินคุณสมบัติความเป็นนายกรัฐมนตรีวันที่ 14 ส.ค.นี้ โดยหากนายกรัฐมนตรียังได้ดำรงตำแหน่งต่อ ก็จะทำให้เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศไหลเข้าตลาดหุ้นไทยได้เร็วขึ้น เนื่องจากจะเกิดความเชื่อมั่นนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลที่สามารถทำได้แบบไร้รอยต่อ
อย่างไรก็ตาม หากนายกรัฐมนตรีถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินให้พ้นจากตำแหน่ง มองว่า เม็ดเงินลงทุนต่างประเทศจะยังคงชะลอการไหลเข้าตลาดหุ้นก่อนในระยะสั้น เพื่อรอดูความชัดเจนในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีใหม่ว่าจะทำได้รวดเร็วแค่ไหน และมีศักยภาพในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจเดิมได้ต่อเนื่องหรือไม่ Fund flow จึงจะตัดสินใจอีกครั้งเมื่อเห็นความชัดเจนต่อประเด็นดังกล่าว
ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเด็นคำตัดสินคดีการเมืองที่นักลงทุนมีความกังวล ผ่านไปแล้ว 1 คดี คือ ศาลรัฐธรรมนูญมีมติยุบพรรคก้าวไกล เมื่อ 7 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) ก็ไม่มีการเคลื่อนไหวผันผวนแต่อย่างใด โดยวันทำการดังกล่าวดัชนีหุ้นไทยยังปิดบวกได้ถึง 16 จุด ซึ่งได้แรงหนุนจากการกลับมาซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยของนักลงทุนต่างประเทศ 1,666 ล้านบาท
*** ชวนเก็บหุ้นบิ๊กแคปคาดเป็นเป้าหมาย Flow แถมปันผลสูง
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า กลยุทธ์การลงทุน สำหรับธีมการไหลกลับเข้ามาของเม็ดเงินลงทุนต่างประเทศ คือ เน้นทยอยสะสมหุ้นที่นักลงทุนต่างประเทศเข้าสะสมผ่านบริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด (NVDR) เป็นหลัก โดยมีถึง 8 บริษัทในกลุ่มดังกล่าว ที่ราคาหุ้นช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ยัง Laggard ประกอบด้วย PTTGC, AWC, CRC, AOT, PLANB, KKP, SIRI และ BEM
ด้าน บทวิเคราะห์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) แนะนำสะสมหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้่า เพราะมองว่า จะเป็นเป้าหมายในการพักเงิน หลังมีการย้ายเงินลงทุนออกจากกลุ่มเทคโนโลยีไปยังกลุ่มอื่น ๆ โดยยกให้ RATCH และ GUNKUL เป็นหุ้น Top picks
ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.ดาโอ (ประเทศไทย) แนะนำเข้าสะสมหุ้นขนาดใหญ่ (บิ๊กแคป) ที่มีแนวโน้มจ่ายเงินปันผล คิดเป็นอัตราผลตอบแทน (Dividend Yield) ระดับสูง โดยชอบ PTT และ ADVANC มากที่สุดในกลุ่มหุ้นดังกล่าว