ตลท. เปิดรับฟังความเห็น เพิ่ม 3 มาตรการยกระดับซื้อขาย นำโดยใช้ Auto Halt ตรวจจับหุ้นที่มีคำสั่งซื้อขายมากผิดปกติคุมปั่นหุ้น ส่วนอีก 2 มาตรการที่เหลือหวังลดความผันผวนราคาหุ้น โดยจะนำ Dynamic Price Band ตรวจจับหุ้นที่ราคาขึ้น - ลงเกิน 10% จากราคาล่าสุด และคุมเข้มหุ้นที่ปรับตัวขึ้น - ลงแรงซึ่งไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ปิดรับฟังความเห็น 9 มิ.ย.นี้
*** ตลท.จ่อออก 3 เกณฑ์ใหม่ ยกระดับซื้อขาย
ตามที่คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดแนวทางเพิ่มความเชื่อมั่นของผู้ลงทุน โดยให้ยกระดับการกำกับดูแลการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯให้มีความโปร่งใส เสริมสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนทุกประเภท และสอดรับกับแผนกลยุทธ์ในการสร้างตลาดทุนที่มีคุณภาพสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนนั้น
ตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นการปรับปรุงเกณฑ์เกี่ยวกับการยกระดับมาตรการกำกับดูแลการซื้อขายที่ไม่เหมาะสม และลดความผันผวนที่ผิดปกติของราคาหุ้นเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นผู้ลงทุนเพิ่มเติมอีก 3 มาตรการ เพื่อยกระดับการซื้อขายให้มีความโปร่งใสมากขึ้น
*** ใช้ Auto Halt คุมปั่นหุ้น
สำหรับมาตรการแรกที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเตรียมพิจารณานำมาใช้ คือ เพิ่มมาตรการหยุดการซื้อขายอัตโนมัติ (Auto Halt) เป็นรายหลักทรัพย์ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการจับคู่การซื้อขายที่ผิดปกติ อันเนื่องจากการส่งคำสั่งซื้อขายในปริมาณมากกว่าปกติ หรือจากความผิดพลาดในการส่งคำสั่งซื้อขาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมโดยรวม
ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นว่าควรเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบการส่งคำสั่งซื้อขายหลักทรัพย์ หากพบว่าปริมาณการเสนอซื้อรวมหรือปริมาณเสนอขายรวมของหลักทรัพย์ใด มากเกินกว่าระดับที่กำหนด ด้วยการหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์นั้นก่อนการจับคู่ เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ได้มีเวลาในการตรวจสอบและจัดการหากพบว่าเป็นคำสั่งที่ผิดปกติ
ซึ่งการทำงานของมาตรการดังกล่าว คือ เมื่อตรวจพบว่าหลักทรัพย์ใด มีจำนวนรวมของด้านคำสั่งซื้อหรือขายของหลักทรัพย์ในทุกระดับราคามากกว่า 15% ของจำนวนหลักทรัพย์จดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์ฯจะหยุดการซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวทันที โดยรวมถึงการซื้อขายหน่วยย่อย การซื้อขายที่ต่างชาติเป็นผู้ถือ และผลิตภัณฑ์ที่ใช้หลักทรัพย์นั้น ๆ เป็นหลักทรัพย์อ้างอิง เช่น วอร์เเรนต์ หรือ DW ด้วย เป็นเวลา 60 นาที เพื่อให้โบรกเกอร์ตรวจสอบคำสั่งที่อาจผิดปกติ โดยกำหนดให้ 1 หลักทรัพย์สามารถใช้ Auto Halt ได้เพียงวันละ 1 ครั้ง เท่านั้น
สำหรับ หลักทรัพย์ที่เข้าข่ายการควบคุมจากมาตรการดังกล่าว จะประกอบด้วย หุ้นสามัญ, กองทุนอสังหาริมทรัพย์, REIT และ Infrastructure Fund โดยช่วงเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะ Monitor Auto Hal คือ ช่วงเวลาซื้อขายปกติ และช่วง Pre-open แต่จะไม่ Monitor Auto Hal ช่วง Pre-close เพื่อให้นักลงทุนสามารถปิด Position สิ้นวันได้
ขณะเดียวกัน หากการหยุดการซื้อขายจาก Auto Halt ทำให้เหลือช่วงเวลาทำการซื้อขายน้อยกว่า 60 นาทีจะหยุดซื้อขายตามเวลาที่เหลือใน Session นั้น เช่น หาก Trigger หยุดซื้อขายเวลา 16.10 น. จะ Halt จนถึงเวลา 16.30 น. จากนั้นจะเข้าช่วง Pre-close ตามเวลาปกติ
อย่างไรก็ตาม การใช้ Auto Halt จะมีข้อยกเว้นกับหลักทรัพย์ที่มีเหตุอาจทำให้มีปริมาณการซื้อขายสูงกว่าปกติ เช่น หลักทรัพย์
ใหม่ที่เริ่มซื้อขายวันแรก (New Listing) หรือการซื้อขายวันแรกของหลักทรัพย์ที่เปิดให้ซื้อขายชั่วคราว (ก่อนถูกห้ามการซื้อขายชั่วคราว (SP) ยาว /ก่อนเพิกถอน) เป็นต้น
*** ใช้ Dynamic Price Band ลดความผันผวนราคาหุ้น
มาตรการต่อมา คือ การเพิ่มกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band เพื่อลดความผันผวนระหว่างวันของราคาหลักทรัพย์ไม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงเร็วจนเกินไปในระยะเวลาสั้น ๆ ตลาดหลักทรัพย์ฯ เห็นควรเพิ่มกรอบราคาซื้อขายแบบ Dynamic Price Band นอกเหนือจากการกำหนดกรอบราคาสูงสุดและต่ำสุดประจำวัน (Ceiling and Floor)
ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะบังคับใช้ต่อเมื่อราคาหุ้นบริษัทใดปรับตัวขึ้นหรือลง 10% จากราคาซื้อขายล่าสุดของหลักทรัพย์นั้น ๆ (กรณีในวันนั้นยังไม่มีราคาซื้อขาย จะใช้ราคาปิดของวันก่อนหน้าเป็นราคาอ้างอิง) โดยลักษณะการทำงานของมาตรการนี้ คือ เมื่อมีคำสั่งซื้อขายที่จะทำให้เกิดการจับคู่นอกกรอบ Dynamic Price Band ระบบการซื้อขายจะดำเนินการดังนี้
1.ยกเลิกเฉพาะคำสั่งที่ส่งเข้าใหม่ ที่จะทำให้เกิดการจับคู่นอกกรอบ Dynamic Price Band โดยระบบจะจับคู่ให้เฉพาะส่วนที่ราคายังอยู่ภายในกรอบ Dynamic Price Band และยกเลิกคำสั่งที่ทำให้เกิดการจับคู่นอกกรอบส่วนที่เหลือ
2.หยุดซื้อขายเฉพาะหลักทรัพย์นั้น และกำหนดให้มีช่วง Pre-Open เป็นเวลา 2 นาที ทั้งนี้Odd Lot, Foreign และสินค้าที่ใช้หลักทรัพย์นั้นเป็นหลักทรัพย์อ้างอิงยังคงสามารถซื้อขายได้ตามปกติ โดยระหว่างที่หยุดซื้อขายผู้ลงทุนยังคงสามารถส่งแก้ไข หรือยกเลิกคำสั่งซื้อขายได้
3.หลังจากครบ 2 นาที จะจับคู่ซื้อขายแบบ Auction แล้วเปิดซื้อขายตามปกติ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนยังคงสามารถส่งคำสั่งภายในกรอบ Ceiling/Floor ประจำวัน และการเปลี่ยนแปลงของ Dynamic Price Band ในระหว่างวัน จะไม่ส่งผลต่อคำสั่งที่ได้ส่งเข้ามาแล้วในระบบการซื้อขาย
สำหรับหลักทรัพย์ที่เข้าค่ายถูกควบคุมด้วยมาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย หุ้นสามัญ, กองทุนอสังหาริมทรัพย์, REIT และ Infrastructure Fund ที่ราคามากกว่าหรือเท่ากับ 1 บาท โดยไม่ใช้กับ Odd Lot และ Foreign ซึ่งมาตรการนี้จะใช้ควบคุมเฉพาะช่วงซื้อขายในเวลาปกติ โดยไม่มี Dynamic Price Band ในช่วง Pre-Open และ Pre-Close
ขณะเดียวกัน หากการหยุดซื้อขายจาก Dynamic Price Band ทำให้เหลือช่วงเวลาทำการซื้อขายน้อยกว่า 2 นาที ระบบการซื้อขายจะหยุดซื้อขายตามเวลาที่เหลือใน Session นั้น เช่น หาก Trigger หยุดซื้อขายเวลา 16.29 น. เมื่อถึงเวลา 16.30 น. จะเข้าช่วง Pre-Close ตามเวลาปกติ เป็นต้น
นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเพิ่ม Dynamic Price Band เป็นอีกหนึ่งในมาตรการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจใช้เป็นการชั่วคราวเพื่อแก้ไขหรือบรรเทาผลกระทบที่เกิดจาก Market Disruption เพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลง Ceiling and Floor
ส่วน การยกเว้นใช้ Dynamic Price Band จะเกิดขึ้นกับกรณี หลักทรัพย์ที่มีเหตุที่อาจทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าปกติ เช่น หลักทรัพย์ใหม่ที่เริ่มซื้อขายวันแรก (New Listing) หรือการซื้อขายวันแรกของหลักทรัพย์ที่เปิดให้ซื้อขายชั่วคราว (ก่อนถูก SP ยาว / ก่อนเพิกถอน) เป็นต้น และ หลักทรัพย์ที่มีการขยาย Ceiling/Floor ประจำวัน เช่น หุ้นที่มีข่าว Tender offer เป็นต้น
*** คุมหุ้นขึ้นลงไม่มีปัจจัยรองรับเข้มขึ้น
ขณะที่ มาตรการสุดท้าย คือ การเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการกำกับการซื้อขาย เพื่อให้นักลงทุนทราบว่าหลักทรัพย์ใดมีสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงไปโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ โดยผู้ลงทุนจะต้องซื้อขายหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยเงื่อนไขบางประการ เช่น ต้องซื้อด้วยการวางเงินสดล่วงหน้าเต็มจำนวนก่อนการซื้อขายหลักทรัพย์ หรือบัญชีแคชบาลานซ์
รวมทั้งห้ามการหักกลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันภายในวันเดียวกัน เป็นต้น เพื่อลดความเสี่ยงและการเก็งกำไร ไปจนถึงห้ามการซื้อขายชั่วคราว 1 วันทำการ
โดยกลไกการทำงานของมาตรการดังกล่าว จะเริ่มต้นขึ้นเมื่อหลักทรัพย์ใดมีสภาพการซื้อขายเปลี่ยนแปลงโดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ ตลาดหลักทรัพย์ฯจะประกาศให้เข้ามาตรการควบคุมการซื้อขายระดับ 1 (ให้ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance และห้ามนำหลักทรัพย์มาคำนวณเป็นวงเงินซื้อขาย) เป็นเวลา 3 สัปดาห์ และจะเพิ่มระดับความเข้มข้นของมาตรการตามลำดับ หากพบว่าสภาพการซื้อขายยังคงเปลี่ยนแปลงไม่สอดรับกับปัจจัยพื้นฐาน
ทั้งนี้ การเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ จะสิ้นสุดลงในวันที่ 9 มิ.ย.นี้