efinancethai

ประเด็นร้อน

10 วิธีหนี บจ.แต่งงบฯ

10 วิธีหนี บจ.แต่งงบฯ

สืบเนื่องจากกรณี STARK ที่สร้างวีรกรรมตกแต่งงบการเงินครั้งมโหฬารอย่างยาวนานกว่าจะหลุดโป๊ะจนถูกจับได้ ก็สร้างความเสียหายให้นักลงทุนรายย่อยมหาศาลแล้ว 

 

ประเด็นนี้เอง ทำให้นักลงทุนรายย่อยเริ่มมีความกังวลในการลงทุนมากขึ้น เพราะตระหนักแล้วว่างบการเงินที่โชว์ออกมาสวย ๆ บางครั้งนั่นอาจจะเป็นเพียงซากศพที่ถูกจับแต่งตัวให้ดูสวยงาม เพื่อหวังหลอกลวงนักลงทุนเท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจในประเด็นดังกล่าว โดยจัดเสวนาให้ความรู้เหล่านักลงทุนเกี่ยวกับเคล็ดลับในการเอาตัวรอดจากบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ตกแต่งงบการเงิน

 

โดยมีผู้เชียวชาญ อย่าง “เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม” ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชีย พลัส, “สมดักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร” กรรมการชมรมวาณิชธนกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด และ “รศ.ดร.ณัฐชานนท์ โกมุทพุฒิพงศ์” ภาควิชาการบัญชี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมให้ความรู้แก่นักลงทุนที่สนใจ

 

สำหรับสาระสำคัญของวงเสวนาครั้งนี้ ก็ได้ให้ 10 เคล็ดลับเอาตัวรอดจาก บจ.แต่งงบการเงิน จะมีอะไรบ้างเดี๋ยวแอดเล่าให้ฟังเลยแล้วกัน 

 

*** เปิด 10 เคล็ดลับเอาตัวรอดจากพวกแต่งงบ

1.ควรโฟกัสงบการเงินส่วนสินทรัพย์หมุนเวียน : การมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้น แน่นอนว่าสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นก็คือการมียอดขายที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง จากตรงนี้เราก็ควรเข้าไปดูว่ามีรายการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหรือไม่ ถ้าเข้าไปตรวจดูแล้วพบว่าเฮ้ย เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเลย ก็ถือเป็นจุดที่เราสามารถตั้งข้อสังเกตเบื้องต้นได้แล้ว

 

เมื่อเราเอ๊ะ ! ว่ารายการดังกล่าวมันเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญแล้ว ก็ลองไปหาข้อมูลเพิ่มเติมดูซิ ว่าวัฏจักรของอุตสาหกรรมของบริษัทนั้น กำลังอยู่ในช่วงฤดูขาย (ไฮซีซั่น) หรือไม่ ? ก็จะพบว่ามันสอดคล้องกับรายการที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ? แต่ถ้าไปตรวจดูแล้วพบว่าเอ๊ะ ! นี่ก็ไม่ใช่ไฮซีซั่น แต่รายการดังกล่าวดันเพิ่มขึ้นผิดปกติก็เป็นจุดที่เราต้องอาจถอยห่างออกมาก่อน

 

2.โฟกัสงบการเงินส่วนกระแสเงินสด : อีก 1 จุดในงบการเงินที่นักลงทุนควรให้ความสำคัญก็คือกระแสเงินสด เพราะงบส่วนนี้ถือว่ามีความบาลานซ์สูงและปลอมแปลงหรือตกแต่งได้ค่อนข้างยาก เพราะงบส่วนนี้จะมีการบันทึกจากรายการเงินเข้า และเงินออกจริง จึงเป็นสิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญมองว่าค่อนข้างตรงไปตรงมา ต่างจากงบกำไรขาดทุนต่าง ๆ ที่ผู้แต่งบัญชีสามารถเล่นแร่แปรธาตุได้ค่อนข้างง่าย และนักลงทุนรายย่อยมักจะตามจับผิดได้ยากเพราะมีความซับซ้อนสูง

 

3.มาร์จิ้นสูงเกินไป พึงระวัง ! : โดยปกติกาตกแต่งบัญชีเพื่อหวังให้กำไรบริษัทเพิ่มขึ้น จุดเริ่มต้นก็ต้องมาจากการตกแต่งรายได้เสียก่อน เพื่อที่จะบันทึกมาเป็นกำไรสะสมและกลายเป็นกำไรประจำปี ซึ่งหากเราพบว่ามีบริษัทไหนที่มีมาร์จิ้นสูง ๆ ก็ควรเข้าไปวิเคราะห์แหล่งรายได้ของบริษัทนั้นอย่างละเอียดเสียก่อน ว่ามีแหล่งรายได้จากทางไหน มีจริงไหม ?

 

แล้วลองประเมินดูว่า บริษัทมีการบันทึกรายได้เร็วกว่าธรรมชาติของธุรกิจที่ขายของออกไปหรือเปล่า ? ซึ่งบริษัทที่มีเจตนาไม่บริสุทธิ์ใจ จะมีการเร่งบันทึกรายได้ที่เร็วกว่าปกติ ด้วยการออกใบแจ้งหนี้ให้ดูเสมือนว่าบริษัทมีรายได้เยอะ ๆ ซึ่งพอนำมาหักต้นทุนขายก็จะเป็นกำไรขั้นต้น หนุนให้มาร์จิ้นของบริษัทสูง เพราะรู้ว่านักลงทุนส่วนใหญ่มักชอบมองหาบริษัทที่มีมาร์จิ้นระดับสูง พวกเขาก็จะใช้เคล็ดลับนี้ในการหลอกล่อนักลงทุนนั่นเอง 

 

4.เปลี่ยนผู้สอบบัญชีบ่อย : บริษัทที่มีการเปลี่ยนแปลงวิธการบัญชี หรือเปลี่ยนผู้สอบบัญชี หรือเปลี่ยนประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (CFO) บ่อย ๆ ก็มีความน่าสงสัยที่จะเข้าข่ายตกแต่งงบการเงินเช่นกัน เนื่องจากทั้งผู้สอบบัญชี หรือ CFO อาจเห็นความผิดปกติทางบัญชี จึงไม่สามารถร่วมงานกับบริษัทได้ ซึ่งโดยปกติการเปลี่ยนผู้สอบบัญชีจะเกิดขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว แต่มักจะอยู่ในวงรอบ 5 – 7 ปี/ครั้ง 

 

5.โฟกัสความเห็นผู้สอบบัญชี : การดูงบการเงินของบริษัทที่มีความโปร่งใสสูง ผู้สอบบัญชีจะต้องลงความเห็นว่า”ไม่มีเงื่อนไข”กับการสอบบัญชีนั้น ๆ ซึ่งปกติจะอยู่ในงบประจำปีของบริษัท ซึ่งผู้สอบบัญชีจะเข้ามาตรวจสอบอย่างละเอียด 
กลับกันถ้าเป็นงบประจำไตรมาส การเข้ามาตรวจสอบบัญชีของผู้สอบบัญชีจะไม่ได้เข้มข้นมากนัก จะเป็นเพียงการเข้ามารีวิว ซักถามผู้บริหารเป็นส่วนใหญ่ จึงมักไม่ใช่งบการเงินที่ตรวจสอบอย่างละเอียดเหมือนงบประจำปี

 

ขณะเดียวกัน ถ้าผู้สอบบัญชีลงความเห็นว่า การสอบบัญชีครั้งนั้นว่า”มีข้อจำกัด”ในการตรวจสอบ หรือไม่แสดงความเห็นไว้ในงบการเงินของบริษัทนั้น  ๆ ก็ถือว่าเป็นสัญญาณที่ค่อนข้างอันตราย ว่าบริษัทนั้นอาจมีการปลอมแปลงงบการเงิน เนื่องจากผู้สอบบัญชีถูกข้อจำกัดในการตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ

 

6.โฟกัสสินค้าคงเหลือ :  การจำแนกประเภทสินค้าคงเหลือของบริษัทก็เป็นอีก 1 จุดที่สามารถนำไปสู่การตั้งข้อสงสัยได้ว่า บริษัทนั้นมีความโปร่งใสทางบัญชีหรือไม่ ? เช่น บริษัทที่ขายอสังหาริมทรัพย์ฯ ก็จะมีสินค้าคงเหลือเป็นบ้าน, คอนโดมิเนียม หรือที่ดิน เป็นต้น ซึ่งเป็นสินค้าที่ระบายออกจากสต็อกได้ช้ากว่าบริษัทที่ขายสินค้าราคาไม่แพง เช่น สบู่, ยาสีฟัน หรือน้ำยาล้างจานเป็นต้น จุดนี้ก็นำไปจับสังเกตได้ว่ามีความสอดคล้องกับการบันทึกเป็นรายได้ที่รวดเร็ว หรือ ช้ากว่าปกติได้หรือไม่เช่นกัน 

 

7.IR ก็ไม่มี Opp. Day ก็ไม่มา : บริษัทที่ไม่มีนักลงทุนสัมพันธ์ (IR) รวมทั้งไม่ยอมมางานบริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opp. Day) ถือเป็นบริษัทที่เราควรห่างให้ไกลเช่นกัน เนื่องจากเป็นบริษัทที่มีความลึกลับแน่นอน 

 

ดังนั้น นักลงทุนรายย่อยจะเข้าถึงข้อมูลของบริษัทประเภทนี้ได้ยาก เวลาที่นักลงทุนรายย่อยอยากได้ความกระจ่างเรื่องใดก็ไม่สามารถหาคำตอบที่แท้จริงจากปากบริษัทได้ ทำได้เพียงแค่รับข่าวจากบริษัทที่ต้องการสื่อสารเรื่องที่อยากให้นักลงทุนรายย่อยรู้ทางเดียว เท่านั้น 

 

8.ไม่มีบทวิเคราะห์ควรหลีกเลี่ยง : ในส่วนข้อนี้ก็จะคล้าย ๆ กับข้อ 8 ในแง่การเข้าถึงข้อมูล ซึ่งบริษัทที่ไม่มีบทวิเคราะห์รองรับ แน่นอนว่าย่อมไม่มีการประชุมนักวิเคราะห์ (Analyst Meeting) ดังนั้น การได้ข้อมูลของนักลงทุนรายย่อยก็จะยาก อีกทั้ง ไม่มีนักวิเคราะห์การลงทุนมาคัดกรองปัจจัยพื้นฐานของบริษัทให้ด้วย ก็ถือเป็นความอันตราย

 

ยิ่งไปกว่านั้น ถ้าเป็นบริษัทที่มีบริษัทย่อย ๆ จำนวนมาก แต่ไม่มีบทวิเคราะห์รองรับ ยิ่งมีความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดการตกแต่งงบการเงินผ่านเครือข่ายของบริษัท โดยที่นักลงทุนไม่มีทางเข้าถึงข้อมูลได้ทันท่วงทีแน่นอน

 

9.พลิกกำไรมโหฬารทั้งที่ขาดทุนมานาน : บริษัทประเภทนี้ก็จัดเป็น 1 ในกลุ่มเสี่ยงที่จะมีการตกแต่งงบการเงิน เพื่อล่อตาล่อใจให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนในหุ้นบริษัทของพวกเขาได้ และอาจนำไปสู่การสร้างราคาหุ้น (ปั่นหุ้น) ได้เช่นกัน 

 

ดังนั้น ถ้านักลงทุนรายย่อยพบบริษัทที่อยู่ดี ๆ ก็พลิกกำไรมโหฬารทั้งที่ขาดทุนมานาน ก็ควรต้องตั้งสติวิเคราะห์ให้ดีเสียก่อนว่ากำไรครั้งนั้นเกิดขึ้นจากไร เช่น กำไรพิเศษหรือไม่ ? หรือถ้าไม่ใช่ก็ต้องดูว่ามันสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจช่วงนั้น หรือภาพรวมอุตสาหกรรมหรือไม่ ? 

 

10.รู้ลึก รู้จริงก่อนเข้าลงทุน : สำหรับเคล็ดลับสุดท้ายที่แอดหยิบมาฝากวันนี้ คือ ก่อนที่นักลงทุนรายย่อยจะเข้าไปลงทุนในบริษัทใดก็ตาม ก็ควรต้องศึกษาจนเกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ว่าบริษัทที่เรากำลังจะเข้าไปลงทุน เขาประกอบธุรกิจอะไร มีรายได้จากทางไหน อุตสาหกรรมเป็นอย่างไร และเป็นผู้เล่นระดับที่เท่าไรในตลาด ?

 

เมื่อเรารู้ข้อมูลเชิงลึกทั้งหมดแล้ว ก็จะช่วยจำกัดความเสี่ยงในการลงทุนของเราให้ลดลงได้อย่างมีนัยสำคัญ และทำให้เราปลอดภัยจากบริษัทที่จ้องจะเข้ามาหาแสวงหากำไรในตลาดหุ้นโดยมิชอบได้ด้วย 

 

สำหรับ เคล็ดลับเอาตัวรอดจากบริษัทที่จ้องจะตกแต่งงบการเงินที่สำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยนำมาฝากเพื่อน ๆ ทุกคนหลัก ๆ ก็มีประมาณนี้เนอะ ก็หวังว่าบทความชิ้นนี้จะเป็นประโยชน์ในการลงทุนของทุกคนไม่มากก็น้อย สำหรับ วันนี้ไปก่อนแล้ว ....

แบบสอบถามความพึงพอใจ






ข่าวหุ้นอื่นๆที่น่าสนใจ

RECOMMENDED NEWS

ข่าวหุ้นยอดนิยม

Refresh




LATEST NEWS

ข่าวหุ้นล่าสุด

Refresh

ดูข่าวทั้งหมด