กระแสการออกและเสนอขาย "Perpetual bond" หรือ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ กลับมาอีกครั้ง รอบนี้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) เหมือนนัดกันมา เพราะประกาศขายช่วงไตรมาสสุดท้ายพร้อมกันถึง 4 บริษัท ประกอบด้วย
บจ.ขาย Perpetual bond ปลายปี 62
|
ชื่อย่อหุ้น
|
มูลค่า (ลบ.)
|
วันเสนอขาย
|
% ดบ.5 ปีแรก
|
เรทติ้งหุ้นกู้
|
BCP
|
10,000
|
15 – 17 ต.ค.
|
5
|
BBB+
|
IVL
|
15,000
|
4 – 7 พ.ย.
|
5
|
A
|
BGRIM
|
6,000
|
19-21 พ.ย.
|
5
|
BBB+
|
TU
|
6,000
|
26-28 พ.ย.
|
5
|
A-
|
*** ส่วนใหญ่ขนเงินคืนหนี้-รีไฟแนนซ์
ทั้งนี้เมื่อสำรวจข้อมูลพบว่าทั้ง 4 บริษัท ที่จะขาย Perpetual bond กำหนดอัตราดอกเบี้ย 5 ปีแรกเท่ากันที่ 5% โดยมีรอบการจ่ายดอกเบี้ย 3-6 เดือน ขณะที่วัตถุประสงค์ส่วนใหญ่จะใช้คืนหนี้และรีไฟแนนซ์หุ้นกู้เดิม
โดย บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) เสนอขายมูลค่าสูงสุด 1.5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปไถ่ถอน Perpetual bond ที่ขายเมื่อปี 57 มูลค่า 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ย 7% ทำให้ Perpetual bond ชุดใหม่มีดอกเบี้ยจ่ายต่ำกว่าชุดเดิม เป็นไปตามเงื่อนไขของหุ้นกู้ประเภทนี้ที่สามารถไถ่ถอนได้เมื่อครบ 5 ปี
ด้าน บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) เสนอขาย Perpetual bond มูลค่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะนำเงินไปชำระคืนตราสารหนี้ที่ครบกำหนด 3,000 ล้านบาท, คืนเงินกู้สถาบันการเงิน 400 ล้านบาท ที่เหลือใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ
และ บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) เสนอขาย Perpetual bond มูลค่า 6,000 ล้านบาท โดยจะนำเงินไปชำระคืนตราสารหนี้ที่จะครบกำหนดและเงินกู้จากสถาบันการเงิน
มีเพียง บมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) ที่เสนอขาย Perpetual bond มูลค่า 6,000 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนในการดำเนินงาน
ทั้งนี้ Perpetual bond ของทั้ง 4 บริษัทจะเสนอขายให้กับประชาชนทั่วไป(PO)โดยมีเรทติ้งหุ้นกู้ระดับ Investment Grade หรือ BBB+ ขึ้นไปทั้งหมด
*** ฉวยจังหวะดอกเบี้ยต่ำออกหุ้นกู้ชั่วนิรันด์
"อริยา ติรณะประกิจ" รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) เผยว่า การแห่ขาย Perpetual bond ของ บจ.ช่วงนี้เกิดจาก ภาวะดอกเบี้ยต่ำ นักลงทุนมองหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูง ขณะที่บริษัทต้องการเงินทุน
จึงเป็นโอกาสในเสนอขายหุ้นกู้ประเภทนี้ แม้ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ปกติหรือการไปกู้จากสถาบันการเงิน แต่จะทำให้มีความคล่องตัวมากกว่า ระดมทุนได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทที่มีอัตราหนี้สินต่อทุนสูง และไม่อยากรบกวนผู้ถือหุ้นด้วยการเพิ่มทุน ซึ่งความพิเศษของหุ้นกู้ประเภทนี้ในทางบัญชีสามารถนับเป็นทุนได้
“หลายบริษัทเสนอขาย Perpetual bond เพราะดอกเบี้ยต่ำเป็นประวัติการณ์ พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี มีอัตราดอกเบี้ยแค่ 1.4% หุ้นกู้ระยะยาวเป็นตัวเลือกในการล็อกต้นทุนได้เป็นอย่างดี และทำให้มีความยืดหยุ่นด้านสภาพคล่องด้วย คาดว่าอาจจะมีอีกหลายบริษัทที่จะเลือกใช้เครื่องมือประเภทนี้ในการระดมทุน โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่เริ่มมีสัดส่วนหนี้สูง"
*** พบยอด Perpetual bond คงค้าง 7.7 หมื่นล้านบาท
ขณะที่ข้อมูล ณ ก.ย.62 มี Perpetual bond คงค้างในระบบ 7.7 หมื่นล้านบาท จาก 8 บริษัท คิดเป็น 2% ของมูลค่าคงค้างตราสารหนี้ภาคเอกชนระยะยาว ประกอบด้วย
Perpetual bond คงค้าง ณ ก.ย.62
|
ชื่อย่อหุ้น
|
มูลค่า (ลบ.)
|
อัตราดอกเบี้ย (%)
|
เรทติ้งหุ้นกู้
|
PTTEP
|
5,000
|
5.85
|
AA
|
IVL
|
15,000
|
7
|
A-
|
ANAN
|
6,000
|
8-9
|
BB+
|
CPALL
|
20,000
|
5
|
BBB
|
CPF
|
15,000
|
5
|
A-
|
PF
|
508
|
9.5
|
B+
|
MINT
|
15,000
|
5.85
|
BBB+
|
TTCL
|
500
|
8.75
|
-
|
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่ขายให้กับประชาชนทั่วไป มีเพียง บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ (ANAN) และ บมจ.พร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค (PF) ที่ขายให้นักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายใหญ่ (II/HNW) รวมถึง บมจ.ทีทีซีแอล (TTCL) ที่ขายให้กับนักลงทุนเฉพาะเจาะจงไม่เกิน 10 ราย (PP10) เนื่องจากทั้ง 3 บริษัทมีอันดับเครดิตเรทติ้งหุ้นกู้ต่ำ
ขณะที่ ANAN, TTCL และ PF มีการจ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงสุดระดับ 8-9.5%
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่มีการเสนอขาย Perpetual bond ยังไม่พบประวัติการผิดชำระดอกเบี้ยแต่อย่างใด
*** ติงดอกเบี้ยงามแต่ความเสี่ยงเพียบ
"อริยา ติรณะประกิจ" กล่าวเพิ่มเติมว่า นักลงทุนต้องศึกษารายละเอียดหุ้นกู้ประเภทนี้ให้รอบคอบ แม้จะมีการจ่ายดอกเบี้ยในอัตราสูง แต่มีเงื่อนไขหลายประการที่ถือเป็นความเสี่ยง เช่น
1.ไม่มีกำหนดไถ่ถอนจนกว่าจะเลิกกิจการ
2.สามารถเลื่อนจ่ายดอกเบี้ยได้โดยไม่ผิดข้อกำหนด หากบริษัทประสบภาวะขาดทุน
3.เป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ หากเลิกกิจการผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิได้รับชำระหนี้คืนเป็นลำดับที่ 3 หลังเจ้าหนี้มีประกัน และเจ้าหนี้สามัญอื่นๆ ซึ่งอาจได้รับชำระหนี้คืนเต็มจำนวนหรือบางส่วนตามจำนวนเงินที่เหลือจากการชำระเจ้าหนี้ลำดับก่อนหน้า
4.มี Call option คือ บริษัทผู้ออกมีสิทธิเรียกไถ่ถอนได้ก่อนกำหนด โดยมักกำหนดให้เริ่มใช้สิทธิไถ่ถอนได้ตั้งแต่ปีที่ 5 ซึ่งบริษัทอาจเลือกใช้สิทธิ หากทิศทางดอกเบี้ยเป็นขาลง ดังนั้น นักลงทุนก็จะไม่ได้รับดอกเบี้ยในอัตราตามที่คาดหวังอีกต่อไป และเงินที่ได้รับจากไถ่ถอนเมื่อนำไปลงทุนต่ออย่างอื่นก็อาจได้อัตราผลตอบแทนที่ลดลง ในทางตรงข้ามหากอัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มสูงขึ้นมากในอีก 5 ปีข้างหน้า ผู้ออกก็อาจเลือกที่จะไม่ไถ่ถอนก่อนกำหนด ทำให้นักลงทุนเสียโอกาสในการนำเงินไปลงทุนต่อในอัตราดอกเบี้ยตลาดที่เพิ่มขึ้น
5.อัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่คงที่เหมือนหุ้นกู้ทั่วไปหลังจากปีที่ 5 ของการออกหุ้นกู้ ซึ่งส่วนใหญ่จะอ้างอิงผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล+ค่าความเสี่ยงที่แต่ละบริษัทกำหนด
6.อันดับเครดิตของ Perpetual bond โดยทั่วไปจะต่ำกว่าอันดับเครดิตบริษัทราว 2 ระดับ จากการมีสถานะเป็นหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็นผลให้ Perpetual bond จ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ปกติ ซึ่งนักลงทุนต้องพิจารณาว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนี้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ รวมถึงอาจนำไปเปรียบเทียบกับอัตราเงินปันผลกรณีลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท
*** TFRS9 จะทำให้ Perpetual bond กลายเป็นหนี้ ไม่ใช่ทุนอีกต่อไป
นอกจากนี้ ตั้งแต่ 1 ม.ค.63 จะมีการปรับใช้มาตรฐานรายงานทางการเงินฉบับที่ 9 (TFRS9) ซึ่งได้มีการตีความ Perpetual bond ใหม่ ให้เป็นหนี้สินไม่ใช่ทุนอีกต่อไป เพราะมีการจ่ายดอกเบี้ยตามสัญญา ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตราส่วนทางการเงินต่างๆ เช่น อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E), อัตราส่วนความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest coverage ratio)
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุว่า TFRS9 ทำให้หุ้นกู้ประเภทนี้บันทึกเป็นหนี้สิน จากเดิมอยู่ในส่วนทุน และการจ่ายอัตราดอกเบี้ยจะเปลี่ยนไปบันทึกในงบกำไรขาดทุน จากเดิมอยู่ในงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ ซึ่งจะกระทบต่อกำไรสุทธิของบริษัท นักลงทุนต้องศึกษาความเสี่ยงประเด็นนี้ไว้ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ลงทุนทั้ง Perpetual bond และ หุ้นสามัญของบริษัทผู้ออก
"ปริย เตชะมวลไววิทย์" ผู้อำนวยการฝ่ายงานเลขาธิการและสื่อสารองค์กร สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) แนะนำนักลงทุนว่า ควรสำรวจรายละเอียดต่าง ๆ ต่อไปนี้ให้ครบถ้วน
1.ทำแบบประเมินระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้ และผลที่ได้นั้นบอกว่าคุณสามารถซื้อหุ้นกู้รุ่นนี้ได้
2.เงินที่จะนำมาลงทุนก้อนนี้เป็นเงินเย็น ไม่ได้กู้ยืมมา และต้องไม่มีภาระใดที่ต้องใช้เงินก้อนนี้ไปตลอดชีวิต
3.ได้รับ "Fact Sheet" จากผู้ขาย และได้อ่านจนจบแล้วโดยไม่มีข้อสงสัย
4.ประเมิน "อันดับความน่าเชื่อถือ" ของทั้งหุ้นกู้และบริษัทผู้ออกแล้วโดยเป็นอันดับที่ไม่เสี่ยงเกินไปสำหรับตัวเอง
5.ศึกษารายละเอียดถึงความไม่แน่นอนว่าจะถูกซื้อคืนเมื่อใด และความไม่แน่นอนในการจ่ายดอกเบี้ย และอัตราดอกเบี้ยที่จะจ่ายก็มีความไม่แน่นอน รวมทั้งได้ทำความเข้าใจเงื่อนไขหรือเหตุของความไม่แน่นอนในแต่ละเรื่องแล้ว ซึ่งดูได้ที่หัวข้อ"ลักษณะพิเศษและความเสี่ยงของตราสาร" ใน Fact Sheet หรือหนังสือชี้ชวน
6.สอบถามวิธีขายคืนหุ้นกู้ให้เรียบร้อยเผื่อกรณีที่จำเป็นต้องใช้เงิน เช่น ธนาคารที่เป็นตัวแทนขายหุ้นกู้นั้นรับซื้อคืนหรือไม่ คำนวณราคาอย่างไร และต้องเสียภาษีและค่าใช้จ่ายใดบ้าง