นักวิเคราะห์เห็นพ้อง ได้เวลาสะสมหุ้นไทย หลังลงลึกเกินไปแล้ว ชี้ Valuation เริ่มถูก ซื้อเก็บระยะกลาง-ยาวได้ เน้นหุ้นกลุ่มงบฯ ครึ่งปีหลังแจ่ม และได้ประโยชน์มาตรการรัฐฯ มั่นใจดัชนีฯ ไม่หลุด 1,400 จุด แถมช่วงที่เหลือปีนี้ลุ้นฟื้นกลับไปแถว 1,524 - 1,600 จุด ขณะเดียวกันมอง 6 - 12 เดือนข้างหน้า มีรีบาวด์เด้ง ๆ แน่นอน เหตุเงินอัดฉีดกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาลจะเริ่มเข้าระบบ
*** SET Index ลงทดสอบนิวโลว์รอบ 33 เดือน
ดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ปีนี้เป็นขาลงมาตลอดทาง ล่าสุดวานนี้ (4 ต.ค.66) ดิ่งทำจุดต่ำสุดใหม่รอบ 33 เดือน หรือกว่า 2 ปี 7 เดือน ที่ 1,429.99 จุด โดยระดับที่ต่ำกว่านั้นเกิดขึ้นเมื่อเดือน ม.ค.64
ขณะที่วันนี้ปิดตลาดที่ 1,452.55 จุด หากเทียบกับสิ้นปี 65 เป็นการปรับตัวลดลงถึง 216.11 จุด หรือ 13% โดยมาร์เก็ตแคป ณ 4 ต.ค.66 หายไปกว่า 2.6 ล้านล้านบาท เทียบกับสิ้นปีก่อน
ด้านมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันก็ลดลงเหลือ 5.37 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ 7.12 หมื่นล้านบาท โดยเป็นมูลค่าการซื้อขายต่ำสุดในรอบ 4 ปี
นอกจากนี้นักลงทุนต่างชาติซึ่งปีก่อนซื้อสุทธิ 1.97 แสนล้านบาท แต่ ณ 4 ต.ค.66 กดขายสุทธิไปแล้วกว่า 1.6 แสนล้านบาท และเป็นการขายถึง 8 เดือนติดต่อกัน
*** "ตลาดปรับสมดุลการเงิน" - "โปรแกรมเทรด" ป่วนหุ้นไทยผันผวน
"เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" รองกรรมการผู้อำนวยการ และหัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเซีย พลัส ระบุว่า ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยขณะนี้ ถือเป็นภาวะที่เกิดจากการ "ปรับสมดุลในตลาดการเงิน" โดยจุดเริ่มต้นเกิดจากเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ (Bond Yield) มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง เมื่อบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ขึ้นแรง เกิดการเปรียบเทียบระหว่างบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ กับบอนด์ยีลด์ไทยให้มีความห่างมากขึ้น ส่งผลให้นักลงทุนเทขายแล้วไปซื้อตัวที่ผลตอบแทนสูงกว่า ทำให้ "เงินไหลออก", "เงินบาทอ่อนค่า" และเมื่อเงินบาทอ่อนค่า นักลงทุนต่างชาติก็ไม่กล้าเอาเงินเข้ามาลงทุนในประเทศไทย เพราะจะขาดทุนค่าเงินทันที ส่วนต่างชาติที่ลงทุนอยู่แล้วก็ต้องมีการขายออกไป
อีกประเด็นคือโครงสร้างการซื้อขายในตลาดหุ้นไทยตอนนี้เป็น Program Trade ประมาณ 35% ซึ่งประมาณ 1 ใน 3 ของโปรแกรมเทรดคือ High Frequency Trading (HFT) หรือการส่งคำสั่งซื้อขายด้วยความถี่สูง โดยเวลาเห็นสัดส่วนที่มีลักษณะแบบนี้มาก ๆ หากมีการเบรกจุดที่สำคัญ มักจะเห็นอาการขายตามลงมา ซึ่งตรงนี้เป็นตัวที่เร่งให้เกิดความเร็วมากขึ้นในการปรับฐาน และพอเห็นดัชนี SET Index หลุดลงมาถึงระดับหนึ่งแล้ว ทางกลไกของมาร์จิ้นจะทำหน้าที่ Margin Call กับ Force Sell ซึ่งมีผลทำให้การเปลี่ยนแปลงชัดเจนและแรงมากขึ้น
"อภิชาต ผู้บรรเจิดกุล" ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ เพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นไทยขาดปัจจัยขับเคลื่อนในระยะสั้น โดยเฉพาะบรรยากาศการลงทุนที่ยังถูกปกคลุมด้วยความกังวลทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) อาจอยู่ระดับสูงนาน ทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ และ US Dollar Index ปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันเป็นช่วงรอยต่อของงบประมาณปี 2567 ที่มาความล่าช้า ทำให้ขาดเม็ดเงินในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ ดังนั้นจึงคาดหวังการลงทุนในช่วงไตรมาสสุดท้ายนี้ได้ไม่มากนัก
*** แต่หุ้นไทยลงจน "ถูก" แล้ว ได้เวลาสะสม
"อภิชาต ผู้บรรเจิดกุล" ประเมินต่อไปว่า การที่ SET Index ปรับตัวลดลงมาในระดับปัจจุบันถือเป็นจังหวะทยอยสะสม เพื่อรอตลาดรีบาวด์และขายทำกำไรในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าเมื่อมีเม็ดเงินงบประมาณและการแจกเงินดิจิทัลไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ
เช่นเดียวกับ "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ที่มองว่า การปรับสมดุลในตลาดการเงินครั้งนี้ น่าจะกินเวลาอีกประมาณ 1-2 สัปดาห์ ซึ่งหากค่าเงินบาทเริ่มนิ่ง จะสะท้อนว่าการปรับสมดุลในตลาดการเงินเริ่มจะจบแล้ว และตลาดฯ จะสะท้อนภาพปัจจัยพื้นฐานได้มากขึ้น โดยสำหรับนักลงทุนที่เก็งกำไรระยะสั้นยังถือว่า "เสี่ยง" แต่สำหรับนักลงทุนที่ถือเงินเย็น และสามารถที่จะซื้อเพื่อถือยาวได้ เป็นโอกาสที่ดีในการลงทุน เพราะ SET Index ตอนนี้ถือว่าราคาถูก และมีปัจจัยแวดล้อมทางพื้นฐานค่อนข้างเป็นบวก
ด้าน "ไพบูลย์ นลินทรางกูร" นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ประเมินว่า แนวโน้มระยะ 6-12 เดือนข้างหน้าหุ้นไทยมีโอกาสรีบาวด์อย่างมีนัยสำคัญ เพราะ SET Index ปี 66 ตกต่ำมากเกินไป ติดลบกว่า 10% และ Underperform ตลาดหุ้นโลกเกือบ 20% โดยจะได้แรงสนับสนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นของรัฐบาล มีเม็ดเงินระยะสั้นจากกองทุนต่างชาติเข้ามาซื้อขาย ได้แรงส่งจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน รวมถึงจบรอบการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งทุกครั้งที่เฟดมีการเปลี่ยนทิศ ส่วนใหญ่จะเป็น "จุดเริ่มต้นของวงจรขาขึ้นของตลาดทุน"
ฟาก "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" ผู่ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไอร่า ประเมินหุ้นไทยตอนนี้เริ่มมีความน่าสนใจในเชิงมูลค่า (Valuation) สะท้อนจาก อัตราส่วนราคาต่อกำไรสุทธิ (P/E) ของตลาดซึ่งอยู่ที่ 16 เท่า ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลังที่อยู่ระดับ 18 เท่า
รวมถึง "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บล.ลิเบอเรเตอร์ ประเมินว่า หากอิง P/E ตลาดหุ้นไทย ณ ปัจจุบัน ที่ลดลงมาอยู่ในระดับ 16 เท่า ถือว่าเป็นภาพที่ค่อนข้างน่าสนใจเข้าสะสมหุ้นสำหรับนักลงทุนระยะกลาง-ยาว เนื่องจากในช่วงปีหน้า คาดหวังว่าจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยหนุนให้กำไรบริษัทจดทะเบียนกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง เช่นเดียวกับราคาหุ้นของหลายๆบริษัทที่ได้รับอานิสงส์ดังกล่าว ก็น่าจะรีบาวด์กลับขึ้นมาได้เช่นกัน หลังจากที่ช่วงที่ผ่านมาปรับตัวลงกันค่อนข้างแรง
*** ลุ้นดัชนีฯ ฟื้นไป 1,524 - 1,600 จุด ยันไม่หลุด 1,400 จุด
"กรรณ์ หทัยศรัทธา" นักกลยุทธ์ ฝ่ายวิเคราะห์เศรษฐกิจและการลงทุน สายงานวิจัย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) มองว่า จุดเข้าสะสมหุ้นที่น่าสนใจของรอบนี้อยู่ที่บริเวณดัชนีฯ 1,420 จุด เนื่องจากเป็นค่าเฉลี่ย -0.5 SD ของ P/E ตลาดหุ้นไทย แนะนำ เลือกหุ้นที่ได้ประโยชน์จาก 3 ธีม ดังต่อไปนี้ 1.ดอกเบี้ยสูง เช่น KBANK 2.ราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง เช่น PTTEP และ 3.เงินบาทอ่อนค่า เช่น TU
ขณะที่ "อภิชาต ผู้บรรเจิดกุล" ประเมินว่า การลงทุนระยะสั้นในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ แนะนำ ให้เลือกลงทุนในหุ้นที่คาดงบการเงินไตรมาส 3/66 จะออกมาดีเป็นสำคัญ และเน้นหุ้นที่ได้ประโยชน์ต่อเนื่องจากการขยายตัวของการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ หุ้นเด่นคือ BBL, BEM, CENTEL, COM7, CPALL, RBF, SPA และ TOP โดยแนวรับสำคัญของดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,450-1,460 จุด และแนวรับถัดไปที่ 1,420-1,430 จุด และต้านสำคัญอยู่ที่ 1,500-1,505 จุด และแนวต้านถัดไปที่ 1,530 จุด ตามลำดับ ขณะเดียวกันได้มีการปรับเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยปีนี้ขึ้นเล็กน้อยจากเดิม 1,496 จุด เป็น 1,535 จุด จากการปรับประมาณการกำไรต่อหุ้นปี 67 ขึ้นอีก 3%
ส่วน "เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม" ประเมินว่า หากมองในเชิง Valuation ถือว่าหุ้นไทยเริ่มกลับมามีความน่าสนใจมากขึ้น อิงจาก ณ ช่วงดัชนีปัจจุบัน ถือว่ามีอัพไซด์อยู่กว่า 100 จุด ประเมินกรอบ SET Index ช่วงที่เหลือของปีไว้ที่ 1,430 - 1,524 จุด แนะนำหุ้นที่ผลการดำเนินงานมีแนวโน้มเติบโตแข็งแกร่งในช่วงที่เหลือของปี เช่น TU, AOT, III และ SCGP
ด้าน "ณรงค์เดช จันทรไพศาล" มองว่า SET Index ในช่วงที่เหลือของปีนี้ ไม่น่าจะหลุด 1,400 จุด เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาลงลึกจนเริ่มเห็นดาวน์ไซด์จำกัดแล้ว ประเมินกรอบ SET Index ช่วงที่เหลือของปีไว้ที่ 1,430 - 1,570 จุด แนะนำ เลือกหุ้นรายตัวที่ผลประกอบการไตรมาส 3/66 มีแนวโน้มเติบโตโดดเด่น เช่น BBL เพราะจะได้ประโยชน์จากทิศทางดอกเบี้ยยังสูงต่อ และ HANA และ KCE ที่ได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า และคาดว่าการส่งออกช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มดีขึ้น
สำหรับ "วิจิตร อารยะพิศิษฐ" ประเมิน SET Index ในช่วงที่เหลือของปีไว้ที่ 1,400 - 1,600 จุด และ SET Index ช่วงที่เหลือของปีนี้ไม่น่าจะหลุด 1,400 จุด หากไม่มีปัจจัยลบใหม่ที่ร้ายแรงเข้ามากดดันตลาดหุ้นไทย เพราะก่อนหน้านี้ปรับตัวลงมาลึกพอสมควรแล้ว แนะนำ เลือกหุ้น Domestic Pay ที่พื้นฐานดี อาทิ BBL, BCH และ JMT ขณะที่ DOHOME แนะนำเข้าลงทุนหลังประกาศงบไตรมาส 3/66 เพราะเชื่อว่าจะได้เห็นการเทิร์นอะราวด์ของผลการดำเนินงาน