ปีนี้ ตลท.เดินหน้าเพิกถอนหุ้นที่คุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ มากสุดรอบ 5 ปี โดยเกือบ 10 เดือนโล๊ะไปแล้ว 9 บจ. สูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีที่นำออกปีละ 3 บริษัท ส่วนใหญ่มีปัญหาส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์ รองลงมา คือ ไม่ส่งงบฯตามกำหนด โบรกฯมองช่วยยกระดับความมั่นใจด้านการลงทุนให้ตลาดหุ้นได้ ชี้กระบวนการนี้ช่วยคัดกรองหุ้นมีคุณภาพได้อยู่ต่อ เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน !
*** "SLM" บจ.ล่าสุดถูก ตลท.เพิกถอนจากตลาดหุ้น
ล่าสุด (8 ต.ค.2567) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ออกประกาศเพิกถอนหลักทรัพย์ของ บมจ.เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น (SLM) จากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน เนื่องจากบริษัทไม่สามารถแก้ไขเหตุเพิกถอนกรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนด ถือเป็นเหตุให้หลักทรัพย์ของบริษัทเข้าข่ายถูกเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนตามข้อบังคับตลาดหลักทรัพย์ฯ เรื่องการเพิกถอนหลักทรัพย์จดทะเบียน พ.ศ.2542
ขณะเดียวกัน ตลาดหลักทรัพย์ฯจะให้นักลงทุนซื้อขายหุ้น SLM ชั่วคราวเป็นเวลา 7 วันทำการ ตั้งแต่ 18 - 29 ต.ค.นี้ ก่อนที่จะเพิกถอนหลักทรัพย์ SLM ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯในวันที่ 30 ต.ค.เป็นต้นไป โดยการซื้อขายหลักทรัพย์ SLM ชั่วคราวในช่วงดังกล่าว จะมีเกณฑ์บังคับ 4 ข้อ ดังนี้
1.ให้หลักทรัพย์ SLM ซื้อด้วยบัญชี Cash Balance กล่าวคือ ผู้ซื้อต้องชำระเงินทั้งจำนวนก่อนการซื้อหลักทรัพย์
2.ขึ้นเครื่องหมาย NC กำกับตลอดระยะเวลาที่เปิดให้มีการซื้อขายหลักทรัพย์ เพื่อเตือนผู้ลงทุนให้ใช้ความระมัดระวังในการซื้อขายหลักทรัพย์ SLM
3.ไม่กำหนดราคาซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด (Ceiling & Floor) ของหลักทรัพย์ SLM ในวันแรกที่มีการซื้อขาย (18 ต.ค.67)
4.ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะไม่นำหลักทรัพย์ SLM มารวมในการคำนวณดัชนีราคาหุ้นตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)
*** กางข้อมูลปีนี้ พบ ตลท.ดีดหุ้นออกมากสุดรอบ 5 ปี
ขณะที่ "สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจข้อมูลบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นไทย (ไม่รวมหุ้นที่ขอเพิกถอนโดยสมัครใจ) ผ่านโปรแกรม SETSMART ตั้งแต่ปี 62 - ล่าสุด (8 ต.ค.67) พบว่า ปีนี้ตลาดหลักทรัพย์ฯเพิกถอนหุ้นมากที่สุดในรอบ 5 ปี โดยตั้งแต่ต้นปี เพิกถอนไปแล้ว 9 บริษัท ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมักเพิกถอนหุ้นออกปีละประมาณ 3 บริษัท เท่านั้น
ตารางแสดงการถูกเพิกถอนหุ้นจากตลาดหลักทรัพย์ฯตั้งแต่ปี 62 - 67
|
ชื่อย่อหุ้น
|
เหตุผล
|
มีผล
|
SLM*
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
30 ต.ค.67
|
APEX**
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
19 ต.ค.67
|
ALL
|
ถูกศาลฯสั่งพิทักษ์ทรัพย์
|
3 ก.ย.67
|
STARK
|
เปิดเผยข้อมูลเท็จในงบฯ
|
3 ก.ย.67
|
WORLD
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
3 ก.ย.67
|
IFEC
|
ผู้สอบบัญชี้ไม่แสดงความเห็นในงบฯ
|
26 ก.ค.67
|
POST
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
26 ก.ค.67
|
PACE
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
2 ก.ค.67
|
POMPUI
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์/ ผู้สอบบัญชี้ไม่แสดงความเห็นในงบฯ
|
21 ก.พ.67
|
MAX
|
ไม่ส่งงบฯตามกำนหด
|
27 ธ.ค.66
|
THL
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
20 ต.ค.66
|
TSF
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
21 มิ.ย.66
|
PAE
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
10 ส.ค.65
|
PE
|
ไม่สามารถแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบให้ครบถ้วน
|
23 มิ.ย.65
|
VI
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
18 ส.ค.64
|
WR
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
18 ส.ค.64
|
YCI
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
18 ส.ค.64
|
KTECH
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
19 ส.ค.63
|
RICH
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
19 ส.ค.63
|
SSI
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
11 ก.ค.63
|
EARTH
|
ไม่ส่งงบฯตามกำนหด
|
20 ก.ย.62
|
IEC
|
ไม่ส่งงบฯตามกำนหด
|
10 ก.ค.62
|
LVT
|
ไม่ส่งงบฯตามกำนหด
|
10 ก.ค.62
|
YNP
|
ไม่ส่งงบฯตามกำนหด/ ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
10 ก.ค.62
|
TTL
|
ส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์
|
18 มิ.ย.62
|
หมายเหตุ : ข้อมูลไม่รวมหุ้นที่ขอเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯโดยสมัครใจ
*SLM เปิดให้ซื้อขายชั่วคราว 18 – 29 ต.ค.67
**APEX เปิดให้ซื้อขายชั่วคราว 9 - 18 ต.ค.67
|
*** ปีนี้พบส่วนใหญ่โดนดีดออกเพราะส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์
สำหรับ ตั้งแต่ต้นปี 67 ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียน ส่วนใหญ่เป็นเพราะบริษัทไม่สามารถแก้ไขปัญหาส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ได้ตามระยะเวลาที่ตลาดหลักทรัพย์ฯกำหนด ซึ่งปีนี้นอกจาก บมจ.เอส แอล เอ็ม คอร์ปอเรชั่น (SLM) ที่ประสบปัญหาดังกล่าวแล้ว ยังมีอีก 5 บริษัท ประกอบด้วย บมจ.เอเพ็กซ์ ดีเวลลอปเม้นท์ (APEX) ที่ตลาดหลักทรัพย์ฯจะเปิดให้ซื้อขายหุ้นชั่วคราว ตั้งแต่ 9 - 18 ต.ค.นี้ ก่อนจะเพิกถอน 19 ต.ค.ที่จะถึงนี้
ส่วนที่ถูกเพิกถอนออกไปแล้วจากปัญหาดังกล่าวประกอบด้วย บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล (POMPUI) ที่ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 21 ก.พ.ที่ผ่านมา, บมจ.เพซ ดีเวลลอปเมนท์ คอร์ปอเรชั่น (PACE) ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 2 ก.ค.ที่ผ่านมา, บมจ.บางกอก โพสต์ (POST) ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา, และ บมจ.เวิลด์ คอร์ปอเรชั่น (WORLD) ที่ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา
*** อีก 3 บจ.ถูกเพิกถอนปีนี้ จากปัญหาที่ต่างกันไป
ขณะที่ อีก 3 บริษัทที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯเพิกถอนจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในปีนี้ ประกอบด้วย บมจ.อินเตอร์ ฟาร์อีสท์ เอ็นเนอร์ยี่ คอร์ปอเรชั่น (IFEC) ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากผู้สอบบัญชีไม่แสดงความเห็นในงบการเงินต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน
ด้าน บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากมีการเปิดเผยข้อมูลอันเป็นเท็จในงบการเงินของบริษัท และ บมจ.ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ (ALL) ที่ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากถูกศาลล้มละลายกลางสั่งพิทักทรัพย์
*** ส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่าศูนย์เป็นปัญหาหลักมาต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม เมื่อ"สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทย" สำรวจเหตุผลของการถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯของบริษัทจดทะเบียนย้อนหลังตั้งแต่ปี 62 - 66 พบว่า กรณีส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์เป็นปัญหาหลักที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนถูกเพิกถอน สะท้อนจากช่วงดังกล่าว มีถึง 9 บริษัท ที่ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯด้วยเหตุผลนี้ นำโดย บมจ.สหวิริยาสตีลอินดัสตรี (SSI) ที่ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 11 ก.ค.63
บมจ.ริช เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (RICH) ที่ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 19 ส.ค.63, บมจ.เคเทค คอนสตรัคชั่น (KTECH) ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 19 ส.ค.63, บมจ.ยงไทย (YCI) ถูกเพิกถอนตั้แต่ 18 ส.ค.64, บมจ.วีรีเทล (WR) ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 18 ส.ค.64
ฟาก บมจ.เวนเจอร์ อินคอร์ปอเรชั่น (VI) ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 18 ส.ค.64, บมจ.พีเออี (ประเทศไทย) หรือ PAE ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 10 ส.ค.65, บมจ.ทรีซิกตี้ไฟว์ (TSF) ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 21 มิ.ย.66 และ บมจ.ทุ่งคาฮาเบอร์ (THL) ที่ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 20 ต.ค.66
*** ปัญหารองลงมา คือ ไม่ส่งงบฯตามกำหนด
ส่วนปัญหารองลงมาที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนถูกเพิกถอนออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนในช่วง 5 ปีหลัง คือ ไม่สามารถส่งงบการเงินได้ตามกำหนดของตลาดหลักทรัพย์ฯ ประกอบด้วย บมจ.ยานภัณฑ์ (YNP), บมจ.แอล.วี.เทคโนโลยี (LVT) และ บมจ.อินเตอร์แนชั่นเนิลเอนจีเนียริง (IEC) ที่ถูกเพิกถอนจากปัญหาดังกล่าวพร้อมกันเมื่อ 10 ก.ค.62
ส่วนอีก 2 บริษัท ที่ถูกตลาดหลักทรัพย์ฯเพิกถอนออกจากตลาดหุ้นด้วยเหตุผลข้างต้น คือ บมจ.เอ็นเนอร์ยี่ เอิร์ธ (EARTH) ที่ถูกเพิกถอนตั้งแต่ 20 ก.ย.62 และ บมจ.แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น (MAX) ที่ถูกเพิกถอนตั้แต่ 27 ธ.ค.66
*** โบรกฯชี้คัดหุ้นมีปัญหาออก ช่วยยกระดับความเชื่อมั่นได้
"ณัฐพล คำถาเครือ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีการเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาไม่สามารถแก้ไขข้อบังคับของตลาดหลักทรัพย์ฯได้ ถือ เป็นกระบวนการช่วยปกป้องนักลงทุนเบื้องต้น สำหรับคัดกรองหุ้นที่มีแนวโน้มไม่ดีนักออกไป ทำให้จะช่วยยกระดับความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทยได้บ้าง
สะท้อนจากหุ้นหลาย ๆ บริษัทที่ถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯด้วยเหตุผลส่วนของผู้ถือหุ้นมีค่าน้อยกว่าศูนย์ ซึ่งอาจแสดงให้เห็นว่าบริษัทที่มีลักษณะดังกล่าวมีปัจจัยพื้นฐาน หรือแนวโน้มการเติบโตในอนาคตไม่ดีนัก ทำให้ไม่สามารถเพิ่มทุนเข้ามาได้ เพราะไม่ได้รับความสนใจจากทั้งนักลงทุนรายใหญ่ หรือรายย่อย และเมื่อหุ้นลักษณะดังกล่าวถูกคัดออกจากตลาดหุ้นไปเรื่อย ๆ จึงถือเป็นการช่วยคัดกรองหุ้นให้นักลงทุนได้ระดับหนึ่ง
เช่นเดียวกับ แหล่งข่าวจากวงการตลาดทุน ที่มองว่า การที่ตลาดหลักทรัพย์ฯมีการเพิกถอนบริษัทจดทะเบียนที่มีปัญหาออกจากการเป็นหลักทรัพย์จดทะเบียนจำนวนมากในปีนี้ ถือ เป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับตลาดหุ้นไทยได้มากขึ้นระดับหนึ่ง เนื่องด้วย การกระทำดังกล่าว แม้จะเป็นกระบวนการที่มีมานานแล้วก็ตาม แต่ก็ถือเป็นการช่วยคัดกรองคุณภาพของบริษัทจดทะเบียนที่จะอยู่ในตลาดหุ้นด้วย ส่งผลให้ตัดเลือกในการลงทุนที่มีอยู่มีความมั่นใจต่อผู้ลงทุนมากขึ้น