ราคาต่อมูลค่าทางบัญชีต่อหุ้น (Price to Book Value) หรือ P/BV เป็นหนึ่งในอัตราส่วนทางการเงินที่นักลงทุนนิยมใช้เป็นตัวคัดกรองหุ้น โดยคำนวณจากการนำสินทรัพย์รวมหักด้วยหนี้สินรวม หารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดของบริษัท แล้วนำไปเปรียบเทียบกับ "ราคาหุ้น"ในปัจจุบัน
P/BV จะเป็นตัวบ่งชี้ว่า หุ้นเป้าหมายที่กำลังจะซื้อถูกหรือแพงกว่าเจ้าของ ซึ่งสะท้อนธุรกิจได้ดีกว่า เพราะสัดส่วนที่นำมาคำนวณเปลี่ยนแปลงช้าไม่ผันผวน เหมือน P/E ที่ใช้กำไรมาคำนวณ โดยค่ามาตรฐานที่เจ้าของลงทุนคือ 1 เท่า ซึ่งหาก P/BV ของหุ้นนั้นๆต่ำกว่า 1 เท่า ก็หมายความว่าจะซื้อได้ในราคาต้นทุนที่ถูกกว่า
*** พบ 269 บจ. P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า
"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ณ วันที่ 2 ส.ค.62 พบว่า มี บจ.ที่ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่าถึง 269 บริษัท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 194 บริษัท โดยเป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (SET) จำนวน 233 บริษัท และ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) จำนวน 36 บริษัท
โดยกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มีจำนวนบริษัทติดโผสูงสุดถึง 27 บริษัท ซึ่งค่าเฉลี่ย P/BV ของอุตสาหกรรมอยู่ที่ 1.56 เท่า ขณะที่ P/BV ของ SET อยู่ที่ 1.85 เท่า โดยอุตสาหกรรมที่มี บจ. P/BV ต่ำกว่า 1 เท่าเกิน 10 บริษัทประกอบด้วย
กลุ่มอุตสาหกรรมที่มี บจ. P/BV ต่ำกว่า 1 เท่าเกิน 10 บริษัท
|
กลุ่ม
|
จำนวนบจ.
|
P/BV กลุ่มเฉลี่ย (เท่า)
|
อสังหาฯ
|
27
|
1.56
|
แฟชั่น
|
19
|
0.62
|
เหล็ก
|
17
|
0.65
|
เงินทุนและหลักทรัพย์
|
13
|
3.31
|
พลังงาน
|
12
|
1.68
|
อาหารและเครื่องดื่ม
|
11
|
2.2
|
บรรจุภัณฑ์
|
11
|
1.16
|
"ดร.ภากร ปีตธวัชชัย” กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า การที่จำนวนบริษัทซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีเพิ่มขึ้น อาจจะเกิดจากราคาหุ้นปรับตัวลดลงตามภาวะตลาดหุ้นไทย เพราะในช่วงที่ตลาดฯ ปรับขึ้น จำนวนบริษัทก็ลดลง ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ
อย่างไรก็ตามต้องดูเป็นรายบริษัทในแต่ละอุตสาหกรรม เพราะบางอุตสาหกรรมค่า P/BV เฉลี่ยต่ำกว่า 1 เท่าอยู่แล้ว ซึ่งอาจจะเกิดจากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจเหล่านั้นมีแนวโน้มปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ
ด้าน "สุนทร ทองทิพย์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย เพิ่มเติมว่า สาเหตุที่มีหุ้นซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดไม่เชื่อว่าสินทรัพย์ที่มีอยู่จะสามารถสร้างกำไรหรือกระแสเงินสดให้บริษัทได้เป็นกอบเป็นเหมือนในอดีต รวมถึงบริษัทขาดความสามารถในการแข่งขัน อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่ตลาดฯ กังวลเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคต และ Disruption จากการเงินดิจิตอล ส่วนกลุ่มปิโตรเคมีและโรงกลั่น ตลาดฯ ยังกังวลกับสงครามการค้ากระทบการเติบโตของเศรษฐกิจโลก ด้านกลุ่มอสังหาฯ เกิดจากอุปสงค์บ้านลดลงเพราะการปรับเปลี่ยนโครงสร้างประชากร ทำให้หรือบริษัทสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน
ขณะเดียวกันตลาดฯ ไม่มั่นใจในตัวผู้บริหาร หรือมองแนวโน้มธุรกิจเป็นขาลง ส่งผลให้หุ้นกลุ่มที่มีผลขาดทุนต่อเนื่องราคาต่ำบุ๊ค
*** 15 บจ.กำไรเข้าข่ายหุ้นราคาถูก
จากการสอบถามนักวิเคราะห์หลายรายได้ความเห็นตรงกันว่า หุ้นที่ P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า มีความน่าสนใจในแง่ต้นทุนที่ถูกกว่าเจ้าของบริษัท แต่ต้องดูองค์ประกอบอื่นร่วมด้วย เช่น ต้องมีกำไรเติบโตต่อเนื่องอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป มีค่า P/E ต่ำกว่าตลาดฯ และอุตสาหกรรม มีการจ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ
ทั้งนี้เมื่อใช้ข้อมูลข้างต้นคัดกรองหุ้น P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ทั้ง 269 บริษัท พบว่ามี 15 บริษัทที่เข้าข่าย ดังนี้
หุ้น P/BV ต่ำ 1 เท่า พื้นฐานแจ่ม
|
ชื่อย่อหุ้น
|
BV
(บาท)
|
ราคาล่าสุด
(บาท)
|
P/E
(เท่า)
|
กำไรปี 61
(%YoY)
|
กำไรปี 60
(%YoY)
|
CHEWA
|
1.45
|
0.8
|
4.76
|
147
|
70
|
PL
|
5.06
|
3.12
|
9.08
|
1
|
1
|
SUC
|
69.97
|
43.75
|
8.95
|
2
|
10
|
TCMC
|
3.99
|
2.56
|
6.73
|
17
|
32
|
RICHY
|
1.99
|
1.31
|
3.23
|
1,336
|
239
|
AH
|
25.72
|
18.5
|
5.24
|
113
|
12
|
PRAKIT
|
15.37
|
11.6
|
8.91
|
6
|
28
|
BBL
|
222.78
|
177.5
|
9.58
|
4
|
7
|
TMB
|
2.29
|
1.87
|
7.52
|
6
|
34
|
LALIN
|
6.76
|
5.6
|
6.11
|
36
|
14
|
TRU
|
5.62
|
4.7
|
13.8
|
6
|
119
|
PTTGC
|
66.94
|
57.75
|
7.63
|
54
|
2
|
AP
|
8.13
|
7.2
|
5.48
|
17
|
22
|
TCAP
|
59.19
|
57.75
|
8.32
|
16
|
12
|
HTECH
|
3.65
|
3.6
|
7.42
|
26
|
18
|
จากตาราง ทุกบริษัทมี P/BV ต่ำกว่า 1 เท่า ซื้อขายที่ระดับ P/E ต่ำกว่าตลาดฯ และมีการจ่ายเงินปันผลติดต่อกันไม่ต่ำกว่า 2 ปี
ทั้งนี้ บมจ.ชีวาทัย (CHEWA) เป็นบริษัทที่มี P/BV ต่ำสุดเพียง 0.55 เท่า โดยราคาล่าสุดอยู่ที่ 0.8 บาท ส่วนมูลค่าทางบัญชีอยู่ที่ 1.45 บาท และมี P/E เพียง 4.76 เท่า ต่ำกว่ากลุ่มอสังหาฯ ที่อยู่ระดับ 14.45 บาท ขณะที่กำไรสุทธิปี 61 เติบโตถึง 147% และปี 60 เติบโต 70%
ขณะที่ บมจ.เอพี (ไทยแลนด์) หรือ AP และ บมจ.ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น (TCMC) เป็น 2 บริษัทที่มีกำไรเติบโต 5 ปีติดต่อกัน
*** 4 บจ. ใน SET50 ติดโผ
ขณะเดียวกันพบว่า 4 ใน 15 บริษัทข้างต้นมี บจ.ที่อยู่ในกลุ่ม SET50 จำนวน 4 บริษัท ประกอบด้วย 1.ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) และ ธนาคารทหารไทย (TMB)
โดย PTTGC และ TCAP ยังติดอยู่ในดัชนี SETHD หรือหุ้นที่มีการจ่ายปันผลโดดเด่นด้วย
*** 8 บจ.อัพไซด์สูง-ปันผลปีนี้แจ่ม
นอกจากนี้เมื่อสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมพบว่า 8 ใน 15 บริษัท เป็นหุ้นที่นักวิเคราะห์แนะนำซื้อลงทุน เนื่องจากมีอัพไซด์สูงและมีแนวโน้มอัตราการจ่ายเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) ปีนี้มากกว่า 3% ดังนี้
หุ้นต่ำบุ๊คอัพไซด์สูง-ปันผลแจ่ม
|
ชื่อย่อหุ้น
|
%Div.Yield
ปี 62
|
ราคาเหมาะสม
(บาท)
|
ราคาล่าสุด
(บาท)
|
%อัพไซด์
|
TCMC
|
3.9
|
4
|
2.56
|
56
|
AH
|
6.2
|
27.4
|
18.5
|
48
|
BBL
|
3.9
|
230
|
177.5
|
30
|
PTTGC
|
5
|
73.82
|
57.75
|
28
|
AP
|
5.4
|
8.94
|
7.2
|
24
|
LALIN
|
7.1
|
6.7
|
5.6
|
20
|
TMB
|
3.2
|
2.12
|
1.87
|
13
|
TCAP
|
4.4
|
60.66
|
57.75
|
5
|
*** ข้อมูลราคาเหมาะสม และ %Div.Yield ปี 62 มาจากค่าเฉลี่ยของ IAA Consensus ณ 2 ส.ค.62
|
TCMC เป็นบริษัทที่มีอัพไซด์สูงสุดถึง 56% ราคาล่าสุดอยู่ที่ 2.56 บาท ขณะที่ราคาเหมาะสมอยู่ที่ 4 บาท และคาดการณ์ Dividend Yield ปีนี้ถึง 3.9% ส่วน TCAP แม้อัพไซด์เหลือต่ำเพียง 5% แต่คาดการณ์ Dividend Yield ปีนี้ระดับ 4.4%
*** กูรูชี้หุ้นต่ำบุ๊คน่าลงทุน แต่ระวังหลุมพราง
"เผดิมภพ สงเคราะห์" กรรมการผู้จัดการ ประธานสายธุรกิจรายย่อย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า P/BV แม้จะเป็นค่าที่ใช้ชี้วัดว่าหุ้นถูกและหุ้นอาจจะไม่ได้ปรับตัวลดลงไปมากกว่านี้ เพราะราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีไปแล้ว แต่หากทิศทางของกำไรยังไม่ปรับเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็อาจจะไม่ได้ปรับตัวขึ้นเช่นกัน
“ข้อได้เปรียบของการซื้อหุ้นต่ำบุ๊ค คือ หากแนวโน้มธุรกิจผ่านจุดต่ำสุดแล้ว กำไรเริ่มกลับมาเติบโต ราคาหุ้นก็มีโอกาสปรับตัวขึ้นได้เร็วเช่นกัน นักลงทุนต้องดูแนวโน้มกำไรในอนาคตว่าจะเติบโตได้มากน้อยขนาดไหน ต้องอ่านให้ออก มองให้ขาด มิเช่นนั้นจะตกหลุมพรางของ P/BV ได้ เพราะหากกำไรยังมีแนวโน้มลดลง ความเสี่ยงขาลงก็ยังคงมีอยู่ แม้ราคาจะต่ำกว่าบุ๊คแล้ว” เผดิมภพ กล่าว
ด้าน “ชัยพร น้อมพิทักษ์เจริญ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ” สายงานวิจัยลูกค้าบุคคล บล.บัวหลวง เสริมว่า อีกหนึ่งข้อควรระวังในการลงทุนหุ้นที่ P/BV ต่ำ คือบางบริษัทอาจจะมีสภาพคล่องไม่มากนัก ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น เจ้าของบริษัทถือครองหุ้นในสัดส่วนจำนวนมากกว่าปกติ ไม่มีบทวิเคราะห์หรือกระจายข้อมูลให้นักลงทุนรายย่อยไม่มากพอ
ทั้งนี้ปกติค่า P/BV ต่ำอาจจะไม่ได้เป็นปัจจัยลำดับแรกในการเข้าซื้อหุ้น เพราะมักจะมีผลประกอบการต่ำเช่นกัน ต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบ
ขณะที่บางครั้งอาจจะตกเป็นเป้าหมายของการซื้อกิจการ โดยเฉพาะบริษัทที่มีสินทรัพย์บางอย่างที่มีมูลค่าแฝงอยู่ การเลือกหุ้นลักษณะนี้ต้องดูเป็นรายบริษัทเท่านั้น เพราะแต่ละแห่งมีลักษณะการดำเนินธุรกิจต่างกัน
ด้าน "ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" นักลงทุนหุ้นเน้นคุณค่า (VI) เพิ่มเติมว่า การเลือกลงทุนหุ้นกลุ่มนี้มีความน่าสนใจ เพราะราคาถูก ยิ่งภาวะช่วงที่ตลาดฯผันผวน ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่ดี แต่ต้องดูข้อมูลอื่นประกอบด้วย เช่น P/E ต้องต่ำด้วย มีปันผลขั้นต่ำ 3-4% ขึ้นไป อยู่ในกลุ่มธุรกิจที่เป็นขาขึ้น
"หุ้นพวกนี้ถ้าราคาไม่ไปไหนแต่ลงทุนได้ปันผลมา 3-4% ขึ้นไปก็ถือว่าดีกว่าฝากเงินกับธนาคาร แถมหากเลือกดี เจอบริษัทที่เติบโตด้วย เท่ากับได้ผลตอบแทน 2 เด้ง จากทั้งปันผลและส่วนต่างราคาหุ้น ส่วนหุ้น P/BV ต่ำ ที่ไม่มีความแน่นอนเรื่องผลประกอบการ เช่น ปีนี้กำไร อีกปีกำไรลดลง และกลับมากำไรหรือขาดทุนต่อ ต้องระวังให้มาก" ดร.นิเวศน์ ระบุ
รวมถึง "อนุรักษ์ บุญแสวง" หรือ โจ ลูกอีสาน อดีตนายกสมาคม VI เผยว่า "ปัจจุบันหุ้นในพอร์ตหลายบริษัท มาจากการเลือกหุ้นที่ซื้อขายต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี เพราะถือว่าเป็นของถูก ได้ราคาต้นทุนต่ำกว่าเจ้าของ อุ่นใจดี โดยเลือกบริษัทที่มีศักยภาพการเติบโตของกำไร มีปันผล ซึ่งส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนที่ดี และจะไม่ลงทุนหุ้นต่ำบุ๊คที่พื้นฐานไม่ดีและไม่มีสภาพคล่องเด็ดขาด" โจ ลูกอีสาน ปิดท้าย