หุ้นไทยเดือน ก.ย.ดิ่ง 68.79 จุด หลุด 1,500 จุด หลังนักลงทุนกังวล ดอกเบี้ยยังไม่หยุดเป็นขาขึ้น แถมนโยบายแจกเงินดิจิทัลจ่อสร้างหนี้มโหฬาร คาดดัชนีลงลึกได้ถึง 1,460 จุด แนะถือเงินสดเพิ่ม รอจังหวะเข้าสะสมที่แนวรับ เพราะระยะกลาง-ยาวพื้นฐานยังดูดี เน้นเลือกหุ้นงบครึ่งหลังแนวโน้มโตแจ่ม รวมถึงกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่
*** เดือน ก.ย. SET Index ดิ่ง 68.79 จุด หลุด 1,500 ไปแล้ว
ข้อมูลสถิติดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) เดือนตั้งแต่ 1 - 27 ก.ย.66 ปรับตัวลดลง 68.79 จุด โดยล่าสุดปิดที่ 1,497.15 จุด หรือลดลง 4.4% จากเดือนก่อนหน้า แถมมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันลดลงเหลือ 4.6 หมื่นล้านบาท จากเดือน ส.ค.ที่เฉลี่ย 5.7 หมื่นล้านบาทต่อวัน
ขณะเดียวกันแรงขายจากนักลงทุนต่างชาติยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนนี้ขายสุทธิ 2.3 หมื่นล้านบาท สูงสุดในรอบ 4 เดือนหลัง โดยเป็นการขายสุทธิ 8 เดือนติด (ก.พ.-ก.ย.66)
*** นลท.กังวล ดอกเบี้ยขึ้นไม่หยุด + นโยบายรัฐฯ จ่อสร้างหนี้สูง
"เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส ระบุว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลงหลุดระดับ 1,500 จุด เนื่องจากได้รับความกังวลต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอีก 0.25% เป็น 2.5% ต่อปี และมีผลทันที ซึ่งเป็นระดับอัตราดอกเบี้ยที่สูงสุดในรอบเกือบ 10 ปี ขณะเดียวกันที่ประชุมยังปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เหลือโต 2.8% จากเดิมคาด 3.6% ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน
เช่นเดียวกับ "ณัฐพล คำถาเครือ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ประเมินว่า SET Index ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องเดือนนี้จนหลุดระดับ 1,500 จุด เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหุ้นทั่วโลก ที่กังวลต่อแนวโน้มดอกเบี้ยในตลาดจะยังทรงตัวในระดับสูงยาวนานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของหลายประเทศเร่งปรับตัวสูงขึ้น ดึงเงินไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง ขณะที่ SET Index มีแรงเทขายออกมากดดันต่อเนื่อง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่มีความเชื่อมโยงกับ Bond Yield รวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ที่จากช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน ยังไม่สามารถให้ผลตอบแทนการลงทุนที่เป็นบวก ขณะเดียวกันนักลงทุนต่างชาติมีการขายออกเพื่อลดความเสี่ยงจากความกังวลแหล่งที่มาของเงินที่จะนำมาดำเนินนโยบาย Digital Wallet ของรัฐบาล ซึ่งอาจจะสร้างภาระการเงินการคลังให้เพิ่มสูงขึ้น
ด้าน "ธีรศักดิ์ ธนวรากุล" รองผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) ประเมินว่า สาเหตุที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงต่อเนื่องช่วงนี้ เพราะได้รับปัจจัยกดดันจากเงินบาทอ่อนค่า และความกังวลต่อมาตรการรัฐที่อาจก่อหนี้เพิ่มขึ้น จากมาตรการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท
รวมถึง "กิจพณ ไพรไพศาลกิจ" ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล. ยูโอบี เคย์เฮียน มองว่า สาเหตุหลักที่ทำให้หุ้นไทยหลุด 1,500 จุด มาจากแนวโน้มดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงนานกว่าที่คาดการณ์ หลังธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังไม่มีท่าทีผ่อนคลายการขึ้นดอกเบี้ยในรอบถัดไป หนุนให้ผลตอบแทนพันธบัตร, ตราสารหนี้เพิ่มขึ้น ทำให้การลงทุนในหุ้นมีความน่าสนใจลดลง เนื่องจากนักลงทุนมองว่ามีต้นทุนที่สูงขึ้น
*** ลงต่ำสุดได้ถึง 1,460 จุด แนะถือเงินสดเพิ่ม รอทยอยซื้อที่แนวรับ
"กรภัทร วรเชษฐ์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.กรุงศรี พัฒนสิน ประเมินกรอบแนวรับรอบนี้ไว้ที่ 1,460 - 1,480 จุด โดยปัจจัยที่ถ่วงดัชนีคือเงินบาทที่อ่อนค่า และความกังวลเรื่องดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงนโยบายรัฐฯ ที่อาจจะต้องก่อหนี้ครั้งใหญ่ ขณะที่ประเมินกรอบแนวต้านที่ 1,540 - 1,560 จุด โดยปัจจัยที่จะหนุนให้ SET Index ฟื้นตัวได้ คือ มาตรการฟรีวีซ่า ต้องติดตามดูว่าจะสามารถกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวได้มากแค่ไหน หากทำได้ดีจะสร้างความเชื่อมั่นกลับมาได้ โดยแนะนำ หาจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นในช่วงดัชนีฯ ต่ำกว่า 1,500 จุด เลือกกลุ่มหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการรัฐฯ อาทิ SCGP, CPAXT และ AOT
ส่วน "กิจพณ ไพรไพศาลกิจ" ประเมินว่า หลังจากที่ กนง. เพิ่งประกาศขึ้นดอกเบี้ยจะยังคงกดดัน SET Index ต่อไปอีกระยะ คาดมีโอกาสจะทำระดับต่ำสุดที่บริเวณ 1,470 - 1,485 จุด โดยการฟื้นตัวกลับขึ้นมาของดัชนีอาจต้องหวังปัจจัยบวกจากการปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 66 ของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เริ่มถูกทยอยปรับขึ้น หากมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะเป็นแรงหนุนดัชนีฟื้นตัวได้ สำหรับกลยุทธ์ลงทุน ยังคงต้องรอจังหวะคลายตัวจากความกดดันของการขึ้นดอกเบี้ยรอบล่าสุดไปก่อน แนะนำ ลงทุนหุ้นที่ผลการดำเนินงานครึ่งหลังของปี 66 มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น เช่น BDMS, ADVANC, ERW และ SPA
ขณะที่ "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" คาดว่า ดัชนีฯ มีโอกาสทำระดับจุดต่ำสุดที่บริเวณ 1,480 จุด (เดิมคาด 1,486 จุด) แนะนำ นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยรอดูจังหวะสักระยะ เพื่อให้แรงกดดันต่อการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายที่กดดันตลาดหุ้นค่อย ๆ คลายตัวเสียก่อนจึงเข้าลงทุน โดยให้ถือเงินสดเพิ่มในช่วงนี้ ส่วนนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง แนะนำ เก็งกำไรหุ้นที่มีปัจจัยบวกเฉพาะตัว อาทิ BBL, TU และ SCGP ที่ได้รับอานิสงส์จากการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย และเงินบาทอ่อนค่า
ด้าน "ณัฐพล คำถาเครือ" มองว่า ดัชนีหุ้นไทยจะปรับลดลงไม่หลุดต่ำกว่าที่ระดับต่ำสุดเดิมบริเวณ 1,485 จุด หรือ 1,480 จุด ซึ่งถือเป็นแนวรับที่ค่อนข้างแข็งแรงซึ่งหากดัชนีฯ ย่อลงมาน่าจะมีแรงรับซื้อ โดยหากรัฐบาลสามารถสรุปความชัดเจนของแหล่งเงิน Digital Wallet ออกมาได้ (คาดช่วง ต.ค.นี้) จะเป็นปัจจัยบวกที่ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติคลายความกังวลและกลับมามีความมั่นใจในตลาดหุ้นไทย เพราะจะเห็นว่าไม่มีผลกระทบกับภาคการคลังและเป็นมาตรการที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในปีหน้า
ฟาก "ธีรศักดิ์ ธนวรากุล" ประเมินกรอบแนวรับแนวต้านรอบนี้ไว้ที่ 1,480 - 1,520 จุด โดยปัจจัยกดดันเป็นเรื่องของความกังวลเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูงต่อไป ส่วนปัจจัยที่จะช่วยให้ดัชนีฟื้นตัวได้ คือ เงินดอลลาร์ต้องอ่อนค่า ซึ่งอาจต้องรอสัญญาณการชะลอขึ้นดอกเบี้ยของ FED โดยหากเกิดขึ้น จะมีแรงซื้อจากต่างชาติกลับมาอีกครั้ง กลยุทธ์ลงทุน แนะนำ รองจังหวะทยอยเข้าสะสมหุ้นบริเวณดัชนี 1,480 จุด เน้นเลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น BBL และ KTB ส่วนอีกกลุ่ม คือ กลุ่มผลการดำเนินงานเข้าสู่ช่วงไฮซีซั่น ประกอบด้วย BCH, CHG, BH และ BDMS