หุ้นไทยดิ่งต่ำสุดถึง 13 จุด หลังอิหร่านเปิดฉากโจมตีอิสราเอล ด้านโบรกฯประเมินความรุนแรงยังควบคุมได้หากไม่มีแนวร่วมเพิ่ม แต่มองเป็นปัจจัยรบกวน SET เป็นระยะตลอดเดือน ต.ค.นี้ หรืออาจทั้งปี เพราะทั้ง 2 ฝ่ายยังหาจังหวะตอบโต้กันไปมาแน่ มองกลุ่มโรงไฟฟ้า - ขนส่งฯจ่อรับผลกระทบหลังราคาก๊าซฯ - น้ำมันเตรียมพุ่ง แนะสะสมหุ้นพลังงานต้นน้ำหลบภัยสงคราม ส่วนหุ้นเด่นสุดยกให้ "PTTEP"
*** ตลาดหุ้นตอบรับเชิงลบ หลังสงครามอิหร่าน - อิสราเอลปะทุ
ล่าสุด (1 ต.ค.2567) กองกำลังพิทักษ์การปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของประเทศอิหร่านได้เปิดฉากยิงขีปนาวุธกว่า 200 ลูก โจมตีอิสราเอล โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้การสังหารผู้นำกลุ่มอิซบอลเลาะห์ และผู้บัญชาการอิหร่านในเลบานอนในช่วงก่อนหน้านี้
หลังการโจมตีดังกล่าว ทำให้อิสราเอลประกาศว่าจะตอบโต้กลับ โดยกำลังทหารของอิสราเอลได้มีการรุกคืบไปยังพื้นที่ภาคใต้ของเลบานอนแล้ว ซึ่งนักวิเคราะห์ในตลาดหลายรายประเมินว่า หลังจากนี้ตลาดหุ้นจะเริ่มให้ความสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์ระหว่างทั้ง 2 ประเทศดังกล่าวมากขึ้น ว่าจะพัฒนาไปเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงหรือไม่ ?
ทั้งนี้ ดัชนีหุ้นไทย (SET Index) วันที่ 2 ต.ค.2567 ปรับตัวลงทำจุดต่ำสุดที่ระดับ 1,451.50 จุด ลดลง 13.13 จุด หรือ -0.89% จากวันทำการก่อนหน้า ก่อนปิดซื้อขายไปที่ 1,454.48 จุด ลดลง 10.18 จุด หรือ - 0.7% จากวันทำการก่อนหน้า
*** โบรกฯแนะจับตาใกล้ชิด หวั่นยกระดับความรุนแรง
"สรพล วีระเมธีกุล" ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย ระบุว่า ยังประเมินสถานการณ์ลำบากว่า เหตุการณ์นี้จะยืดเยื้อหรือไม่ เพราะยังไม่เห็นความชัดเจนที่มากกว่าการหาจังหวะตอบโต้กันเป็นระยะ แต่ในช่วงสั้นก็มีแนวโน้มที่สถานการณ์ดังกล่าวจะถูกยกระดับความรุนแรงขึ้นได้ เพราะทางอิสราเอลก็ต้องการตอบโต้อิหร่านกลับเช่นกัน
เช่นเดียวกับ "กรภัทร วรเชษฐ์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี ที่มองว่า หากความขัดแย้งดังกล่าวรุนแรงขึ้น และขยายวงกว้างเป็นสงครามในระดับภูมิภาค จะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างประเทศ แต่หากไม่ขยายวงออกไปจากพื้นที่สู่รบ ณ ปัจจุบัน จะกระทบต่อการเคลื่อนไหวของดัชนีหุ้นไทยระยะสั้นเท่านั้น
ทั้งนี้ หากพิจารณาการเคลื่อนไหว Geopolitical Risk Index (GRI) ล่าสุดวันที่ 1 ต.ค. ซึ่งใช้วัดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ เคลื่อนไหวบริเวณ 141.3 จุด เท่านั้น ซึ่งยังเป็นระดับที่ห่างจากจุดสูงสุดของปีนี้ที่ระดับ 227 จุด ในช่วงกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ทำให้ยังเป็นจุดที่ต้องติดตามสถานการณ์ต่อไปว่า จะมีการยกระดับความรุนแรงขึ้นมากน้อยแค่ไหน ?
ขณะที่ "กรรณ์ หทัยศรัทธา" นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านตลาดทุน บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) มองว่า สถานการณ์สู้รบระหว่างอิหร่าน กับ อิสราเอล จะยังไม่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หากอิรักยังไม่ตัดสินใจเข้าร่วมในการโจมตีครั้งนี้
ดังนั้น จึงทำให้ประเมินว่า สถานการณ์ระหว่างอิหร่าน - อิสราเอล จะยังมีความตึงเครียดแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ โดยคาดว่าจะมีการหาจังหวะตอบโต้กันไปมาตามสถานการณ์ แต่มองว่า ยังสามารถควบคุมไม่ให้ขยายวงกว้างได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องติดตามสถานการณ์ดังกล่าวยังใกล้ชิดไว้ตลอด
*** คาดความขัดแย้งอิหร่าน-อิสราเอล รบกวนหุ้นทั้งปีนี้
"สรพล วีระเมธีกุล" กลับมากล่าวต่อว่า ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าผลกระทบต่อตลาดหุ้นจากเหตุการณ์ดังกล่าวจะมากน้อยเท่าใด แต่หากอ้างอิงตามสถิติย้อนหลังของการทำสงคราม หรือการโจมตีทางทหาร มักจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อตลาดหุ้นราว 15 - 20 วัน นับตั้งแต่วันแรกที่มีการโจมตี (กรณีไม่มีความรุนแรงเพิ่มเติมอย่างมีนัยสำคัญ) ทำให้เดือน ต.ค.นี้ มีความเป็นไปได้ที่ตลาดหุ้นจะถูกกดดันด้วยปัจจัยดังกล่าวไปทั้งเดือน
เช่นเดียวกับ "กรรณ์ หทัยศรัทธา" ที่มองว่า ปัจจัยการทำสงครามระหว่างอิหร่าน - อิสราเอล มีแนวโน้มจะเป็นสิ่งรบกวนการปรับตัวขึ้นของดัชนีหุ้นไทยตลอดทั้งเดือน ต.ค.นี้ มิหนำซ้ำอาจจะเป็นปัจจัยรบกวน SET Index ตลอดช่วงไตรมาส 4/67 เลยก็เป็นได้ เพราะอย่างที่คาดการณ์ว่า ความขัดแย้งดังกล่าวจะยังคงดำเนินต่อไป โดยเมื่อมีโอกาสโจมตีก็จะทำ และเมื่อเกิดเหตุก็จะเป็น Sentiment เชิงลบ ที่ส่งผ่านมายังตลาดหุ้นด้วย
สอดคล้องกับ "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" นักกลยุทธ์การลงทุน บล.ลิเบอเรเตอร์ ที่ประเมินว่า การทำสงครามระหว่างอิหร่าน - อิสราเอล จะคล้าย ๆ กับปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางทั่วไป คือ จะยืดเยื้อไปเรื่อย ๆ และหาจุดจบยาก ทำให้เบื้องต้นประเมินว่า ปัจจัยดังกล่าว จะเป็นสิ่งรบกวนต่อตลาดหุ้นไปอย่างน้อยถึงสิ้นปีนี้ โดยจะเป็น Sentiment เชิงลบที่มาเป็นระยะ ๆ ต่อเมื่อมีการโจมตีกันเกิดขึ้น
*** มองสงครามยืดเยื้อ แต่ไม่รุนแรงเท่ารัสเซีย-ยูเครน
"กรรณ์ หทัยศรัทธา" กล่าวว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน - อิสราเอล จะส่งผลกระทบรุนแรงเหมือนการทำสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครนหรือไม่ ยังคงต้องติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิดต่อไป หากไม่มีแนวร่วมในการสู้รบเข้ามาเพิ่มเติม ก็ยังไม่มีความกังวลที่เหตุการณ์จะรุนแรงถึงระดับดังกล่าว
สอดคล้องกับ "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" ที่ประเมินว่า การสู้รบระหว่างอิหร่าน - อิสราเอล จะไม่มีความรุนแรงเหมือนการทำสงครามระหว่างรัสเซีย - ยูเครน เนื่องด้วยความขัดแย้งอิหร่าน - อิสราเอล จะเป็นปัญหาในแบบตะวันออกกลาง ที่จคอยหาโอกาสโจมตีกันเป็นระยะ ๆ ไม่ได้ทำสงครามต่อเนื่องเหมือนรัสเซีย - ยูเครน
ดังนั้น ทั้งราคาน้ำมัน และสินทรัพย์ปลอดภัย ก็จะปรับตัวขึ้นเฉพาะในช่วงที่มีข่าวรอบโจมตีของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดออกมา ซึ่งหลังจากที่มีากรโจมตีขึ้น อีกฝ่ายก็มักจะไม่ตอบโต้กลับทันที แต่จะรอจังหวะทิ้งเวลาไปสักระยะจึงค่อยตอบโต้กลับ
*** หุ้นกลุ่มไหนบ้างที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบ
"กรรณ์ หทัยศรัทธา" ระบุว่า หลังจากการทำสงครามเกิดขึ้น สิ่งที่จะตามมา คือ การปรับตัวขึ้นของราคาน้ำมันดิบ และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งก๊าซธรรมชาติถือเป็นต้นทุนที่สำคัญของหุ้นในกลุ่มโรงไฟฟ้า ทำให้หุ้นกลุ่มดังกล่าว มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบเชิงลบมากที่สุดในเหตุการณ์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ขณะที่ "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ราคาน้ำมันที่ปรับตัวขึ้นจากความรุนแรงที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในพื้นที่ใดก็ตาม ซึ่งถ้าจะมองหาหุ้นกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวขึ้น แน่นอน คือ กลุ่มที่ต้องใช้การบริโภคน้ำมันเป็นต้นทุนหลัก ดังนั้น จึงมองครั้งนี้ หุ้นในกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์จะได้รับผลกระทบทางอ้อมมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ในรอบนี้ ยังประเมินว่า หุ้นในกลุ่มขนส่งและโลจิสติกส์จะยังไม่ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญมากนัก เนื่องจาก ณ ปัจจุบัน กำลังอยู่ในช่วงไฮซีซั่นของการเดินทาง ซึ่งถือเป็นช่วงที่ผลการดำเนินงานของกลุ่มดังกล่าวมักแข็งแกร่ง จึงคาดว่า ปัจจัยดังกล่าว จะช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มขนส่งฯได้อยู่
ด้าน "สรพล วีระเมธีกุล" ให้ความเห็นอีกมุมว่า หุ้นที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบทั้งทางตรง - ทางอ้อม ต่อประเด็นดังกล่าว มองว่า ยังไม่มีเนื่องด้วยความรุนแรงของเหตุการณ์ดังกล่าว ยังถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่ที่มีการโจมตีกันเท่านั้น และยังไม่มีการขยายวงกว้างของพื้นที่มากขึ้น ทำให้ช่วงนี้ยังไม่มีหุ้นไทยกลุ่มไหนที่ได้รับผลกระทบเชิงลบต่อประเด็นนี้ ซึ่งมองประเด็นดังกล่าว ยังเป็นปัจจัยลบเชิงจิตวิทยาเท่านั้น แต่ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อ
*** กลยุทธ์ลงทุนหลบภัยสงครามควรทำอย่างไร ?
"สรพล วีระเมธีกุล" ระบุว่า จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ตะวันออกกลาง ทำให้ช่วงสั้นราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นได้ ส่งผลให้กลยุทธ์การลงทุนเพื่อต้องการหลบความเสี่ยงจากประเด็นดังกล่าว นักลงทุนควรเข้าไปลงทุนในหุ้นกลุ่มพลังงานต้นน้ำ เพราะจะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น โดยชอบ PTTEP มากที่สุด
เช่นเดียวกับ บทวิเคราะห์ บล.ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) ที่เชื่อว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เป็นเพราะความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างอิหร่าน - อิสราเอล ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้จากการขายน้ำมันของ PTTEP สูงขึ้นด้วยเช่นกัน
สอดคล้องกับ บทวิเคราะห์ บล.ธนชาต ที่แนะนำนักลงทุนเข้าเก็งกำไรในหุ้นกลุ่มพลังงาน อย่าง PTTEP, BCP, BSRC และ BANPU เนื่องจากมองว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าว จะได้รับอานิสงส์จากความตึงเครียดตะวันออกกลางรุนแรงมากขึ้น สะท้อนจากราคาน้ำมันดิบ Brent ปรับตัวขึ้น 2.6% มาปิดที่ 73.56 เหรียญ/บาร์เรล เมื่อคืนนี้
ขณะที่ "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" กล่าวปิดท้ายว่า SET Index จะถูกดดันจาก Sentiment เชิงลบ หลังอิหร่านโจมตีเข้าไปในอิสราเอล โดยคาดมีหุ้นกลุ่มพลังงาน-โรงกลั่นที่มีสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของน้ำหนักทั้งหมดเป็นตัวพยุง ส่วนหุ้นที่ได้ประโยชน์ในยามราคาน้ำมันดิบขาขึ้น ได้แก่กลุ่มผู้ประกอบการผลิตและสำรวจน้ำมันที่มีรายได้อิงกับราคาขายน้ำมัน คือ PTTEP, BCP ส่วนของธุรกิจโรงกลั่น คือ TOP, PTTGC, IRPC, BCP, ESSO และ SPRC