efinancethai

ประเด็นร้อน

ย้อนรอย YGG จากความหวัง Growth stock สู่วันราคาหุ้นรูดแรง

ย้อนรอย YGG จากความหวัง Growth stock สู่วันราคาหุ้นรูดแรง

เกิดอะไรขึ้นกับ YGG ? หนึ่งในหุ้นที่เคยติดลิสต์ Growth stock กำไรเคยโตแรง 4 ปีซ้อน ราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นสูงสุด 710% หลัง IPO เพียงไม่ถึง 2 ปี เหตุธุรกิจแอนิเมชั่น - เกมส์ บูมช่วงโควิด-19 สถาบัน - รายใหญ่ แห่ถือสร้างความเชื่อมั่น แต่อาการเริ่มออกหลังงบปี 66 วูบแรง 43% แถม Q1/67 ยังไม่ฟื้น ซ้ำร้ายผู้บริหารนำหุ้นวางมาร์จิ้นสูงถึง 54% พลอยโดนฟอร์ซเซลถล่มหุ้นรูดแรง 86% - ขาดสภาพคล่อง จนต้องปรับโครงสร้างผู้ถือหุ้น ชะตากรรมเป็นอย่างไรต่อยังไม่มีใครทราบ !

 

*** อดีตหุ้น Growth stock ราคาเด้งสูงสุด 710% ภายในเกือบ 2 ปี

หากพูดถึง บมจ.อิ๊กดราซิล กรุ๊ป (YGG) ที่กำลังระส่ำอยู่ ณ ขณะนี้ ก็ต้องยอมรับว่า ในอดีตก็เคยเป็นความหวังของหมู่บ้านมาก่อน 


เพราะถ้าย้อนไปในปี 2563 ทาง YGG เป็นบริษัทแรกในปีนั้น ที่เสนอขายหุ้นครั้งแรกให้แก่สาธารณชน (IPO) เมื่อ 7 ม.ค.63 จำนวน 45 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 25% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด ที่ราคาเสนอขาย 5 บาท/หุ้น และใช้เวลาไม่นาน ราคาหุ้น YGG ก็ขึ้นไปทำจุดสูงสุดที่ราคา 40.50 บาท/หุ้น ในวันที่ 15 ธ.ค.64 ซึ่งเป็นการปรับตัวขึ้นจากราคา IPO ถึง 710% เลยทีเดียว


สาเหตุหลัก ที่ทำให้ราคาหุ้น YGG ในช่วงดังกล่าว ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรง เนื่องด้วยธุรกิจหลักของ YGG กำลังเกาะไปกับเทรนด์โลก ณ ขณะนั้น ซึ่งมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้ประชากรทั้งโลกต้องอยู่ในสภาวะล็อกดาวน์ ไม่สามารถออกจากบ้านไปไหนได้มากเหมือนช่วงเวลาปกติ ทำให้ธุกิจเกมส์ออนไลน์ รวมทั้งภาพยนตร์แอนิเมชั่นของบริษัทได้รับความนิยมสูงมากในช่วงนั้น 


โดยความเป็น Growth stock ของ YGG ในช่วงนั้น ถูกตอกย้ำด้วยกำไรสุทธิปี 62 - 65 ที่เติบโตอย่างร้อนแรงติดต่อกันทุกปี เริ่มตั้งแต่ปี 62 มีกำไรสุทธิ 49 ล้านบาท เติบโตขึ้น 130% จากปีก่อน, ปี 63 มีกำไรสุทธิ 67 ล้านบาท เติบโตขึ้น 16% จากปีก่อน, ปี 64 มีกำไรสุทธิ 112 ล้านบาท เติบโต 98% จากปีก่อน และปี 65 มีกำไรสุทธิ 133 ล้านบาท เติบโตขึ้น 21% จากปีก่อน 


แน่นอนว่า ตัวเลขกำไรสุทธิในช่วงเวลาดังกล่าว ได้รับแรงหนุนจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หลายคนอยู่บ้านนานขึ้น ทำให้มีเวลามากพอที่จะใช้บริการผลิตภัณฑ์ของ YGG ผลการดำเนินงานช่วงดังกล่าว ถึงแสดงออกมาได้แข็งแกร่งดังที่กล่าวมาข้างต้น 

 

*** รายใหญ่-รายย่อยแห่ซื้อ

นอกจากผลการดำเนินงานที่เติบโตโดดเด่นต่อเนื่องตั้งแต่ปี 62 - 65 แล้ว YGG ยังสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนรายย่อยได้ด้วย เพราะช่วงที่ YGG เสนอขายหุ้น IPO เข้ามาในช่วงต้นปี 63 ก็พบว่า มีนักลงทุนรายใหญ่ อาทิ กองทรัสต์ เอสเอ็มอี ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ฟันด์ โดยธนาคารออมสิน กองที่ 1 มีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 3 โชว์ให้เห็นหลาอยู่ด้วย โดยมีสัดส่วนการถือหุ้น 6.75% ของหุ้นทั้งหมด หรือคิดเป็น 12.15 ล้านหุ้น 


ขณะที่ เมื่อปิดสมุดผู้ถือหุ้น ณ 15 มี.ค.64 ก็ปรากฏชื่อ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) โผล่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับที่ 3 แทนที่ กองทรัสต์ เอสเอ็มอี ไพรเวท อิควิตี้ ทรัสต์ฟันด์ โดยธนาคารออมสิน กองที่ 1 ด้วยจำนวน 16.63 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 9.24% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด พร้อมด้วย บริษัท ไทยเอ็นวีดีอาร์ จำกัด ที่โผล่เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลำดับที่ 6 ด้วยจำนวน 2.64 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 1.47% ของหุ้นทั้งหมด


หลังการปิดสมุดผู้ถือหุ้นรอบนั้น ก็ยังมีนักลงทุนสถาบันติดเข้ามาในรายชื่อผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ YGG อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น กองทุนเปิด แอสเซทพลัส สมอล แอนด์ มิด แคป อิควิตี้ และ กองทุนเปิด ทิสโก้ Mid/Small Cap อิควิตี้ เป็นต้น 


ซึ่งความน่าเชื่อถือที่แสดงจากการมีนักลงทุนสถาบันเข้ามาถือหุ้นต่อเนื่อง ก็ยิ่งทำให้นักลงทุนรายย่อยมั่นใจในหุ้น YGG มากขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีผู้ถือหุ้นรายย่อยมากที่สุด 9 พันราย ในช่วงปลายปี 65 เทียบกับช่วงแรกที่เพิ่งขาย IPO เข้ามา มีผู้ถือหุ้นรายย่อยเพียง 998 ราย (ข้อมูลล่าสุดมีผู้ถือหุ้นรายย่อย 7.6 พันราย)

 

*** ขยายธุรกิจต่อเนื่อง ภาพการเติบโตสวยหรู

YGG ยังแสดงความทะเยอทะยานที่จะสร้างการเติบโตให้นักลงทุนได้เห็นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากช่วงต้นปี 65 ประกาศเพิ่มทุน 512 ล้านหุ้น ซึ่งมากกว่าเดิมอีกเท่าตัว (เดิม 242 ล้านหุ้น) แบ่งเป็นการเสนอขายผู้ถือหุ้นเดิม (RO) จำนวน 360 ล้านหุ้น อัตราส่วน 1 หุ้นเดิม/2 หุ้นเพิ่มทุน ราคา 0.50 บาท/หุ้น และยังแจกวอร์แรนต์ (W-1) อีก 90 ล้านหุ้น (ให้คนเพิ่มทุน อัตราส่วน 4 หุ้นเพิ่มทุนต่อ 1 วอแรนต์) และ 62 ล้านหุ้นจ่ายปันผล


หลังจากที่เพิ่มทุน RO ดังกล่าว YGG ได้เงินมาทั้งหมด 179.82 ล้านบาท โดยบริษัทระบุว่า จะนำเงินดังกล่าวใช้สำหรับเป็นทุนจดทะเบียนในการย้ายขึ้นมาเทรดบนกระดานหลัก (SET) อีกทั้ง ยังจะเตรียมเงินลงทุนที่จะทำร่วมกับ บมจ.มาสเตอร์แอด (MACO) โดยมีโปรเจคร่วมตั้งบริษัทย่อยชื่อ บริษัท เอ็มวายจีจี จำกัด ทุนจดทะเบียน 200 ล้านบาท หวังรุกหนักธุรกิจผลิตคอนเทนต์ และเกมออนไลน์


อย่างไรก็ดี หลังการเพิ่มทุนดังกล่าวของ YGG ส่งผลให้ราคาหุ้นเกิด Dilution ประมาณ 60% หลังวันที่หุ้นเพิ่มทุนเข้าเทรด 11 ก.พ.65 จากราคาหุ้น 36.75 บาท/หุ้น จึงเหลือ 14.60 บาท/หุ้น ณ วันปิดทำการดังกล่าว แต่ก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวมักเกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว หลังการเพิ่มทุนจำนวนมาก


จากนั้น YGG ก็ยังมีโปรเจคที่ทำร่วมกับบริษัทในตลาดหุ้นไทยอย่าง บมจ.เอสเอเอเอ็ม ดีเวลลอปเมนท์ (SAAM) และ บมจ.ร็อคเทค โกลบอล (ROCTEC) ที่ร่วมกันเปิดตัวเกม "NINE EYES" ซึ่งเป็นเกมในกลุ่ม RPG เป็นประเภทยอดนิยมอันดับ 1 ทั่วโลก มาเป็นเวลากว่า 10 ปี และ RPG มีส่วนแบ่งการตลาดกว่า 30% ของตลาดเกมมือถือทั่วโลก ยิ่งทำให้ภาพการเติบโตของ YGG ดูจะไปได้ไกลสุดกู่เข้าไปอีก 


YGG ยังเล่นใหญ่ไม่เลิก หลังกระโดดไปจับมือกับยักษ์ใหญ่ด้านเอนเตอร์เทนต์เมนต์จากประเทศจีน อย่าง บริษัท เจ้อเจียงฮัวกั๋วซาน คัลเจอร์ เปิดตัวโครงการผลิตภาพยนตร์แอนิเมชั่นไร้ขีดจำกัด โดยมีการวางแผนจะทำงานร่วมกันถึง 5 โปรเจค มูลค่ารวมกันกว่า 450 ล้านหยวน หรือ 2.5 พันล้านบาท เลยทีเดียว


ซึ่ง 3 ดีล ที่ยกขึ้นมา เป็นเพียงตัวอย่างไฮไลต์สำคัญ ที่ YGG กระพือให้ทุกคนเห็นถึงความพยายามที่จะสร้างการเติบโตขึ้นไปแบบไม่หยุดยั้ง เพราะยังมีดีลร่วมมืออีกเพียบ และการจัดต้งบริษัทย่อยแบบเบี้ยใบ้รายทาง เพื่อรองรับการขยายตัวของธุรกิจ

 

*** อยู่ดี ๆ กำไรปี 66 วูบหนัก ราคาดิ่ง ระดับบิ๊กแห่เทขาย

อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่โรยด้วยกลีบกุหลาบ แถมปูด้วยดอกมะลิทับไปอีกชั้นของ YGG ก็เริ่มมีกลิ่นทะแม่ง ๆ เพราะจู่ ๆ ผลการดำเนินงานปี 66 กลับรายงานกำไรสุทธิลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่เข้าสู่ตลาดหุ้นเมื่อปี 63 ซะอย่างงั้น โดยปี 66 YGG รายงานกำไรสุทธิ 69 ล้านบาท ลดลง 43% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี่ก่อน 


สาเหตุหลัก ที่ทำให้กำไรสุทธิลดลงอย่างมีนัสำคัญ YGG ได้ชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯว่า กิดจากต้นทุนการขายและบริการที่สูงขึ้นจากการเปิดตัวเกมส์ใหม่ และการวางแผนรับงานบริการใหม่ ๆ ที่จะทยอยเพิ่มขึ้น อีกทั้งลูกค้ารายหนึ่งขอเลื่อนชำระค่าบริการในช่วงไตรมาส 4/66 ทำให้ YGG ต้องรับรู้ผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดจะเกิดขึ้นจริงถึง 13.4 ล้านบาท 


อีกทั้ง งานคอมพิวเตอร์กราฟฟิก และงานภาพยนตร์แอนิเมชั่น มีรายได้ 218 ล้านบาท ลดลง 13% จากปีก่อน โดย YGG แจ้งว่า บริษัทอยู่ระหว่างการทดสอบมาตรฐานของลูกค้ากลุ่มใหญ่ในต่างประเทศ และประเมินว่ากระบวนการดังกล่าวจะเเล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 1/67 ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถกลับมารับรู้รายได้ในช่วงดังกล่าว 


อย่างไรก็ดี เมื่อถึงการประกาศงบการเงินไตรมาส 1/67 พบว่า YGG ก็ยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้ เพราะบริษัทรายงานกำไรสุทธิ 30 ล้านบาท ลดลง 1.74% จากปีก่อน ส่งผลให้ราคาหุ้นที่เคยมีแต่ขาขึ้น เริ่มไหลลงเป็นทรงเจดีย์เข้าให้แล้ว โดยราคาหุ้น YGG ตั้งแต่หลังเพิ่มทุน - ล่าสุด ปรับตัวลงถึง 86.64% ขณะที่ราคาหุ้นปีนี้ลดลงไป 72% นักลงทุนรายใหญ่ อย่าง กองทุนออมสิน หรือ BTS ต่างก็ชิงขายหุ้น YGG ออกกันไปหมดแล้วด้วย

 

*** พบ ผถห.ใหญ่ถูกฟอร์ซเซล เหตุวางมาร์จิ้นสูงระดับ 54% 

เมื่อสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการขายหุ้นของผู้บริหาร YGG พบว่า แรงขายที่ออกมาจำนวนมากเกิดจากการถูกบังคับขายหุ้น (ฟอร์ซเซล) เนื่องจากมีการนำหุ้น YGG ไปวางค้ำประกันในบัญชีมาร์จิ้น อีกทั้งยังมีนักลงทุนรายอื่น ๆ นำหุ้น YGG ไปวางมาร์จิ้นด้วย ส่งผลให้สัดส่วนการวางมาร์จิ้นของ YGG อยู่ในระดับที่สูงถึง 54.23% ณ เดือน พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นจากเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ที่อยู่ในระดับ 46.36% อีกด้วย


ส่งผลให้ ราคาหุ้น YGG ปรับตัวลงอย่างรุนแรง นับตั้งแต่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งบางวันราคาหุ้นลงไปถึงระดับฟลอร์ เช่น วันที่ 19 มิ.ย., 2 ก.ค. - 3 ก.ค. ที่ปรับตัวลงระดับฟลอร์ 2 วันต่อเนื่อง

 

*** ปัญหาสภาพคล่องโผล่ซ้ำ

และเมื่อ YGG จำเป็นต้องหาเงินหรือหลักทรัพย์ไปชำระคืนโบรกเกอร์ ในช่วงที่หุ้นถูกฟอร์ซเซลหนัก ๆ แบบนี้ ก็ยิ่งไปเปิดแผลใหม่ให้กับ YGG เข้าไปอีก เนื่องจากบริษัทดูมีแนวโน้มที่จะขาดสภาพคล่องเสียแล้ว เพราะรายงานข่าวล่าสุด แจ้งมาว่า YGG ไม่สามารถจ่ายเงินเดือนให้พนักงานได้ตามกำหนด โดยขอเลื่อนเวลาจ่ายออกไปอย่างน้อยครึ่งเดือน 


ปัญหาดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงการขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงของบริษัท จากการถูกเรียกเงินหรือหลักทรัพย์อื่นมาวาง หรือมาชำระหนี้อย่างที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนว่า YGG จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวด้วยวิธีไหน

 

*** ล่าสุดเปลี่ยนโครงสร้าง ผถห.แล้ว 

ทั้งนี้ จากรายงานข่าวล่าสุด พบว่า YGG ได้มีการเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นเรียบร้อยแล้ว เนื่องด้วย "ธนัช จุวิวัฒน์" อดีตผู้ถือหุ้นรายใหญ่อันดับ 1 ในสัดส่วน 41.14% หรือคิดเป็น 247.67 ล้านหุ้น ได้เทขายหุ้นของตนเองออกไปอย่างต่อเนื่อง 


โดย 2 ก.ค.ที่ผ่านมา ขายหุ้นออก 7.15 ล้านหุ้น หรือ 1.19% ผ่านกระดานหลักทรัพย์ ต่อมา 3 ก.ค.67 ขายหุ้นออก 11.15 ล้านหุ้น หรือ 1.85% ผ่านกระดานหลักทรัพย์ และ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ขายหุ้นออกไป 203.56 ล้านหุ้น หรือ 33.82% ผ่านกระดานหลักทรัพย์


และเมื่อรวมข้อมูลตั้งแต่ต้นปี "ธนัช จุวิวัฒน์" ขายหุ้นออกไปทั้งหมด 221.79 ล้านหุ้น ที่ช่วงราคา 1.22 - 2.76 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่า 441.36 ล้านบาท ทำให้ล่าสุด เหลือถือหุ้น YGG อยู่เพียงแค่ 4.28% หรือคิดเป็น 25.80 ล้านหุ้น เท่านั้น 


นอกจากนั้น ยังมี "ศรุต ทับลอย" กรรมการ ที่ขายหุ้นออกมาอีก 36 ล้านหุ้น ที่ราคา 8 บาท/หุ้น หรือคิดเป็น 288 ล้านบาท 


ขณะเดียวกัน มีประเด็นชวนตั้งข้อสงสัยเพิ่มไปอีก เพราะเมื่อ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา "ศิรกาญจน์ สุทธิเกียรติ" ประธานกรรมการบริหารฝ่ายการเงิน (CFO) แจ้งขอลาออกจากตำแหน่ง หลังเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งเมื่อ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา แถมล่าสุด (9 ก.ค.ที่ผ่านมา) ยังมีรายงานที่ YGG แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ เพิ่มเติมด้วยว่า "ชญาน์นันท์ ติยะตระการชัย" ขอลาออกจากตำแหน่งกรรมการ รวมทั้งตำแหน่งอื่น ๆ ทั้งหมดในบริษัทด้วย


สุดท้ายนี้ ยังไม่มีใครรู้ว่าชะตากรรมของ YGG จากนี้ จะเป็นอย่างไรต่อไป คงได้แต่จับตามองว่า หลังเปลี่ยนโครงสร้างผู้ถือหุ้นแล้ว ทิศทางของบริษัทจะเป็นอย่างไรต่อไป แต่เรื่องด่วนที่คงต้องรีบทำ คือ การแก้ไขปัญหาสภาพคล่องโดยเร็ว ไม่เช่นนั้น จะเป็นปัญหาใหญ่ที่ลุกลามจนแก้ไขได้ยาก !
 

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด