efinancethai

ประเด็นร้อน

นโยบายรัฐทุบหุ้น-ฝรั่งขายขาดความเชื่อมั่น SET จ่อหลุด 1,500 จุด

นโยบายรัฐทุบหุ้น-ฝรั่งขายขาดความเชื่อมั่น SET จ่อหลุด 1,500 จุด

ต่างชาติเทขายหุ้นไทยกว่า 1.5 แสนล้านบาท ส่วนทางช่วงเดียวกันปีก่อนที่ซื้อสุทธิ 1.55 แสนล้านบาท ขณะที่ 15 วันทำการหลังสุดกดขายเกือบทุกวันรวม 2.48 หมื่นล้านบาท วงการมองปัจจัยลบรุมเร้าทั้งภายนอก-ภายใน แถมนโยบายรัฐบาลใหม่ ส่งผลกระทบกำไร บจ. - เสี่ยงสร้างหนี้่มโหฬารจากการแจกเงิน ฉุดความเชื่อมั่นวูบ ดูดเงินไหลออก ประเมิน SET Index จ่อหลุด 1,500 จุด เลวร้ายสุดลงได้ถึง 1,400 จุด นอกจากนี้พบสถิติสัดส่วนต่างชาติซื้อขายระดับ 50.8% แซงคนไทยไปแล้ว ที่สำคัญเป็นการเทรดไม่ใช่การลงทุนระยะยาว ระวังกระทบหุ้นใหญ่ กดดัชนีผันผวน 


*** ต่างชาติขายหุ้นไทยแล้วกว่า 1.5 แสนล้านบาท

ข้อมูลตั้งแต่ต้นปีถึง 20 ก.ย.66 (YTD) พบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิหุ้นไทยกว่า 1.5 แสนล้านบาท สวนทางกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ซื้อสุทธิถึง 1.55 แสนล้านบาท ขณะที่ 15 วันทำการหลังสุดตั้งแต่ 31 ส.ค.-20 ก.ย.66 นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิเกือบทุกวัน มีเพียงวันเดียวที่เป็นซื้อสุทธิ 1,277 ล้านบาท ที่เหลือขายเฉลี่ยวันละกว่า 1,656 ล้านบาท สูงสุดต่อวันคือ 6,169 ล้านบาท รวมขายสุทธิ


*** วงการชี้ปัจจัยลบรุมเร้า แถมนโยบายรัฐฯ ฉุดเชื่อมั่้น

"มงคล พ่วงเภตรา" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ดาโอ (ประเทศไทย) ประเมินว่า สาเหตุที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยต่อเนื่อง เพราะนโยบายรัฐบาลที่กดดันต่อหุ้นในตลาดหลักทรัพย์หลายบริษัท (ล่าสุดก็เริ่มลามไปที่ PTT แล้ว) 

ขณะเดียวกันการขอเพิ่มงบประมาณรายจ่ายของงบปี 66/67 อีก 1.3 แสนล้านบาท และการขอเพิ่มการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดสำหรับงบปี 66/67 อีก 1 แสนล้านบาท ทำให้ค่าเงินบาทขาดเสถียรภาพ สะท้อนจากเงินบาทที่อ่อนค่าลงต่อเนื่อง ส่งสัญญาณถึงความเชื่อมั่นต่อค่าเงินเริ่มลดลง

ด้าน "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาด บล.ไอร่า ระบุ 2 สาเหตุสำคัญที่นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย ประกอบด้วย

1.ปัจจัยนอกประเทศ : ธนาคารกลางสหรัฐฯ ยังคงส่งสัญญาณคุมเข้มเรื่องดอกเบี้ยต่อเนื่อง ล่าสุดมีการคาดการณ์ว่าจะปรับเพิ่มขึ้นได้อีก สะท้อนว่า เงินเฟ้อยังอยู่ในภาวะสูงยาวนานกว่าคาด ทำให้ต้นทุนทางการเงินยังสูงต่อไป ดังนั้นกระแสเงินสดส่วนเกินจึงยังไม่ไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงนี้

2.ปัจจัยในประเทศ : นโยบายรัฐฯ ที่ต้องใช้เงินจำนวนมหาศาล เช่น มาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ทำให้ตลาดฯ เกิดความกังวลว่าจะเอาเงินมาจากไหน แหล่งที่มาเป็นอย่างไร จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มเป็นกังวลว่า อาจจะมีการออกพันธบัตร ซึ่งจะทำให้หนี้ของประเทศเพิ่มขึ้น และอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศลดลง ซึ่งฉุดความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างประเทศ

ขณะที่ บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า นโยบายใหม่ของภาครัฐฯ มีความเสี่ยงเรื่องภาระหนี้ที่พุ่งสูงอย่างมีนัย เพราะใช้เงินจำนวนมากในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สำคัญนโยบายต่าง ๆ ที่ออกมาส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) หลายกลุ่ม เช่น การปรับลดค่าไฟฟ้า กดดันหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีสูตรราคาอิงกับค่า Ft ให้มีผลประกอบการปรับตัวลดลงได้ ประกอบด้วย กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP อาทิ GPSC, BGRIM และ GULF เป็นต้น รวมถึงกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่มีสูตรโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าผันแปรกับค่า Ft เช่น EA, GUNKUL, TPIPP, BCPG และ SSP เป็นต้น

ส่วนการลดราคาสินค้าเกษตรจะสร้าง Sentiment เชิงลบต่อกลุ่มเกษตร อาทิ CPF, TFG, GFPT และ BRR เป็นต้น 

ฝั่งนักลงทุนรายใหญ่ "ปุณยวีร์ จันทรขจร" เทรดเดอร์ชื่อดัง ระบุว่า นโยบายภาครัฐฯ ที่ออกมาเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นเท่านั้น และมีความเสี่ยงสร้างหนี้สูง เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบ Non-Productive ในระยะยาว ต่างจากการลงทุนขนาดใหญ่เช่นโครงสร้างพื้นฐาน เป็นต้น ดังนั้นจึงส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง กดดันให้เม็ดเงินลงทุนไหลออกจากตลาดสินทรัพย์เสี่ยง

ด้าน "กระทรวง จารุศิระ" อีกหนึ่งเทรดเดอร์รายใหญ่ และผู้ก่อตั้ง "Super Trader Republic" มองว่า นโนบายกระตุ้นเศรษฐกิจหลายเรื่องที่ออกมาตอนนี้ ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อผลประกอบการ บจ. และเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และมีความเสี่ยงที่รัฐฯ จะต้องก่อหนี้ครั้งใหญ่ จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท จึงทำให้นักลงทุนต่างชาติขาดความเชื่อมั่น 

ด้าน "เสี่ยป๋อง" วัชระ แก้วสว่าง นักลงทุนรายใหญ่ เสริมว่า น่าแปลกใจที่นักลงทุนต่างชาติยังขายหุ้นไทยต่อเนื่อง ทั้งที่ปกติหลังตั้งรัฐบาลใหม่ตลาดฯ จะตอบรับเชิงบวกเสมอ แต่รอบนี้กลายเป็นแกว่งตัวไซด์เวย์ สะท้อนว่าต้องมีอะไรที่ต่างชาติไม่เชื่อมั่นนโยบายของรัฐบาลใหม่ 


*** สัดส่วนซื้อขายต่างชาติแซงคนไทย ระวังกระทบหุ้นใหญ่

ขณะเดียวกันสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติล่าสุดแซงกลุ่มนักลงทุนไทยไปแล้ว โดยอยู่ที่ 50.8% จากช่วงก่อนโควิดที่นักลงทุนไทยซื้อขายระดับกว่า 70% และนักลงทุนต่างชาติซื้อขายไม่ถึง 30% 

บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส มองว่า การที่สัดส่วนนักลงทุนต่างชาติซื้อขายมากกว่านักลงทุนในประเทศ มีโอกาสกดดันหุ้นขนาดใหญ่ให้ผันผวนมากขึ้นและจะส่งผลกระทบต่อดัชนีฯ 

ขณะที่แม้สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติจะเพิ่มขึ้นสูงระดับ 50.8% แต่สวนทางกับสัดส่วนการถือครองหุ้นไทยของนักลงทุนต่างชาติที่ต่ำกว่าในอดีตมาก โดยปัจจุบันต่างชาติถือครองหุ้นไทยทางตรงเพียง 23.9% (และ 18.7% กรณีไม่รวมหุ้น DELTA)

การที่ต่างชาติถือหุ้นไทยน้อยลง แต่มีการซื้อขายหุ้นไทยที่ร้อนแรงขึ้น (ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการซื้อขายผ่านระบบ Algo Trade) หนุน Turnover สูงขึ้นมาก โดยปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติหมุนการซื้อขายหุ้นไทยสูงถึง 2.47 เท่า ของนักลงทุนไทยทั้งหมด (ต่างกับช่วง 10 ปีก่อนที่ต่างชาติยังซื้อขายหุ้นไทยน้อยกว่าคนไทยพอสมควร) แสดงให้เห็นว่า ปัจจุบันสภาพคล่องในตลาดหุ้นมีน้ำหนักจากนักลงทุนต่างชาติเป็นหลัก แม้ต่างชาติจะถือหุ้นไทยน้อยมาก ส่งผลให้ราคาหุ้นขนาดใหญ่มีโอกาสผันผวนมากกว่าในอดีตมาก ส่วนหุ้นขนาดเล็กพื้นฐานดีที่ต่างชาติยังซื้อขายน้อยน่าจะเป็นที่หมายปองของนักลงทุนไทยในประเทศมากขึ้น

ด้าน "เสี่ยป๋อง" วัชระ แก้วสว่าง นักลงทุนรายใหญ่ ระบุว่า สัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนต่างชาติที่มากกว่าคนไทย ที่สำคัญเป็นฝั่งการเทรด ไม่ใช่การลงทุนระยะยาว และมีการใช้โปรแกรมเทรดอัตโนมัติเข้ามาช่วย ซึ่งทำให้ตลาดฯ ผันผวนมาก และนักลงทุนไทยตามไม่ทัน ส่วนตัวแม้จะมีการปรับกลยุทธ์เข้าสู้ แต่สู้ไม่ได้ ซึ่งอาจจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนไปเป็นลงทุนระยะยาวมากขึ้น เพราะเดย์เทรดชนะโรบอทของต่างชาติยากเหลือเกิน


*** คาดดัชนีลงได้ลึกสุดถึง 1,400 จุด

"ปุณยวีร์ จันทรขจร" มองว่า ตราบใดที่ Bond Yield ยังอยู่ในระดับสูง เม็ดเงินลงทุนโดยเฉพาะต่างชาติจะไหลไปอยู่ใน Money Market มากกว่าตลาดหุ้น ซึ่งช่วงที่เหลือของปีตลาดหุ้นไทยคงจะแกว่งตัวไซด์เวย์ จนกว่าจะมีปัจจัยบวกใหม่ หรือ Bond Yield ลดลง และในภาวะที่ตลาดเปราะบางแบบนี้ หากมีปัจจัยลบเพิ่มเติม SET Index มีโอกาสลงไปถึง 1,400 จุดเลยทีเดียว

อย่างไรก็ตามหากลงไปในระดับดังกล่าว ถือว่าน่า "ซื้อ" เพราะพื้นฐาน บจ.ไทยค่อนข้างดี และมองว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้นในระยะยาว โดยจะเริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไป

เช่นเดียวกับ "กระทรวง จารุศิระ" ที่มองว่า หุ้นไทยปัจจุบันอยู่ในโซนไม่ถูกแต่ไม่ถือว่าแพงเกินไปนัก อิง P/E ที่ 19 เท่า คาดว่าแนวรับต่ำสุดอยู่แถว 1,400 จุด แนวต้านอยู่ที่ไม่เกิน 1,700 จุด ต้องรอดูว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่จะสร้างประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมได้แค่ไหน ในทางตรงกันข้ามหากเศรษฐกิจยังโตได้ใกล้เคียงเดิมหรือลดลง ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสลงไปทดสอบแนวรับได้เลย

"มงคล พ่วงเภตรา" ยอมรับว่า เคยประเมิน SET Index ไม่น่าจะหลุด 1,500 จุด แต่ ณ ตอนนี้ มีปัจจยลบเข้ามาใหม่ คือ เรื่องนโยบายรัฐบาล ทำให้มีโอกาสที่ SET Index จะหลุด 1,500 จุดในช่วงที่เหลือของปีได้เช่นกัน แต่จะลงลึกได้แค่ไหนคงต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง ขณะเดียวกันยังมีปัญหาราคาน้ำมันสูงขึ้นกดดันด้วย โดยราคาน้ำมันที่ยืนเหนือ 95 เหรียญ/บาร์เรล เป็นปัจจัยคุกคามตลาดหุ้นแล้ว เพราะกระทบต่อต้นทุนของหลายบริษัท โดยเฉพาะกลุ่มพลังงาน

กลยุทธ์การลงทุนช่วงนี้ แนะนำ เล่นรอบเก็งกำไรรอจุดวกกลับที่บริเวณ 1,490 - 1,500 จุด โดยต้องติดตามนโยบายรัฐฯ เป็นหลัก เพราะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้นเหวี่ยงได้

ด้าน "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ประเมินแนวรับรอบถัดไปไว้ที่ 1,490 จุด หรือกรณีเลวร้ายที่สุด คือ 1,460 จุด ขณะที่กรอบบนประเมินไว้ที่ 1,620 จุด แนะนำหุ้น "Defensive play" ที่จ่ายปันผลตอเนื่อง หรือหุ้นงบการเงิน Q3/66 จะโตแข็งแกร่ง เช่น กลุ่มธนาคารที่ยังได้รับอานิสงส์ดอกเบี้ยสูง ขณะที่ แนะนำหลีกเลี่ยงหุ้นกลุ่มที่ได้รับแรงกดดันจากนโยบายรัฐบาล    

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด