กูรูแชร์กลยุทธ์เก็งกำไรหุ้นก่อนประการงบการเงิน อย่าโฟกัสแค่กำไรโตอย่างเดียว ต้องประเมิน Valuation ว่าแพงไปหรือยัง ที่สำคัญต้องรู้ว่าตลาดคาดกำไรไว้เท่าไร หากผิดหวังมีสิทธิ์ราคาพลิกร่วงได้ พร้อมชี้เป้าหุ้นเด่นน่าเก็งกำไร คัด บจ.ธุรกิจเข้าไฮซีซั่น และ ผลการดำเนินงานจ่อโต YoY - QoQ
*** ใกล้ถึงฤดูประกาศงบฯ กลยุทธ์เก็งกำไรผลการดำเนินงานมักเป็นที่นิยม
ฤดูประกาศผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในช่วงไตรมาส 3/67 ใกล้จะมาถึงแล้ว ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อฤดูกาลดังกล่าววนกลับมาอีกครั้ง กลยุทธ์การลงทุนที่มักนิยมถูกหยิบขึ้นมาใช้กันอย่างมาก คือ การค้นหาหุ้นที่ผลการดำเนินงานงวดดังกล่าวมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น
จากนั้น นักลงทุนจำนวนมากจะเข้าไปเก็งกำไรหุ้นในลักษณะดังกล่าว เนื่องจากมีความคาดหวังว่าราคาหุ้นของบริษัทที่เปิดเผยงบการเงินออกมาเติบโตแข็งแกร่ง จะช่วยหนุนให้ราคาหุ้นของบริษัทเหล่านั้น ปรับตัวขึ้นได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็จะทำให้นักลงทุนได้กำไรจากการลงทุนนั่นเอง
*** Q3 ของทุกปีมักเป็นโลว์ซีซั่นกำไร บจ. แต่โบรกฯชี้ยังเก็งกำไรได้
"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ ระบุว่า แม้ในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปี จะเป็นโลว์ซีซั่นของผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนไทย แต่ยังสามารถที่จะใช้กลยุทธ์เก็งกำไรผลการดำเนินงานได้ เพราะกำไรสุทธิของตลาดหุ้นไม่ได้แย่ไปทั้งหมด ซึ่งยังมีบางกลุ่มที่เป็นโฮซีซั่นอยู่ แต่สิ่งสำคัญ คือ นักลงทุนต้องมองหาหุ้นให้ได้ว่าเป็นกลุ่มไหน ?
เช่นเดียว "ณัฐพล คำถาเครือ" ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ที่มองว่า แม้ในช่วงไตรมาส 3 ของทุกปี จะเป็นโลว์ซีซั่นของผลการดำเนินงานบริษัทจดทะเบียนไทย แต่ยังเชื่อว่า นักลงทุนยังสามารถใช้กลยุทธ์เก็งกำไรงบการเงินได้อยู่เหมือนเดิม เพียงแต่ต้องเลือกหุ้นเป็นรายตัวที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว ที่จะหนุนผลการดำเนินงานให้เติบโตโดดเด่น
ด้าน "สรพล วีระเมธีกุล" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในช่วงไตรมาส 3/67 หุ้นกลุ่มที่เคยเป็นที่นิยมของนักลงทุน อาทิ ธนาคารพาณิชย์, ค้าปลีก และไฟแนนซ์ ผลการดำเนินงานดูมีแนวโน้มไม่น่าจะเติบโตได้โดดเด่นสักเท่าไรตามปัจจัยฤดูกาล โดยคาดจะเห็นการรายงานกำไรสุทธิแบบทรงตัวมากกว่า อย่างไรก็ตาม กลยุทธ์การลงทุนแบบเก็งกำไรงบการเงินก็ยังสามารถใช้ได้ในช่วงไตรมาสนี้ เพียงแต่ต้องมองหาหุ้นเป็นรายตัวให้ดี
*** งบฯโตอย่างเดียวไม่พอ Valuation - ตลาดคาดอย่างไร ต้องรู้ด้วย !
"ณัฐพล คำถาเครือ" กลับมากล่าวต่อว่า สำหรับนักลงทุนที่ต้องการจะเก็งกำไรหุ้นช่วงประกาศงบการเงิน สิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัส คือ ผลการดำเนินของบริษัทเป็นหลัก ซึ่งสามารถติดตามได้จากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ที่จะมีการทำตัวเลขประมาณการณ์ออกมาให้เห็นคร่าว ๆ ซึ่งพอที่จะเป็นไกด์ให้นักลงทุนสามารถนำไปใช้ในการตัดสินใจได้
ส่วนบางบริษัทที่ไม่มีบทวิเคราะห์รองรับแต่นักลงทุนมีความสนใจเข้าเก็งกำไร อาจต้องใช้การพิจารณากำไรสุทธิงวดไตรมาก่อน กับงวดช่วงเดียวกันของปีก่อนมาประกอบการตัดสินใจ ว่าผลการดำเนินงานเป็นอย่างไร และที่สำคัญก็ต้องเข้าใจธุรกิจของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนด้วยว่ามีฤดูกาลหรือไม่ ซึ่งถ้าเป็นธุรกิจที่มีฤดูกาลก็จะทำให้นักลงทุนคาดเดาตามสถิติที่ผ่านมาของปีก่อน ๆ ได้
สอดคล้องกับ "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" ที่ระบุว่า หัวใจหลักของการเก็งกำไรหุ้นที่ใกล้จะประกาศผลการดำเนินงาน คือ กำไรสุทธิของบริษัทจะเติบโตโดดเด่นแค่ไหน สิ่งที่ดีที่สุดถ้าทำได้ นั่นคือนักลงทุนต้องพยายามหาหุ้นที่กำไรสุทธิในแต่ละไตรมาสจะเติบโตขึ้นทั้งเทียบกับปีก่อน และไตรมาสก่อน
ขณะที่ อีกหนึ่งกลยุทธ์ คือ การเก็งกำไรหุ้นธีมผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุด หรือพลิกกำไร แต่ก็ต้องตรวจสอบปัจจัยพื้นฐานให้ดีด้วยว่า ผลการดำเนินงานจะกลับมาดีจริงในไตรมาสที่กำลังจะเก็งกำไร รวมทั้งมูลค่า (Valuation) หุ้นด้วย ว่าแพงไปหรือยัง ซึ่งอาจสะท้อนจาก P/E ล่าสุด มีความถูกหรือแพงเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา
เช่นเดียวกับ "สรพล วีระเมธีกุล" ที่เสริมว่า นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับอัตราการเติบโตของกำไรสุทธิเป็นลำดับแรกในการเก็งกำไรงบการเงิน โดยต้องทำการบ้านจากประมาณการของโบรกเกอร์ว่าหุ้นตัวดังกล่าวที่จะลงทุน มีแนวโน้มที่กำไรสุทธิจะเติบโตได้ตามที่ตลาดคาดหวังหรือไม่ เพราะถ้ากำไรสุทธิเติบโตก็จริง แต่ถ้าต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก็อาจจะทำให้ราคาหุ้นของบริษัทดังกล่าวตอบสนองเชิงลบได้เหมือนกัน
*** ที่สำคัญอย่าโดนการเติบโตหลอกตา !
"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" กล่าวว่า การวัดผลการดำเนินงานที่แท้จริง โดยหลักแล้วจะใช้การเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีก่อน เพราะจะเห็นภาพชัดที่สุดเนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบกัน ณ ช่วงเวลาเดียวกัน ซึ่งถ้าเป็นช่วงเวลาไฮซีซั่น ก็ไฮซีซั่นเหมือนกัน หรือถ้าเป็นโลว์ซีซั่นก็โลว์ซีซั่นเหมือนกัน ซึ่งจะตัดปัญหาภาพหลอกตาออกไป
"สมมติไตรมาสที่แล้วเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของบริษัทที่เราสนใจเข้าลงทุน แต่ไตรมาสล่าสุดเป็นไฮซีซั่น พอประกาศงบออกมาเทียบกับไตรมาสก่อนก็ต้องเติบโตอยู่แล้ว เพราะมันเป็นการได้เปรียบกันในเรื่องช่วงเวลา ทำให้การวัดผลการเติบโตอาจผิดเพี้ยนไปได้ ทำให้ส่วนมากเขาจึงนิยมใช้การเปรียบเทียบกันแบบปีเดียวกันนั่นเอง" วิจิตร กล่าว
อย่างไรก็ตาม หุ้นบางประเภทก็ไม่ได้สนใจเปรียบเทียบผลการดำเนินงานจากปีก่อนเป็นหลักก็มีเหมือนกัน แต่จะใช้การเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เช่น กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ที่เห็นชัดที่สุด คือ ราคาน้ำมันที่มักมีการเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทำให้การวัดผลการดำเนินงานในแต่ละช่วงเวลาอาจต้องอ้างอิงจากไตรมาสก่อนเป็นหลัก แต่ก็เป็นหุ้นส่วนน้อย
เช่นเดียวกับ "ณัฐพล คำถาเครือ" ที่ระบุว่า การวัดผลการเติบโตในแง่กำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียน โดยปกติแล้วจะใช้การเปรียบเทียบกันกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการเปรียบเทียบลักษณะนี้ จะช่วยทำให้เห็นภาพชัดมากขึ้น เพราะเป็นการเปรียบเทียบกันโดยตรงของช่วงเวลา ณ ปัจจุบัน กับ ปีก่อน ซึ่งจะตัดความได้เปรียบเรื่องปัจจัยฤดูกาลออกไป
*** จะเก็งกำไรงบฯ ก็มีความเสี่ยงที่ต้องระวังหลายเรื่องเช่นกัน
"วิจิตร อารยะพิศิษฐ" ระบุว่า การเก็งกำไรงบการเงินมีข้อควรระวังเช่นกัน อาทิ ความเร็วในการเข้าซื้อหุ้น เนื่องจากหุ้นที่ผลประกอบการดีเมื่อซื้อไปแล้วใช่ว่าจะได้กำไรกันทุกคน หุ้นบางตัวอาจมีแรงเก็งกำไรงบการเงินมาก่อนหน้านั้นแล้ว ทำให้ราคาถูกไล่ขึ้นมาค่อนข้างแรงก่อนที่จะประกาศงบการเงินเสียอีก ดังนั้น ก่อนเข้าซื้อหุ้นอย่าลืมทำการบ้านจุดนี้ด้วย
นอกจากนี้ บางบริษัทอาจรายงานผลการดำเนินงานออกมาเติบโตโดดเด่น แต่ราคาหุ้นก็สามารถปรับตัวลงได้เหมือนนกัน เพราะจะมีหุ้นบางบริษัทที่อาจรายงานการเติบโตของกำไรสุทธิต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้น อีกทั้ง บางบริษัทมีแรงเก็งกำไรมาก่อนจะถึงวันประกาศงบการเงินจริง พอถึงวันประกาศงบฯจึงเกิดแรงขายออกมาจาก Sell on fact ก็มีให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง
ด้าน "ณัฐพล คำถาเครือ" เสริมว่า ความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องระมัดระวังจากการเก็งกำไรงบการเงิน คือ ไม่มีใครรู้จริง ๆ ว่า บริษัทจะรายงานกำไรสุทธิออกมาตัวเลขที่เท่าไร ซึ่งบางครั้งตลาดประเมินว่า จะสามารถเติบโตอย่างโดดเด่นเเน่ ๆ แต่ก็มีเซอร์ไพรส์ได้เหมือนกัน เนื่องจากบางบริษัทอาจมีการตั้งด้อยค่า หรือการตั้งสำรองฯในงบการเงิน ทำให้ไปกดดันผลการดำเนินงานที่ทำได้จริงให้ลดลง เมื่อรายงานงบการเงินออกมาทำให้ตลาดผิดหวัง ราคาหุ้นก็มีโอกาสสูงที่จะปรับตัวลงได้เช่นกัน
สำหรับ วิธีที่จะลดความเสี่ยงดังกล่าว คือ การหลีกเลี่ยงลงทุนในบริษัทที่มักมีการตั้งสำรองฯ หรือตั้งด้อยค่าต่าง ๆ ไปเน้นลงทุนในธุรกิจอื่น ๆ ที่มีกระเเสเงินสดเข้ามาอย่างต่อเนื่อง อาทิ กลุ่มค้าปลีก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวได้
ฟาก "สรพล วีระเมธีกุล" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า การเก็งกำไรงบการเงินยังมีความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องระมัดระวัง อาทิ ความเสี่ยงจากการขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยน (Fx) ของบริษัท ซึ่งหลาย ๆ บริษัทมีธุรกิจอยู่ที่ต่างประเทศ และทำผลการดำเนินงานได้ดี แต่บางทีก็มาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนก็มีให้เห็นบ่อยครั้ง ส่งผลให้กำไรของบริษัทอาจลดลง หรือเติบโตต่ำกว่าตลาดคาดได้ จึงเป็นความเสี่ยงที่จะกระทบให้ราคาหุ้นไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ด้วยเช่นกัน
*** ส่องหุ้นเด่นน่าลงทุน ธีมเก็งกำไรงบ Q3/67
บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หากนักลงทุนสนใจจะเก็งกำไรหุ้นที่ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น มีหุ้นแนะนำ 8 บริษัท โดยคาดการณ์ว่า หุ้นดังกล่าวจะสามารถรายงานกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 เติบโตขึ้นทั้งเทียบปีก่อน และไตรมาสก่อนได้ ดังนี้
TASCO คาดกำไรสุทธิ 761 ล้านบาท เติบโตขึ้น 277% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 668% จากปีก่อน
CK คาดกำไรสุทธิ 880 ล้านบาท เติบโตขึ้น 37% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 80% จากปีก่อน
GPSC คาดกำไรสุทธิ 880 ล้านบาท เติบโตขึ้น 37% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 80% จากปีก่อน
BDMS คาดกำไรสุทธิ 4,204 ล้านบาท เติบโตขึ้น 8% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 26% จากปีก่อน
CENTEL คาดกำไรสุทธิ 204 ล้านบาท เติบโตขึ้น 176% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 21% จากปีก่อน
CBG คาดกำไรสุทธิ 734 ล้านบาท เติบโตขึ้น 39% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 6% จากปีก่อน
MTC คาดกำไรสุทธิ 1,526 ล้านบาท เติบโตขึ้น 19% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 6% จากปีก่อน
BEM คาดกำไรสุทธิ 1,016 ล้านบาท เติบโตขึ้น 5% จากปีก่อน และเติบโตขึ้น 1% จากปีก่อน
ขณะที่ "สรพล วีระเมธีกุล" แนะนำเก็งกำไรหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ชอบ AMATA มากที่สุด เพราะคาดว่ากำไรสุทธิในช่วงครึ่งปีหลังของ AMATA จะสามารถเติบโตได้โดดเด่นกว่าครึ่งปีแรก ตามฤดูกาลโอนที่ดินที่เข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น และกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ชอบ SNNP เพราะครึ่งปีหลังมีแนวโน้มที่รายได้จากทั้งในประเทศ และต่างประเทศจะเร่งตัวขึ้น และ CPH คาดว่าจะได้อานิสงส์จากรายได้ต่างประเทศฟื้นตัว
ด้าน "ณัฐพล คำถาเครือ" แนะนำเก็งกำไร CPALL, CPAXT, SCB, TIDLOR, GPSC และ MASTER เนื่องจากฝ่ายวิจัยของ บล.หยวนต้า ได้มีการประเมินแล้วว่า กำไรสุทธิของหุ้นดังกล่าวที่แนะนำ มีแนวโน้มจะเติบโตได้อย่างโดดเด่น ซึ่งก็อาจจะหนุนให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นได้หลังจากที่บริษัทรายงานงบการเงินไตรมาส 3/67 ออกมา
ส่วน "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" กล่าวปิดท้ายว่า แนะนำนักลงทุนเก็งกำไร หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล เพราะไตรมาส 3 ของทุกปีเป็นไฮซีซั่นของผลการดำเนินงาน ชอบ BH และ BCH มากที่สุด ส่วนอีกกลุ่มที่น่าสนใจ คือ เครื่องดื่ม ชอบ COCOCO กับ CBG มากที่สุด เนื่องจากกำไรสุทธิไตรมาส 3/67 มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น